‘นโยบายสีเขียว’ ฟื้นระบบนิเวศหาด แก้กัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน

ในอดีต ชายฝั่งทะเลไทยประสบกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในระดับที่ค่อนข้างรุนแรง โดยปัญหาดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแนวของชายหาดที่ถอยร่นเข้ามาบนฝั่งหรือแผ่นดินมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่ง อันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและหลบภัยของสิ่งมีชีวิต ทั้ง ปูลม ผักบุ้งทะเล ตลอดจนสัตว์ทะเลที่อาศัยบริเวณชายหาดทอดยาวไปจนถึงแนวปะการัง และยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว

แม้ว่าที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการในหลายกรณี กลับพบว่า “ยิ่งแก้ ยิ่งกัดเซาะ” เนื่องจากการแก้ไขส่วนใหญ่มุ่งเน้นการรักษาเส้นแนวชายฝั่งโดยการสร้าง “โครงสร้างแข็ง” ทำให้การกัดเซาะชายฝั่งขยายวงกว้างไปยังพื้นที่ข้างเคียง อีกทั้งยังไม่มีการป้องกันปัญหาที่ตามมาอย่างเป็นระบบ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงของลักษณะดินตะกอนใต้น้ำ โครงสร้างที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาเกิดการชำรุดและทรุดตัว

แต่ในวันนี้ประเทศไทยมีนโยบาย Green to Gray หรือ นโยบายสีเขียว เป็นอีกแนวทางที่เน้นให้หาดทรายคืนฟื้นตัวด้วยตัวเอง หรือการเข้าไปช่วยปลูกป่าชายเลน ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ ไปจนถึงการแก้ปัญหากัดเซาะด้วยโครงสร้างแข็งในบางพื้นที่ โดยคำนึงถึงวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับแต่ละแห่ง และมีตัวชี้วัดเพื่อติดตามผล

โดยหลัก “Green to Gray” ประกอบด้วย 4 แนวทาง ได้แก่ 1.การปรับสมดุลชายฝั่งทะเลโดยธรรมชาติ คือ การคงไว้ซึ่งสภาวะสมดุลของชายฝั่งตามธรรมชาติเพื่อปล่อยให้ชายฝั่งที่เกิดการกัดเซาะได้ปรับสมดุลและฟื้นคืนสภาพด้วยตัวเอง 2.การดำเนินกิจกรรมเพื่อป้องกันและลดอัตราการกัดเซาะ 3.ดำเนินกิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาการกัดเซาะบริเวณชายฝั่ง ทั้งรูปแบบที่สอดคล้องธรรมชาติ เลียนแบบธรรมชาติ หรือโครงสร้างทางวิศวกรรม เพื่อแก้ไขที่ต้นเหตุ 4.ฟื้นฟูเสถียรภาพชายฝั่ง ดำเนินกิจกรรมเพื่อให้ชายฝั่งฟื้นคืนสภาพเดิมตามธรรมชาติ

Advertisement

เพราะตัวชี้วัดความสำเร็จในการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง คือการ “รักษาสถานภาพของระบบนิเวศชายหาดให้คงอยู่ ควบคู่ไปพร้อมกับการรักษาชายหาด”

ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์

ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า สิ่งที่น่าห่วงคือ หลายครั้งที่มีความพยายามแก้ไขการกัดเซาะ แต่กลายเป็นตัวสร้างปัญหาให้เกิดการกัดเซาะมากขึ้น จึงตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะเกิดจากการตั้งโจทย์ผิด เพราะมุ่งไปที่การรักษาแนวชายฝั่งไม่ให้เกิดการกัดเซาะ แต่ความจริงต้องการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะเพื่อให้ระบบนิเวศชายฝั่งของที่นั้นๆ กลับคืนมา

จากกรณีดังกล่าว จึงก่อเกิดเป็น “โครงการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อในประเด็นเร่งด่วนเกี่ยวกับผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลของประเทศไทย” โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) แบ่งออกเป็น 4 ประเด็นหลัก คือ 1.ป้องกันที่สาเหตุการกัดเซาะชายฝั่ง ด้วยการประกาศเขตถอยร่น (set back zone) เพื่อระงับกิจกรรมที่มีความเสี่ยงที่ทำให้สมดุลตะกอนในบริเวณชายหาดเกิดการเปลี่ยนแปลง และเพื่อปกป้องดูแลรักษาระบบนิเวศที่เป็นแนวกันคลื่น เช่น ปะการัง หรือป่าชายเลน 2.แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งโดยการปฏิบัติตามแนวทาง “Green to Gray” 3.จัดการปัญหาที่เกิดจากผลกระทบของการกัดเซาะชายฝั่ง ในกรณีพื้นที่ตกน้ำ กำหนดให้ผู้ที่สูญเสียพื้นที่ที่มีเอกสิทธิ์ในที่ดินจำเป็นต้องแสดงสิทธิเพื่อครอบครองพื้นที่ สร้างมาตรการเยียวยาสำหรับผู้ที่เดือดร้อน เช่น การจัดการที่อยู่อาศัยใหม่ในมาตรฐานเดียวกับพื้นที่เก่า และในกรณีพื้นที่ที่งอกใหม่ ต้องมีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ใหม่ให้ชัดเจน มีการจัดทำกระบวนการที่มีส่วนร่วมเพื่อจัดการการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ และ 4.เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ผ่านการบูรณาการ ปรับปรุง และจัดทำระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยกำหนดเขตกิจกรรมการใช้ประโยชน์ และวางแผนเชิงพื้นที่ทางทะเล

Advertisement

ถือเป็นโครงการที่น่าจับตามอง ถือเป็นเรื่องดีหากประเทศไทยกลับมามีชายหาดที่สมบูรณ์อีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image