(กว่า) 700 ปี ถึง 2562 ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์’ ชวนเช็กอิน ‘ระยอง’ เปิดประวัติศาสตร์ บน #เส้นทางแห่งความสุข

ปากน้ำระยอง บริเวณแหลมเจริญ อ่าวระยอง พื้นที่การค้าเลียบชายฝั่ง ตั้งแต่ 2,500 ปีมาแล้ว

ราย็อง

ระยอง

Rayong

ไม่ว่าจะชื่อไหน สะกดอย่างไร ตั้งแต่วันวานจนถึงทุกวันนี้ ผืนแผ่นดินที่กลายเป็นจังหวัดสำคัญทางภาคตะวันออกของประเทศไทย เป็นที่ยอมรับถึงความร่ำรวยด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ ทั้งในเรือกสวนอันเขียวขจี มากมายด้วยผลไม้เลิศรส ทั้งในท้องทะเลสีครามสดใส มากมายด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด ทั้งในเกาะแก่งงดงาม มากมายด้วยพืชพันธุ์ หาดทรายขาวละเอียด

Advertisement

ไม่เพียงเท่านั้น หนึ่งใน ‘ภาพจำ’ ยุคหลังคือ ความรุดหน้าของอุตสาหกรรมที่นำมาซึ่งสิ่งใหม่ๆ ผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นับเป็นพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดของจังหวัดแห่งนี้

ทว่า นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว ระยองยังมีเรื่องราวมากมายบนเส้นทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมนับแต่โบราณกาล ไม่ต่ำกว่า 700 ปีมาแล้ว กระทั่งไทม์ไลน์ร่วมสมัยใน ค.ศ.2019

ขรรค์ชัย บุนปาน หัวเรือใหญ่ค่ายมติชน พร้อมด้วย สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ชื่อดัง จัดกระเป๋าเสื้อผ้าเตรียมพาแฟนๆ รายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ไปเจาะลึกถึงความเป็นมาของดินแดน ผู้คน จนถึงภาษา สุ้มเสียง สำเนียงระยองอันเป็นเอกลักษณ์ ไม่ซ้ำแบบใคร ในตอน ‘ระยอง โยงโลกกว้าง เส้นทางแห่งความสุข’ ในช่วงบ่ายวันอังคารที่ 27 สิงหาคมนี้ โดยมีเอกภัทร์ เชิดธรรมธร พิธีกร ‘มติชนทีวี’ ดำเนินรายการเช่นเคย

Advertisement
ขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทศ หน้าศาลเจ้าแม่หลักเมือง ริมแม่น้ำระยอง เตรียมเปิดประวัติศาสตร์เส้นทางแห่งความสุข อังคารที่ 27 สิงหาคมนี้

(อดีต) สองกุมาร วางแผน ‘เช็กอิน’ สถานที่หลากหลาย เพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ชวน ‘ฟิน’ ด้วย ‘สตอรี่’ ทำหัวใจเต้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวอันเกี่ยวเนื่องกับบรรพชนคนระยอง ซึ่งยุคแรกเริ่มประกอบด้วยผู้คนในวัฒนธรรมหลากหลาย ทั้งที่พูดภาษาตระกูลไท มลายู และมอญ-เขมร โดยเฉพาะชาติพันธุ์ ‘ชอง’ ผู้เป็นเจ้าของ ‘ชื่อบ้านนามเมือง’ มากมายในระยอง แม้กระทั่งชื่อจังหวัดระยอง ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า ‘ราย็อง’ ซึ่งหมายถึง ‘ไม้ประดู่’ ในภาษาชอง

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ยังหอบข้อมูลแน่นปึ้กเกี่ยวกับ ‘เจ้าแม่หลักเมือง’ อันเป็นพยานหลักฐานถึงความเชื่อดั้งเดิมของผู้คนบน ‘ฝั่งทะเลตะวันออก’ ที่นับถือ ‘ผู้หญิง’ เป็นใหญ่ หลงเหลือร่องรอยใน ‘ศาลเจ้าแม่หลักเมือง’ ริมแม่น้ำระยองในอำเภอบ้านค่าย เชื่อมโยงตำนานสำคัญเรื่อง ‘นางกาไว’ เจ้าเมืองจันทบุรี

“เมืองระยองดั้งเดิม มีพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรม อยู่สองฝั่งแม่น้ำระยอง ตั้งแต่ตอนบน จนตอนล่าง ถึงริมทะเลอ่าวระยอง หรืออ่าวแม่รำพึงโดยไม่อยู่โดดๆ แต่เกี่ยวดองกับลุ่มน้ำประแสร์ และพื้นที่ใกล้เคียง เช่น เมืองจันทบุรี, เมืองพญาเร่ และเมืองพนัสนิคม” สุจิตต์แง้มไฮไลต์ในความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์

หอไตรกลางน้ำ วัดบ้านเก่า สถาปัตย์งดงามบนความศรัทธา
อนุสาวรีย์สุนทรภู่ อำเภอแกลง อีกหนึ่งแลนด์มาร์กระยองที่ต้องเช็กอิน

นอกจากนี้ ยังมีแง่มุมน่าสนใจเกี่ยวกับ ‘เมืองระยองเดิม’ ซึ่งตั้งอยู่บนสองฝั่งแม่น้ำระยอง อ.บ้านค่าย ซึ่งมีเครือข่ายถึงลุ่มน้ำประแสร์ อ.แกลง ขยายลงไปทางปากน้ำระยอง อ.เมือง ตลอดเส้นทางเรียงรายด้วยวัดวาอารามเก่าแก่นับไม่ถ้วน อาทิ วัดบ้านค่าย, วัดบ้านเก่า, วัดราชบัลลังก์ และวัดโขดทิมทาราม ที่ในวันนี้ยังคงเป็นแหล่งหลอมรวมจิตใจของชาวบ้านดังเช่นที่เป็นมา ทั้งยังคงรักษาโบราณวัตถุสถานอันเป็นสักขีพยานแห่งพลังศรัทธา และอารยธรรมอันรุ่งโรจน์ในอดีตไว้ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ วิหาร หอไตร ใบเสมา ที่มีอายุย้อนหลังอย่างน้อยยุคปลายกรุงศรีอยุธยา

ความงดงามประณีตของตู้พระธรรมลายรดน้ำของวัดบ้านเก่าภาพ “ปลงอสุภะ” ฝีมือช่างหลวง

ไหนจะ ‘ตู้พระธรรม’ ลายรดน้ำของวัดบ้านเก่าที่มีข้อความจดจารแจ่มชัดว่าสร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช อันประณีตอ่อนช้อยด้วยฝีมือ ‘ช่างหลวง’ ปรากฏภาพน่าสนใจอย่างการ ‘ปลงอสุภะ’ เชื่อมโยงธรรมชาติของชีวิตมนุษย์ในวังวนวัฏสงสารตามหลักการแห่งพระพุทธศาสนา นับเป็นหนึ่งในโบราณวัตถุ ‘ชิ้นเอก’ ซึ่ง ผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร เปิดเผยว่า คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ค้นพบระหว่างทำการสำรวจภายใต้ ‘โครงการเส้นทางแห่งความสุข’ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ ‘GC’ และมหาวิทยาลัยศิลปากร ตามนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม มุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีแก่ชุมชน

โดยเฉพาะระยองซึ่งถือเป็นที่ตั้งฐานการผลิตหลัก โครงการดังกล่าวจึงถือกำเนิดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างแหล่งศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า อีกทั้งสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ต่อยอดองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ร่วมกัน ศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านดังกล่าวของจังหวัดระยองและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง บูรณาการความร่วมมือส่งเสริมการสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญ

ปากน้ำประแสร์ แหล่งรวบรวมทรัพยากรจากบ้านเมือง ‘ข้างใน’ สู่ดินแดน ‘ภายนอก’

เขยิบลงมาตามพัฒนาการประวัติศาสตร์ ระยองยังเปี่ยมเสน่ห์ด้วยความเป็นชุมชนเศรษฐกิจการค้าชายฝั่ง ด้านในตัวเมืองก็เติบโตมีชุมชนชาวจีนตั้งหลักแหล่งร่วมกับคนพื้นเมือง โดย ‘เจ้าเมืองคนสุดท้าย’ อยู่ในสายตระกูล ‘ยมจินดา’ ปรากฏชื่อถนนซึ่งในวันนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว พักผ่อน และเรียนรู้ นามว่า ‘ถนนยมจินดา’

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ เตรียมพาไป ‘ชิล’ อย่างมีสาระด้วยความเป็นมาลึกซึ้งทางสังคมและเศรษฐกิจ นับแต่ยุคค้าขายชายฝั่ง กระทั่งปัจจุบันเติบโตระยิบระยับด้วยท่าเรือน้ำลึก

บันทึกความทรงจำใน ‘บ้านยมจินดา’ ของตระกูลเจ้าเมืองระยองคนสุดท้าย

อีกหนึ่งประเด็นถนัดของขรรค์ชัย-สุจิตต์ คือความศักดิ์สิทธิ์อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ซึ่งมีคำอธิบายเชิงวิชาการอย่างน่าฟัง ดังเช่น ‘วังสามพญา’ ตาน้ำของชุมชนต้นทางระยอง เดิมชื่อวังน้ำเย็น เป็นแหล่ง ‘ตาน้ำ’ ตามธรรมชาติ ก่อนกลายเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ในความคิด ความเชื่อของผู้คน โดยผูกนิทานให้เกี่ยวข้องกับ ‘พระเจ้าตาก’ ว่าทรงนำช้าง 3 เชือกลงอาบน้ำพร้อมม้าศึก ส่วนรายละเอียดลึกๆ เป็นอย่างไร ต้องรอฟังจากปาก สุจิตต์-ขรรค์ชัย ในรายการคุณภาพ

วัดโขดทิมทารามกับความสวยงามแปลกตาของสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่น่าเดินทางมาเยี่ยมเยือนสักครั้ง
พิพิธภัณฑ์ปากน้ำประแส ชุมชนบ้านเก่าบนถนนสายวัฒนธรรมที่ยังมีชีวิต

นอกจากนี้ ยังพาไป ‘วัดละหารไร่’ ซึ่งดังกระฉ่อนไปไกลด้วยบารมี ‘หลวงปู่ทิม’ อิสริโก หรือพระครูภาวนาภิรัต ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่างรัชกาลที่ 5-รัชกาลที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ย้อนกลับไปไกลกว่านั้น ผู้คนในอดีตต่างรู้จัก ‘สังฆราชชื่น’ ยุคปลายแผ่นดินพระเจ้าตากจากเมืองแกลง ซึ่งมีเรื่องราวชีวิตน่าศึกษายิ่ง แน่นอนว่ามีข้อมูลมาบอกเล่าผ่านรายการครั้งนี้ด้วย

ไฮไลต์สำคัญพลาดไม่ได้ ต้องแวะไปยังปากน้ำระยอง ที่ตั้งของ ‘ศาลเจ้าแม่รำพึง’ ซึ่งเป็นหนึ่งภาพสะท้อนการดำรงอยู่ของชุมชนเศรษฐกิจการค้าโลก โดยมี ‘อ่าวไทย’ เชื่อมไทยสู่โลก และเชื่อมโลกสู่ไทย ตั้งแต่ 2,500 ปีมาแล้ว และมีพัฒนาการสืบเนื่องยาวนานต่อมาจวบจนทุกวันนี้

เป็นอีกหนึ่งตอนที่ต้องติดแฮชแท็ก #พลาดไม่ได้ ในทริป#เส้นทางแห่งความสุขนี้

 

งานศิลปะเติมเต็มสุนทรียภาพบนกำแพงที่เคยว่างเปล่าฉายภาพแห่งความสุขของผู้คน


รายการขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ตอน ‘ระยอง โยงโลกกว้าง เส้นทางแห่งความสุข’
รับชมผ่านเพจเฟซบุ๊ก ‘มติชนออนไลน์’, ข่าวสด, ศิลปวัฒนธรรม และยูทูบมติชนทีวี
ในวันอังคารที่ 27 สิงหาคมนี้ เวลา 14.00 น.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image