ศิษย์-ครู ร้อยดวงใจ ดำนาเกี่ยวข้าว ปลูกจิตรักษ์ประเพณีไทย

“เกี่ยว เถิดนะแม่เกี่ยว

ช้ะ ช้ะ เกี่ยว เถิดนะแม่เกี่ยว

อย่ามัว แลเหลียว

เดี๋ยวเคียวจะบาด ก้อยเอย”

Advertisement

ทำนองร้องเล่นสุดคุ้นหูของคนไทย ได้ยินเมื่อไหร่ก็ชวนให้เห็นภาพชายหญิงลงนาคว้าเคียวเกี่ยวข้าว พูดจาปราศรัย หยอกล้อต่อกระซิก

น่าเสียดายที่เด็กสมัยนี้แทบจะมีโอกาสได้เห็นหรือสัมผัสภาพความอบอุ่นเหล่านี้ เพราะเกิดมาในยุคที่เทคโนโลยีหลอมรวมจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต

ล่าสุด สาขาเทคโนโลยีการเกษตรและสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เห็นความสำคัญในการสืบสานประเพณีการลงแขกดำนาเกี่ยวข้าว จัดกิจกรรม “เกษตรตะโกราย ร้อยดวงใจ ดำนา เกี่ยวข้าว 9 ตามรอยพ่อ” ที่ศูนย์การศึกษาหนองระเวียง ต.หนองระเวียง อ.เมือง จ.นครราชสีมา

Advertisement

เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดี และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเพื่อให้นักศึกษา บุคลากร เจ้าหน้าที่และผู้สนใจเข้าใจถึงวิถีการดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งเพื่อเป็นการปลูกฝังพื้นฐานความรู้ ความคิด เรื่องการอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมไทย ให้กับนักศึกษาและบุคลากรในสาขาเทคโนโลยีการเกษตรและสิ่งแวดล้อม


ผศ.ดร.เฉลิมพล เยื้องกลาง
รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและการประกันคุณภาพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวว่า ข้าว ถือเป็นอาหารหลักของคนไทย และภูมิประเทศของเราก็เอื้อต่อการเพาะปลูกข้าว จนข้าวกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทยและหลายประเทศ ที่สำคัญข้าวยังมีความผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยมาอย่างยาวนาน จนก่อให้เกิดวัฒนธรรมขึ้นอย่างมาก ทั้งวัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อที่หลากหลาย อาทิ ความเชื่อเรื่อง “พระแม่โพสพ” ที่ชาวนาเชื่อกันว่าเป็นเทพธิดาปกปักษ์รักษาข้าว การเคารพบูชาจะทำให้ผลิตผลอุดมสมบูรณ์ ยังมีการทำพิธี “แห่นางแมว” หรือ “บุญบั้งไฟ” เพื่อขอให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล หรือประเพณี “ลงแขกเกี่ยวข้าว” ที่แสดงถึงความสามัคคี ความมีน้ำใจ ร่วมแรงช่วยเหลือกัน ผลัดกันลงแขกดำนาและเกี่ยวข้าว ทำให้เกิดบรรยากาศของการละเล่น ร้องรำทำเพลงต่างๆ เช่น เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเต้นกำรำเคียว เพลงสงฟาง เพลงชักกระดาน หรือการเล่นโยนครกโยนสาก และการเล่นลูกช่วง เป็นต้น

โดยบรรยากาศของกิจกรรม “เกษตรตะโกราย ร้อยดวงใจ ดำนา เกี่ยวข้าว 9 ตามรอยพ่อ” เรียกได้ว่าเต็มไปด้วยความรู้ ความรัก ความอบอุ่น และความสนุกสนาน เพราะอาจารย์และนักศึกษาต่างลงแรงช่วยเหลือกันอย่างแข็งขัน

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการแสดงรำเปิดงานและการแสดงของนักศึกษาชั้นปีที่ 1-4 มีการสาธิตการดำนาแบบต้นเดียว การลงแขกดำนา และการประกวด “หนุ่มหาบกล้า ธิดานาดำ”

นับเป็นกิจกรรมดีๆ ที่สืบสานประเพณีไทยอันใกล้จะเลือนหายไปจากสังคม ให้คงไว้กับเยาวชนคนรุ่นหลัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image