ข้างหลัง ‘พระอภัยมณี’ สุนทรภู่ ซ่อนความคิดต้านชาติตะวันตก

หุ่นขี้ผึ้งชุด "พระอภัยมณี" ที่พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จังหวัดนครปฐม

ในบรรดาผลงานของสุนทรภู่ (พ.ศ.2329-2398) “พระอภัยมณี” น่าจะเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงมากที่สุด มีการกล่าวถึงมากที่สุด และเป็นที่รู้จักมากที่สุด ฯลฯ เพราะบางตอนของพระอภัยมณีนําไปใช้เป็นแบบเรียน, นําเรื่องมาสร้างเป็นภาพยนตร์, การ์ตูน ฯลฯ

นอกจากนี้ เมื่อเกิดสึนามิขึ้นในปี 2547 นักวิชาการ นักเขียนหลายท่านต่างกล่าวถึง “พระอภัยมณี” ว่า สุนทรภู่ได้บันทึกถึงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติครั้งสําคัญที่เกิดขึ้นในสมัยของท่านแทรกไว้ในพระอภัยมณีด้วย ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม, แผ่นดินไหว, ดาวอุกกาบาตตก

ดูเหมือนว่า “พระอภัยมณี” ไม่ใช่แค่วรรณกรรมที่อ่านเพื่อความบันเทิงเท่านั้นเสียแล้ว

วันนี้นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนสิงหาคม 2562 อยากชวนทุกท่านให้ติดตาม “พระอภัยมณี” ในแง่มุมอื่นๆ จากบทความชื่อว่า “คริสต์ศาสนาในมโนทัศน์ของสุนทรภู่จากวรรณกรรมเรื่องพระอภัยมณี” ซึ่ง ปติสร เพ็ญสุต ได้ค้นคว้าและเรียบเรียงไว้อย่างน่าสนใจ

Advertisement

เรื่องพระอภัยมณีนั้น สุนทรภู่แต่งในช่วงปลายรัชกาลที่ 2 และต่อเนื่องมาในรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นยุคแรกๆ ของกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีชาวต่างชาติ โดยเฉพาะยุโรปเข้ามา

ค้าขายในสยามและภูมิภาค พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเองก็เคยมีพระราชกระแสรับสั่งเรื่องนี้ไว้ว่า

รูปหล่อพระอภัยมณี ตั้งอยู่หน้าอนุสาวรีย์สุนทรภู่ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

“การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียที่แก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไป ที่เดียว…”

Advertisement

สุนทรภู่เองก็คงเห็นพ้องกับพระราชกระแสรับสั่งข้างต้น และแฝงความคิดนี้ไว้ใน “พระอภัยมณี”

ปติสร เพ็ญสุต แยกแยะให้เห็นว่าสุนทรภูใช้ตัวละครสําคัญทางฝ่ายเกาะเมืองลังกา ไม่ว่าจะเป็น สังฆราชบาทหลวง, นางละเวงวัณฬา, นางสุวรรณมาลี ฯลฯ เป็นตัวแทนความคิดและทัศนคติของขุนนางในกรุงเทพฯ ในช่วงศตวรรษที่ 18 ที่มีต่อคริสต์ศาสนา และแน่นอนว่าแทนความคิดเห็นของสุนทรภู่ด้วย

อนุสาวรีย์สุนทรภู่ที่เมืองแกลง จังหวัดระยอง

เกาะลังกาในจินตนาการของสุนทรภู่นั้น มีต้นเค้ามาจากประเทศศรีลังกา ที่แม้ว่าจะเคยเป็นเมืองพุทธ และปัจจุบันมีประชาชนจํานวนมากนับถือศาสนาพุทธ แต่ในช่วงที่สุนทรภู่แต่งพระอภัยมณี ศรีลังกาเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ และเมืองลังกาในพระอภัยมณีก็ไม่ใช่เมืองพุทธเช่นกัน

สุนทรภู่จึงสร้างฉากเมืองลังกาให้เป็นเมืองคริสต์ศาสนามาตั้งแต่ต้น มีสังฆราชบาทหลวงเป็นที่ปรึกษามีศาสนาคริสต์เป็นศาสนาหลักของรัฐ มีผู้ปกครองเป็นสตรี คือนางละเวงวัณฬา เหมือนกับประเทศอังกฤษที่มีสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเป็นประมุขของประเทศ เพราะขณะนั้นลังกาตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษแล้ว

นอกจากนี้สุนทรภู่ยังเรียกตัวละครฝ่ายลังกาว่าเป็น “ฝรั่งอังกฤษ” และเรียกตัวละครฝ่ายพระอภัยมณีว่า “ไทย” ตลอดเวลา แสดงให้เห็นว่าวรรณกรรมพระอภัยมณีนั้นมีกลิ่นอายของความเป็นชาตินิยมที่มา ก่อนกาลเคลือบแฝงอยู่ตลอดเกือบทั้งเล่ม และมีท่าทีต่อต้าน “ฝรั่ง”

ส่วนสถานการณ์จริงขณะนั้นสยาม ชาวตะวันตกกําลังอยู่ใต้บรรยากาศของความไม่ไว้วางใจกันและกัน กรุงเทพฯมีบรรดาบาทหลวงเขียนหนังสือวิจารณ์ศาสนาพุทธ และออกเดินทางสั่งสอนศาสนาคริสต์ในที่สาธารณะ รวมทั้งมีการปะทะคารมกับข้าราชสํานักหรือพระภิกษุ

“บาทหลวง” ในภาพปริศนาธรรมฝีมือขรัวอินโข่ง จิตรกรรมฝาผนัง ภายในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวรวิหาร

สุนทรภู่เองคงจะไม่พอใจในพฤติการณ์เช่นนี้ และก็คงอยากจินตนาการให้ฝ่ายไทยรบชนะชาวตะวันตก ได้เมืองของฝรั่งเป็นอาณานิคมบ้าง หรือเปลี่ยนศาสนาของ “ชาวฝรั่ง” ให้มานับถือศาสนา พุทธแบบไทยบ้าง

ในพระอภัยมณีตอนหนึ่งสุนทรภู่จึงเขียนว่า

“เสนาใหญ่ได้ฟังนั่งหัวเราะ ลังกาเกาะก่อนก็ถือว่าถือผี

แต่เดี๋ยวนี้เป็นของไทยมิได้มี ท่านพาที่น่ากลัวหนังหัวพอง”

หรือเมื่อนางละเวงวัณฬาและนางสุวรรณมาลีเป็นชายาของพระอภัยมณีก็เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ ได้ออกบวชเป็นดาบส จําศีลภาวนาแล้วก็ละทิ้งความเป็นฝรั่งอังกฤษ

“ถึงองค์ดาบสละเวงวัณฬาราช ก็สิ้นชาติเชื่ออังกฤษอย่าคิดหมาย

ไม่นับถือคนขี้ข้าบ้าน้ำลาย ท่านมุ่งหมายแต่สวรรค์ชั้นวิมาน”

อย่างไรก็ตาม สุนทรภู่ไม่เคยใช้คําว่า “ศาสนาพุทธ” หรือ “ศาสนาคริสต์” ในพระอภัยมณี หากเลือกใช้คําว่า “เข้ารีตไทย” หรือ “ศาสนาข้างฝรั่ง” แทน

ซึ่งในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้น “ชาติพันธุ์” หรือความเป็นพลเมืองของรัฐ ผูกพันอย่างแน่นแฟ้นกับ “ความเชื่อ” เมื่อเปลี่ยนศาสนาก็เสมือนการเปลี่ยนชนชาติ ซึ่งเป็นปัญหาในสังคมสยามมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังจะเห็นได้จากกฎหมายในสมัยพระเจ้าท้ายสระ ซึ่งห้ามชาวไทย ลาว และมอญแต่งงานและเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์หรืออิสลาม “แลให้เข้ารีตถืออย่างมถจฉาทิฏฐินอกพระสาสนา ท่านว่ามันผู้นั้นเป็นเสี้ยนหนามในแผ่นดิน”

แต่ในทางกลับกันสําหรับสุนทรภู่ การที่ผู้หญิงชาวคริสต์จะมาแต่งงานและเข้ารีตในศาสนาไทยกลับไม่เป็นอันตรายใดๆ แม้ว่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทําให้กรุงลังกาเสียแก่กรุงรัตนาของพระอภัยมณีก็ตาม

บาทหลวงในเรื่องพระอภัยมณีจึงให้ภาพความไม่ไว้วางใจในศาสนาคริสต์ของชนชั้นขุนนางในสยาม และในขณะเดียวกันก็เป็นตัวแทนของชาวตะวันตกผู้ล่าอาณานิคม ที่ดื้อรั้นก่อกวนรักษา ผลประโยชน์ของตัวเอง และพยายามชักจูงให้พวกไทยเข้ารีตดังเช่นกรณีของพระมังคลา ซึ่งเป็นลูกครึ่งไทย-อังกฤษ และได้รับการอบรมสั่งสอนจากสังฆราชบาทหลวง

ส่วนพฤติกรรมของนางละเวงวัณฬาดูคล้ายกับลักษณะนิสัยของชาวสยาม ที่การนับถือศาสนาค่อนข้างลื่นไหลไม่ตายตัว และให้ความเคารพนับถือนักบวชผู้ทรงศีลไม่ว่าจะอยู่ในศาสนาใด อีกทั้งพร้อมที่จะสรรเสริญคุณความดีในศาสนาอื่นๆ ด้วย แต่ขณะเดียวกันก็มีจุดยืนที่แน่ชัดของตนเอง อันเป็นลักษณะเด่น ของสังคมสยามที่เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม (Multiculturalism) มาตั้งแต่ดึกดําบรรพ์0

ทั้งหมดที่ยกมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ผู้เขียน (ปติสร เพ็ญสุต) ค้นคว้าเรียบเรียงมาเขียนไว้อย่างสนุกแลหนักแน่นด้วยสาระ ซึ่งท่านสามารถติดตามเนื้อหาทั้งหมดได้ใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนสิงหาคมนี้

แล้วท่านจะพบว่า “พระอภัยมณี” ไม่ใช่วรรณกรรมแฟนตาซี เพื่อความบันเทิงเท่านั้น หากยังสะท้อนสถานการณ์ของสยามในขณะนั้น ตลอดจนความรู้สึกลึกๆ ของคนไทยที่อยากจะให้ศาสนาพุทธและคนไทยมีชัยชนะเหนือชาวตะวันตกบ้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image