รัฐไทยทำไมยังเฉย? สังคมจี้เลิก ‘เชิญแม่มาให้กราบ’ ประเพณีใหม่ สะท้อนการศึกษาไทย ‘เกรดไม่สวย’!

เป็นประเด็นท้าทายที่สังคมไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งใน “วันแม่แห่งชาติ” พุทธศักราช 2562 สำหรับกระแสการเรียกร้องให้ “ยกเลิก” กิจกรรมเชิญแม่มาให้ลูกกราบตามโรงเรียนเพื่อแสดงความรักและกตัญญูกตเวทีพร้อมด้วยพวงมาลัยดอกไม้ที่สุดท้ายลูกๆ หลายรายต้องรอเก้อ จริงๆ แล้วหากย้อนไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็เคยมีแนวคิดดังกล่าวผุดขึ้นมาให้ร่วมขบคิดหลายต่อหลายครั้ง หากแต่ยังไม่เข้มข้น ร้อนแรงเหมือนในเวลานี้ ที่ “ตัวเปิด” คือนักร้องดังอย่าง “ศุ บุญเลี้ยง” เจ้าของเพลง “อิ่มอุ่น” ซึ่งโรงเรียนทั้งหลายใช้เปิดวนจนกลายเป็นบทเพลงในความทรงจำวันแม่ไม่แพ้ “ค่าน้ำนม” ของ คีตกวีลูกทุ่ง “ไพบูลย์ บุตรขัน”

ที่น่าสนใจคือ ศุ จุดประเด็นโดยหยิบยกคำกล่าวที่มีคนไปบอกเจ้าตัวว่า โรงเรียนเปิดเพลงอิ่มอุ่นในวันแม่ แล้วเด็กร้องไห้กันทั้งโรงเรียน แทนที่จะปลาบปลื้มยินดีที่เพลงของตนฮิตข้ามศตวรรษเข้าข่ายเฉียดใกล้ความเป็นอมตะ ทว่า ศุ กลับบอกว่านั่นไม่ใช่การแสดงความรักที่แท้จริง ทั้งยังเขียนข้อความเป็นลายลักษณ์อักษรย้ำชัดว่าไม่ควรชักชวนให้พาแม่มาให้นักเรียนกราบไหว้ เพราะสร้างความ “สะเทือนใจ” ให้เด็กๆ ที่ไม่พร้อม

“ทางโรงเรียนไม่ควรจัดงานวันแม่ โดยการชักชวนให้นำแม่มาให้นักเรียนกราบไหว้ที่โรงเรียน เพราะการให้ผู้ปกครองมาโรงเรียนในวันสำคัญ เป็นการสร้างความสะเทือนใจให้กับนักเรียนซึ่งพ่อแม่ไม่สามารถจะมาร่วมงานได้ จะด้วยเหตุผล ที่เป็นเด็กกำพร้า หรือว่าครอบครัวหย่าร้าง แม้กระทั่งไม่ว่าง ไม่สะดวกที่จะมาโรงเรียนในวันนั้นๆ” คือถ้อยแถลงของ ศุ บุญเลี้ยง ที่ปลุกใจสังคมไทยให้หันมามองปัญหาจากกิจกรรมนี้อีกครั้ง

Advertisement

อย่างไรก็ตาม เจ้าตัวยืนยันว่า ไม่ได้ห้ามจัดงานวันแม่ หรือห้ามการเรียนรู้เรื่องการไหว้กราบ แต่โรงเรียนที่ไม่ได้รับคำสั่งให้จัดงาน ควรพิจารณาได้ด้วยสามัญสำนึกของความเป็นครูและหากทางรัฐมนตรี ซึ่งมีหน้าที่ส่งมอบนโยบาย เห็นสมควร

ได้โปรดแจ้งให้ทางโรงเรียนทราบถึงความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง

‘ไม่ควรมีเด็กคนไหนต้องเสียน้ำตา’
เสียงจากพ่อแม่ ‘เลี้ยงเดี่ยว’

จากความเห็นของนักร้องดังที่สร้างแรงกระเพื่อมในสังคมมิใช่น้อย ยังเกิดแนวร่วมเป็นชาวเน็ตจำนวนมหาศาล ที่พากันออกมาบอกเล่าประสบการณ์อันเจ็บปวดในวัยเยาว์ กระทั่งมีผู้สร้างแคมเปญรณรงค์ในเว็บไซต์ change.org เรียกร้อง “ยกเลิกกิจกรรมกราบพ่อแม่ที่โรงเรียน” โดยมีหลักการและเหตุที่ว่า ปัจจุบันอัตราหย่าร้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาเศรษฐกิจสังคมส่งผลกระทบโครงสร้างครอบครัวไทย เกิดพ่อแม่ “เลี้ยงเดี่ยว” มากมาย จึงอยากให้กระทรวงศึกษาธิการทบทวนเพื่อไม่ให้เด็กคนไหนต้องเสียน้ำตาในวันนั้น

Advertisement

“การจัดกิจกรรมวันพ่อ วันแม่ในโรงเรียน ควรคำนึงถึงจิตใจของเด็กที่ไม่มีผู้ปกครองมารวมกิจกรรม เพราะอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็ก

เด็กบางคนอาจไม่สามารถที่จะให้พ่อแม่มาร่วมกิจกรรมได้ เช่น ป่วย, ไม่สบายหนัก, ติดภารกิจการงาน, เสียชีวิต หรือไม่มีผู้ปกครอง, ครอบครัวแยกทางกัน หรือมาไม่ได้ เพราะมีพี่น้องหลายคน พ่อแม่ต้องไปหลายโรงเรียน สลับกัน ปีละโรงเรียน

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันปัญหาครอบครัวเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากอัตราการหย่าร้างของสามีและภรรยาที่นับวันจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อโครงสร้างครอบครัวของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีทั้งครอบครัวที่เป็นคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว บางคนก็ทำงานต่างจังหวัด บางครอบครัวพ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วย หรือมีลูกหลายคน จึงเป็นไปได้ยากที่ทุกครอบครัวจะให้พ่อแม่มาร่วมงานได้ นอกจากนี้ อาจเนื่องมาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจจึงทำให้คู่สมรสตัดสินใจย้ายถิ่นเพื่อหางานทำ โดยให้ลูกอยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาเด็กขาดความอบอุ่นจากพ่อแม่ตามมา” คือเหตุผลของ ศุภฤทธิ์ ทวีเกียรติ ผู้สร้างแคมเปญโดยขยายถึงกิจกรรม “วันพ่อ” ด้วย

ศุภฤทธิ์ ซึ่งเป็น “พ่อเลี้ยงเดี่ยว” ชี้ทางเลือกว่า โรงเรียนสามารถจัดกิจกรรมโดยปรับเปลี่ยนรูปแบบที่เด็กทุกคนสามารถทำได้ เช่น ให้ร่วมกันร้องเพลงค่าน้ำนมเพื่อระลึกถึงพระคุณของพ่อแม่ และปลูกฝังความกตัญญูโดยไม่ต้องเชิญพ่อแม่มาร่วมกิจกรรม

ด้าน พิมพ์ผกา เสียงสมบุญ นักแสดงชื่อดัง แม่เลี้ยงเดี่ยวของพระเอก นาย ณภัทร ก็ออกมาเล่าเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีก่อน ที่ตัวเองเคยไปนั่งให้ลูกกราบในฐานะตัวแทน “พ่อ” ในวันพ่อมาแล้ว

“แม่คนนี้ล่ะเป็นได้ทั้งพ่อและแม่ ก็ต้องไปนั่งในพิธีแทนพ่อ หันซ้าย หันขวา มีแต่คุณพ่อท่านอื่นๆ มานั่ง ดิฉันเป็นหญิงเพียงคนเดียวในตอนนั้น เราว่าเราก็สตรองพอแล้วนะ เจอเพลงบิ๊วต์อารมณ์ซึ้งๆ ตอนลูกมากราบนี่ ไม่ว่าจะวันพ่อวันแม่ เราก็น้ำตาแตกทุกครั้ง ใช่ค่ะดิฉันซึ้ง แต่พอเงยหน้าดูคุณพ่อท่านอื่น ผู้ชายเค้าไม่ร้องกันนี่นะ (หัวเราะ) มีดิฉันผู้เป็นหญิง บ่อน้ำตาแตกอยู่ผู้เดียว น้ำตาไหลเดินลงเวที ครูและแม่ๆ เดินตรงดิ่งมาปลอบเราอย่างอ่อนโยนว่า ไม่เป็นไรนะ ลูกไม่มีพ่อไม่เป็นไร !!!”

หมู พิมพ์ผกา ระบุว่า นับแต่นั้น จึงพาลูก “โดดเรียน” ในเทศกาลวันพ่อวันแม่ โดยพากันไปแสดงความรักกันเพียงสองแม่ลูกเท่านั้น ไปนั่งรถไฟเที่ยวบ้าง เดินห้างบ้าง ดูหนังบ้าง สุดแฮปปี้ ทั้งยังปิดท้ายว่า “หากต้องการแสดงความรักความกตัญญูก็มากราบแม่ที่บ้าน 2 คนก็พอ”

จี้รัฐหยุด ‘เพิกเฉย’ ลั่น ‘ศึกษาธิการ’ ต้องทบทวน

ไม่เพียงผู้มีประสบการณ์ตรงในฐานะพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว แม้แต่อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์อย่าง ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว แห่งมหาวิทยาลัยบูรพา ก็ร่างหนังสืออย่างเป็นจริงเป็นจัง จรดปากกาเซ็นท้ายจดหมาย ส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้พิจารณาทบทวนกิจกรรมวันแม่ที่เปรียบเสมือนเหรียญ 2 ด้าน สร้างความเจ็บปวดและบาดแผลร้าวลึกให้เด็กกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้เกิดในครอบครัวสมบูรณ์พร้อม

“…ที่ผ่านมาในการจัดกิจกรรมวันแม่ ทางโรงเรียนส่วนใหญ่จะจัดกิจกรรมโดยให้แม่มาโรงเรียนเพื่อให้ลูกได้กราบเท้าแม่ แม้ว่ามีเจตนาที่ดีเพื่อสร้างความรัก กตัญญูระหว่างแม่กับลูก แต่ในความเป็นจริงกิจกรรมในลักษณะนี้เป็นเหรียญ 2 ด้านในความสมบูรณ์ ความอบอุ่น ของเด็กกลุ่มหนึ่ง มันคือบาดแผล คือความเจ็บปวดของเด็กกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่สมควรเกิดขึ้นจากกิจกรรมของโรงเรียนและสามัญสำนึกของความเป็นครูในฐานะรับผิดชอบกิจกรรมที่จะไม่จัดกิจกรรมในลักษณะนี้ เราน่าจะมีวิธีการที่สร้างความรักระหว่างแม่และลูกได้กว่าวีธีการแบบนี้ ที่ทำกันมาโดยไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบในด้านลบที่บั่นทอนความรู้สึกเด็กที่ไม่พร้อมสมบูรณ์”

ผศ.ดร.โอฬารยืนยันว่า รัฐบาลจะเพิกเฉยต่อกิจกรรมเหล่านี้อีกต่อไปไม่ได้ สมควรเป็น “เรื่องเร่งด่วน” ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต้องมีคำสั่งทบทวนกิจกรรมวันแม่ให้มีความเหมาะสมไม่ให้กระทบจิตใจของเด็กอีกจำนวนมาก

หันมาดู “โพล” ต่างๆ ที่บรรดาสื่อมวลชนพร้อมใจทำขึ้นเพื่อสำรวจความเห็นของคนไทย พบว่าส่วนใหญ่ล้วนเห็นด้วยกับการยกเลิก มีเพียงส่วนน้อยที่ยังมองว่าเป็นกิจกรรมดีๆ ที่ช่วยให้เด็กๆ แสดงความกตัญญูกตเวที ส่วนครอบครัวไหนไม่พร้อม ก็ต้องยอมรับความจริงอันโหดร้ายนี้

ประเพณีเกิดใหม่ ฉายภาพการศึกษาไทย ‘เกรดไม่สวย’

มาถึงตรงนี้ ลองหันมาดูภาครัฐกันบ้างว่าเด้งรับ หรือตีตก? ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ให้ความเห็นต่อสื่อมวลชนว่า เคารพในความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของทุกคน แต่ยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินหรือออกความคิดเห็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะ “เป็นวัฒนธรรมที่มีมานาน” ถ้าไม่มีกิจกรรมนี้เด็กทั่วประเทศจะได้รำลึกบุญคุณของพ่อแม่ หรือได้ใช้เวลากับครอบครัว ทำกิจกรรมลักษณะดังกล่าวกับพ่อแม่มากน้อยแค่ไหน หากยกเลิกตอนนี้อาจจะเร็วเกินไป ขอใช้เวลาในการไตร่ตรองมากกว่านี้ ส่วนตัวมั่นใจในความสามารถของครูที่จะดูแลนักเรียนที่พ่อแม่ไม่สามารถมาร่วมกิจกรรมได้

ในขณะที่ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ ให้เหตุผลกับสื่อว่า ประเพณีวัฒนธรรมไทยนั้น ต้องเคารพพ่อแม่อยู่แล้ว ในแต่ละปีใครๆ ก็อยากแสดงออกในวันดังกล่าว ซึ่งประเพณีที่ดีงามเช่นนี้เด็กสมัยใหม่อาจยังไม่เข้าใจ ดังนั้น จึงต้องทำให้เกิดความพอดี โดยยืนยันว่ายังคงต้องมีการจัดกิจกรรมวันพ่อวันแม่ในโรงเรียนอยู่ แม้ว่าผู้ปกครองจะสะดวกหรือไม่ก็ตาม แต่การแสดงออกก็มีอยู่หลายรูปแบบ

ในความเห็นของหัวเรือกระทรวงศึกษาฯ ทั้ง 2 ท่าน มีจุดร่วมที่น่าสนใจอย่างประเด็นที่ว่า กิจกรรมลักษณะนี้ คือ “วัฒนธรรมประเพณี” ที่มีมาอย่างยาวนาน เป็นความดีงามในการเคารพบุพการี อย่างไรก็ตาม คำกล่าวเช่นนี้ชวนให้ตั้งคำถามว่า การเชิญแม่มานั่งให้ลูกกราบ มีมายาวนานจริงหรือไม่ ?

ประเด็นนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า สมัยที่ตนเป็นนักเรียนที่โรงเรียนนารีวุฒิ และสารสิทธิ์พิทยาลัย ณ บ้านโป่ง ราชบุรี ยังไม่เห็นมีกิจกรรมดังกล่าว ครั้นเดินทางเข้าพระนคร ร่ำเรียนที่ “สวนกุหลาบวิทยาลัย” สถาบันการศึกษาระดับแนวหน้าของประเทศ ก็ยังไม่มีเหมือนกัน โดยแม้ไม่มีกิจกรรมชวนซาบซึ้งตรึงใจ นักประวัติศาสตร์คนดังท่านนี้ยืนยัน “ผมจำได้ว่า ผมก็รักพ่อรักแม่มากๆ”

สอดคล้องข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ว่า แม้การกราบพ่อแม่ผู้มีพระคุณ เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ และความรักนั้นก็เป็น “สากล” แต่การเชิญพ่อแม่มาให้กราบในลักษณะของ “กิจกรรม” ในวันพ่อวันแม่นั้น ไม่ใช่วัฒนธรรมยาวนานแต่อย่างใด

ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ที่สำคัญ ยังฉายภาพของการศึกษาไทยที่เกรดไม่ค่อยจะดี ดังที่ ศาสตราจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ระบุว่า งานวันแม่ที่โรงเรียนทุกวันนี้ สะท้อนคุณภาพของการศึกษาที่รัฐจัดด้วย นั่นคือไม่ค่อยให้ความสำคัญแก่การคิดถึงคนอื่น และคิดแทนคนอื่นซึ่งที่จริงแล้วคือรากฐานของศีลธรรม สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

ตัดฉากมาดูโรงเรียนหลายแห่งก็ยกเลิกกิจกรรมดังกล่าวไปแล้ว อย่างโรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองปราจีนบุรี ที่ให้มีการจัดประกวดเรียงความ นิทรรศการ ทำการ์ด แล้วเอากลับไปให้แม่ ไปกอดแม่ที่บ้านกันเอง เพื่อให้ไม่เกิดภาพกระทบใจเด็กที่แม่มาร่วมงานไม่ได้

จึงน่าแปลกใจยิ่ง ที่แม้สังคมตื่น โรงเรียนตระหนักในประเด็นอ่อนไหวนี้ ทว่า คำตอบจากหัวเรือใหญ่น้อยของกระทรวงศึกษาธิการที่ยังหนุนกิจกรรมกราบแม่ให้ดำรงอยู่ต่อไป กลับดูเหมือนจะขาดความหนักแน่นในเชิงเหตุผล ไม่อาจหักล้างข้อเท็จจริงจากการนำเสนอให้เห็นถึงปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมด้วยความห่วงใยในหัวใจอันบริสุทธิ์และบอบบางของเด็กๆ ที่จะเติบโตขึ้นเป็นอนาคตของประเทศในวันพรุ่งนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image