เดินหน้าหรือหยุดนิ่ง? ทิศทางประมงไทย หลังพ้นใบเหลือง ‘ไอยูยู’ ความท้าทายต้องร่วมฝ่าฟัน

เสวนา 'หลังคลื่น IUU เดินหน้าหรือหยุดนิ่ง? ทิศทางและความท้าทายล่าสุดประมงไทย' เมื่อ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา

เป็นประเด็นใหญ่ที่ถูกจับตามานานสำหรับสถานการณ์ประมงไทยซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ “สิทธิแรงงาน” อย่างไม่อาจแยกออกจากกันได้ แม้ล่าสุดจะพ้นใบเหลือง “ไอยูยู” (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) ซึ่งหมายถึงการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หลังความพยายามในการแก้ปัญหามานานนับปี

เวทีเสวนา “หลังคลื่น IUU เดินหน้าหรือหยุดนิ่ง? ทิศทางและความท้าทายล่าสุดประมงไทย” เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา จัดโดยภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พยายามทำความเข้าใจและแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับก้าวต่อไปของประเทศ โดยภาคธุรกิจ หน่วยงานรัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ

อนาคต ‘รัฐ’ เข้ม พุ่งเป้าบริษัท ‘ต้องสงสัย’

เริ่มที่ สมบูรณ์ ตรัยศิลานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ที่ยืนยันว่าภาครัฐเองมีแผนส่งเสริมบทบาทของคณะกรรมการสวัสดิการมากขึ้น กล่าวคือ ในอนาคตคณะกรรมการสวัสดิการจะต้องมีส่วนร่วมพิจารณาในกรณีนายจ้างจะลงโทษลูกจ้างด้วย ส่วนกระบวนการตรวจสอบสถานประกอบการของภาครัฐเองก็ต้องเข้มข้นขึ้น เช่น พุ่งเป้าไปที่การตรวจสอบบริษัทที่ต้องสงสัยว่าจะมีปัญหาละเมิดสิทธิแรงงาน มากกว่าการตรวจสอบบริษัทใหญ่ๆ ที่ค่อนข้างจะมีมาตรฐานอยู่พอสมควรแล้ว

“คณะกรรมการสวัสดิการเป็นหนึ่งในช่องทางการร้องเรียนกับบริษัท ครั้นจะรวมตัวกันแบบสหภาพแรงงานก็ยังทำไม่ได้เนื่องจากรัฐบาลยังไม่รับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับคือ ตัว 87 หรืออนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และ 98 หรืออนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง แต่เป้าหมายและความพึงพอใจอันสูงสุดของเราคือการที่รัฐบาลรับอนุสัญญาทั้ง 87 และ 98” รองอธิบดีกรมสวัสดิการฯ กล่าว ก่อนยอมรับว่า อย่างไรก็ตาม ยังมี “ช่องว่าง” บางประการที่ทำให้ภาครัฐไม่ได้รับรู้ถึงสถานการณ์ที่เป็นจริงในปัจจุบัน กล่าวคือ ทางกรมสวัสดิการฯ ไม่ได้เก็บสถิติอุบัติเหตุและความปลอดภัยของแรงงานเอง แต่ใช้สถิติของประกันสังคม ปัญหาคือแรงงานประมงยังไม่ได้เข้าระบบประกันสังคม จึงไม่มีสถิติที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าหลังจากนี้ แรงงานประมงกำลังจะเข้าระบบประกันสังคมแล้ว

Advertisement

ด้าน สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ มองว่า คณะกรรมการสวัสดิการเป็นกลไกการร้องเรียนหนึ่งที่มีอยู่แล้วตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งควรทำให้เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ให้แรงงานสามารถเข้าถึงเพื่อสื่อสารปัญหาต่างๆ และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม จุดยืนสำคัญของภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมฯ คือการสนับสนุนให้ประเทศไทยรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งยอมรับในสิทธิเสรีภาพของแรงงาน ทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง

ถกหลากปัญหาแรงงานข้ามชาติ
ภาค ‘ธุรกิจ’ กระชับมือร่วมแก้

แน่นอนว่า ลำพังภาครัฐ ไม่อาจแก้ปัญหาทั้งหมดได้ ต้องผายมือสอบถามความเห็นในประเด็นความร่วมแรงในการแก้ไขปมปัญหาจากภาคธุรกิจ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

เบ็ญจพร ชวลิตานนท์ ผู้จัดการฝ่ายบุคคล บริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ซึ่งแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่ในบริษัทมาจากประเทศเมียนมา กล่าวถึงความสำคัญในการส่งเสริมให้คณะกรรมการสวัสดิการสามารถทำงานและเป็นผู้แทนแรงงานได้จริง จาก 8 ช่องทางกลไกการร้องเรียน คณะกรรมการสวัสดิการเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมสูงสุด โดยที่คณะกรรมการสวัสดิการจะประชุมร่วมกับไม่เฉพาะฝ่ายบุคคลแต่ประชุมร่วมกับผู้บริหาร เฉลี่ยเดือนละหนึ่งครั้ง

ปัจจุบัน ร้อยละ 80 ของคณะกรรมการที่ผ่านการเลือกตั้งจากพนักงานด้วยกันเองทั้งหมด 22 คนเป็นผู้หญิง นอกจากนี้ ยังเสริมด้วยการมี Employee Caring Team ซึ่งเป็นทีมดูแลพนักงานของบริษัทไว้คอยเข้าหาพูดคุยเชิงรุกกับแรงงานเพื่อรับเรื่องร้องเรียนอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งที่ผ่านมาก็สามารถแก้ปัญหาในเชิงปฏิบัติได้จริง เช่น ปัญหาความไม่เข้าใจในการสื่อสารระหว่างหัวหน้าและแรงงานข้ามชาติ

นิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวอันท้าทายของประมงไทย

“หลายเรื่องของพนักงานเกิดจากความเข้าใจผิดระหว่างพนักงานกับหัวหน้า เกิดปัญหาความเข้าใจผิดกัน ไม่รู้ล่ามแปลอย่างไรบ้าง วันนี้เราให้หัวหน้างานในไลน์การผลิตไปเรียนภาษาพม่าเพิ่มขึ้น เริ่มทำตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว วันนี้บรรยากาศการทำงานในไลน์การผลิตดีขึ้น เพราะหัวหน้ากับพนักงานพูดภาษาเดียวกัน โดยเฉพาะศัพท์ง่ายๆ ในไลน์การผลิต” ผู้จัดการฝ่ายบุคคลบริษัทชื่อดังระบุ ทั้งยังย้อนเล่าว่าก่อนแรงงานพม่าจะเดินทางมาทำงาน ทางบริษัทส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลไปที่พม่าโดยตรงเพื่อให้แรงงานทราบเงื่อนไขการทำงานมากที่สุดก่อนตัดสินใจ มีการเปิดวิดีโอการผลิตให้เห็นถึงสภาพการทำงาน ข้อมูลเรื่องรายได้ สวัสดิการ สภาพหอพัก ชุดยูนิฟอร์มเพื่อให้แรงงานเห็นสภาพการทำงานจริงมากที่สุดก่อนการตัดสินใจ

สำหรับไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มีผู้จัดการด้าน “สิทธิมนุษยชน” มาเป็นตัวแทนร่วมพูดคุย โดย ปราชญ์ เกิดไพโรจน์ เปิดเผยว่า ช่องทางการร้องเรียนแต่ละช่องทางมีความเฉพาะตัวและความท้าทายแตกต่างกันออกไป เช่น การร้องเรียนให้ปรับปรุงสวัสดิการและสภาพการทำงานทั่วไปมักจะมาจากคณะกรรมการสวัสดิการ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ร้ายแรงกว่านั้น เช่น ร้องเรียนหัวหน้างานหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะมาจากกลไกภายนอกผ่านเอ็นจีโอ เป็นต้น โดยประเด็นเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน แม้บริษัทไม่ได้เป็นเจ้าของเรือประมง แต่สนับสนุนให้คู่ค้าที่เป็นเรือประมงพัฒนามาตรฐาน มีการสุ่มตรวจสอบเรือประมง และที่สำคัญคือการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมในการจัดเวิร์กช็อปอบรมเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยให้แรงงานประมงเจ้าของเรือโดยดำเนินการกับเรือที่เชื่อมโยงกับสายการผลิตของบริษัท

“คู่ค้า คือ เรือประมงน่าจะมองเป็นเรื่องที่ดี เพราะทราบว่าช่วงนี้อาจมีการขาดแคลนแรงงานประมง เพราะฉะนั้นถ้าแรงงานเขาบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตมันไม่เป็นผลดีอยู่แล้ว เขาก็ให้คอมเมนต์ว่าเขาดีใจที่ได้รับความรู้ เพราะไม่เคยมีใครมาพูดเรื่องสุขภาพความปลอดภัยตรงนี้เลย สำหรับกระบวนการสรรหาแรงงาน มีการอบรมที่ประเทศพม่าร่วมกับเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ก่อนจะเดินทางมาทำงาน และเมื่อมาทำงานแล้ว บริษัทจะสำรวจกับพนักงานว่าพึงพอใจกับระบบจัดหางานที่ประเทศต้นทางหรือไม่ นอกจากนั้นมีการสุ่มสัมภาษณ์โดย MWRN เพื่อนำไปสู่การจัดความสัมพันธ์หรือกำหนดเงื่อนไขกับบริษัทจัดหางานอีกด้วย” ตัวแทนจากไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป กล่าว

รับข้อเสนอ ‘ภาคประชาสังคม’
เลือกตั้งตัวแทนแรงงาน 4 ด้าน

สำหรับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ มี พักตร์พริ้ง บุญน้อม เป็นตัวแทนมาเล่าว่านอกจากบริษัทจะจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการสวัสดิการตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ภายหลังรับข้อเสนอของภาคประชาสังคม ทางบริษัทจัดให้มีสัดส่วนคณะกรรมการเพิ่มขึ้นจากขั้นต่ำ 5 คน โดยให้เพิ่มตัวแทน 1 คนต่อพนักงานทุกๆ 400 คน ทั้งนี้หากผลการเลือกตั้งยังไม่ครอบคลุมตัวแทนทุกกลุ่ม ก็จะจัดให้มีการเลือกอนุกรรมการที่เป็นตัวแทนของแรงงานให้ครอบคลุมใน 4 ด้านคือ เพศ เชื้อชาติ ศาสนา และความพิการ โดยคณะอนุกรรมการมีหน้าที่นำเสนอปัญหาและข้อเสนอแนะไปยังคณะกรรมการสวัสดิการ ก่อนที่คณะกรรมการสวัสดิการจะประชุมร่วมกับผู้บริหาร บริษัทขอขอบคุณเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ให้แนวคิดและจุดประกายเราในเรื่องสัดส่วนตัวแทนนี้ขึ้นมา ซีพีเอฟเริ่มทำมาตั้งแต่ปลายปี 2561 โดยจะให้ครบคลุมโรงงานทั้งหมดของบริษัท

“บริษัทมีแรงงานต่างด้าวประมาณ 12,000 คน จากกัมพูชา 8,000 คน จากพม่า 4,000 คน ทำงานในโรงงานแปรรูปไก่และกุ้ง โดยบริษัทแม้ยังไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่หรือทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมในการจัดอบรมแรงงานก่อนข้ามแดนโดยตรง แต่ได้จัดให้บริษัทจัดหางานมาเยี่ยมโรงงานและเห็นกระบวนการทำงาน เพื่อที่จะนำไปถ่ายทอดต่อกับแรงงาน โดยบริษัทจัดหางานจะได้รับข้อมูลเรื่องสถานที่ทำงาน สวัสดิการ หอพัก โดยสิทธิและสวัสดิการได้เท่ากันกับแรงงานไทย (แตกต่างกันไปตามแหล่งที่ทำงาน) นอกจากนั้น บริษัทได้ร่วมงานกับมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ในการสัมภาษณ์แรงงาน (Post-arrival interview) เมื่อแรงงานเริ่มทำงานที่บริษัทแล้ว เพื่อให้ได้ข้อมูลเรื่องการเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆ หากมีการเก็บเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจะมีการประสานกับบริษัทรวมถึงกับบริษัทจัดหางานลูก (sub-agency) ด้วย” ตัวแทนซีพีเอฟกล่าว

ทุกภาคส่วนร่วมแลกเปลี่ยนอย่างเข้ม

แนะมองไปข้างหน้า ทำจริง-ต่อเนื่อง
อย่าแค่ ‘โปรโมต’ ชั่วครั้งชั่วคราว

มาถึงภาควิชาการและฝ่ายประชาสังคมซึ่งร่วมแสดงความเห็นชี้แนะด้วยความห่วงใยในอนาคตของประมงไทย

นาตยา เพ็ชรัตน์ เลขาธิการภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม บอกว่า เป็นความน่ายินดีที่ทางบริษัทยืนยันถึงการแก้ไขปัญหาการจ้างงานในธุรกิจประมงและแปรรูปสัตว์น้ำ โดยต้องยอมรับว่าปัญหาแรงงานมีความซับซ้อนไม่สามารถจัดการได้โดยใครหรือหน่วยงานใดเพียงลำพังหรือระยะเวลาอันสั้นได้ จุดที่สำคัญที่สุดคือผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจริงจังตามที่ชี้แจงไว้ ขณะเดียวกันความเสี่ยงคือการส่งเสริมสิทธิแรงงานเพียงชั่วครั้งชั่วคราว หรือเพียงเพื่อการประชาสัมพันธ์เท่านั้น

“การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งรัฐ ธุรกิจ ภาคประชาสังคม จึงมีความสำคัญในการที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าแรงงานจะได้รับความใส่ใจในสวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ประโยชน์ตรงนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นกับแรงงานเท่านั้น แต่จะช่วยยกมาตรฐานอุตสาหกรรมไทยในการแข่งขันและสร้างความยอมรับในระดับสากลด้วย” เลขาธิการภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมกล่าว

จากซ้าย สมบูรณ์ ตรัยศิลานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, ชลธิชา ตั้งวรมงคล มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF), นาตยา เพ็ชรัตน์ ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา,สุธาสินี แก้วเหล็กไหล องค์กรสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN),ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เบ็ญจพร ชวลิตานนท์ บริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี, ปราชญ์ เกิดไพโรจน์ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด,พักตร์พริ้ง บุญน้อม บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF)และจักรชัย โฉมทองดี องค์การอ็อกแฟม

ด้าน ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล จากศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปิดท้ายว่า การพูดคุยวันนี้ทำให้เห็นการประสานความร่วมมือในประเด็นข้อท้าทายระดับโลก โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ

“คนอาจมองว่าปัญหาไอยูยูและแรงงานผิดกฎหมายเป็นปัจจัยภายนอกที่อียูบังคับให้เราทำ แต่วันนี้มีพลวัตรคือเกิดความพยายามของภาคส่วนต่างๆ ภายในประเทศ โดยไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายนอกบังคับให้ทำ ขณะที่มีความกังวลว่าหากไม่มีใบเหลืองแล้วสถานการณ์จะเป็นอย่างไร แต่เวทีวันนี้ทำให้เห็นว่ามีปัญหา มีทางออก และมีนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้น จึงต้องคิดไปข้างหน้าว่าในอีก 4-5 ปี อุตสาหกรรมประมงจะเป็นอย่างไร และคนอาจมองว่าบริษัทใหญ่มีต้นทุนสำหรับการจัดการที่ดีและนวัตกรรม แต่สิ่งเหล่านี้อาจเป็นตัวอย่างให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กได้” ผศ.ดร.นฤมลกล่าว

นับเป็นอีกสถานการณ์ท้าทาย ที่ต้องร่วมฝ่าฟันไปด้วยกันในทุกภาคส่วน อย่างมีความหวังจากวันนี้เป็นต้นไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image