ค่ายเพาะกล้านักดูนก เหยี่ยวอพยพ

เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ

ฤดูกาลอพยพต้นหนาว ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงกลางเดือนพฤศจิกายน เหยี่ยวอพยพกว่า 1 แสนตัว จะเดินทางย้ายถิ่นจากประเทศในภูมิเอเชียตะวันออก ตั้งแต่ถิ่นไซบีเรีย จีน มองโกเลีย เกาหลีและญี่ปุ่น เดินทางลงใต้หนีอากาศหนาวเย็นที่จะคืบคลานมาถึง และความขาดแคลนของอาหาร ผ่านประเทศไทย และภูมิภาคอุษาคเนย์เพื่อไปอาศัยในฤดูหนาวที่ประเทศใกล้เส้นศูนย์สูตร ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

เหยี่ยวอพยพกว่า 20 ชนิด บางชนิดมีจำนวนมากกว่า 1 แสนตัว อาศัยลมร้อนในเวลากลางวันช่วยหนุนตัวไต่ระดับความสูง เพื่อผ่อนแรงไม่ต้องเหนื่อยมาก ร่อนลัดเลาะตามชายทะเลอ่าวไทย ผ่าน เขาเรดาร์ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ เขาดินสอ อ.ปะทิว จ.ชุมพร เป็นประจำทุกปี นับเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับนักท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ จะมีโอกาสชม สายธารเหยี่ยวอพยพ หรือ River of Raptors เพียงช่วงเวลาดังกล่าวในรอบปี เมื่อเหยี่ยวอพยพหลายร้อยตัวที่รวมฝูงกันเป็นก้อน ฝูงแล้วฝูงเล่า แยกตัวกันเรียงแถวตอนแนวยาวกว่า 1 ร้อยเมตร บินต่อเนื่องไปข้างหน้าเสมือนกระแสน้ำไหลนับเนื่องอยู่บนฟากฟ้าจากทิศเหนือลงใต้ อีกทั้งจุดชมเหยี่ยวอพยพทั้งสองแห่งข้างต้น เอื้อต่อการมองเห็นเหยี่ยวในมุมมองที่ยากจะได้เห็นหากยืนบนพื้นราบ เพราะเหยี่ยวจะบินเข้าใกล้ยอดเขา สามารถมองเห็นในมุมระดับสายตา หรือเหยี่ยวบินต่ำกว่าจุดที่เรายืนอยู่ เป็นมุม Birder’s eye view อีกด้วย

เหยี่ยวผึ้ง

ในแต่ละช่วงเวลาระหว่างกลางเดือนกันยายนถึงกลางเดือนพฤศจิกายน เหยี่ยวอพยพชนิดต่างๆ ก็มีลำดับเวลาการเดินทางต่างกันออกไป ในต้นฤดูอพยพ ชนิดพันธุ์หลักที่เสมือนทัพหน้าเหยี่ยวอพยพ จะเป็น เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน หลายหมื่นตัวที่จำนวจะพุ่งสูงขึ้นในปลายเดือนกันยายน และ เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น นักเดินทางนิสัยสันโดษเพราะจะอพยพเป็นรายตัว ไม่ชอบสังสรรค์กับเพื่อนร่วมชนิด เหมือนเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนที่จะรวมฝูงเดินทางมาด้วยกัน ถัดมาเมื่อลมหนาวเริ่มพัดมาจากประเทศจีน ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม จะเป็น เหยี่ยวผึ้ง นกนักล่านิสัยแปลก ชอบกินตัวอ่อนของผึ้ง มากกว่าสัตว์อื่นๆ แม้ว่าขนาดตัวจะใหญ่พอๆ กับนกอินทรี แล้วตามมาด้วยเหยี่ยวหน้าเทา และตบท้ายด้วยทัพใหญ่ ของ เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ จากประเทศจีนที่จะยกโขยงบินผ่าน่านฟ้าเมืองไทยในภาคใต้ เฉียดๆ แสนตัวภายในช่วงเวลาแคบๆ 3 สัปดาห์ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน ดังนั้นกิจกรรมชมเหยี่ยวอพยพในบ้านเราที่มีจุดชมเหยี่ยว สำคัญระดับโลก อย่างเขาดินสอ นักนิยมธรรมชาติ นักดูนกถ่ายภาพนก สามารถจัดสรรเวลาไปชมได้ตลอดเดือนตุลาคม ถ้าชอบความท้าทาย ทดสอบสมรรถนะทางกายของตนเอง แนะนำไปเขาดินสอ เดินขึ้นบันได 80 ขั้นทางชันหน่อย แต่วิวทิวทัศน์บนผาอินทรีของเขาดินสอก็คุ้มค่าเหนื่อย หากไม่สันทัดเดินชน ให้เหงื่อออก แนะนำไปชมเหยี่ยวบนเขาเรดาร์ แค่เดินลงจากรถก็ถึงลานชมเหยี่ยวบนยอดเขาสูง 200 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลโดยประมาณ เพราะรถยนต์สามารถขับขึ้นไปบนยอดเขาเรดาร์ได้เลย และจะมีนักดูเหยี่ยวท้องถิ่นของ อบต.ไชยราช ให้คำแนะนำเรื่องชนิดพันธุ์ของเหยี่ยวด้วยไมตรีและยินดีที่มีนักท่องเที่ยวต่างถิ่นมาเยือน

Advertisement

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนักนิยมธรรมชาติ กลุ่มศึกษาเหยี่ยวและนกอินทรี ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานประจวบคีรีขันธ์ และ กองทุนวิจัยนกนักล่าเพื่อการอนุรักษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ จัดการบรรยายให้ความรู้เรื่องเหยี่ยวอพยพ และหัวข้ออื่นๆ เพื่อเพิ่มอรรถรสในการชมเหยี่ยวอพยพตลอดเดือนตุลาคม ปรากฏการณ์ธรรมชาติรอบปีมีครั้งเดียวนี้ ในวัน Raptor Day ครั้งที่ 15 วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน ศกนี้ ที่ห้องบรรยาย 1 อาคารเรียนและปฏิบัติการ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน มีนิทรรศการให้ความรู้เรื่องเหยี่ยว นกอินทรีและแร้ง เกี่ยวกับสรีรวิทยาและกายวิภาคของนกนักล่า อาทิ กระดูก ขน และก้อนกากอาหาร (pellet) อันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองและทรัพยากรธรรมชาติของคนไทย ให้ผู้สนใจเข้าฟังได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย อีกทั้งขอเชิญชวนนักเรียนมัธยมปลาย และนิสิตนักศึกษาปริญญาตรีที่สนใจกิจกรรมดูนกในธรรมชาติ จะมี โครงการค่ายเพาะกล้านักดูนก (Young Birder Camp) รับสมัครเยาวชนที่สนใจเรียนรู้เรื่องเหยี่ยวอพยพ การช่วยเหลือเหยี่ยวและนกนักล่าบาดเจ็บ กำพร้าหรือพลัดหลง เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกอนุรักษ์สัตว์ป่า ระหว่างวันที่ 18-20 ตุลาคม 2562

สนใจสมัครเข้าค่ายได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ อ่านขั้นตอนการสมัครที่ http://www.birdsofthailand.org/content/young-birder-camp-2019 หรือสอบถามที่อีเมล์ [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image