อยากให้ลืม ยิ่งต้องจำ ประกาศสันติภาพ กับช่วงชีวิต ‘วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร’

ประติมานุสรณ์เสรีไทย ที่สวนประวัติศาสตร์ มธ. บน "ถนน 16 สิงหา"

ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ คงมีไม่กี่ครั้งที่ “กระดาษ” เพียงไม่กี่แผ่น จะเปลี่ยนแปลงโลกและความเป็นไปของผู้คน ก่อให้เกิดสงคราม การรบราฆ่าฟัน หรือนำพาความสุขสงบคืนสู่ประเทศชาติ

16 สิงหาคม พุทธศักราช 2488 ปรีดี พนมยงค์ ในนามผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ออก “ประกาศสันติภาพ” เน้นย้ำว่าสงครามที่ไทยประกาศไว้กับสหรัฐและอังกฤษ เมื่อ พ.ศ.2485 โดยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม นั้นถือเป็น “โมฆะ” เพราะขัดต่อเจตจำนงของประชาชนทุกหมู่เหล่า ส่งผลให้ไทยไม่ต้องอยู่ในฐานะผู้แพ้

ประกาศดังกล่าวกลายเป็นเอกสารสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์การเมืองที่มีเบื้องหลังคือความเสี่ยงชีพของขบวนการ “เสรีไทย” ซึ่งไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลในการประกาศสงครามในครั้งนั้น จึงทำงานแบบ “ใต้ดิน” ต่อต้านญี่ปุ่น โดยมีบุคคลที่มีชื่อเสียง ทั้งในและนอกราชการเข้าร่วมงานช่วยชาติอย่างเอาจริงเอาจัง กระทั่งประสบผลสำเร็จ

หัวหน้าขบวนการดังกล่าวก็คือ ปรีดี พนมยงค์ ผู้ริเริ่มก่อตั้งสถาบันการศึกษาที่รู้จักกันสืบมาในนาม “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”

Advertisement
คณะทูตานุทูตและผู้แทนจากประเทศต่างๆ พร้อมด้วยผู้บริหาร มธ. และทายาทเสรีไทยร่วมรำลึก

16 สิงหาคม พุทธศักราช 2562 ครบรอบ 74 ปีของการออกประกาศสันติภาพซึ่งในภายหลังถูกประกาศให้เป็น “วันสันติภาพไทย” ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2538 จากนั้น คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2553 ให้วันดังกล่าวเป็นวันสำคัญของมหาวิทยาลัย โดยมีการจัดกิจกรรมที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นประจำทุกปี เช่นเดียวกับในปีนี้

“สวนประวัติศาสตร์” อันเป็นที่ตั้งของ “ประติมานุสรณ์เสรีไทย” คึกคักตั้งแต่เช้าตรู่ โดยบุคลากรชาวธรรมศาสตร์ทั้งอดีตและปัจจุบัน, ทูตานุทูตและตัวแทนจากสถานเอกอัครราชทูตหลากหลายประเทศ รวมถึงทายาทเสรีไทย พร้อมด้วยประชาชนทั่วไปรวมตัวกันรำลึกประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญนี้บนถนนสายเล็กๆ ที่มีชื่อว่า “16 สิงหา” อันเชื่อมต่อระหว่างประตูมหาวิทยาลัยฝั่งถนนพระอาทิตย์กับประตูท่าพระจันทร์ ผ่านหน้า “ตึกโดม”

3 หน้ากระดาษพลิกประวัติศาสตร์การเมืองไทย

“ปรีดี พนมยงค์ ทำภารกิจลับในนามขบวนการเสรีไทย เพื่อนำพาสันติสุขกลับคืนมาสู่ปวงชนชาวไทย ในที่สุดความพยายามดังกล่าวบรรลุผล เมื่อท่านปรีดีประกาศการเป็นโมฆะของสงครามดังกล่าวผ่านการประกาศสันติภาพ ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2488 คำประกาศดังกล่าวแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนว่า สงครามได้สิ้นสุดลงแล้ว สันติภาพ สันติสุขกลับคืนมา”

Advertisement

“มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงร่วมกับมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ จัดงานครบรอบ 74 ปีวันสันติภาพไทยขึ้นในวันนี้เพื่อรำลึกถึงการปฏิบัติหน้าที่รับใช้ชาติของขบวนการเสรีไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2 และเพื่อเห็นความสำคัญของการประกาศสันติภาพในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2488 …” คือคำกล่าวของ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อผู้เข้าร่วมงานในวันนั้น

ด้าน พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานในพิธี ลุกขึ้นกล่าวเปิดงานมีเนื้อหาโดยสรุปว่า วันสันติภาพไทยของแต่ละคนคงมีนัยยะ ความหมายที่แตกต่างกันออกไป แต่อย่างน้อยที่สุดถือเป็นวาระที่ทำให้ได้ร่วมรำลึกถึงผู้รักชาติที่เอาชีวิตของตัวเองไปเสี่ยง โดยเฉพาะขบวนการเสรีไทย เราไม่ควรเพียงสดุดีวีรกรรม แต่ควรเรียนรู้ถึงความกล้าหาญ ความเสียสละ นอกจากนี้ วันสันติภาพไทยคือโอกาสที่ชวนให้ผู้คนตระหนักถึงคุณค่าของคำว่าสันติภาพ ซึ่งแม้เป็นนามธรรม แต่เป็นของอันประเสริฐยิ่ง

“ประกาศสันติภาพถือเป็นเอกสารที่สำคัญยิ่งในทางการเมืองระหว่างประเทศ เป็นเอกสารที่มีความยาวเพียง 3 หรือ 4 หน้ากระดาษ แต่ก็สามารถยุติการทำศึกสงครามที่ไทย หยุดยั้งการรบราฆ่าฟัน ปัดเป่าความทุกข์ทรมานของผู้คนเป็นจำนวนมาก และนอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยรักษาบ้านเมืองของเราไม่ให้ตกเป็นชาติผู้แพ้สงครามในท้ายที่สุดด้วย

…สงครามโลกผ่านไป 7 ทศวรรษ หลังจากนั้นเราไม่เคยเผชิญสงครามใหญ่ๆ อีก คนรุ่นหลังจึงควรเรียนรู้อดีต เพื่อสำนึกความสำคัญของสันติภาพและความลำบากในการได้มาซึ่งสันติภาพ” พลเอกสุรยุทธ์กล่าว

ในปีนี้ยังมีการแสดงปาฐกถาพิเศษ โดย ปีเตอร์ เฮย์มอนด์ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต ณ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ซึ่งกล่าวถึงความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งขบวนการเสรีไทยได้แสดงออกถึงการกระทำที่เป็นวีรบุรุษ อุทิศตนเพื่อความถูกต้องและเสรีภาพของคนไทย อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์อันสะท้อนให้เห็นถึงความแน่นแฟ้นระหว่าง 2 ชาติท่ามกลางสงคราม

ปีเตอร์ เฮย์มอนต์ อุปทูต สหรัฐกล่าวปาฐกถา

ท่านอุปทูตยังกล่าวถ้อยความอย่างน่าประทับใจว่า ในช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดแห่งประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ เสรีไทยยังเลือกที่จะยืนหยัดอยู่บนหลักการของความถูกต้อง ปกป้องสยามประเทศ อธิปไตยของชาติ และขอให้ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติมีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น เพื่อเชิดชูสันติภาพบนเวทีโลกสืบไป

จากนั้น เป็นการวางดอกไม้บริเวณประติมานุสรณ์เสรีไทย โดย พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์, รศ.เกศินี วิฑูรชาติ, ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์, ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล และผู้บริหาร ม.ธรรมศาสตร์ รวมถึงคณะทูตานุทูตและตัวแทนจากประเทศต่างๆ อาทิ กัมพูชา, ชิลี, คาซัคสถาน, ไนจีเรีย, ปานามา, ฟิลิปปินส์, นิวซีแลนด์, โปรตุเกส, บังกลาเทศ, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, เคนยา และมาเลเซีย ฯลฯ

ต่อด้วยการกล่าวรำลึกถึงเสรีไทยโดยตัวแทนนักศึกษา 3 ศาสนา ได้แก่ อิสลาม คริสต์ และพุทธ ปิดท้ายด้วยการวางดอกไม้โดยตัวแทนทายาทเสรีไทย อาทิ ครอบครัวพนมยงค์ ครอบครัวชัยนาม และครอบครัวพหลพลพยุหเสนา เป็นต้น

พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ วางดอกไม้เนื่องในวันสันติภาพไทย

ความทรงจำที่ถูกทำให้ลืม

ไม่เพียงงานพิธีรำลึกเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ในวันเดียวกันยังมีการจัดงานเสวนา “รำลึกถึงเสรีไทย รำลึกถึงวิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร” ผู้สร้างสรรค์ผลงานที่เป็นเสมือนคัมภีร์ในการค้นคว้าเรื่องราวของ”เสรีไทย”

ดุษฎี พนมยงค์ ย้อนเล่าถึงความทรงจำเกี่ยวกับ “เสรีไทย” ว่าในขณะนั้นยังเด็กมาก จำความไม่ได้มากนัก แต่ได้รับรู้รับฟังมาจากผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม สุดท้ายได้รู้จักคุ้นเคยกับอดีตเสรีไทยบางท่าน

“ความทรงจำสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนนั้นอายุ 4 ขวบ ยังเรียนอนุบาล เคยมีคนถามว่าได้พบเสรีไทยตัวจริงไหม จริงๆ ใครเป็นเสรีไทย ไม่รู้ เพราะเป็นความลับ ผู้ใหญ่มาเล่าทีหลัง แต่ได้พบคุณจำกัด ตอนนั้น 2-3 ขวบ จำไม่ได้ อีกคนที่พบคือคุณฉลบชลัยย์”

…ชีวิตในสงครามก่อนย้ายไปอยุธยา บางปะอิน เราอยู่ที่ทำเนียบท่าช้าง สัมพันธมิตรมาทิ้งระเบิดที่สถานีรถไฟบางกอกน้อย เราอยู่ในเหตุการณ์เวลาทิ้งระเบิดสะเทือน ได้ยินมาถึงทำเนียบท่าช้าง เปลวไฟลุกโชติช่วงเต็มท้องฟ้า ผู้ใหญ่อุ้มลงหลุมหลบภัยใต้ดิน สักพักเครื่องบินก็ไป เสียงหวอดังบอกว่าปลอดภัย สิ่งที่จำได้คือความเลวร้ายของสงคราม”

 

ดุษฎี พนมยงค์ เล่าความทรงจำครั้งสงครามโลกและการพบเสรีไทย

เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งรับหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ แสดงความเห็นที่น่าสนใจในตอนหนึ่งว่า

“ทำไมความทรงจำหลายอย่างที่เราควรจำกลับถูกทำให้ลืม เช่น วันสันติภาพ ดิฉันเป็นคนรุ่นใหม่ มีชุดข้อมูลนี้ไม่มากนัก ส่วนหนึ่งที่เราพูดกันในวันนี้คิดว่าเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้คนสนใจและรักษาเรื่องนี้ให้ถูกพูดถึงต่อไป”

ด้าน พลเอก บัญชร ชวาลศิลป์ นายทหารนักเขียนคนดัง บอกว่า ส่วนตัวเกิดไม่ทันช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะลืมตาดูโลกในปี 2499 รอให้โลกหยุดวุ่นวายจึงค่อยเกิด แต่ทราบเรื่องราวต่างๆ จากการอ่านและการค้นคว้า ซึ่งต้องคารวะดวงวิญญาณของ ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ผู้เขียน “ตำนานเสรีไทย”


“เสรีไทยเป็นเรื่องของคนสำคัญที่มีความคิดต่าง แต่ทำงานด้วยกันได้ แยกเรื่องส่วนตัวจากเรื่องงานและผลประโยชน์ของชาติ ตัวอย่างความรักชาติที่ชัดเจนในประวัติศาสตร์คือ เสรีไทย ทุกวันนี้ความรักชาติหน้าตาเป็นอย่างไร ยังมีอยู่ไหม ผมเพียงตั้งคำถาม เพราะคงต้องแตกประเด็นออกไปเยอะ ว่าความรักชาติในความหมายของตนคืออะไร วันนี้ถ้าชาติอื่นมาบุก ยกพลขึ้นบก เราจะมีคนวิ่งฝ่ากระสุนทั้งที่ไม่ได้เป็นทหารไหม 8 ธันวาคม 2484 ญี่ปุ่นบุกโดยยกพลขึ้นบก คนไทยไม่ใช่เฉพาะทหาร แต่มีพลเรือน ผู้หญิง ยุวชนทหาร เด็ก ที่ร่วมกันต่อต้านญี่ปุ่น คนเหล่านั้นไม่เคยถามว่าประเทศต้องมี พ.ร.บ.เกณฑ์ทหารไหม แต่เขาถือปืนไปทำหน้าที่ เป็นความรู้สึกชนิดไหนที่ทำให้คนคิดอย่างนั้น ปฏิบัติอย่างนั้น”

พลเอกบัญชรกล่าว ยังเล่าถึงข้อเขียนของ “นากามูระ” นายทหารชาวญี่ปุ่นผู้เป็นผู้บัญชาการกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งระบุว่า ในเมืองไทยมีดาวหาง 3 ดวง ดวงที่ 1 คือ ปรีดี พนมยงค์ ดวงที่ 2 คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เสรีไทยสายอเมริกัน และดวงที่ 3 คือ พลตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจยุคนั้น ซึ่งนากามูระเขียนว่า เป็นคนที่เดายากมากที่สุดในองค์การทางการเมืองของไทย มีชีวิตเหมือนดูหนังเจมส์ บอนด์ กลางวันไม่ทำงาน ทำงานตอนกลางคืน

อ่าน ‘วิชิตวงศ์’ รำลึก ‘เสรีไทย’

ปิดท้ายที่ นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ที่มากล่าวถึงชีวิตของ ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ผู้ล่วงลับได้อย่างละเอียดลออและลึกซึ้ง

“คนไม่ค่อยรู้จักมากในแง่ชีวประวัติ นอกจากมุมนักเขียน ทั้งที่จริงๆ แล้ว ดร.วิชิตวงศ์ เป็นคนสำคัญของไทยในยุคจอมพลประภาส จารุเสถียร จอมพลถนอม กิตติขจร จนล่วงมายุคป๋าเปรมช่วงปลาย โดยเป็นผู้วางแผนเศรษฐกิจ เป็นคนแรกๆ ที่เรียนด้านการวางแผนเศรษฐกิจ เป็นหนึ่งในทีมเศรษฐกิจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในช่วงต้น” นริศยังเล่าย้อนถึงความใฝ่ฝันของ ดร.วิชิตวงศ์ ซึ่งอยากเป็น “นักหนังสือพิมพ์”

“ท่านเกิดก่อน 2475 สองปี ใฝ่ฝันจะเป็นนักหนังสือพิมพ์ ไปขลุกวงการนักเขียน ยุคนั้น ท่านได้พบนักเขียนสำคัญๆ หลายคน เช่น ยาขอบและกุหลาบ สายประดิษฐ์ ดร.วิชิตวงศ์เป็นคนแรกๆ ที่นำเรื่องของ ดร.ตั้ว ลพานุกรม หนึ่งในคณะราษฎรกลับมาให้คนสนใจ”

หนังสืออีกเล่มที่สำคัญยิ่งในแง่ของการเป็น “ชีวประวัติ” เล่มแรกของ ปรีดี พนมยงค์ คือ “ปรีดีหนี”

“ปรีดีหนี” ชีวประวัติเล่มแรกของปรีดี พนมยงค์ เรียบเรียงโดย วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร

“ดร.วิชิตวงศ์เอาเรื่องที่ปรีดีหนีมาเขียนเมื่อปี 2491 ปยุต เงากระจ่าง เป็นคนวาดภาพปกให้ นี่ถือว่าเป็นเล่มแรกที่เป็นชีวประวัติของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์”

สำหรับจุดสูงสุดที่นริศมองว่าสำคัญมาก คือตำนานเสรีไทยซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2546 และอัตชีวประวัติของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เมื่อ พ.ศ.2549 อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงหนังสือเกี่ยวกับเสรีไทย และบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ดร.วิชิตวงศ์ยังมีคุณูปการในการค้นคว้า เรียบเรียงและเผยแพร่ประวัติศาสตร์ “สามัญชน” ที่ปรากฏอย่างแจ่มชัดในหนังสือชุดอมตะอย่าง “พล นิกร กิมหงวน” ของ ป.อินทรปาลิต ตีพิมพ์ในหนังสือ “วิวัฒนาการสังคมไทยกับหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน” โดยสำนักพิมพ์แสงดาว เมื่อ พ.ศ.2544

บันทึกลับของพันโทอรุณฯ พิมพ์ครั้งที่ 2 แจกในวันครบรอบ 74 ปีวันสันติภาพไทย

“ใครต้องการศึกษาประวัติศาสตร์สามัญชนในประเทศไทยผ่านบริบทต่างๆ ต้องอ่าน พล นิกร กิมหงวน ซึ่งตรงนี้เป็นความชาญฉลาด ความยอดเยี่ยมของวิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ที่สามารถดึงเอาสาระของหนังสือชุดนี้ซึ่งเป็นหัสนิยาย หรือนิยายขบขันบันเทิงมาผนวกกับความเป็นไปของประวัติศาสตร์ไทยช่วงระหว่างปี 2481-2511” นริศกล่าว

เป็นอีก 1 วันแห่งความทรงจำร่วมระหว่างคนไทยและประชาคมโลกที่ไม่อาจลืมได้ ตราบใดที่มนุษยชาติยังเห็นความสำคัญของคำว่า “สันติภาพ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image