เปิดคะแนน ส่องทิศทาง ‘ซุปเปอร์มาร์เก็ต’ ที่รัก! ก้าวหน้า หรือ ต้องปรับปรุง?

ซุปเปอร์มาร์เก็ต ถือเป็นภาคธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมอาหาร เป็นฟันเฟืองหลักระหว่างผู้ผลิตต้นทางเกษตรกร แรงงาน และผู้บริโภค

แม้เดิมทีจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานอาหาร แต่ปัจจุบันกลายเป็นส่วนสำคัญในการเข้าถึงของผู้บริโภค ทั้งในเชิงการเปิดสาขาและช่องทางการตลาด

ข้อมูลจากสภาพัฒน์ ระบุถึงภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในไทยว่า มีมูลค่าถึง 2.3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีประเทศ ซึ่งนับเฉพาะส่วนของซุปเปอร์มาร์เก็ต 8 แห่ง ผู้ครองตลาดรายใหญ่ ที่มีสาขาสูง รวมกว่า 3,000 สาขา

หลายปีที่ผ่านมา ภาคธุรกิจได้ปรับตัวโดยดำเนินการธุรกิจให้เป็นธรรมและยั่งยืนมากขึ้น ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีกไทยซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ยังคงเผชิญความท้าทายในการยกระดับนโยบาย เพื่อแก้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานให้เกิดความยั่งยืน เพื่อยกระดับชีวิตเกษตรกร และคนบนเส้นทางอาหารให้พ้นจากความยากจนและการละเมิดสิทธิมนุษยชน

Advertisement

กินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ องค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย จึงรวมตัวกันในนาม ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่รัก ภายใต้การสนับสนุนจากโครงการ SWITCH-Asia II ของสหภาพยุโรป และสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสวีเดน เพื่อประเมินนโยบายด้านสังคมของซุปเปอร์มาร์เก็ตในปีที่ 2 พร้อมเสนอแนวโน้มและทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมค้าปลีกอาหารในไทยและต่างประเทศ

เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในการผลิตและจำหน่ายอาหารในประเทศไทย ผ่านการรณรงค์ให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับอาหารที่ “ดีตั้งแต่ต้นทาง” คือ เป็นธรรมกับเกษตรกรและแรงงาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ส่อง ‘คะแนน’ ซุปเปอร์มาร์เก็ตไทย

ธีรวิทย์ ชัยณรงค์โสภณ ผู้ประสานงานภาคเอกชน องค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย หน่วยงานที่เน้นลดความยากจนและเหลื่อมล้ำ รวมทั้งส่งเสริมความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหาร มองความยั่งยืนของซุปเปอร์มาร์เก็ตไทยว่า ยังมีทิศทางการทำงานที่ต่างจากซุปเปอร์มาร์เก็ตในเมืองนอกพอสมควร

“ประการแรก ในต่างประเทศจะผลักดันผ่านการใช้นโยบายที่ครอบคลุมทั้งองค์กร ครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้าการผลิต และมีการสื่อสารนโยบายเหล่านั้น รวมถึงการขยับขยายไปใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ แม้ไม่ใช่แนวทางที่ดีที่สุด เพราะยังมีช่องว่างด้านนโยบายอีกมาก แต่จุดสำคัญคือการ ให้ความสำคัญกับการทำนโยบาย เพื่อปรับใช้กับทุกองคาพยพในองค์กรและกับคู่ค้า เพื่อเป็นสัญญาร่วมกันให้กับคนที่ทำงานในห้างเหล่านั้น

ในขณะที่ภาพฉายของไทยยังคงเห็นเป็นกิจกรรมช่วยเหลือ (CSR) หรือพีอาร์ ที่เป็นโครงการเสียมากกว่า ไม่ใช่ไม่ดี แต่คิดว่ายังมีช่องทางที่เราจะไปได้อีก ไม่ใช่ห้างไทยไม่ให้ความสำคัญกับนโยบาย เพราะหลายแห่งก็มีนโยบาย มีรายงานด้านความยั่งยืนในเว็บไซต์ แต่ยังไม่เจาะเข้าไปใจกลาง คือ ‘ความยั่งยืน’ เมื่อไหร่ที่เป็นนโยบายจะถาวรยาวนาน ต้องมีตัวชี้วัด ต้องมีกลยุทธ์ตอบรับ และมีการพัฒนา เพราะนโยบายแสดงถึงการให้ความสำคัญกับเรื่องนั้น” ธีรวิทย์ระบุ พร้อมเปิดเผยถึงผลการประเมินนโยบายสาธารณะด้านสังคม โดยดูจาก “นโยบายสาธารณะ” ที่ผู้บริโภคทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ในมิติด้านสังคม 4 เรื่องต่อไปนี้ 1.ความโปร่งใส และความรับผิดชอบ 2.แรงงาน ไม่เฉพาะแรงงานของซุปเปอร์มาร์เก็ต แต่หมายรวมถึงแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร และอาหารแปรรูป 3.เกษตรกรรายย่อย เป็นกลุ่มที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ 4.การส่งเสริมบทบาทของสตรี ให้มีบทบาทด้านความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดควรอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่เข้าถึงได้

“ในแง่การเปลี่ยนแปลง 1 ปีที่ผ่านมา สามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ไม่มีคะแนน มี 3 ราย คือ กูร์เมต์ มาร์เก็ต (Gourmet Market) ฟู้ดแลนด์ (Foodland) และวิลล่ามาร์เก็ต (Villa Market) กลุ่มที่มีคะแนนลดลง จากปีที่แล้ว คือ บิ๊กซี (Big C) กลุ่มที่คะแนนไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ ท็อปส์ (Tops) และ กลุ่มที่คะแนนเพิ่มขึ้น ได้แก่ CP Freshmart ในเครือ CPF, Makro ภายใต้เครือ CP ALL และเทสโก้ (Tesco)

การแถลงผลประเมินนโยบายสาธารณะด้านสังคม ของซุปเปอร์มาร์เก็ตไทย ปี 2562

“โดยซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ได้คะแนนจากการประเมินประจำปีนี้ ได้แก่ CP Freshmart (มิติความโปร่งใส 2 คะแนน มิติสิทธิแรงงาน 6 คะแนน และมิติเกษตรกรรายย่อย 3 คะแนน) Makro (มิติความโปร่งใส 3 คะแนน มิติสิทธิแรงงาน 3 คะแนน และมิติเกษตรกรรายย่อย 4 คะแนน) Tesco (มิติความโปร่งใส 10 คะแนน มิติสิทธิแรงงาน 14 คะแนน มิติเกษตรกรรายย่อย 5 คะแนน และมิติสิทธิสตรี 6 คะแนน) และ Tops (หมวดสิทธิสตรี 1 คะแนน)

“ซึ่งเจ้าที่ทำคะแนนได้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว คือ CP Freshmart, Makro และ Tesco เจ้าที่ได้คะแนนเท่าเดิมคือ Tops ส่วนเจ้าที่คะแนนน้อยลงคือ Big C ลดจาก 1 เหลือ 0 คะแนน ในปีนี้ ซึ่งอาจเป็นเพราะ Big C มีการเปลี่ยนเจ้าของและออกจากตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ไม่มีรายงานประจำปีเหมือนเมื่อก่อน ส่วนอีก 3 เจ้ายังไม่เคยได้คะแนนเลยตั้งแต่การประเมินปีที่แล้ว

“ที่น่าสนใจอีกอย่างคือคะแนนของ Tesco ที่เกือบทั้งหมดได้มาจากการประกาศนโยบายของบริษัทแม่ที่อังกฤษ ถ้าดูเฉพาะข้อมูลที่ปรากฏบนช่องทางของ Tesco Lotus ในไทยอย่างเดียวคะแนนจะได้น้อยมาก คือได้แค่คะแนนเดียวในมิติเกษตรกรรายย่อย และไม่ได้คะแนนในมิติอื่นๆ ยังมีกลุ่มที่นิ่งอยู่อย่าง Foodland และ Villa Market ที่ยังไม่เห็นนโยบายในช่องทางสาธารณะ ซึ่งอาจจะมีแต่ไม่ได้เผยแพร่ CP Freshmart เพิ่มขึ้น 3 คะแนน มาจากการที่เครือ CPF และนโยบายของกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ มีการประกาศข้อมูลในเรื่องแนวทางการทำงานกับคู่ค้า ในประเด็นเรื่องสิทธิและแรงงาน ซึ่งสอดคล้องกับงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรืออย่าง Makro ก็เพิ่มขึ้น 2 คะแนน มาจากนโยบายของบริษัทแม่ CP ALL ที่เป็นเจ้าของเซเว่นด้วย มีการประกาศว่าใช้กระบวนการตรวจสอบอย่างรอบด้านในห่วงโซ่อาหาร” นายธีรวิทย์กล่าวเสริม และบอกอีกว่า

การมีหรือไม่มีคะแนน ไม่ได้แปลว่าทำผิดกฎหมาย แต่ต้องการจะสื่อสารว่า ยิ่งซุปเปอร์มาร์เก็ตมีคะแนนสูงมากเท่าใดก็ยิ่งบ่งบอกถึงการเห็นความสาคัญของนโยบายด้านสังคม และมีความเป็นผู้นำมากขึ้นเท่านั้น หัวใจสำคัญของการประเมินในครั้งนี้ไม่ใช่แค่ผลในแต่ละปี แต่คือการเปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลง มีการปรับนโยบาย และเผยแพร่ข้อมูลเพิ่มเติมจากปีที่แล้ว

ภาพรวมผลการประเมินซุปเปอร์มาร์เก็ตในปี 2562 ‘ค่าเฉลี่ย’ อยู่ที่ร้อยละ 7 ของตัวชี้วัดทั้งหมด ผลประเมินนี้แสดงให้เห็นถึง ‘ช่องว่างและโอกาส’ ของอุตสาหกรรมค้าปลีกอาหารในประเทศไทย ในการพัฒนานโยบายและแนวปฏิบัติ รวมทั้งการสื่อสารข้อมูลต่อสาธารณะเพื่อแสดงความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคและผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่อุปทานอาหาร ทั้งเกษตรกรรายย่อย แรงงานภาคการเกษตร และอุตสาหกรรมอาหาร ตลอดจนกลุ่มประชากรที่เป็นผู้เปราะบาง เช่น แรงงานข้ามชาติ ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารของไทย

‘ชีววิถี’ ชวนตั้งคำถาม อาหารตรงหน้ามาจากไหน?

ด้าน กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก ชักชวนให้ผู้บริโภคตั้งคำถามเรื่องที่มาของอาหารว่า อาหารที่เรากินทุกวันนี้ใครเป็นผู้ผลิต ผลิตอย่างไร ผู้ผลิตมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง

“เพราะระบบอาหารที่เป็นธรรมและยั่งยืนตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่ต้นน้ำ ยันปลายน้ำ จะต้องเห็นร่วมกันและมีส่วนร่วมในการสร้าง เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัย ในความเป็นธรรมของผู้ที่เกี่ยวข้องของห่วงโซ่การผลิต

เพราะเรากิน เราซื้อ เราจับจ่ายจากซุปเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้นทุกวัน ซุปเปอร์มาร์เก็ตจึงมีบทบาทสำคัญ

ในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ผู้บริโภคควรจะได้เห็น มากกว่าแค่ที่อยู่ในเชลฟ์” กิ่งกรย้ำพร้อมชวนคิดและตั้งคำถามว่า แม้ปัจจุบันจะมีการซื้อตรงจากเกษตรกร แต่ลำพังการซื้อตรงยังไม่สามารถเป็นหลักประกันถึงความเป็นธรรมต่อเกษตรกรและผู้ผลิต

การดำเนินกิจกรรมโดยเปิดข้อมูลที่สะท้อนความเป็นธรรม และการมีอำนาจต่อรองที่เสมอกัน คือมีจัดซื้อที่เกษตรกรสามารถแชร์ข้อมูล สร้างฐานในระยะยาวได้ เมื่อเข้าไปสำรวจก็ยังไม่เห็น เช่น การเข้าไปสำรวจกระบวนการซื้อตรงของชาวบ้าน เรื่องกล้วยหอม ที่สหกรณ์บ้านลาด ท่ายาง จ.เพชรบุรี พบว่าการดำเนินกิจกรรมตั้งแต่ปลูก เก็บเกี่ยว บรรจุ และส่งไปห้าง เป็นกระบวนการที่เห็นได้ตลอดเส้นทาง มีการติดตามว่ากล้วยเป็นของสวนอะไร ได้จากคิวอาร์โค้ด ก่อนจะส่งขายให้ เซเว่น ท็อปส์ บิ๊กซี แต่ข้อสังเกตคือ เซเว่นไม่มี คิวอาร์โค้ด

จากซ้าย – กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา, ธีรวิทย์ ชัยณรงค์โสภณ, ทัศนีย์ แน่นอุดร

“นอกจากนี้ สหกรณ์บ้านลาดยังผลิตส่งให้ญี่ปุ่น โดยมีพัฒนาการจัดการผลผลิตที่ตอบโจทย์ญี่ปุ่น สามารถเซตระบบให้เช็กย้อนกลับได้ตั้งแต่ต้นทาง นับเป็นการช่วยเหลือเกษตรไปพร้อมๆ กับเติบโตทางเทคโนโลยี เกษตรกรสามารถดีลได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ นี่คือโมเดลที่เราอยากเห็นในแง่สินค้าผักผลไม้ การที่จะรู้ว่าใครเป็นคนส่ง ใช้ยา หรือสารเคมีอะไรบ้าง สามารถทำได้ คือหนึ่งตัวอย่างที่เป็นไปได้

ที่สำคัญ ในต่างประเทศ ผู้บริโภคจะดูว่าห้างไหนมีความโปร่งใสและเป็นธรรม ห้างนั้นจะได้ใจผู้บริโภค นี่คือส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ดำเนินการ

“ผู้บริโภคมีส่วนมากขึ้น อาจมีการลงชื่อใน www.change.org เพื่อเรียกร้อง หรือยื่นหนังสือขอห้างเรื่องนโยบาย เรามีความหวังว่าจะสามารถแลกเปลี่ยนแนวทางกับห้างที่มีความตั้งใจพัฒนาในยั่งยืนมากขึ้น” กิ่งกรกล่าว

แนะโปร่งใส แนวทาง ‘ยั่งยืน’ ตอบโจทย์โลกอนาคต

ด้านนิตยสารแห่งเดียวของประเทศไทยที่ทำเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ทัศนีย์ แน่นอุดร หัวหน้ากองบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ เล่าว่า ก่อนหน้านี้มีการเปรียบเทียบน้ำตาลในชานมไข่มุก เพราะต้องการให้ผู้บริโภคมีข้อมูลสำหรับเลือกซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งการส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีการใช้สิทธิได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ขึ้นอยู่กับว่าผู้บริโภคได้รับความรู้มากน้อยแค่ไหน

โดย ทัศนีย์ ยังเปิดเผยถึงแนวคิดการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคว่า เริ่มต้นจากเงินที่จ่ายไปควรจะได้ของที่คุ้มค่า จ่าย 1 กิโล ก็ควรจะได้ของ 1 กิโล ในราคาที่เหมาะสม

“ถ้าเงินของเราที่ลงคะแนนให้กับสินค้าแต่ละอย่างสามารถทำให้คนต้นทางก่อนจะมาถึงเรามีคุณภาพชีวิตที่ดี นี่คือการใช้เงินของผู้บริโภคที่คุ้มค่า เป็นแนวทางคุ้มครองผู้บริโภคในปัจจุบัน”

ด้วยความสนใจการพัฒนาสิทธิผู้บริโภคในด้านต่างๆ จึงเข้าร่วมโครงการ เพราะต้องการให้เปิดข้อมูลข่าวสารของห้างค้าปลีกว่ามีแนวทางดูแลคนต้นทาง หรือหุ้นส่วนของอย่างไร ให้ผู้บริโภคได้ใช้ข้อมูลตัดสินใจเลือกรูปแบบสินค้าและบริการที่ “เหมาะสม”

“การที่สินค้าหนึ่งๆ ผัก หรือผลไม้สักลูกจะมาถึงผู้บริโภค ต้องผ่านหลายผู้เล่น ทั้งพ่อค้าคนกลาง โรงงาน พ่อค้าคนกลางอีกระดับ กว่าจะมาถึงหน้าร้าน ตลาด หรือซุปเปอร์มาร์เก็ตให้เราจับจ่ายใช้สอย แต่ ณ ปัจจุบัน การค้าปลีกถูกตัดทอนขั้นตอนระหว่างทาง มีการซื้อตรงกับเกษตรกร ที่เสมือนเป็นหน้าร้านและพ่อค้าคนกลางไปในตัว ซึ่งคนก็นิยมไปซุปเปอร์มาร์เก็ตมากกว่าที่จะเดินตลาดสด ‘ซุปเปอร์มาร์เก็ต’ คืบคลานเข้ามาในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเรื่อยๆ

“การเข้ามาของธุรกิจลักษณะนี้เป็นเทรนด์ทั่วโลก ไม่เฉพาะห้างค้าปลีก ไม่เฉพาะคุณทำของดีมาให้เราและเราซื้อของดีของคุณ แต่ทุกคนพยายามจะเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสของธุรกิจตัวเองว่ามีการรับผิดชอบสังคมมากขึ้น ผ่านแนวคิดคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งห้างค้าปลีกในต่างประเทศหลายห้างมีนโยบายที่ตั้งไว้เพื่อเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ โดยนำกลยุทธ์หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ เช่น เทคโนโลยีบล็อกเชน ให้ผู้บริโภคสามารถย้อนดูต้นทางว่า ใครปลูก ใครผลิตใครส่ง หรือการใช้งานวิจัยเพื่อดูรายได้ที่เหมาะสมของแรงงาน เกษตรกร ผู้ค้ารายย่อยว่าเขาจะอยู่ได้ด้วยรายได้เฉลี่ยเท่าไหร่ เป็นนโยบายสำคัญของต่างประเทศที่ผู้บริโภคยินดีจ่ายถ้ารู้ว่าสิ่งนั้นดี”

แม้อาจจะมีคำถามว่า ของไทยไม่จำเป็นต้องเน้นนโยบายเหมือนต่างประเทศ แต่ทัศนีย์บอกว่า เมื่อเทียบกับเทสโก้ที่อินเดียซึ่งมีสาขาหรือมูลค่าในตลาดน้อยกว่าประเทศไทย ก็ยังมีการกำหนดลงไปในหน้าเว็บไซต์อย่างชัดเจนว่ามี CSR Policy อย่างไรบ้าง

“ในครั้งหน้า เราอยากเห็นห้างประกาศเป็นนโยบายให้สังคมรับรู้ เราเชื่อว่าจุดเริ่มต้นของนโยบายจะนำไปสู่แนวทางอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์โลกอนาคต สิ่งที่ห้างทำก่อนหน้านี้เป็นความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลง แต่สามารถยกระดับเป็นนโยบายได้ ถ้าผู้บริโภคเข้ามาใส่ใจและตั้งคำถาม ก็น่าจะเป็นอย่างที่คาดหวังทุกฝ่าย

“ถ้านโยบายดี ไม่ว่าจะเปลี่ยนผู้บริหารกี่คน ก็จะยังอยู่ให้คนรุ่นต่อไปมาสานต่อ” ทัศนีย์ทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image