วันนี้ของ ‘อังคณา’ เมื่อวานของ ‘แมกไซไซ’

อังคณา นีละไพจิตร เจ้าของรางวัลแมกไซไซหญิงเพียงคนเดียวประจำปีนี้ โดยเพิ่งลาออกจาก กสม.หมาดๆ ด้วยความ ‘อึดอัดใจ’

“ดีใจที่คนเห็นคุณค่า ไม่เหมือนองค์กรที่จากมา” ถ้อยความจากปาก อังคณา นีละไพจิตร กลายเป็นส่วนหนึ่งของพาดหัวข่าวชวนสะดุ้ง บอกความในใจของเจ้าตัวถึงการได้รับรางวัลทรงเกียรติอย่าง “แมกไซไซ” ที่เปรียบเสมือน “โนเบล” แห่งเอเชีย โดยจะมีการมอบรางวัลในวันที่ 9 กันยายนที่จะถึงนี้ ที่มูลนิธิรามอน แมกไซไซ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์

ตัดภาพกลับไปก่อนหน้าเพียง 1 วัน อังคณาเพิ่งยื่นหนังสือลาออกจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พร้อมเตือนใจ ดีเทศน์ ด้วยเหตุผลที่ว่า “อึดอัดใจ” โดยคิดไตร่ตรองมานานแล้ว ไม่ใช่การ “งอน” แต่อย่างใด

“กฎหมายขึ้นอยู่กับการใช้ดุลพินิจตีความ เมื่อ พ.ร.ป.ว่าด้วย กสม.ประกาศใช้ กสม.ก็มีการใช้ดุลพินิจออกระเบียบที่ค่อนข้างเคร่งครัด ทำให้ปฏิบัติหน้าที่ได้ยาก อย่างใครมาร้องเรียน แม้มาด่าเราก็จะออกไปรับ แต่เมื่อกฎหมายบัญญัติให้ทุกเรื่องต้องเป็นการตัดสินใจของกรรมการ บางทีก็ทำให้เราทำงานยาก อย่างการให้ข่าวซึ่งเป็นเสรีภาพของการแสดงความเห็นของกรรมการก็ถูกจำกัด ทำให้อึดอัด เพราะการให้ข่าวไม่ได้อยากเป็นข่าว แต่เป็นการให้ข่าวเพื่อเป็นการพูดแทนผู้เดือดร้อน

“เราเข้ามาวันแรกก็มีความหวัง เพราะส่วนตัวก็ทำงานกับ กสม.ตั้งแต่ชุดแรก จนรู้สึกมุ่งหวังว่าจะต้องเป็น กสม.ในวันหนึ่ง แล้วจะทำโน่นนี่นั้น แต่เมื่อเข้ามาแล้วมันไม่ใช่อย่างที่คิด และบรรยากาศการทำงานก็ไม่ได้สนับสนุนให้เราทำงานของเราได้ จึงต้องตัดสินใจ” อังคณาเปิดใจต่อหน้าสื่อ

Advertisement

ครั้นเมื่อปรากฏชื่อในหน้าเว็บไซต์มูลนิธิรามอน แมกไซไซ ในฐานะหนึ่งใน 5 ผู้คว้ารางวัล เจ้าตัวก็รับว่าตกใจ ดีใจ และรางวัลนี้จะเป็นกำลังใจให้ “คนเล็กคนน้อย” ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต่อไป โดยตนเพิ่งได้รับการติดต่อเมื่อราว 2 สัปดาห์ก่อน

“ถือเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ขอขอบคุณเพื่อนๆ ที่ให้การสนับสนุนและยืนเคียงข้างในทุกสถานการณ์ที่ยากลำบาก” อังคณาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วยภาษาอังกฤษ

สำหรับเหตุผลตามคำประกาศเกียรติยศระบุว่า อังคณาพิทักษ์ความยุติธรรม ซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วย “ความเจ็บปวด”

Advertisement

มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“คณะกรรมการได้ตระหนักถึงความกล้าหาญอย่างแน่วแน่ในการแสวงหาความยุติธรรมให้กับสามีของเธอ และเหยื่อของความรุนแรงและความขัดแย้งในภาคใต้ เธอทำงานอย่างเป็นระบบและไม่บิดเบือนเพื่อปฏิรูประบบกฎหมายที่มีข้อบกพร่องและไม่เป็นธรรม ถือเป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าเธอคือคนธรรมดาที่ถ่อมตน แต่สามารถส่งผลกระทบระดับชาติ ต่อการยับยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน”

เจาะลึกในรายละเอียดลงไปกว่านั้น มูลนิธิรามอน แมกไซไซ ได้ระบุถึงการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้กับ สมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชน ผู้ถูกอุ้มหายที่กรุงเทพฯ หลังกล่าวหาว่าทหารได้ซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัว ทำให้อังคณาเริ่มต้นการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม อีกทั้งก่อตั้งมูลนิธิความยุติธรรมเพื่อสังคม (เจพีเอฟ) เพื่อติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยร่วมกับหลายองค์กรผลักดันกฎหมายต่อต้านการบังคับบุคคลให้สูญหายและการทรมาน และทำให้ไทยได้ร่วมลงนามและลงสัตยาบันในอนุสัญญาองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมานในปี 2550 และอนุสัญญาว่าด้วยการปกป้องบุคคลจากการบังคับให้สูญหายในปี 2555

นอกจากนี้ยังมีการอ้างถึงถ้อยคำของอังคณาที่เคยกล่าวไว้ในประเด็นความเป็นผู้หญิงและพัฒนาการของแม่บ้านที่อยู่อย่างเรียบง่ายสู่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนแถวหน้า แต่ตัวอังคณาเองไม่ได้แปลกใจ

“ผู้หญิงส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในความขัดแย้งและความรุนแรงต่างจากผู้ชาย พวกเธอพัฒนาทักษะอันหายากในการต่อต้าน แสดงออกและยับยั้งความขัดแย้ง ดังนั้น งานความยุติธรรมและสันติภาพจึงมิอาจละเลยการมีส่วนร่วมที่สร้างสรรค์ของผู้หญิงได้”

รามอน เดล เฟียโร แมกไซไซ ได้รับยกย่องเป็นประธานาธิบดีของ ‘ประชาชน’ เพื่อ ‘ประชาชน’ ขึ้นดำรงตำแหน่งเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2496 ก่อนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกเมื่อ 17 มีนาคม พ.ศ.2500 (ภาพจาก FILIPIKNOW.NET)

เช่นเดียวกับที่เจ้าตัวเพิ่งกล่าวไว้ในปาฐกถาเปิดงาน “ดีทอล์ก ล้างพิษรัฐประหาร” เมื่อ 7 กรกฎาคม ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อันเป็นงานท้ายๆ ที่ปรากฏตัวอย่างเป็นทางการในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานคณะทำงานด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดยในวันนั้น อังคณายังกล่าวติดตลกต้อนรับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้งกล้องบันทึกภาพงานเสวนาอย่างจริงจัง โดยในช่วงเวลาดังกล่าวเพิ่งเกิดเหตุทำร้าย “จ่านิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ครั้งล่าสุดจนสาหัสไปหมาดๆ

อังคณาจี้รัฐบาลอย่าปิดบังความจริง นำผู้คุกคามประชาชนมาลงโทษ แม้เป็นคนของรัฐ

“รัฐต้องไม่ปิดบังข้อเท็จจริงต่อครอบครัวและสังคม แม้ในบางเรื่องรัฐปกปิดได้หากเป็นเรื่องที่อาจส่งผลให้เกิดความสะเทือนใจต่อสาธารณะ

ที่ผ่านมามีการบังคับบุคคลให้สูญหายโดยภาครัฐ แต่ปัจจุบันถูกคุกคามทางกฎหมายเพื่อผิดปาก หรือฟ้องเพื่อกลั่นแกล้ง บางคนโดนเป็นสิบคดี โดนลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทำให้ถูกมองเป็นทนายโจร ผู้หญิงถูกใช้เพศลดทอนความน่าเชื่อถือ

คนคุกคามมักเป็นผู้มีอิทธิพล ไม่เคยมีคนผิดถูกนำมาลงโทษ มีการทำให้คนเห็นต่างจากรัฐถูกเกลียดชัง จนถึงกรณีจ่านิว และเอกชัย หงส์กังวาน

รามอน แมกไซไซ ขึ้นปกนิตยสารไทม์ พฤศจิกายน ค.ศ.1951

แม้คนเห็นต่างจากรัฐ รัฐก็มีหน้าที่ปกป้องในการแสดงความเห็น รัฐต้องเปิดเผยความจริง ไม่ปกปิดว่าใครทำผิด ต้องนำคนผิดมาลงโทษ แม้คนทำเป็นคนของรัฐ” อังคณากล่าวในวันนั้น

ย้อนกลับไปยังที่มาของรางวัลแมกไซไซ หรือชื่อเต็มว่า รางวัลรามอน แมกไซไซ (Ramon Magsaysay Award) ซึ่งกำเนิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ.1957 โดยคณะกรรมการกองทุนร็อกกี้เฟลเลอร์ บราเธอร์ส (Rockefeller Brothers Fund) สหรัฐอเมริกา ตั้งชื่อตาม รามอน แมกไซไซ อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ที่เป็นแบบอย่างการอุทิศตนเพื่อสังคม โดยมีมูลนิธิรางวัลรามอน แมกไซไซ (Ramon Magsaysay Award Foundation) เป็นผู้มอบรางวัลทุกปี ปีละ 5 รางวัล ใน 6 สาขา ให้แก่บุคคลและนิติบุคคลในเอเชีย ได้แก่

รางวัลแมกไซไซ ได้ชื่อจาก Ramon Magsaysay อดีตประธานาธิบดีตลอดกาลของชาวฟิลิปปินส์ (ภาพจาก rmaward.asia)

1.บริการรัฐกิจ 2.บริการสาธารณะ 3.ผู้นำชุมชน 4.วารสารศาสตร์, วรรณกรรม และศิลปะการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ 5.สันติภาพและความเข้าใจระหว่างประเทศ 6.ผู้นำในภาวะฉุกเฉิน

ผู้คว้ารางวัลจะได้รับเงิน 50,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 2 ล้านบาท พร้อมเหรียญรางวัล ซึ่งในปีนี้บุคคลอีก 4 ท่านที่ได้รับรางวัลนี้ ได้แก่ โค ชเว วิน สื่อมวลชนจากพม่า, ยคูมา ราวิช สื่อมวลชนจากอินเดีย, คายับยับ เรมุนโด ปูจันตี ศิลปินจากฟิลิปปินส์ และคิม จอง กี นักธุรกิจและนักเคลื่อนไหวต่อต้านความรุนแรงในโรงเรียนจากเกาหลีใต้

สำหรับคนไทยและหน่วยงานของไทยเคยได้รับรางวัลดังกล่าวมาแล้ว มีกว่า 20 ราย อาทิ

นิลวรรณ ปิ่นทอง, ป๋วย อึ๊งภากรณ์, นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว, หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร, ประยูร จรรยาวงษ์, นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์, พระจำรูญ ปานจันทร์, ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ, ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี, เฟื้อ หริพิทักษ์, ทองใบ ทองเปาด์, ศาสตราจารย์ นายแพทย์อารี วัลยะเสวี, โครงการหลวง, สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT), สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, พลตรีจำลอง ศรีเมือง, มีชัย วีระไวทยะ, อานันท์ ปันยารชุน, โสภณ สุภาพงษ์, ประยงค์ รณรงค์, จอน อึ๊งภากรณ์, รองศาสตราจารย์นายแพทย์เทอดชัย ชีวะเกตุ และเภสัชกรหญิง ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์

นิลวรรณ ปิ่นทอง อดีต บก. ‘สตรีสาร’ ผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซคนแรกของไทยเมื่อ พ.ศ.2504 สาขาบริการสาธารณะ ด้วยการอุทิศแรงกายแรงใจเพื่อสังคม

ที่ผ่านมา มีผู้เคยตั้งข้อสังเกตว่า คนไทยผู้คว้ารับรางวัลแมกไซไซหลายรายมีประสบการณ์ที่ “ไปกันไม่ค่อยได้” กับระบบราชการ บางรายเข้าข่ายถูกมองว่าเป็น “ปฏิปักษ์” ดังที่ ประยงค์ รณรงค์ ปราชญ์ชาวบ้าน เจ้าของรางวัลแมกไซไซในปี 2004 ให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆ โดย “มติชนรายวัน” ฉบับวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2547 บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า

“…มีนักวิชาการ นักกฎหมาย ตัวแทนภาคเกษตรกรที่มีความรู้ ความสามารถแต่ละคนได้เหยียดหยาม โดยเฉพาะนักวิชาการ กล่าวหาว่าผมบังอาจมาช่วยร่าง พ.ร.บ.วิสาหกิจชุมชน ทั้งๆ ที่จบแค่ ป.4 ยอมรับว่าเจ็บใจมาก…

…หน่วยงานราชการระดับจังหวัดก็มาต่อว่า ว่าทำอะไรข้ามหน้าข้ามตา ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้สั่งให้ทำ และพอถึงเวลาที่รัฐบาลสั่งอะไรมายังหน่วยงานราชการ เขาก็มาสั่งให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้อีก ซึ่งทุกครั้งผมได้บอกว่าได้ทำไปหมดแล้ว”

สมบัด สมพอน นักพัฒนาสังคมชาวลาว กับเดสมอนด์ ตูตู นักสิทธิมนุษยชนชื่อดังของโลกชาวแอฟริกัน ถ่ายเมื่อ พ.ศ.2549 หลังสมบัดรับรางวัลแมกไซไซใน พ.ศ.2548 กระทั่งหายตัวลึกลับใน พ.ศ.2555

เหลือบตาไปดูเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว นักพัฒนาสังคมชาวลาว สมบัด สมพอน เจ้าของรางวัลแมกไซไซประจำปี 2548 หายตัวลึกลับในเดือนธันวาคม 2555 เชื่อว่าถูกลักพาตัวที่กรุงเวียงจันทน์ โดยรัฐบาลลาวปฏิเสธการเชื่อมโยงและยืนยันว่าไม่มีส่วนรู้เห็น ทว่า ยังเป็นประเด็นที่ถูกโลกตั้งคำถาม

ผู้รับรางวัลอีกหนึ่งท่านที่สะท้อนการมองเห็นความสำคัญของ “คนธรรมดา” ที่มีหัวใจไม่ธรรมดา ซึ่งไม่ใช่สายคัดง้างอำนาจรัฐ แต่เป็น “ผู้ให้” สไตล์ปิดทองหลังพระ นามว่า เฉินซู่จวี๋ แม่ค้าขายผักชาวไต้หวันที่มอบเงินทองให้สาธารณกุศลมาตลอดชั่วชีวิตอย่างเงียบๆ รวมกว่า 10 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน ไม่เคยป่าวประกาศ ใช้ชีวิตสมถะ และทำงานหนักอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพราะเคยลำบากและสูญเสียแม่รวมถึงน้องชายจากการเจ็บป่วยโดยขัดสนเงินทองในการรักษาได้ทันท่วงที

คว้ารางวัลแมกไซไซในปี 2012 อย่างองอาจ แม้เป็นเพียงคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม

เฉินซู่จวี๋ แม่ค้าผักชาวไต้หวัน คว้ารางวัลแมกไซไซใน ค.ศ.2012 หลังช่วยเหลืองานสาธารณะ อาทิ สร้างห้องสมุด และช่วยเหลือเด็กกำพร้าโดยบริจาคทรัพย์รวมกว่า 10 ล้าน ดอลลาร์ไต้หวัน ในขณะที่ตัวเองทำงานหนัก ใช้ชีวิตสมถะ (ภาพจาก http://www.taiwaneseamerican.org)

สอดคล้องทรรศนะอดีตประธานาธิบดีรามอน แมกไซไซ ที่ไม่เคยมองข้ามสุ้มเสียงของผู้คนระดับล่างของสังคม โดยเชื่อว่ารัฐต้องเริ่มต้นที่การทำงานจากระดับล่างสู่ระดับบน นั่นคือการฟังเสียงประชาชนเป็นหลักในการกำหนดนโยบายของประเทศ ให้ประชาชนคิดเป็น ทำเป็น ไม่ใช่ให้อย่างเดียวโดยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เชื่อว่าควรให้สวัสดิการแก่ผู้ยากไร้โดยการออกเป็นกฎหมาย ให้สิทธิโดยเฉพาะที่ดินทำกินในระยะยาว เชื่อว่าผู้นำของประเทศควรมีความซื่อสัตย์ จริงใจ ไม่ฉวยโอกาส มีความอดทน และรักประชาชนคนระดับล่าง

และเชื่อว่ารัฐธรรมนูญเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของประเทศที่ถูกละเมิดมิได้

การได้รับรางวัลแมกไซไซ จึงเป็นความภาคภูมิใจของคนเอเชีย และคนทุกชนชั้นอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image