ไหวไหมบอกมา? เปิดสถิติ เจาะตัวเลข สแกนรายรับ คนไทยแบก ‘ค่าเดินทาง’ หนักมาก!

ร้อนแรงเหลือเกินในห้วงเวลานี้ สำหรับปมปัญหาการคมนาคมซึ่งมีประเด็นยิบย่อยมากมายให้สังคมไทยร่วมถกเถียงอย่างเข้มข้น นับแต่ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เจ้ากระทรวงคนล่าสุดออกนโยบายสายฟ้าฟาดหลังนั่งเก้าอี้ทำงานเพียงไม่กี่วัน ลั่นจ่อช่วยประชาชนลดค่าครองชีพด้วยการปรับลดค่าโดยสารขนส่งสาธาณะทุกระบบ ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า รถไฟ ไหนจะค่าทางด่วนมอเตอร์เวย์ โทลล์เวย์ที่บอกจะหั่นราคาออกสัก 5 บาท 10 บาท

ทำได้จริงไหม ยังไม่รู้! แต่เจ้าตัวยืนยันให้ “คอยดูฝีมือ” คุยสื่อว่าทีมงานอย่างรัฐมนตรีช่วยและปลัดกระทรวงจะหาโมเดลดำเนินการให้ได้ภายใน 3 เดือน โดยเฉพาะเรื่องลดค่ารถไฟฟ้า แต่ย้ำว่าไม่เคยพูดประโยคที่ว่า จะให้เหลือ “15 บาทตลอดสาย”

“จริงๆ ผมไม่ได้พูดนะ จนเก็บไปนอนแล้วฝันเรื่องนี้ จะทำให้เป็นจริงขึ้นมาให้ได้ ซึ่ง 15 บาทคงไม่ใช่

ตลอดสาย จะเป็นช่วงเส้นทางสั้นๆ เช่น สายสีม่วงจากเตาปูน-บางใหญ่ แอร์พอร์ตลิงก์ ส่วนของเอกชนในเส้นทางสายสีน้ำเงินและบีทีเอส ต้องดูสัญญา ถ้าทำแล้วเขาอยู่ได้ไหม”

Advertisement

ในขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกมาให้ความเห็นที่ทำเอาชาวพระนคร ครางฮือกันทั้งฝั่งกรุงเทพฯ-กรุงธน ว่าค่ารถไฟฟ้า “บีทีเอส” 65 บาทนั้น “ไม่แพง” โดยระบุรายละเอียดว่า หลังจากที่ กทม.ได้ทำการเปิดสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายในสถานี ห้าแยกลาดพร้าว-สถานีคูคต ซึ่งเป็นการต่อขยายเส้นทางขนส่งสาธารณะให้ครอบคลุมเมืองมากขึ้น แต่ความครอบคลุม หรือ Coverage เพียงอย่างเดียวไม่พอที่จะสนับสนุนให้ประชาชนใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น เพราะราคาก็ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญ

65 บาท ไม่แพง! ผู้ว่าฯกทม.แจงตั้งเพดานต่ำสุดแล้ว

“การเปิดสถานีใหม่นี้ หากคำนวณอัตราค่าโดยสารตามระยะทางปกติ อาจจะทำให้ผู้ที่ต้องเดินทางระยะไกลต้องเสียค่าโดยสารแพงขึ้น เช่น ผู้ที่เดินทางจากสถานีเคหะ (สมุทรปราการ) ไปยังสถานีคูคต ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร จะต้องจ่ายค่าโดยสารประมาณ 150-160 บาท ซึ่งแน่นอนว่าราคานี้แพงเกินไปสำหรับการจ่ายค่าขนส่งสาธารณะในการเดินทางไปทำงานเป็นประจำทุกวัน เราจึงพยายามลดภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชนด้วยการตั้งเพดานค่าโดยสารให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งเงื่อนไขการเจรจา ของเราคือกำหนดเพดานค่าโดยสารตลอดสาย อยู่ที่ 65 บาท ไม่เสียค่าแรกเข้าเพิ่มในส่วนต่อขยาย”

คือคำกล่าวของ “พ่อเมือง” บางกอก ที่พยายามชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณะ โดยย้ำด้วยว่า การพัฒนาและส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนเมืองอย่างแท้จริงนั้น ต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญ 3 ประการ คือ Coverage ครอบคลุม, Connect เชื่อมโยง, และ Cost ราคาถูก ซึ่งผมยืนยันที่จะพยายามผลักดันต่อไปให้ถึงที่สุด เพื่อไขกุญแจสำคัญทั้ง 3 ดอกนี้ และทำให้รถไฟฟ้าในความรับผิดชอบของ กทม. เป็นระบบขนส่งสาธารณะที่ประชาชนทุกกลุ่มทุกวัยสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เพื่อสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครแห่งการขนส่งสาธารณะอย่างแท้จริง

Advertisement

1 กม.เท่ากัน คนไทยจ่ายหนัก ‘ค่าเดินทาง’ แพงกว่าลอนดอน

ประเด็นนี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ “ทีดีอาร์ไอ” ไม่พลาด โดยมีการศึกษามานานแล้ว ก่อนหน้าที่จะเป็นกระแสข่าวให้ชาวโซเชียลแห่คอมเมนต์

ข้อมูลจากสถาบันดังกล่าวระบุว่า หากเปรียบเทียบโครงสร้างค่าโดยสารระหว่างรูปแบบการเดินทางโดยภาพรวม จะพบว่าค่าโดยสารต่อ 1 กิโลเมตรของผู้โดยสารในไทยไม่เพียงสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ยังสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วอีกหลายแห่ง อาทิ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีค่าโดยสารเฉลี่ยต่อ 1 กิโลเมตรอยู่ที่ 12.4 บาท ส่วนสิงคโปร์อยู่ที่ 2.3 บาท ฮ่องกง 4.08 บาท ในขณะที่บ้านเรา เพียงก้าวเท้าออกจากบ้านเพื่อโดยสารด้วยอะไรก็แล้วแต่ ต้องจ่าย 14.8 บาท ในการเดินทาง 1 กิโลเมตร

หากเจาะเฉพาะระบบราง พบว่าค่าโดยสารต่อเที่ยวของไทยสูงกว่าประเทศในเอเชียด้วยกันเอง เท่านั้นไม่พอ ยังมี “ส่วนต่าง” ค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้ากับ “รถเมล์” สูงที่สุดอีกด้วย กล่าวคือ ค่ารถไฟฟ้าต่อเที่ยวของคนไทย โดนไป 67.4 บาท ในขณะที่ชาวสิงคโปร์ควักเบาๆ เพียง 25.73 บาท ส่วนฮ่องกงต้องควัก 46.50 บาท

ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ เคยเปิดเผยไว้ว่า ค่าโดยสารที่เหมาะสมตามสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อของพวกเราชาวไทย คือ 30-40 บาท เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงได้

เจ้าตัวยังแนะว่า สิ่งที่ภาครัฐควรพิจารณา คือ ให้กำหนดอัตราค่ารถเมล์และรถไฟฟ้าอย่างสอดคล้องกับต้นทุนการดำเนินงาน สำหรับกลไกปรับราคาที่ต้องทบทวนทั้งต้นทุนและปริมาณการใช้บริการอย่างสม่ำเสมอ พัฒนาคุณภาพการให้บริการที่ดีขึ้น เพื่อให้การประกอบการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพและเกิดความเท่าเทียมการใช้มากยิ่งขึ้นและระยะยาว โดยในกรณีของรถไฟฟ้านั้น “ต้นทุนสูง” เพราะจำนวนผู้โดยสารยังน้อยกว่าความสามารถรองรับของระบบที่เคยถูกออกแบบไว้ ซึ่งบ้านเราสามารถลดลงต้นทุนรถไฟฟ้าได้ด้วยการเพิ่มปริมาณผู้โดยสารนั่นเอง

‘คอมเมนต์’ จากท้องถนน เสียงประชาชนที่ไม่อาจมองข้าม

จากความเห็นของบุคคลากร “ภาครัฐ” และ “นักวิชาการ” ผู้ทำการศึกษาตามแนวคิดทฤษฎี มาฟังเสียงของประชาชนผู้อยู่ในวังวนการเดินทางในทุกๆ วันกันบ้าง ไม่ว่าจะโหนรถเมล์ เรียกพี่วิน ต่อใต้ดิน ขึ้นรถตู้ ลงเรือ นั่งบีทีเอส รอสองแถว แล้วโบกแท็กซี่ หรือแวะเติมน้ำมันให้รถส่วนตัว ใน 1 วันกว่าจะถึงที่ทำงาน โรงเรียน มหาวิทยาลัย และจุดมุ่งหมายอื่นๆ ในการทำธุระให้เสร็จสิ้น คนไทยใช้เงินในการเดินทางไป-กลับวันละเท่าไหร่ ? หนักเกินไปเมื่อเทียบกับรายได้ในแต่ละเดือนหรือไม่ ?

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่ “มติชนออนไลน์” ได้สำรวจโดยสอบถามความคิดเห็นผ่านแฟนเพจในประเด็นหลากหลายด้านการขนส่งสาธารณะอย่างต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าเกือบทั้งหมด มองว่า “ค่าเดินทาง” ไป-กลับใน 1 วันนั้นสูงเกินไปโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับรายได้ในแต่ละเดือน จำนวนไม่น้อยที่ต้อง “ต่อรถ” หลายต่อ ใช้รูปแบบการเดินทางมากกว่า 1 รูปแบบ กว่าจะถึงจุดหมาย ค่าใช้จ่ายจึงต้องบวกกเพิ่มไปด้วย

“นั่งรถตู้ มอเตอร์ไซค์ไปกลับ 144 บาท แถมต้องออกจากบ้านตี 5 หวังรถไฟฟ้าจะมาช่วยย่นระยะทางแต่ความหวังคงสลายเพราะค่ารถไฟฟ้าแพงเกินไม่สมกับการรอคอย”

“ค่าเดินทางครึ่งหนึ่งของค่าแรงใน 1 วัน หากมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เพิ่มมา ในวันนั้น ถ้าระยะทาง พอที่จะเดินเท้าได้ก็เดิน งดพี่วิน”

“วันละ 150 หมดล่ะ ค่าแรง รถไฟฟ้าไปกลับ 100 นั่งมอ’ไซค์ไปกลับวันละ 50 แค่ค่ารถยังไม่รวมค่ากิน”

“แทนที่การขนส่งสาธารณะจะช่วยให้ชีวิตดีขึ้น เริ่มจากรถเมล์ โคตรห่วย รอนานกว่าจะมาสักคัน ไปเที่ยวญี่ปุ่น รถเมล์ เค้ารอไม่นานเลย 15 นาทีก็มาแล้ว พึ่งพาได้”



“รถไฟฟ้าแทนที่จะให้คนจนๆ เข้าถึงง่าย แต่แพงโคตร มนุษย์เงินเดือน ก็ก้มหน้าเจ็บปวด รับภาระไปสิ”

“บางคนค่าแรงวันละ 300 ค่ารถวันละ 80 ไปกลับ ยังไม่ได้กินนะ ค่าข้าวง่ายๆ 3 มื้อ คิดเล่นๆ 120 แทบจะไม่เหลือเงินลบกับค่าแรงไหนจะค่าเช่าบ้านไหนจะแหกตาตื่นแต่เช้าอีกของทุกอย่างกำลังขึ้น น้ำอัดลมขวดเล็ก 12 บาท ซุปก้อนปรุงรส 27 บาท อดทนค่ะสู้กันต่อไปเพื่อครอบครัว”

“คนในเมืองนั่งรถไฟฟ้าต่อวินไปกลับค่ารถต้องมีเป็นร้อย แล้วรวมค่ากินอีกเอาแบบประหยัดแล้วนะ ต้องมี 250 ขาดตัวเงินเดือนเท่าไหร่ถึงจะพอ ยังไม่รวมค่าเช่าบ้านค่าน้ำไฟอีกชักหน้าไม่ถึงหลังแล้วคนในเมือง”

ข้อความข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเสียงจากภาคประชาชนที่ออกมา “ระบาย” และให้ข้อมูลที่สะท้อนความจริงอันเจ็บปวด โดยในบางความเห็นยังระบุว่า เพื่อหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูง จึงต้องตื่นเช้าขึ้นเพื่อใช้วิธี “นั่งรถเมล์” ซึ่งมีราคาถูก

“ตื่นตี 4 ครึ่ง ออกมารอรถเมล์ตี 5.15 จากพระราม 7-รพ.จุฬา 6 โมง นอนรอเข้างานอีก 2 ชั่วโมงค่ารถไปกลับวันละ 16 บาท”

ในขณะที่บางคอมเมนต์ยังแตกประเด็นให้เห็นปัญหาอื่นๆ เช่น การที่ผู้คนพยายามกระเบียดกระเสียนซื้อรถยนต์ส่วนตัว ก็เพราะระบบขนส่งสาธารณะของไทยยังไม่มีคุณภาพมากพอ ซ้ำยังต้องจ่ายรายวันไม่ต่างจากค่าน้ำมันมากนัก คนที่พอมีแรงจึงเลือกขับรถลงถนนที่ตัดเท่าไหร่ก็ไม่เคยพอ เพื่อหลีกหนีจากความลำบากสังขารในการรอคอยและห้อยโหนให้เหนื่อยยาก

“ใช้รถส่วนตัวเครื่อง 1,200 เติมน้ำมันเดือนละ 2,000-2,300 บาท ทำงาน 22 วัน เฉลี่ยวันละ 100-105 บาท ไม่ต้องโหนไม่ต้องห้อยไม่ต้องคอยนาน ที่เขียนมาเนี่ยะอยากจะว่าบริการขนส่งไทยนอกจากด้อยคุณภาพแล้วบางอย่างราคาสูงกว่าค่าครองชีพทำให้หลายครอบครัวตะเกียกตะกายซื้อรถยนต์ ถ้ารัฐบาลทำดีทำราคาถูก รถยนต์ส่วนบุคคลจะหายไปจากถนนเองแหละ ว่าแต่ทำได้หรือเปล่าล่ะ?”


เปิดสถิติแห่งชาติ ‘ยานพาหนะ’ ขึ้นแท่นอันดับ 3 ค่าใช้จ่ายครัวเรือน

ความเห็นจากก้นบึ้งหัวใจในคอมเมนต์ต่างๆ ข้างต้น สอดคล้องข้อมูลจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่บ่งชี้ว่า ในค่าใช้จ่ายครัวเรือน ปี 2561 ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 21,346 บาท “ค่าเดินทางและยานพาหนะ” 3,792 บาท คิดเป็นร้อยละ 17.7 นับเป็นลำดับที่ 3 ของค่าใช้จ่ายต่างๆ รองจากค่าอาหาร และค่าที่อยู่อาศัยรวมถึงเครื่องใช้

ภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยกับมติชนว่า จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนไทยปี 2561 โดยกลุ่มตัวอย่างทุกจังหวัดทั่วประเทศ 52,000 ครัวเรือน พบว่าอยู่ที่ 21,346 บาท ซึ่งลดลงจากปี 2560 ที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน อยู่ที่ 21,437 บาท

ค่าใช้จ่ายดังกล่าว ประกอบด้วย อาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ 7,039 บาท หรือคิดเป็น 34.8% ถัดมาคือค่าที่อยู่อาศัย 4,222 บาท หรือคิดเป็น 19.8% ยานพาหนะ การเดินทาง 3,792 บาท หรือคิดเป็น 17.7% ของใช้ส่วนตัว เครื่องนุ่งห่มรองเท้า 1,078 บาท หรือคิดเป็น 5% การสื่อสาร 829 บาท หรือคิดเป็น 3.9% การศึกษา 353 บาท หรือคิดเป็น 1.7% เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล 309 บาท หรือคิดเป็น 1.5% การบันเทิง การจัดงานพิธี 239 บาท หรือคิดเป็น 1.1% กิจกรรมทางศาสนา 227 บาท หรือคิดเป็น 1.1% และค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค เช่น “หวย” 2,860 บาท หรือคิดเป็น 13.4%

สำหรับความเหลื่อมล้ำในสังคมระหว่างคนรวยและคนจนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 0.246%

เมื่อเจาะรายละเอียดลึกลงไปเฉพาะค่าใช้จ่ายในการเดินทาง มีข้อมูลว่า ในปี 2561 ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ซึ่งเคยคิดเป็น ร้อยละ 17.4 เป็น 17.7 ดังที่กล่าวมาแล้ว

ทั้งหมดนี้ คือสถิติ คอมเมนต์ และข้อเท็จจริง ที่น่าสนใจและไม่อาจมองข้าม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image