รางวัล ‘ชมนาด’ มงกุฎดอกไม้นักเขียนสตรี

เห็นชื่อเรื่องอย่างนี้อย่าเพิ่งคิดว่าเป็นการแบ่งเพศหญิง-เพศชาย หาใช่ประเด็นสำคัญไม่ เพราะทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าคนบนโลกมีมากกว่าสองเพศแล้ว

แต่ประเด็นที่กำลังกล่าวถึง เป็นเรื่องน่าสังเกตและน่าสนใจยิ่งในแวดวงวรรณกรรม ซุบซิบกันว่าหากมีรางวัลหรือการประกวดแข่งขันเกี่ยวกับงานเขียนเมื่อไหร่ สิ่งที่ตามมาไม่นานหลังจากนั้น

มักเกิดข้อครหาและมีเรื่องไม่โปร่งใสต่างๆ ในวงการ กลายเป็นข่าวส่งแรงสะเทือนต่อผู้เกี่ยวข้องใกล้ชิดไม่น้อย เพื่อขจัดข้อครหาและสร้างความปลอดโปร่ง รื่นรมย์ รางวัลชมนาด หรือ Chommanard Book Prize จึงเกิดขึ้น ซึ่งอีกไม่กี่วันนับจากนี้คือวันที่ 26 สิงหาคม 2562 การประกาศผลรางวัลดังกล่าวจะมีเป็นครั้งที่ 8 แล้ว

อาทร เตชะธาดา แห่งสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น หนึ่งในผู้ก่อตั้งรางวัล กล่าวถึงที่มาที่ไปของรางวัลชมนาดว่า เริ่มต้นจากการหารือกันระหว่างคนรักใคร่ชอบพอ 2-3 คน มี ดร.สุจิตรา จงสถิตย์วัฒนา หัวหน้าภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สุมิตรา จันทร์เงา จากค่ายมติชน (เสียชีวิตแล้ว) และคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ เมื่อเดือนธันวาคม 2549 อยากให้มีรางวัลที่เป็นมาตรฐาน เป็นรางวัลที่รื่นรมย์ และผลงานที่ได้รางวัลนำไปแปลเป็นภาษาอังกฤษออกสู่ตลาดโลกได้

Advertisement

“…ก็ไม่รู้ทำไมถึงออกมาเป็นรางวัลสำหรับผู้หญิง…” อาทรกล่าวพร้อมหัวเราะก่อนเพิ่มเติมแบบขำๆ ว่าอาจเป็นเพราะผู้ก่อตั้งสองคนเป็นผู้หญิง และอยากสร้างความเป็นเอกลักษณ์ของรางวัลให้แตกต่างจากที่อื่น

หลังจากปรึกษาหารือแล้ว จึงได้ไปค้นดูว่ามีที่ไหนบ้างที่มีรางวัลเฉพาะนักเขียนหญิง ปรากฏว่าที่อังกฤษมีรางวัล “ออเรนจ์ ไพรซ์” ชื่อเต็มว่า The Orange Broadband Prize for Fiction เป็นรางวัลมอบให้กับนวนิยายเฉพาะนักเขียนผู้หญิง

ดังนั้น ผู้ก่อการทั้งหลายเลยมาตั้ง “Chommanard Book Prize” หรือ “รางวัลชมนาด” สำหรับผลงานนักเขียนหญิงของเมืองไทย

Advertisement
อาทร เตชะธาดา กรรมการผู้จัดการสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น

ทำไมต้องเป็นดอกไม้ “ดอกชมนาด”? อาทรอธิบายต่อทันที “…เป็นความชอบส่วนตัวและสองในสามคนก่อตั้งเห็นตรงกัน ดอกไม้เป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงอยู่แล้ว ทีแรกว่าจะเป็นดอกบัว แต่มันไม่โดน หรือจะเป็นมะลิ ก็ไม่ใช่อีก ชมนาดนี่แหละ ดอกไม้ไทยๆ ชื่อก็เพราะ กลิ่นก็หอม เหมาะมาก ตอนจัดงานเปิดตัวรางวัลปีแรกผมต้องไปเที่ยวหาซื้อต้นชมนาดมาวางไว้ในงานด้วย กลัวว่าคนจะไม่รู้จักดอกชมนาดหน้าตาเป็นยังไง”

เจ้าของประพันธ์สาส์นเล่าต่อว่า งานเปิดตัวรางวัลครั้งแรกได้รับพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระยศในตอนนั้น) พระราชทานโล่รางวัลเพื่อเป็นกำลังใจแก่นักเขียนและผู้จัดตั้งในการเริ่มต้นโครงการ ซึ่งงานเขียนที่ได้รับรางวัลเป็นเรื่องแรก คือ “รอยวสันต์” ในปี 2551

จากนั้นในปี 2552 มีการกำหนดรูปแบบเปิดรับต้นฉบับมาเป็นงานเขียนในเชิงสารคดี (Non-Fiction) ที่มุ่งนำเสนอข้อเท็จจริงจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียน

“การประกวดแต่ละครั้งจัดแตกต่างกันออกไป เราเริ่มต้นด้วยการประกวดนวนิยาย แล้วต่อมาเป็นสารคดี ที่จริงผมอยากเรียกว่า อรรถคดี มากกว่า ไม่ใช่ สารคดี คือเป็นอะไรก็ได้ที่เป็นการเขียนร้อยแก้ว Non-Fiction เท่านั้น เพราะเราตั้งใจจะเป็น The Best of Non-Fiction ทำต่อเนื่องกันมากระทั่งมากลับลำเอาครั้งที่ 8 นี่แหละต้องกลับไปเป็นการประกวดนวนิยาย (Fiction)…”

เสียงคนพูดฟังดูเศร้าๆ และยังตั้งคำถามเอากับคนฟัง “รู้ไหม เพราะอะไร?…”

เมื่อคนฟังไม่ตอบ คนถามเลยตอบเสียเอง “…ก็เพราะ หนึ่ง-ต้นฉบับเริ่มส่งน้อยลงเรื่อยๆ สอง-งานเขียนที่ส่งเข้ามา คนเลียนแบบสไตล์การเขียนของเอรี่ (เรื่องที่ได้รางวัลชมนาด ครั้งที่ 2) แล้วต้นฉบับที่ส่งมามีแต่อัตชีวประวัติทุกข์ระทม ขมขื่น ต่อสู้ชีวิตกันหมด เลยตัดสินใจกลับมาเป็นประกวดนวนิยาย ซึ่งแนวโน้มดีทีเดียว มีต้นฉบับส่งเข้ามาเยอะมาก…”

อาทรบอกว่ารางวัลชมนาดไม่เหมือนรางวัลใดๆ และไม่มีใครเหมือน คือเรื่องของกฎ กติกา กระบวนการพิจารณาต้นฉบับที่ส่งเข้าประกวด

เริ่มตั้งแต่ตัวต้นฉบับ เรื่องที่ส่งประกวดต้องเป็นต้นฉบับที่ยังไม่ผ่านการตีพิมพ์ ต่อมาคือคณะกรรมการผู้พิจารณา จะไม่มีการเปิดเผยรายชื่อไม่ว่าชุดรอบคัดเลือกและชุดรอบตัดสิน ขณะเดียวกันคณะกรรมการจะได้อ่านต้นฉบับที่ไม่บอกชื่อของผู้เขียน สาเหตุที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อความโปร่งใสและกันข้อครหา ป้องกันการล็อบบี้ และอคติระหว่างกรรมการและผู้เขียน รักคนโน้นชังคนนี้

และในการคัดเลือกตัวคณะกรรมการนั้น ต้องดูโปรไฟล์ว่ามีความรู้ความสามารถในงานเขียนด้านนั้นๆ มีความเป็น Social Judgment ไม่ได้เป็นระบบโควต้าเหมือนที่อื่นที่เป็นโดยตำแหน่ง หรือเป็นนายกสมาคม ซึ่งที่ผ่านมาได้รับคำชมเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าเป็นสิ่งที่ดี ทำได้ดีมาก และกรรมการเองก็ต้องเป็นน้ำดี เอ่ยชื่อมาแล้วไม่ยี้

ข้อเด่นสำคัญอีกอันของรางวัลชมนาด เป็นเรื่องของการนำไปแปลเป็นภาษาต่างประเทศ และวางจำหน่ายในประเทศต่างๆ ซึ่งประพันธ์สาส์นเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการแปล เนื่องจากการแปลภาษาไทยเป็นอังกฤษหาคนแปลได้ยากมาก และค่าแปลแต่ละเรื่องสูงมากเช่นกัน ไม่ต่ำกว่า 200,000 บาทต่อเรื่อง ขณะที่คนที่ได้รางวัลจะเป็นผู้ได้ลิขสิทธิ์ทั้งสองภาษา และได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ไปทั่วโลก

“ที่ทำอย่างนี้เพราะผมไม่อยากให้หนังสือจบแค่ที่ประเทศไทย แต่ต้องการให้ประเทศอื่นได้อ่านด้วย จึงพยายามให้การสื่อสารกว้างไปไกลที่สุด ผมเองเป็นผู้จัดพิมพ์ มีโอกาสไปบุ๊กแฟร์ต่างประเทศบ่อยๆ ผมอาจมองไม่เหมือนคนอื่น บอกได้เลยว่าตลาดหนังสือในต่างประเทศ ไม่ได้แย่เหมือนในประเทศไทยที่คนอ่านน้อยลงมาก แต่ที่อื่นหนังสือยังเป็นสิ่งที่ถืออยู่ในมือ ไม่ว่าจะนั่งรถ นอนอาบแดดกลางสนาม หรือตามสวนสาธารณะ คนยังอ่านหนังสือ ผมพยายามเอาหนังสือเมืองไทยไปพิมพ์ขายที่มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และตอนนี้ที่เวียดนาม กล้าพูดได้เลยว่าเขาทุ่มเทการซื้องานในไทยไปแปลเป็นจำนวนมาก”

เขาบอกด้วยว่าที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มีส่วนสนับสนุนงานวรรณกรรมและโครงการนี้อย่างมาก ซึ่งถือเป็นส่วนที่ทำให้เกิดกำลังใจกับคนที่รักการเขียนหนังสือ รวมทั้งคนจัดพิมพ์ นักเขียนบางคนไม่เคยเขียนนิยายมาก่อนก็ยังสามารถทำได้ สำหรับรางวัลชมนาดในปีนี้ จัดเป็นครั้งที่ 8 แล้ว จะประกาศผลผู้ได้รางวัลในวันที่ 26 สิงหาคม 2562 ที่ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ ถนนสีลม

หากการอ่านหนังสือคือการเปิดหน้าต่างอีกบานที่ทำให้เรามองเห็นโลกกว้างมากยิ่งขึ้น จะมัวรออะไรอยู่อีก อ่านสิคะ…หยิบหนังสือที่วางใกล้ตัวขึ้นมาเปิดเลย!! ไม่แน่ว่ารางวัลชมนาดปีหน้าอาจเป็นของเรา

ภาพรวมของนวนิยายที่ส่งเข้าประกวดรางวัลชมนาด ครั้งที่ 8

จากเรื่องที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด 31 เรื่อง ภาพโดยรวมจะมี 2 ลักษณะ คือ ลักษณะแรก-เป็นงานที่ออกมารับความต้องการของตลาด เป็นวรรณกรรมกระแสหลักเหมือนกับที่มีมาทุกยุคทุกสมัย แต่มีลักษณะหลากหลายมากขึ้น มีแฟนตาซีมากขึ้น ลักษณะที่สอง-เป็นงานที่มีเจตนามุ่งในการสร้างงานศิลปะมากกว่าเนื้อหา อาจจะเป็นอัตวิสัยของผู้เขียน แต่ก็เป็นวิริยภาพของผู้เขียน ที่สามารถนำมาก่อเกิดรสนิยมใหม่ สร้างสรรค์จินตนาการใหม่ๆ ให้กับสังคม

สำหรับรายละเอียดเนื้อหาของงาน เท่าที่สังเกตได้ มีทั้งดี ที่ขาดหายไป และมากเกินไป ดังนี้

พล็อตเรื่อง–แต่ละเรื่องพล็อตเรื่องดี ขณะเดียวกันบางคนมีความรู้ความสามารถ แต่ไม่อาจเขียนออกมาได้อย่างน่าดึงดูดใจ บางคนเขียนได้น่าอ่าน แต่ข้อมูลที่นำมาใช้น้อยเกินไป บางคนข้อมูลมากเกินไป มีอะไรบอกคนอ่านหมด ไม่ชวนให้ค้นหา

แก่นของเรื่อง–มีบางคนเขียนออกมาได้ดี สะเทือนอารมณ์

วรรณศิลป์– การเขียนนวนิยาย ภาษาหรือวรรณศิลป์เป็นสิ่งสำคัญ เป็นตัวชี้บอกถึงความคิดของผู้เขียนว่ามีความแยบคาย คม ลึก ออกมาได้อย่างกลมกลืนมากน้อยแค่ไหน วรรณศิลป์จะทำให้เรื่องอ่านได้อารมณ์ อรรถรส ซึ่งจะมีเพียงไม่กี่เรื่อง บางคนก็สร้างคำขึ้นมาเอง มีวรรณศิลป์ของตัวเอง แต่ที่น่าสังเกตอย่างหนึ่ง คือ ส่วนใหญ่จะใช้ “คำดิบ” ไม่มีการปรุงแต่ง

ตัวละคร–ส่วนใหญ่เท่าที่เห็น ความเด่นชัด ความสมจริงของตัวละครจะขาดหายไป หรือยังไม่สมบูรณ์ ผู้เขียนยังไม่เข้าใจตัวละครของตัวเอง ไม่ว่าจะมีบุคลิก อุปนิสัยดีหรือไม่ดี บางเรื่องอ่านแล้วไม่เชื่อในตัวละคร และบางคนจะทิ้งตัวละครไปเลย

ความสมจริง–ที่มีเหตุผลสอดคล้องกับเนื้อเรื่อง ผสมกลมกลืนไปกับเหตุการณ์ทุกขั้นตอน เท่าที่อ่านเรื่องทั้งหมดมีทั้งความละเอียดและสิ่งที่ขาดหายไป เช่น เรื่องเกี่ยวกับท้องถิ่นหรือพีเรียด ต้องนึกถึงรายละเอียดในยุคนั้นๆ ไม่ว่าข้าวของเครื่องใช้ การแต่งกาย แม้กระทั่งถ้อยคำสนทนา ส่วนใหญ่ที่เห็นจะเป็นเกี่ยวกับฉากของเรื่อง หรือลักษณะของคำที่ใช้ในการสนทนาของตัวละคร

ทั้งหมดนี้ เป็นข้อคิดเห็นของคณะกรรมการในการพิจารณาเรื่องทั้งหมดที่ส่งเข้าประกวด ส่วนใครจะเป็นผู้ชนะได้รางวัลชมนาดครั้งที่ 8 ไปครอบครอง รับเงินรางวัล 70,000 บาท พร้อมเข็มกลัดเพชรแท้ ต้องไปติดตามกันในวันที่ 26 สิงหาคม ชั้น 20 อาคารธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ถนนสีลม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image