เมื่อ ‘ความสุขของคนไทย’ ไม่เหมือนกัน มองงานศิลป์ผ่านฝีแปรงเด็กจิตรกรรมฯ

"สุขใจวิถีไทย-จีน" โดยศุภัชฌา โรจนวนิช

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างสรรค์งานศิลปะจากหัวข้อ ความสุขของคนไทย แต่ก็ไม่ยากเกินกว่ามันสมองและสองมือของนักศึกษาระดับปริญญาตรี คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

“ความสุขของคนไทย” เป็นชื่อหัวข้อการประกวดศิลปกรรมไทยออยล์ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2562 เวทีโชว์ผลงานศิลปะที่เกิดจากความร่วมมือของผู้ประกอบธุรกิจการกลั่นและจำหน่ายนํ้ามันปิโตรเลียมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอย่าง บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และ มหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันการศึกษาชั้นนำทางศิลปะของประเทศไทย ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาคณะจิตรกรรมฯ ระดับชั้นปีที่ 1-5 ร่วมตีความถึงแง่มุมต่างๆ ของประเทศไทย ในฐานะดินแดนสุวรรณภูมิที่มีขนบธรรมเนียม ประเพณี และศิลปวัฒนธรรมด้านต่างๆ ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ผ่านแนวคิดและความภูมิใจสู่งานศิลปกรรมทรงคุณค่า ชิงทุนการศึกษาสูงสุด 100,000 บาท

คัดเลือกโดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย ประกอบด้วย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม), ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมิตร อาจารย์ประจำ คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร, ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ กุญแจทอง คณบดี คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร, รศ.ทิพเนตร์ แย้มมณีชัย หัวหน้าภาควิชา โครงการจัดตั้งภาควิชาแกนทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร

ดร.วิชญ มุกดามณี อาจารย์ประจำ คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร, นายวิโรจน์ มีนะพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านกำกับองค์กรและกิจการสัมพันธ์ บมจ.ไทยออยล์ และนายฑีฆวุฒิ บุญวิจิตร อาจารย์ประจำ คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร

Advertisement
“เรื่องเล่าของยาย” โดยก้องภพ เบ็ญจนิรัตน์

ในที่สุดก็มีผลงานรวม 18 ชิ้นโดนใจกรรมการ ได้รับมอบทุนการศึกษา แบ่งเป็น รางวัลยอดเยี่ยม 1 รางวัล พร้อมทุนการศึกษา 100,000 บาท “สุขใจวิถีไทย-จีน” โดยศุภัชฌา โรจนวนิช รางวัลดีเด่น 2 รางวัล พร้อมทุนการศึกษา 70,000 บาท คือ “พื้นที่แห่งความสุข” โดยภาสกร แพชนะ และ “เรื่องเล่าของยาย” โดยก้องภพ เบ็ญจนิรัตน์ และรางวัลสนับสนุนอีก 15 รางวัล พร้อมทุนการศึกษา 30,000 บาท

ยามบ่ายในวันฝนโปรย ตัวแทนจาก บมจ.ไทยออยล์ ม.ศิลปากร ศิลปิน พร้อมด้วยนักศึกษาที่ได้รับรางวัล ร่วมกันตัดริบบิ้นเปิดนิทรรศการอย่างเป็นทางการ

‘ความสุขของคนไทย’ ความสร้างสรรค์ของศิลปิน

“สุขใจวิถีไทย-จีน” ผลงานรางวัลยอดเยี่ยมโดยศุภัชฌา แสดงถึงโอกาสอันยิ่งใหญ่ที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 พระราชทานชีวิตใหม่แก่ครอบครัวชาวจีนเล็กๆ ผู้อพยพมาขออาศัยใต้ร่มพระบารมีในถนนเยาวราช ประเทศไทย ดินแดนที่สมบูรณ์พร้อมด้วยทรัพยากร ทำให้ภาพดังกล่าวแสดงออกถึงความขอบคุณอย่างสุดซึ้ง

Advertisement

ศิลปะเทคนิคสีน้ำ สีฝุ่น และทองคำเปลวชิ้นนี้ ศุภัชฌาบอกว่า ใช้เวลาสร้างสรรค์ราว 1 เดือนเต็ม ที่สำคัญเธอยังวาดภาพครอบครัวตัวเองร่วมรับประทานอาหารเย็นลงไปด้วย

“โครงการของไทยออยล์เปิดโอกาสให้นักศึกษาในคณะสามารถนำงานของตัวเอง สร้างสรรค์จากเทคนิคของตัวเองมาเสนอได้อย่างหลากหลาย ทำให้ได้เห็นงานของเพื่อนๆ พี่ๆ จำนวนมาก สามารถให้แรงบันดาลใจกับเราได้” เธอกล่าว

ขณะที่เจ้าของผลงาน “เรื่องเล่าของยาย” ผู้เนรมิตด้วยเทคนิค สีน้ำมันบนลินินอย่าง “ก้องภพ” สามารถคว้ารางวัลดีเด่นมาได้ บอกว่า แนวคิดของภาพดังกล่าวคือ ช่วงเวลาแห่งความสุขที่สุดของคนไทยคือการได้อยู่ใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้เห็นพระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อคนไทยตลอด 70 ปี ทว่ายังมีคนรุ่นใหม่หลายรุ่นที่เกิดไม่ทันยุคสมัยนั้น ซึ่งการได้ถ่ายทอดเรื่องราวดังกล่าวผ่านเรื่องเล่าเสมือนการส่งต่อช่วงเวลาแห่งความสุขจากรุ่นสู่รุ่นของคนไทย

“ผมเลือกใช้โทนสีอบอุ่น รวมทั้งเอฟเฟ็กต์ต่างๆ เป็นแสง ซึ่งจะให้ความรู้สึกฟุ้ง อบอวลไปด้วยความสุข และการเลือก ‘ยาย’ ซึ่งเป็นเพศหญิง ส่วนหนึ่งเพราะเป็นหัวข้อ Thesis อีกส่วนคือการที่เรามีความสนใจในเพศตรงข้าม ซึ่งไม่สามารถเข้าใจเขาได้เลย ดังนั้น การศึกษาตรงนี้จึงน่าสนใจ

“เวทีนี้เป็นเวทีแรกที่จัดขึ้นในคณะ และจำกัดเฉพาะนักศึกษาชั้นปีที่ 1-5 ด้วยความที่เป็นเวทีไม่ใหญ่มาก ทำให้นักศึกษาปีต้นๆ กล้าแสดงออก กล้าส่งผลงานมากกว่าส่งไปในเวทีใหญ่ๆ เป็นการเปิดโอกาสให้เขาได้ทดลองส่ง ได้ร่วมแสดง ถือเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่ง ชื่นชมทุกคนที่ได้รางวัล ตัวเองจะได้มีไฟด้วย” ก้องภพตอบ

“พื้นที่แห่งความสุข” โดยภาสกร แพชนะ

อีกหนึ่งผลงานรางวัลดีเด่นคือ “พื้นที่แห่งความสุข” ศิลปะเทคนิคสีฝุ่นบนผ้าใบของ “ภาสกร” ปรากฏหญิงสาว 2 คนเด่นชัด นั่นคือแม่และพี่สาว

เขาบอกว่า ผู้หญิงที่นอนอยู่คือแม่ สาวเสื้อชมพูผู้นั่งบนเก้าอี้คือ พี่สาว ส่วนไก่ที่เห็นคือของพ่อ

“แนวคิดของงานชิ้นนี้แสดงออกถึงสายใยแห่งความผูกพันจากวิถีชีวิตชนบทชาวเล สะท้อนคุณค่าความงามผ่านรูปลักษณ์อันเรียบง่ายในธรรมชาติอย่างลงตัว ผมพยายามหาข้อมูลจริง พยายามลงพื้นที่ เพราะเราเป็นคนใต้ จ.สุราษฎร์ธานี แล้วนำมาจัดองค์ประกอบเอง จะเห็นว่าผมไม่ได้ถ่ายทอดแบบเรียลทั้งหมด นั่นไม่ใช่แนวที่ต้องการ ทว่าอาจเป็นแนวเซอร์ผสม ไก่อาจตัวใหญ่บ้าง คนตัวเล็กบ้าง แต่ก็ตั้งใจให้คนดูแล้วเกิดคำถามว่าทำไมเราถึงให้ความสำคัญกับสิ่งนั้นสิ่งนี้”

สำหรับ “สิปปภาส แก้วรากมุข” เจ้าของผลงาน “ศูนย์รวมของความสุข” ซึ่งครั้งนี้คว้ารางวัลสนับสนุน พร้อมทุนการศึกษาจำนวน 30,000 บาท ไปได้ เล่าให้ฟังว่า ภาพของเขาสร้างสรรค์ด้วยเทคนิคสีฝุ่นปิดทองคำเปลวและแผ่นเงิน ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากบ้านเกิดของตัวเองที่ จ.เชียงราย โดยตัดทอนจากรูปภาพ สร้างเป็นเอกลักษณ์ในจิตรกรรมไทย สอดแทรกศาสนา วิถีชีวิตชุมชน แสดงถึงความสุขที่มี พร้อมดนตรีสอดแทรก

นอกเหนือจากนี้แล้ว ยังมีผลงานพร้อมเรื่องเล่าแฝงแนวคิด สุดทึ่งมากมาย รอให้คนไปชมอยู่ที่หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์

วิโรจน์ มีนะพันธ์ ร่วมตัดสินผลงาน

ศิลปะสะท้อนตัวตน

“หัวข้อนี้ไม่ยากอะไรเลย แต่จะนำมุมมองไหนมาใช้เท่านั้นเอง อาจคิดถึงเรื่องพระมหากษัตริย์ เรื่องความเป็นครอบครัว ความสุขบางมุมที่เป็นวิถีชีวิตปกติ เช่น ชาวใต้ ความอุดมสมบูรณ์ สิ่งต่างๆ ย่อมสะท้อนบุคลิกแต่ละคนออกมา ซึ่งผมคิดว่าตรงนี้ไม่ต้องตีความมาก”

ศ.ญาณวิทย์ กุญแจทอง คณบดี คณะจิตรกรรมฯ ผู้ควบเก้าอี้กรรมการตัดสินผลงานอีกหนึ่งตำแหน่งเอ่ยถึงหัวข้อ “ความสุขของคนไทย”

“มีอยู่ผลงานหนึ่ง ใช้เทคนิค Silkscreen ได้รับรางวัลสนับสนุน ซึ่งเป็นงานของ ‘ณัฐนิชา สัมฤทธิ์’ ชื่อว่า Pressure No.3 มีรูปเรือสีดำๆ จริงๆ เขาเกิดจากความเก็บกด ดูแล้วไม่น่าจะมีความสุข แต่ความกดดันทำให้เขารู้สึกว่าต้องทำอะไร เช่น การพับกระดาษ พับเรือ แล้วปล่อยในน้ำ เมื่อเรือล่องไปก็เสมือนการได้ปลดปล่อย เหมือนการสร้างความสุขให้ตัวเอง ซึ่งเป็นมุมมองที่คนดูอย่างเราคิดไม่ถึง เป็นมุมมองของศิลปินที่สามารถถ่ายทอดออกมาและบอกว่านี่เป็นวิธีคลายความเครียดของเขา ทำให้เกิดความสุข ทางกรรมการดูแล้วก็เข้าใจ ในที่สุดก็มาอยู่ตรงนี้” ศ.ญาณวิทย์กล่าว

Pressure No.3 โดยณัฐนิชา สัมฤทธิ์

สำหรับเกณฑ์การตัดสินนั้น คณบดีคณะจิตรกรรมอธิบายว่า หัวข้อต้องตรง คุณภาพที่สื่อออกมาต้องตรงกับความสุข เทคนิคไม่ถึง ฝีมือไม่ดีก็ต้องหลุดไป ดังนั้น การตัดสินจึงเป็นรูปธรรมชัดเจน โดยเฉพาะผลงานรางวัลยอดเยี่ยมของศุภัชฌาที่ผลโหวตเป็นเอกฉันท์สุดสุด

“ผลงานเขามีทักษะ มีฝีมือขั้นสูง การแสดงออก การใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ชัดเจน หากดูจริงๆ จะเห็นภาพครอบครัวของเขาอยู่ด้วย ซึ่งอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นทั้งไทยและจีน ดังนั้น เรื่องการแสดงออก ฝีมือ เทคนิค ความคิดทั้งหมดของเขาทำให้ได้รับรางวัลนี้

คณะกรรมการตัดสินผลงาน

“โครงการนี้เปิดโอกาสให้นักศึกษาคณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร ระดับปริญญาตรี ได้เข้าร่วม เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์และได้เผยแพร่ผลงาน อีกทั้งยังเป็นการแสดงศักยภาพทางศิลปะของตนเองสู่สังคมภายนอก โดยนำเสนอสำนึกแห่งความภาคภูมิใจในคุณค่าความเป็นไทยผ่านงานศิลปกรรม นอกจากนี้ยังได้รับมอบรางวัลเป็นทุนการศึกษาจากไทยออยล์แก่นักศึกษาที่สร้างผลงานที่มีความโดดเด่นและเป็นที่ยอมรับในคุณภาพของผลงาน

“ในนามของคณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมที่เอื้อประโยชน์ต่อวงการศึกษาศิลปะเช่นนี้”

เปิดเวทีสร้างโอกาสพัฒนางานศิลป์

นอกจาก บมจ.ไทยออยล์จะเป็นองค์กรทางธุรกิจแล้ว เป้าหมายในการสร้างสมดุลก็ยังโดดเด่นไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในพื้นที่รอบโรงกลั่นซึ่งให้การดูแลตั้งแต่เรื่องศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี การศึกษา ตลอดจนด้านวิทยาศาสตร์ การพัฒนา การทำวิจัย มีโรงเรียนด้านวิทยาศาสตร์ร่วมกับกลุ่ม ปตท. เพื่อสนับสนุนเด็กๆ เยาวชน คนในชาติในการต่อยอดนวัตกรรมต่างๆ ดังนั้น “โครงการประกวดศิลปกรรมไทยออยล์ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2562” จึงเป็นโอกาสดีที่ไทยออยล์จะได้ขยายเป้าหมายครอบคลุมถึงเรื่องศิลปะ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติอย่างหนึ่ง

วิโรจน์ มีนะพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านกำกับองค์กรและกิจการสัมพันธ์ บมจ.ไทยออยล์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ว่า ไทยออยล์ต้องการเปิดเวทีให้นักศึกษาได้มีโอกาสแสดงฝีมือ พร้อมกับได้รับทุนการศึกษา ด้วยมุ่งหวังให้สร้างความภาคภูมิใจ ให้บรรดานักศึกษามีแรงบันดาลใจที่จะทำงานต่อ กระทั่งช่วยอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทยให้ยั่งยืนต่อไป

“เราตั้งใจจะต่อยอดจากโครงการนี้ โดยการนำภาพไปทำสื่อประชาสัมพันธ์ เพราะอย่างที่บอกว่าโครงการนี้คือเป้าหมายหนึ่งของไทยออยล์ เราต้องการสร้างหรือส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความยั่งยืน ซึ่งเป็นปณิธานของไทยออยล์ที่อยากจะสื่อออกมา โดยผลงานที่เห็นวันนี้เหนือความคาดหมาย ไม่คิดว่าน้องๆ ที่อยู่ชั้นปีต้นๆ สามารถผลิตผลงานที่สื่อถึงความเป็นไทยได้เป็นอย่างดี ทั้งศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม สังคม พระมหากษัตริย์ ดีใจที่เห็นน้องๆ มีแนวคิดแบบนี้ ไทยออยล์เองก็ภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยส่งเสริมศิลปิน อย่างน้อยก็มีคนสืบทอดเทคนิคการวาดภาพแบบไทยโบราณ นับว่าโครงการประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้

“ยังมีผลงานของน้องๆ ที่แม้จะไม่ได้รับการคัดเลือก แต่ก็ได้รับโอกาสให้ร่วมจัดแสดง อย่างน้อยก็น่าจะเป็นความภาคภูมิใจที่มีผลงานมาแสดงในแกเลอรี่ที่ได้รับการยอมรับขนาดนี้ น่าจะเป็นจุดเล็กๆ ที่เป็นประกายให้เขามีกำลังใจในการผลิตผลงานต่อไปในอนาคต” วิโรจน์กล่าวปิดท้าย

แล้ว “ความสุขของคนไทย” สำหรับคุณล่ะ เป็นอย่างไร?

 


นิทรรศการศิลปกรรมไทยออยล์ ‘ความสุขของคนไทย’ จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2562 ณ หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. ทุกวัน (ยกเว้นวันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์) ไม่เสียค่าเข้าชม
เดินทางโดยรถประจำทาง : สาย 3, 6, 9, 30, 32, 33, 53, 64, 524
เดินทางโดยเรือด่วนเจ้าพระยา : ขึ้น-ลงที่ท่าพระอาทิตย์
ติดต่อสอบถามได้ที่เพจเฟซบุ๊ก Arts Gallery at Ban Chao Phraya

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image