‘สักสี สักศรี’ เปิดตัวตนสุดอันซีน ผ่านรอยสัก 2 กลุ่มชาติพันธุ์ในไต้หวัน

หลายปีที่ผ่านมา “ไต้หวัน” ถือเป็นเมืองที่น่าสนใจในมิติด้านการท่องเที่ยวอย่างมาก ด้วยสภาพภูมิอากาศ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์ และทักษะภาษาอังกฤษของพลเมืองในไต้หวันที่เอื้อต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ อีกทั้งค่าครองชีพไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับหลายประเทศ กอปรกับมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไต้หวันที่คนไทยไม่มีวีซ่าก็ไปได้ ทำให้คนไทยตัดสินใจไปเที่ยวไต้หวันได้ไม่ยากนัก กระทั่งเกิดเป็นกระแส “ไต้หวันเลิฟเวอร์” จนเว็บไซต์และเพจมุ่งแชร์เส้นทางท่องเที่ยว รีวิวที่พักและร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านชานมไข่มุกต้นตำหรับที่ต้องไปลอง ก็ยิ่งสะท้อนความนิยมของคนไทยที่มีต่อมหานครแห่งนี้

ในอีกมุมหนึ่ง ไต้หวันยังถือเป็นเมืองที่มีเรื่องราวทางวัฒนธรรมอันแฝงเร้นด้วยร่องรอยทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเรื่องความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อายุเก่าแก่และโดดเด่นมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก วิถีผู้คนกลุ่มแรกของไต้หวันเปรียบเสมือนแม่กุญแจที่ยังรอคอยผู้ไปเยือนเพื่อไขเรื่องราวสุดอันซีน

แต่ก่อนจะตามรอยชานมไข่มุก หรือประวัติศาสตร์ถึงประเทศต้นทาง ขอแนะนำให้ไปชมนิทรรศการ “สักสี สักศรี” ที่ “มิวเซียมสยาม” ก่อน เพราะจะได้รู้จักกับไต้หวันในมุมมองที่ลึกซึ้ง ผ่าน “ลายสักของกลุ่มชาติพันธุ์” ที่บันทึกเรื่องราวเชิงวัฒนธรรมและความเป็นมาของไต้หวันไว้อย่างน่าสนใจชนิดที่ยังไม่เคยมีเว็บไซต์หรือหนังสือนำเที่ยวเล่มไหนเขียนรีวิวมาก่อน

นิทรรศการ “สักสี สักศรี Tattoo COLOR Tattoo HONOR” เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม), พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไต้หวัน และสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “ก่อนรอยแห่งเกียรติจะลบเลือน” รวบรวมศิลปะการสักลายบนเรือนร่างของกลุ่มชาติพันธุ์ในไต้หวัน จาก 2 หมู่บ้าน คือ ชาวไท่หย่า และ ชาวไผวัน กับลายสักที่แฝงด้วยความหมายอันลึกซึ้ง ถึงความกล้าหาญ เกียรติยศ และคติความเชื่อ ถึงขั้นที่ ราเมศ พรหมเย็น ผอ.มิวเซียมสยาม ยืนยันว่า “นิทรรศการชุดนี้จะต้องโดนใจ “แทททูเลิฟเวอร์” อย่างแน่นอน

Advertisement

เปิดจารึกกลุ่มชาติพันธุ์อันเก่าแก่

วัฒนธรรมการสักหน้า ของชาวไท่หย่า

ก่อนที่ไต้หวันจะรายล้อมด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย ก่อนจะกลายเป็นมหานครที่เจริญรุ่งเรือง ในอดีตพื้นที่ทางตอนเหนือของไต้หวันเคยเป็นที่อยู่อาศัยของ “ชาวไท่หย่า” กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีขนบธรรมเนียมเกี่ยวกับการสักลายบริเวณหน้าของสตรีและบุรุษ เพื่อสะท้อนถึงบทบาทและตัวตนในเผ่าของตนเอง

โดยการสักหน้าของผู้ชาย หมายความถึงการเป็น ชายชาตินักรบ ความแข็งแกร่ง และความกล้าหาญ ซึ่งต้องพิสูจน์ตนเองด้วยความสามารถในการล่าสัตว์และการรบ ส่วนการสักหน้าของผู้หญิง บ่งชี้ว่าคือ สตรีที่มีความสามารถชั้นสูงในการถักทอ และปลูกพืช มีความขยันและอดทนจนได้รับการยอมรับจากคนในเผ่า

การสักที่ใบหน้ายังเชื่อมโยงกับคติความเชื่อเรื่อง “เส้นทางหลังความตาย” ผู้ที่ได้รับการสักจะสามารถข้ามสะพานแห่งสายรุ้งได้หลังจากเสียชีวิต และได้ไปพบกับบรรพบุรุษ

Advertisement

น่าเสียดายที่ปัจจุบันการสักหน้าของชาวไท่หย่าไม่ได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ และกำลังเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ที่กำลังจะถูกลบเลือน

ตัวตนและเกียรติยศ

สะท้อนผ่านวัฒนธรรมการสักมือและร่างกายของชาวไผวัน

อีกกลุ่มชาติพันธุ์เก่าแก่ทางตอนใต้ของไต้หวัน อย่าง “ชาวไผวัน” ก็ใช้วัฒนธรรมการสักลายในลักษณะบันทึกเรื่องราวของเผ่า ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ

โดยชาวไผวันเชื่อว่า การสักที่มือและร่างกายเป็นวัฒนธรรมที่ให้ความหมายในเชิงสัญลักษณ์ ระบุถึงเกียรติยศ ศักดินา สถานะทางสังคม และความรับผิดชอบ โดยบุรุษจะสักบริเวณส่วนบนของลำตัว เช่น หน้าอก หลัง และแขน ส่วนสตรีจะสักบริเวณหลังมือ รอยสักของชาวไผวันจึงถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญกับเผ่า เพราะจะเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่บนร่างกายไปตลอดชีวิต เหมือนกับการมีลวดลายบนเสื้อผ้า หรืองานแกะสลัก ที่สะท้อนสถานะทางสังคม ตำแหน่ง บทบาทของแต่ละคน แต่จำกัดให้สักได้เฉพาะผู้ที่เป็นหัวหน้าเผ่าและสมาชิกในครอบครัวหัวหน้าเผ่าเท่านั้น นั่นหมายถึงผู้ที่มีสถานะเป็นบุคคลชั้นสูงในเผ่าจึงจะสามารถสักลายพิเศษนี้ได้ และหากผู้ใดที่สักลายโดยไม่ได้รับอนุญาตจะต้องถูกลงโทษโดยไม่ได้รับการยอมรับจากคนในเผ่า และอาจถูกกีดกันจากเผ่าในที่สุด

แม้ปัจจุบันลายสักของทั้ง 2 เผ่า กำลังจะกลายเป็นเพียงอดีตในหน้าประวัติศาสตร์ของไต้หวัน แต่นิทรรศการ “สักสี สักศรี” ได้รวบรวมเอาไว้ให้ศึกษาก่อนที่ล      ายสักของ 2 เผ่านี้จะถูกลบเลือน ถือเป็นการรวบรวมมรดกทางวัฒนธรรมที่เก่าแก่และทรงคุณค่าผ่านรอยสักที่สมบูรณ์แบบที่สุดครั้งหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะได้เห็นลายสักหายากของ 2 กลุ่มชาติพันธุ์เก่าแก่ของไต้หวันแล้ว ยังมีวัฒนธรรมการสักพุงดำ ขาลาย ตามคติความเชื่อของชาวล้านนาของไทยมาให้ชมกันอีกด้วย

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้ที่มิวเซียมสยาม ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2562 ไม่เสียค่าใช้จ่าย เดินทางง่ายๆ ด้วย MRT สถานีสนามไชย (ทางออกประตู 1) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่เฟซบุ๊ก Museum Siam

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image