เสียงเพรียก ‘สันติภาพ’ จากชายแดนใต้ เหตุรุนแรงลด ความขัดแย้งไม่คลี่คลาย?

เหตุระเบิดตู้เอทีเอ็มธนาคารอิสลาม หน้ามหาวิทยาลัยฟาฏอนี จ.ปัตตานี ช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่คาดว่าเป็นฝีมือกลุ่มแนวร่วมที่ต้องการแสดงศักยภาพ สร้างสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่

เหตุการณ์ลอบวางระเบิดหลายจุดในกรุงเทพมหานครช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2562 สร้างความหวาดกลัวให้ผู้คนไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อมีการจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยซึ่งมาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวในงานเสวนาโต๊ะกลมหัวข้อ “สันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ (จชต.) : โอกาสการขยายตัวของความรุนแรงและบทบาทคนนอก” ชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดระเบิดจริงหรือมีเชื้อจริงหรือไม่ ทว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้มักเกิดในช่วงสถานการณ์เปลี่ยนผ่าน แม้ว่าผู้กระทำจะไม่ประสงค์ถึงชีวิต แต่เป็นการสื่อว่าเขาพร้อมก่อความรุนแรงแล้ว

ทั้งนี้ ความรุนแรงดังกล่าว หากทำต่อไปอาจมีผลมหาศาลต่อสังคมไทย อีกทั้งยังเป็นการสื่อสารกับสังคมไทยและโลกให้รู้ว่ามีคนพร้อมจะทำเรื่องเหล่านี้ได้ นี่เป็นเพียงการเตือนเท่านั้น

“ครั้งนี้ค่อนข้างโยงชัดเจนถึงคนทำว่าน่าจะมาจากผลพวงความรุนแรงชายแดนภาคใต้ สิ่งที่คนทำขึ้นมาจากเรื่องนี้ชัดเจนว่าเป็นการสร้างสถานการณ์แน่นอน คนสร้างสถานการณ์จะได้ผลเมื่อสถานการณ์ที่เขาสร้างได้รับการยอมรับ แต่ถ้าสถานการณ์เหล่านี้ไม่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เหตุการณ์เหล่านี้ก็จะไม่เกิด แต่ถ้ามีการขานรับ เรื่องเหล่านี้อาจเกิดขึ้นอีกเพื่อจุดประสงค์บางอย่างในอนาคตต่อไป” ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเน้นย้ำ

Advertisement

เหตุรุนแรงลด ความขัดแย้งไม่คลี่คลาย?

งานวันนั้น รอมฎอน ปันจอร์ แห่งศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) เตรียมข้อมูลไว้มากมาย เขาเริ่มด้วยข้อเท็จจริงที่เอกสารทางการไทย หลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปี 2557 ใช้คำในภาษาอังกฤษว่า Harmony / Happiness แทนความหมายถึง “สันติสุข” ภายหลังได้กลับมาใช้ Peace ดังเดิม

นอกจากนี้ ในชื่องานเสวนาดังกล่าวยังมีอีกหนึ่งคำสำคัญที่หายไปคือ ความขัดแย้ง หรือ Conflict ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศเองก็หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า Conflict ในเอกสารราชการ อีกทั้งราวปี 2552 นโยบายหรือคำสั่งต่างๆ ของกองทัพบกได้เปลี่ยนคำสำคัญหลายคำ เช่น การก่อความไม่สงบ เป็น การก่อความรุนแรง ผู้ก่อความไม่สงบ เป็น ผู้ก่อเหตุรุนแรง

“การซีเรียสเรื่องถ้อยคำเหล่านี้เป็นเรื่องน่าสนใจ ทำให้เรามองไม่เห็นความขัดแย้ง เห็นแต่ความรุนแรง ซึ่งความรุนแรงในสถานการณ์ไม่ว่าจะอยู่ในฐานข้อมูลไหนลดลงก็จริง อย่าลืมว่าความขัดแย้งไม่คลี่คลาย ไม่ได้ถูกเปลี่ยนผ่าน มันยังอยู่ และนั่นเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะเกิดความเป็นไปได้ของความบานปลายและขยายตัว แต่สิ่งที่รัฐบาลทำในเวลาที่ผ่านมาคือ ‘บัง’ ไม่ให้เรามองเห็นความขัดแย้งนี้ แม้แต่ ‘ถ้อยคำ’ ก็ไม่ให้เห็น” รอมฎอนกล่าว

Advertisement
เหตุการณ์ลอบวางระเบิดในหลายพื้นที่ กทม.เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา

เขายังกล่าวถึงบทความ “อัลกอริทึมของความแปรปรวนในความรุนแรง 15 ปี ชายแดนใต้/ปาตานี” ของ “ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี” สามารถแบ่งช่วงจำนวนเหตุการณ์และผู้บาดเจ็บล้มตายในพื้นที่ 3 จังหวัด 4 อำเภอชายแดนใต้ตลอด 15 ปี ได้เป็น 3 ช่วง ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตส่วนใหญ่คือพลเรือน โดยเฉพาะเมื่อย้อนดูสาเหตุของเหตุการณ์จากหน้าสื่อและข้อมูลของเจ้าหน้าที่พบว่าส่วนใหญ่มาจากเหตุแบ่งแยกดินแดน ที่น่าสนใจคือมีเหตุการณ์ที่ไม่รู้สาเหตุชัดเจนเพิ่มมากขึ้น โดยแนวโน้มเหตุการณ์ความไม่สงบตลอด 15 ปีลดลง แต่ช่วง 2 ปีครึ่งล่าสุดนี้มีเหตุการณ์สูงขึ้น ซึ่งยังไม่สามารถอธิบายได้ เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่าง

“แผนงานบูรณาการการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งครีเอตขึ้นมาในช่วงรัฐบาล คสช.ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 จนถึงปัจจุบัน และตอนนี้กำลังเริ่มร่างปี 2563 จะเห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลสนใจคือความรุนแรง ตัวชี้วัดคือเหตุการณ์ความรุนแรงของปีนั้นๆ ต้องลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง 30 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ปี 2560 น้อยลง 57 เปอร์เซ็นต์ ปี 2561 ลดลง 48 เปอร์เซ็นต์ กล่าวคือรัฐบาลทำสำเร็จ บรรลุผล แต่ความขัดแย้งยังไม่ได้รับการคลี่คลาย รัฐบาลไทยพยายามเลี่ยงไม่ให้เห็นนัยทางการเมืองในนั้น

“การขยายตัวของความรุนแรงตลอด 15 ปี มีคนจากต่างพื้นที่ไปล้มตายในพื้นที่เยอะ สูญเสียงบประมาณกว่า 3 แสนล้านบาท ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยพุทธและมุสลิมในภูมิภาคอื่นๆ เริ่มมีความตึงเครียด จากงานศึกษาบ่งชี้ว่าการต่อต้านมุสลิมในพื้นที่อื่นๆ มีผลมาจากการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ในชายแดนใต้ แต่การจัดการความขัดแย้งยังไม่บรรลุผล พื้นที่ทางการเมืองของเสียงที่ต้องการเอกราชของปาตานียังไม่ได้ยินและมีความเสี่ยงสูงที่จะขยายตัว” เขากล่าวด้วยความกังวล

ยิ่งควบคุม ยิ่งต้องเปิดพื้นที่

อย่างไรก็ดี จากการศึกษา 2-3 ปีที่ผ่านมา รอมฎอนพบว่า รัฐบาล คสช.เปลี่ยนวิธีรับมือปัญหาชายแดนใต้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยพิจารณาจากแผนแม่บทความมั่นคงที่ล้อไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนบูรณาการที่กำลังร่าง พบว่าแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังนโยบายรัฐบาลประยุทธ์ 1 หรือ 2 เริ่มชัดเจนว่าหวนกลับมาสู่แนวทางที่ป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบมากขึ้น เน้นไปที่การพัฒนา ลดความรุนแรง ทำลายโครงสร้างขององค์กรปฏิวัติบีอาร์เอ็นอย่างชัดเจน

อีกทั้งสิ่งที่รัฐบาลไทยกังวลตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมาและยังไม่สามารถบรรลุได้คือ สายพานการผลิตนักรบรุ่นใหม่หรือคนที่มีใจสนับสนุนองค์กรปฏิวัติ รวมทั้งพยายามสร้างความร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ และองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อไม่ให้เขาเหล่านี้เป็นอันตรายกับหน่วยงานรัฐไทย

จากซ้าย พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ดำเนินรายการ, ลม้าย มานะการ, อัญชนา หีมมีนะห์, รอมฎอน ปันจอร์ และพระมหานภันต์ สันติภัทโท

“ตอนนี้เรากำลังเคลื่อนตัวสู่สถานการณ์ที่ตรรกะของรัฐบาลเน้นการควบคุม ทั้งกิจกรรมต่างๆ ควบคุมการเคลื่อนตัวขององค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อให้อยู่ในทิศทางที่ไม่เป็นอันตราย ทั้งนี้ บีอาร์เอ็นคือองค์กรที่แข็งแกร่งที่สุด เป็นคู่ตรงข้ามที่ฝ่ายรัฐบาลต้องการวางตัวพูดคุยมากที่สุด ตอนนี้พวกเขาอยู่ในช่วงปรับตัวบางอย่าง แต่พวกเขามีขีดความสามารถในทางการเมืองที่จำกัดมาก และนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งหยุดชะงัก ติดอยู่ในภาวะที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน หากพวกเขามีขีดความสามารถที่ดีกว่านี้ เราจะได้ยินเสียงของเขามากกว่าระเบิดและปฏิบัติการทางทหารและสามารถขยายพื้นที่ทางการเมืองได้มากกว่านี้” รอมฎอนกล่าว

ขณะเดียวกันเขายังมองว่า เดิมพันของรัฐบาล คสช.เริ่มสูงมากขึ้น เนื่องจากคุมอำนาจรัฐบาลเข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว ดังนั้น หากไม่สามารถแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ได้ เกียรติภูมิของรัฐบาลและทหารไทยจะมีปัญหา ส่วนเดิมพันของฝ่ายบีอาร์เอ็นคือจะรักษาการต่อสู้ขององค์กรตัวเองอย่างไร? เชื่อว่ายิ่งมีการควบคุม ยิ่งต้องเปิดพื้นที่ เปิดเสรีภาพในการเข้าใจความขัดแย้ง

“และเรียนรู้ว่าเราสามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยวิธีการแบบอื่น โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การควบคุมโดยรัฐบาลและบีอาร์เอ็น” รอมฎอนยืนยัน

เปิดช่อง ‘คนใน’ แนะ ‘คนนอก’ ช่วยจับตา หวัง ‘คุยสันติภาพ’ จริงจัง

ด้าน อัญชนา หีมมีนะห์ นักสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มด้วยใจ ร่วมเปิดเผยแนวโน้มสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่ช่วงปี 2547-2561 พบว่ามีแนวโน้มลดลง สัดส่วนการบาดเจ็บล้มตายของเพศหญิงและเด็กมีจำนวนน้อยกว่า เนื่องด้วยการรณรงค์ปกป้องคุ้มครองเด็กและสตรี ทว่ากลับสะท้อนภาพการใช้ความรุนแรงในรูปแบบอื่น เช่น เด็กถูกเก็บดีเอ็นเออย่างต่อเนื่อง มีการถ่ายภาพ จับกุม ตรวจสอบสถานศึกษา รวมทั้งเด็กถูกควบคุมตัว ดำเนินคดี

เหตุที่ไม่สามารถยุติความรุนแรงได้ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา อัญชนาตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเพราะความยืดเยื้อเรื้อรังและไม่มีการจัดการกับปัญหาดังกล่าว สามารถพบการจัดการ

ปัญหาโดย “ทหาร” ใช้ความรุนแรงตอบโต้ปฏิบัติการต่างๆ เช่น ปิดล้อมตรวจค้นจับกุมแบบเหมารวม มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน แม้ว่าในแถลงการณ์หรือแถลงข่าวของเจ้าหน้าที่จะขึ้นต้นด้วยคำว่า “เคารพในหลักสิทธิมนุษยชน” แต่ความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น

“เป็นความสะเทือนใจที่เราไม่สามารถปกป้องเด็กให้ยุติการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ได้ เด็กเหล่านี้โตมากับการที่พ่อแม่พี่น้องถูกควบคุมตัว ถูกปืนจี้เวลาปิดล้อมตรวจค้น ไม่ว่าจะเป็นเด็กผู้หญิงหรือผู้ชาย เขาถูกบอกเล่าเรื่องการซ้อมทรมาน เหล่านี้ทำให้เรามองเห็นว่าความรุนแรงที่ขยายมาถึงกรุงเทพฯเป็นผลมาจากการขยายตัวความรุนแรงในพื้นที่ที่เราถูกปิดกั้นด้วยหมอกของมายาคติเรื่องการใช้ความรุนแรงฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ฉะนั้น จึงไม่ขอให้รัฐเป็นผู้สร้างสันติภาพเพียงอย่างเดียว แต่ขอให้ทุกคนได้ฟังและติดตามปัญหาการละเมิดสิทธิร่วมกัน” อัญชนาระบุ

เธอกล่าวอีกว่า อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง เจ้าหน้าที่ได้นำตัวไปสอบสวนที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ก่อนจะหมดสติและเสียชีวิตที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ในเวลาต่อมา คือปัญหาหนึ่งจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ดังนั้น หากทุกคนร่วมกันมีแอ๊กชั่นต่อการละเมิดสิทธิก็จะช่วยควบคุมการใช้อำนาจเกินขอบเขตได้ กรณีการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทุก 3 เดือน ซึ่งรัฐเป็นผู้ออกแบบตัวชี้วัด จะทำอย่างไรให้ประชาชนที่ถูกบังคับใช้กฎหมายพิเศษมีโอกาสออกแบบและสร้างตัวชี้วัดได้เอง เพื่อบอกว่าพื้นที่ของตัวเองต้องการหรือไม่ต้องการให้มีการใช้กฎหมายพิเศษ ขณะที่สิ่งที่น่ากังวลใจที่ทำให้ขยายตัวคือการปิดล้อมตรวจค้นแบบเหมารวม ทั้งในหมู่บ้าน สวนยางพารา โดนเฉพาะการตรวจหอพักหญิงในยามวิกาล

“ขอสนับสนุนการเจรจาการสันติภาพให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังและรวดเร็ว เพื่อป้องกันปัญหาที่ยืดเยื้อ เรื้อรัง และไม่สามารถยุติได้” อัญชนาย้ำ

ประชาชนร่วมละหมาดศพ ‘อับดุลเลาะ’ ก่อนทำพิธีฝังที่กุโบร์บังบาเดาะ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี

ความรุนแรงจบได้ด้วย ‘สันติวิธี’

ลม้าย มานะการ ผู้ประสานงานศูนย์อาสาสมัครเพื่อประชาชนจังหวัดชายแดนใต้ ให้ข้อมูลว่า ราวปี 2534-2535 ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนค่อนข้างเงียบเหงา พี่น้องชาวพุทธเข้าถึงสิทธิประโยชน์ได้มากกว่า เนื่องจากชาวมุสลิมมีข้อจำกัดเรื่องการใช้ภาษา ความขัดแย้งในช่วงดังกล่าวมีการอุ้มครูหายไปจากพื้นที่บ้าง แต่ข่าวสารก็น้อยเกินกว่าที่คนส่วนมากจะรับรู้กัน

พ.ศ.2540 เศรษฐกิจมีปัญหา คนเริ่มกลับมาอยู่ในพื้นที่ ภาคประชาสังคมเริ่มรู้จักกันมากขึ้น ส่งผลให้ช่วงปี 2540-2545 ทั้งสามจังหวัดชายแดนใต้รู้จักกันหมด “ปัตตานี” เป็นเมืองหลวงของสามจังหวัดเพราะเป็นศูนย์กลางเกือบทุกเรื่อง ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันกระทั่งเกิดเหตุการณ์ “มัสยิดกรือเซะ” เมษายน 2547 คนที่เคยทำงานตรงกลางหายไปจากระบบ

ลม้ายกล่าวว่า ปี 2554 มีการรวมตัวกันเป็นสภาประชาสังคมชายแดนใต้จัดทำข้อเสนอเพื่อทำให้เห็นว่าข้อเรียกร้องของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ กระทั่งไม่กี่ปีต่อมาเกิดการพูดคุยสันติภาพขึ้น พร้อมดึงภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วม ทั้งนี้ มีการเสนอเรื่องหากจะมีการกระจายอำนาจหรือจะให้การแก้ปัญหาสำเร็จ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหาร แต่ยังระบุเรื่องการไม่แบ่งแยกดินแดนเช่นเดิม จึงเป็นช่วงที่คนได้ทำงานร่วมกันมากขึ้น

“ต่อมามีเหตุการณ์ที่ประชาสังคมที่จัดตั้งเองก็ไม่พอใจกับประชาสังคมที่รัฐจัดตั้ง สมาพันธ์ชาวพุทธที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นการทำงานร่วมกันของชาวพุทธ แต่ก็ถูกแยก แยกกินอยู่ ใช้ชีวิต คนไทยพุทธก็ไม่พอใจกับการใช้คำว่าปาตานีเพราะมองว่ามันเป็นอดีตไปแล้ว อย่างไรก็ดี เราพบว่าเหตุการณ์ลอบวางระเบิดในกรุงเทพฯมี 2 คนเป็นลูกหลานของเหตุการณ์ตากใบ นี่คือตัวบ่มเพาะความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กในวันนั้น เงื่อนไขความรุนแรงที่เกิดขึ้นต้องจบ อยากให้คุยเรื่องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างสร้างสรรค์ สู้กันด้วยสันติวิธีต่อไป อย่าใช้การยิงหรือฆ่ากัน” ลม้ายกล่าว

ปิดท้ายที่ พระมหานภันต์ สันติภัทโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศวรมหาวิหาร ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ (สกพ.) ซึ่งมองว่า การใช้คำว่า คนนอก ต้องแยกหลายระดับ เพราะตัวเองก็เป็นคนนอกพื้นที่ ไม่ได้เกิดและโตตรงนั้น ฉะนั้น ในกระบวนการสร้างสันติภาพจึงอยากให้ทุกคน ไม่ว่านับถือศาสนาใดหรืออยู่ตรงไหนก็มีส่วนร่วมในการสร้างสันติได้ อย่างน้อยก็เริ่มที่ ใจ ของตัวเอง ทั้งนี้ การลงมือจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกตัวเอง แม้จะอยากให้สันติสุขเกิดขึ้น แต่ถ้าไม่เอาหลักศาสนา ไม่เอาหลักการพิจารณามาสร้างสันติให้เกิดกับใจเราก่อน สุดท้ายไม่ว่าจะเคลมว่าศาสนาเราเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน หรือเคลมว่าในนามศาสนาแห่งสันติ แต่ถ้าไม่เอามาใช้เลยก็เกิดความรุนแรงได้

เมื่อขึ้นชื่อว่า “ความรุนแรง” จึงน่าจะแก้ไขอย่างรวดเร็ว ทว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกฝ่ายจะเปิดพื้นที่พูดคุยคลี่คลายด้วยสันติวิธี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image