ถึงเวลาเอาจริง? บริหาร ‘ขยะ’ ต่ออายุ ‘สิ่งแวดล้อม’

ครอบครัว "นามบุญ" ช่วยกันคัดแยกขยะที่ส่งเข้ามาภายในศูนย์จัดการขยะและสำนักงานสิ่งแวดล้อม

คิดไม่ตกว่าจะทำอย่างไรให้คนตระหนักว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยของ Jambeck และทีมงาน ซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Science ฉบับที่ 347 ปี 2558 ที่ออกมาตอกย้ำว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 6 ที่มีปริมาณขยะพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุดในโลก

แน่นอน กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ในจำนวนดังกล่าวเป็นขยะที่มาจากกิจกรรมบนบก หลายคนจึงเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง อาทิ ลดการใช้ถุงและหลอดพลาสติก หันมาพกแก้ว ปิ่นโต รณรงค์ใช้ถุงผ้า

หากมองถึงเรื่องการจัดการขยะของประเทศไทยที่มีอยู่หลากหลายวิธี เช่น กองทิ้งและเผากลางแจ้ง เตาเผา การฝังกลบ ซึ่งการฝังกลบนี้เองที่ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปิ๊งไอเดียการบริหารจัดการจนไม่มีขยะสู่บ่อฝังกลบได้ทั้งหมด หรือ Zero Waste to Landfill ดำเนินการผ่าน ศูนย์จัดการขยะและสำนักงานสิ่งแวดล้อม ที่ จ.เชียงราย อันเป็นหนึ่งในเป้าหมายใหญ่ที่ต้องการให้องค์กรเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวทาง “ใช้น้อย” คือลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล และ “ปล่อยน้อย” คือลดการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม

Advertisement

ว่าแล้ว รถยนต์ก็เปิดไฟเลี้ยวขวา พาคณะสื่อมวลชนเข้าไปยัง “ศูนย์จัดการขยะและสำนักงานสิ่งแวดล้อม” พิสูจน์ให้เห็นว่า การจัดการขยะอย่างถูกวิธีเพื่อไม่ให้มีขยะไปสู่บ่อฝังกลบเป็นอย่างไร?

บริหารจัดการจนขยะเหลือ ‘ศูนย์’

ธนพงศ์ ดวงมณี หรือที่ใครๆ เรียกว่า “ดร.แจ๊ค” วิศวกรสิ่งแวดล้อมอาวุโส มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ สวมเสื้อม่อฮ่อมรอให้ข้อมูลอยู่แล้ว

ดร.แจ๊คบอกว่า ใน 1 ปี ประเทศไทยมีขยะประมาณ 27.4 ล้านตัน มีเพียง 1 ใน 3 หรือร้อยละ 43 ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างถูกต้อง เช่น ขาย ทำปุ๋ย ส่วนขยะที่ไม่รับการจัดการ หรือจัดการไม่ถูกต้อง มีประมาณร้อยละ 26 สาเหตุหลักมาจากขยะไม่ได้ถูกคัดแยกจากต้นทาง ซึ่งกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนนี้จัดการด้วยวิธีฝังกลบ ส่วนใน เชียงราย มีปริมาณขยะราว 4 แสนตัน/ปี มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 143 แห่ง ทว่ามีเพียง 50 อปท.ที่มีระบบจัดการขยะ (ข้อมูลปี 2560) ในจำนวนนี้มีบ่อฝังกลบถูกสุขาภิบาลเพียง 3 แห่ง ซึ่งดอยตุงเป็นหนึ่งในนั้น

Advertisement
ธนพงศ์ ดวงมณี

“ส่วนตัวมองว่าวิธีฝังกลบขยะเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เหมือนเราอยู่บ้านแล้วกวาดขยะไปซุกใต้พรม ถ้าแม่มาเจอคงตีแน่นอน ดังนั้น ปัญหาคือต้องแยกขยะจากต้นทาง เพื่อไม่ให้มีขยะไปสู่บ่อฝังกลบ สำหรับ ‘ขยะทะเล’ ทั่วโลกมีจำนวนกว่า 13 ล้านตัน มีขยะพลาสติกมากถึง 8 ล้านตัน กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มาจากบนบก ดังนั้น หาก 30 ปีต่อจากนี้ หรือประมาณปี 2593 เราไม่ทำอะไรเลยโลกจะมีขยะพลาสติกเท่าน้ำหนักปลาในทะเล พลาสติกเหล่านี้จะถูกแสงแดดเผาจนกลายเป็นไมโครพลาสติก เมื่อเรากินเข้าไป ไมโครพลาสติกก็เข้าสู่ร่างกาย ก่อให้เกิดโรคมะเร็งต่อไป

“การเก็บขยะทะเลก็ดี แต่นั่นคือปลายเหตุ ฉะนั้น ดอยตุงจึงต้องการผลักดันเรื่องนี้ ต้องการทำให้องค์กรสามารถบริหารจัดการจนไม่มีขยะสู่บ่อฝังกลบได้ทั้งหมด รวมทั้งการพัฒนาคน การใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาความยั่งยืนของสหประชาชาติ จำนวน 7 จาก 17 ข้อ” วิศวกรสิ่งแวดล้อมอาวุโสกล่าว

ทั้งนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้จัดตั้ง ศูนย์จัดการขยะและสำนักงานสิ่งแวดล้อม ขึ้นที่ จ.เชียงราย เพื่อรับขยะจาก โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประกอบด้วย ส่วนสำนักงาน โรงงาน ห้องอาหาร และส่วนท่องเที่ยว ที่ช่วยแยกจากต้นทางมาแล้วส่วนหนึ่ง จากนั้นนำมาแยกต่อให้ถูกต้องตรงตามการใช้ประโยชน์ เพื่อไม่ให้มีขยะไปสู่บ่อฝังกลบ

โครงการดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ปี 2555 ทำให้ปริมาณขยะที่ไปสู่บ่อฝังกลบลดลงเรื่อยๆ กระทั่งประสบความสำเร็จในปี 2561 โดยสามารถบริหารจัดการจนไม่มีขยะสู่บ่อฝังกลบได้ทั้งหมด หรือ Zero Waste to Landfill

เจ้าหน้าที่สำนักงานศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก (ระยอง) ผ่าซากเต่าตนุ หลังเกยหาดแม่รำพึงช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พบ “เศษเชือก” ขยะทะเลจากฝีมือมนุษย์อุดตันกระเพาะอาหาร สาเหตุของการตาย

แปลงขยะเป็นประโยชน์ เปลี่ยนของเหลือทิ้งเป็นสิ่งน่าใช้

100 ตัน/ปี คือตัวเลขกลมๆ ที่ธนพงศ์บอกว่าเป็นจำนวนขยะที่ส่งเจ้ามาภายในศูนย์จัดการฯ ทั้งหมดนำมาแบ่งออกเป็น 6 ประเภทแยกย่อย ดังนี้ 1.ขยะย่อยสลายได้ ประมาณ 56 เปอร์เซ็นต์ เช่น เศษอาหาร เศษผัก ภาชนะย่อยสลายได้ ฯลฯ จัดการโดยนำไปทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยไส้เดือน น้ำหมัก EM ผลิตหนอนแมลงวันลาย และอาหารสัตว์ 2.ขยะขายได้ ประมาณ 22 เปอร์เซ็นต์ แบ่งได้อีก 32 ชนิด เช่น แก้ว/จานพลาสติก กระดาษ โลหะ ฯลฯ จัดการโดยคัดแยก รวบรวม แล้วติดต่อให้บริษัทรับซื้อของเก่ามารับซื้อไป 3.ขยะเปื้อน ประมาณ 11 เปอร์เซ็นต์ เช่น พลาสติกที่เปื้อนอาหาร ฯลฯ จัดการโดยนำมาล้าง ปั่นแห้ง แล้วนำไปจำหน่าย

4.ขยะพลังงาน ประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ เช่น เศษด้าย เศษกระดาษ วัสดุเหลือทิ้ง กะลาแมคคาเดเมีย ฯลฯ จัดการโดยนำไปเผาเป็นพลังงานความร้อนเพื่อใช้ในโรงงาน 5.ขยะอันตราย ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ เช่น กระป๋องสเปรย์ ถังสี ถ่านไฟ แบตเตอรี่ ฯลฯ จัดการโดยการจัดเก็บไม่ให้รั่วไหล เตรียมนำส่งบริษัทรับกำจัดขยะอันตรายที่ได้มาตรฐาน และ 6.ขยะห้องน้ำ ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ เช่น ทิชชู ผ้าอนามัย ผ้าอ้อม ฯลฯ จัดการโดยนำไปกำจัดในเตาเผาขยะมลพิษต่ำที่ความร้อน 900 องศาเซลเซียส ดำเนินการอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง

ขยะที่ผ่านการซักล้างจะนำมาเข้า “เครื่องปั่นแห้ง” ก่อนนำไปแยกประเภท รอส่งขายต่อไป

“น้ำมันจากห้องอาหารนำมาทำไบโอดีเซลได้ประมาณ 500 ลิตร/ปี เศษอาหารจำพวกผักนำไปเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย อีกส่วนหนึ่งไปเลี้ยงไส้เดือน และเป็ด บรรดาน้ำเสียก็นำไปบำบัด โดยใช้หลักการของโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปรับใช้ให้เหมาะสม เศษกระดาษสานำไปทำถุง ส่วนหนึ่งนำไปทำเป็นชีวมวล เศษผ้าหรือเศษด้ายพยายามนำไปทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น พวงกุญแจ หากยังเหลือจริงๆ ก็จะนำไปเผา

“ส่วนเซรามิกนำไปเทพื้นต่างๆ ประหยัดทราย ปูน หิน สำหรับเปลือกแมคคาเดเมียสามารถนำไปเพิ่มความชื้นในดิน เปลือกกาแฟนำไปเลี้ยงหนอนไส้เดือน ไม้ไผ่ต่างๆ นำไปเผาถ่าน นอกจากนี้ ยังมีโครงการทำก๊าซต้นกำเนิดเพื่อใช้ในโครงการ ที่สำคัญเรามีผลิตภัณฑ์ใหม่คือ ‘ถาดทำจากแมคคาเดเมียบด ผสมกับเรซิน’ คาดว่าจะนำออกใช้เร็วๆ นี้

กระดาษชนิดต่างๆ คือขยะขายได้ หากเปียกน้ำหรือชื้น เจ้าหน้าที่จะนำมาตากแห้งก่อนนำส่งขาย

“อาคารของศูนย์จัดการฯทำจากดินเพื่อประหยัดซีเมนต์ ทุกหลังคามีที่เก็บน้ำ สามารถประหยัดน้ำได้ 25 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ เราใช้พลังงานทดแทน 90 เปอร์เซ็นต์ วัสดุต่างๆ ภายในศูนย์เป็นวัสดุรียูส รีไซเคิล ทำให้ไม่ต้องใช้วัสดุใหม่ ประหยัดได้ 40 เปอร์เซ็นต์ ตลอดจนเครื่องตัดหญ้าเป็น ‘แพะ’ มีทั้งหมด 9 ตัว” ธนพงศ์กล่าวสรุป

ที่สำคัญ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯมีเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ในปี 2563 โดยการชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยทั้งหมดด้วยคาร์บอนเครดิตที่จะได้ในปี 2563 จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดเกิดได้จากความร่วมมือของพนักงานและชาวบ้านในพื้นที่

“แพะ” เครื่องตัดหญ้าชนิดไม่พึ่งพาน้ำมัน

ขอร้องว่าให้แยกขยะ

แม้ขยะปริมาณมหาศาลที่ส่งเข้ามายังศูนย์จัดการฯจะถูกแยกประเภทมาแล้วบางส่วน แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องอาศัยแรงงาน “คน” เข้ามาจัดการให้สมบูรณ์แบบ จึงได้เจอกับ ลุงแสง นามบุญ อายุ 49 ปี พร้อมครอบครัวกำลังคัดแยกขยะกองมหึมาอย่างขะมักเขม้น

ลุงแสงเล่าว่า ขยะทั้งหมดนี้มาจากโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งคัดแยกแล้วบางส่วน ทำให้งานง่ายขึ้นกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เมื่อได้ขยะมาแล้วจะทำการนับถุง ชั่งน้ำหนัก คัดแยกประเภท หากเป็นขยะเปื้อนจะนำเข้าเครื่องซักล้าง เข้าเครื่องปั่นแห้ง ก่อนจะแยกประเภทแล้วชั่งน้ำหนักอีกครั้งหนึ่งเพื่อรอส่งขาย ส่วนน้ำจากการซักล้างจะเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียกลายเป็นน้ำดี สำหรับใช้ในศูนย์จัดการฯต่อไป

“ลุงแสง” ขณะปฏิบัติการซักล้างขยะเปื้อน

“ผมทำงานมากว่า 7 ปีแล้ว ไม่เคยเจ็บป่วยอะไร แต่ละปีจะมีการตรวจร่างกายมากเป็นพิเศษ ดีใจที่ได้ช่วยงานโครงการ ไม่ท้อแท้ จะทำต่อไปเรื่อยๆ”

ลุงแสงพูดไปก็ยิ้มไป ก่อนจะฝากถึงคนอื่นๆ ว่า อยากให้ทิ้งขยะให้ถูก ขวดน้ำก็อยู่กับขวดน้ำ ขอให้แยกมา

“ถ้าต้นเหตุง่ายขึ้น หลังๆ ก็ง่าย”

ขาด ‘สุนทรียภาพ’ ต้นตอปัญหาสิ่งแวดล้อม?

ปิดท้ายที่กิจกรรมสัมมนาประจำปี 2562 ของ อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) ในหัวข้อ “สิ่งแวดล้อมเชียงราย การแก้ไขปัญหาสู่ความยั่งยืน” จากวิทยากรหลากหลายอาชีพ หนึ่งในนั้นคือ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย ที่ให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า ต้นเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อมคือคนไทยขาด สุนทรียภาพ อันเป็นส่วนหนึ่งของ ความสะอาด สวยงาม

“ความสะอาดเป็นสุนทรียภาพที่สากลที่สุด เราไม่สามารถสร้างเมืองหรือประเทศให้สวยงามเหมือนญี่ปุ่นได้ เพราะคนของเราไม่รู้จักความงาม บอดทางสุนทรียภาพ เมื่อบอดทางสุนทรียภาพจึงสามารถมองขยะได้สบายๆ เราอ่อนแอเรื่องการศึกษา ผมกำลังร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงสร้างหลักสูตรใหม่ขึ้นมา โดยการสอบสัมภาษณ์ เมื่อจบ 1 ปี ทุกคนจะมีสุนทรียภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สุด สายตาของเขาจะเห็นความงามที่ยิ่งใหญ่ จะทนกับสิ่งที่ขี้เหร่ สกปรกไม่ได้” เฉลิมชัยกล่าว

ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงรายยังบอกว่า หากได้เป็น “รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ” ภารกิจแรกที่จะทำคือ เปลี่ยนคนทั้งประเทศให้รู้จักสุนทรียภาพทั้งหมด บรรจุวิชาดังกล่าวอยู่ในวิชาบังคับ จากนั้นนำครูทั้งหมดมาสอนและปรับความเข้าใจเรื่องสุนทรียภาพ ดังนั้น เมื่อเด็กได้เรียนรู้สุนทรียภาพตั้งแต่อายุยังน้อยจะทำให้รู้จักความงาม รู้จักรักษา ไม่ว่าจะบ้านตัวเอง ชุมชน ตำบล จังหวัด ประเทศ หรือโลก

เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์

“เราแก้ไขบ้านเมืองอย่างไรก็แก้ไม่ได้ เพราะไม่แก้ไขที่คนของเรา ดังนั้น การแก้ไขที่คนของเราคือการล้มทุกอย่างแล้วสร้างขึ้นใหม่ สร้างเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมาเพื่อให้เขาเกิดขึ้นจากการเรียนรู้สุนทรียภาพ นั่นคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ทำให้หัวใจเปลี่ยนแปลง เมื่อท่านเห็นความงาม ท่านจะรู้จักรักชาติมากที่สุด เมื่อท่านมองเห็นความงาม ท่านจะมองเห็นศิลปวัฒนธรรมของชาติงดงาม มองภูมิทัศน์ของบ้านเมืองงดงาม มองฟ้างาม แผ่นดินงาม ภูเขางาม มองทุกอย่างงาม เกิดความรักในชาติของท่าน

“เราต้องแก้การศึกษาตั้งแต่เด็ก ถ้าเราแก้ตรงนั้นได้ เราจะสร้างชาติของเราได้ เป็นชาติที่สุดยอดที่สุดเหมือนญี่ปุ่น และคนของเราจะรักษาทุกอย่าง” เฉลิมชัยกล่าวจบอย่างคมคาย

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการแนะนำและลงมือทำโดยเริ่มจากตัวเอง หวังต่ออายุให้สิ่งแวดล้อม พร้อมแก้ปัญหาด้วยวิธีการแบบยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image