‘ชมนาด’ ครั้งที่ 8 ไร้ผู้ครองรางวัล เดินหน้าพัฒนานักเขียนหญิง

"ฉันคือเอรี่" และ "รอยวสันต์" ส่วนหนึ่งของหนังสือรางวัล "ชมนาด" ที่ได้รับการตีพิมพ์ 2 ภาษา

ในยุคที่หลายวงการต่างสนทนากันถึงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ มีโครงการหนึ่งที่ให้ค่าหันมาสนับสนุนสตรีในแวดวงนักเขียนไทยหลายปีก่อนหน้าที่การรับรู้ในสังคมจะแพร่หลาย

ชมนาด โดยธนาคารกรุงเทพร่วมกับสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น คือนามของเวทีส่งเสริมวรรณกรรมยอดเยี่ยมจากปลายปากกาสตรีไทยให้เป็นที่ยอมรับและเผยแพร่สู่สากลมายาวนานถึง 8 ปี ซึ่งหากเปรียบเทียบกับอายุคน ถือได้ว่ามีประสบการณ์มากพอตัว

“วงการนักเขียนและศิลปินมีการเปลี่ยนแปลงสูง เนื่องจากสื่อสมัยใหม่ทำให้ความสนใจและการติดตามของคนมีทิศทางเปลี่ยนแปลงมากขึ้น สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นและรางวัลชมนาดได้ผลักดันเรื่องแนวคิดการเขียนซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายให้ฝังรากลงไปในสังคมไทยและยังยั่งยืนอยู่ได้ เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมและควรสนับสนุนให้เกิดขึ้นในยุคสมัยใหม่ที่คนเสพสื่อเร็ว ตัดสินใจอะไรเร็ว จึงต้องช่วยกันทำให้รากเหง้าความเป็นไทย ความพิถีพิถันและความละเอียดอ่อนในการรังสรรค์งานเขียนได้สืบเนื่องต่อไป” คำกล่าวของ ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการบริหารและผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เผยความรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมกับรางวัลชมนาด จากการได้เห็นพัฒนาการและความน่าสนใจอันหลากหลาย

เมื่อบ่ายสองของวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา บรรดานักเขียนที่ส่งผลงานเดินทางมาร่วมลุ้นผลประกาศรางวัลชมนาดครั้งที่ 8 ประเภทนวนิยาย ที่ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ อย่างใจจดจ่อ ท่ามกลางสื่อมวลชนหลายค่ายรายล้อม เพราะความพิเศษของรางวัลนี้คือผลงานที่ชนะเลิศจะได้รับการตีพิมพ์ถึง 2 ภาษา ทั้งไทยและอังกฤษ นั่นหมายความว่าผลงานจะไม่เพียงเป็นที่รู้จักในไทย แต่ยังจะเดินทางไปประจักษ์แก่สายตาชาวโลก

Advertisement

จึงเป็นที่มาของเวทีเสวนา “ชมนาด สั่งสมประสบการณ์ ก้าวไกลในต่างแดน สู่ผู้อ่าน” โดยแต่ละท่านที่ร่วมพูดคุยล้วนมีอดีตร่วมกับเวทีชมนาดมาก่อนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง เจ้าของรางวัลชมนาดครั้งที่ 1 กับผลงานเรื่อง “รอยวสันต์” ธนัดดา สว่างเดือน เจ้าของผลงานรางวัลชมนาดครั้งที่ 2 “ฉันคือเอรี่” และครั้งที่ 5 “ขังหญิง” ไปจนถึง แพทย์หญิง สุดานี บูรณเบญจเสถียร ผู้ครองรางวัลครั้งที่ 4 “เขาตราหน้าว่าหมอฆ่าคน” โดยมี อาทร เตชะธาดา กรรมการผู้จัดการสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น รับบทพิธีกรกิตติมศักดิ์ เป็นผู้เริ่มเปิดถึงการนำวรรณกรรมไทยไปเผยเเพร่ในต่างประเทศ

ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์


“สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นมีการจัดโรดโชว์นำผลงานไปจัดเเสดงในต่างเเดนทุกปี สิ่งที่สำนักพิมพ์ต้องทำคือการเข้าไปหาผู้อ่านว่าต้องการอะไร เเต่ยังคงมีอุปสรรคในการเเปลภาษา ซึ่งจะต้องมีทักษะใช้ภาษาขั้นดีเลิศ ทั้งผู้เขียนเเละผู้เเปล แต่การหาคนเเปลที่มีทักษะตรงใจกับนักเขียนนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะคนเขียนกับคนเเปลจะต้องสื่อถึงกัน ชื่นชอบวรรณกรรมประเภทเดียวกันเป็นทุนเดิม จึงจะทำให้เข้าใจบริบท อารมณ์เเละนัยยะที่ซ่อนอยู่ ซึ่งจะทำงานไปด้วยกันอย่างราบรื่น สุขทุกฝ่าย ทั้งผู้เขียน ผู้เเปล เเละกองบรรณาธิการ”

ด้าน ยุวดี กล่าวถึงต้นฉบับ “รอยวสันต์” รางวัลชมนาดครั้งที่ 1 ว่า ทางคุณอาทรได้ไปหาคนแปล ก็สงสัยว่าทำไมนักเขียนถึงซีเรียสเรื่องนักแปล ทำไมต้องเลือกว่าจะเอาหรือไม่เอาคนไหน พอมาเจอกับตัวถึงรู้ สุดท้ายเอาไปให้คุณบัญชา สุวรรณานนท์ หรือเต้ย ซึ่งเป็นนักแปลระดับโลก และบังเอิญเป็นเพื่อนกันด้วย ก็แปลกันแบบถามคำต่อคำ

Advertisement

“หนังสือ ถ้าจะแปล มีความจำเป็นที่คนแปลและคนเขียนจะต้องคุยกัน คนแปลนอกจากจะต้องมีความรู้ภาษาอังกฤษแล้ว ยังต้องมีความรู้ภาษาไทยในระดับดี คนเขียนเองก็ต้องมีความรู้ว่าที่แปลมาใช่หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่ทั้งคนเขียนและคนแปลต้องมีความรู้ในระดับที่คุยกันได้”

ในมุมคุณหมอเจ้าของนามปากกา “อู๋ฮุ่ยเซียง” สุดานี บูรณเบญจเสถียร หรือหมอเซียง เปิดเผยว่า ตนไม่ใช่นักเขียน แต่เป็นหมอแท้ๆ ซึ่งกว่าจะเขียน “เขาตราหน้าว่าหมอฆ่าคน” ได้ ใช้เวลาถึง 2 ปี เพราะไม่ได้เรื่องภาษา แต่จะต้องเขียนจากภาษาแพทย์มาเป็นภาษาที่ทุกคนเข้าใจ และต้องรอแปลเป็นภาษาอังกฤษอยู่นาน แต่ก็เข้าใจถึงความละเมียด

“การทำหนังสือไม่เหมือนสื่ออื่น หนังสือมีความละเมียดของมัน และเล่มนี้มีเรื่องแพทย์ กฎหมาย และอารมณ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้ ซึ่งเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา แต่เหตุผลที่เขียนเพราะต้องการให้ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้กลับมาดีต่อกัน ปัญหาเช่นนี้เป็นได้ทั่วโลก ‘เขาตราหน้าว่าหมอฆ่าคน’ เป็นฉบับแรกของหนังสือประเภทนี้ ซึ่งจะสามารถเยียวยาคนได้ทั่วโลก เซียงหวังอย่างนั้น”

สิ้นเสียงประกาศ รางวัลชมนาดไร้ผู้ครอง

ด้าน นรีภพ จิระโพธิรัตน์ ในฐานะประธานกรรมการรอบคัดเลือกรางวัลชมนาด เปิดถึงภาพรวมของนวนิยายที่ส่งเข้ามาประกวดในปีนี้ว่า ผลงานทั้ง 31 เรื่องมีความหลากหลาย แบ่งได้เป็น 9 แนว ประกอบด้วย แนวชีวิตและครอบครัวมากที่สุด มีผู้ส่งมาประกวดกว่า 10 เรื่อง มีนวนิยายแนวสังคมกว่า 10 เรื่อง และที่น่าดีใจคือปีนี้มีนวนิยายแนวโหราศาสตร์ สืบสวนสอบสวน ประวัติศาสตร์ วรรณกรรมเยาวชน วิทยาศาสตร์ รวมทั้งนวนิยายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

“เขาตราหน้าว่าหมอฆ่าคน” โดย “อู๋ฮุ่ยเซียง” รางวัล ชมนาดครั้งที่ 4 ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ


“ในภาพรวมของทั้ง 31 เรื่อง มีความเป็นนวนิยายอยู่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ คือมีครบทั้งพล็อตเรื่อง แก่นเรื่อง ตัวละคร มีการดำเนินเรื่อง บทสนทนา และการบรรยายที่น่าสนใจ ส่วนอีก 20 เปอร์เซ็นต์จะมีความเป็นสมัยใหม่ ใช้เทคนิคในการดำเนินเรื่องจนเนื้อเรื่องขาดอรรถรสไป บางเรื่องมีเพียงบทสนทนา ซึ่งบทสนทนานั้นก็จะต้องบอกได้ครบทั้งเนื้อเรื่อง ตัวละคร และเหตุการณ์ ซึ่งบางเรื่องทำได้ดีพอสมควร อีกทั้งปีนี้ยังมีนวนิยายแนวแฟนตาซี และมีกลุ่มหนึ่งที่ใช้ฉากต่างประเทศ ฉากสมมุติ รวมถึงใช้เทคโนโลยีใหม่เข้ามาผสมผสานทำให้นวนิยายมีความทันสมัยมากขึ้น ยังมีนวนิยายเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม และจำนวนหนึ่งมีแก่นเรื่องคล้ายกัน เช่น เรื่องกิเลสตัณหา ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ส่วนเรื่องแนวประวัติศาสตร์ก็มีการค้นหาข้อมูลต่างๆ มาคัดกรอง ย่อย และลดทอน ทำให้นวนิยายมีอรรถรสมากขึ้น ในขณะเดียวกันผลงานส่วนใหญ่มีโครงเรื่องที่ดี แต่เน้นเทคนิคการนำเสนอจนขาดอรรถรสและไม่น่าติดตามเท่าที่ควร นวนิยายที่ดีควรมีวรรณศิลป์หรือภาษาที่บ่งบอกถึงความคมคายของผู้เขียน จึงทำให้บางเรื่องยังไม่สมบูรณ์ บางเรื่องมีการเสนอมิติตัวละครที่ดีผ่านบทสนทนา แต่ตอนจบคลี่คลายอย่างง่ายดายหรือเฉลยก่อน ส่วนนวนิยายประวัติศาสตร์ก็ยังไม่มีความกลมกลืนหรือสมจริงเพียงพอ”

โดยผลงานที่เข้ารอบ 6 เล่มสุดท้าย ได้แก่ 1.ก่อนนรกจะรามือ 2.เมื่ออดีต ปัจจุบัน และอนาคตมาบรรจบกัน 3.ฝัน..จรจัด 4.หลงกลิ่นบุนนาค 5.คนสุดท้าย..คลองแสนแสบ และ 6.ผู้พิทักษ์อัคมันราห์

“แต่ละเรื่องมีข้อดีและมีจุดบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ” นรีภพกล่าว

แล้วก็ถึงเวลาที่ทุกคนรอคอย เมื่อ ดร.ถนอมวงศ์ ล้ำยอดมรรคผล รองประธานสมาพันธ์องค์กรเพื่อพัฒนาหนังสือและการอ่าน และคณะกรรมการตัดสินรางวัล ขึ้นกล่าวคำประกาศ น่าแปลกใจที่สิ้นสุดเสียงคำประกาศ “รางวัลชมนาด ครั้งที่ 8 ไร้ผู้ได้รางวัล”

ทางคณะกรรมการจึงมีความเห็นตรงกันว่า เงินรางวัล 100,000 บาท ในปีนี้ จะถูกนำไปใช้ในการพัฒนาวงการวรรณกรรมไทย ด้วยการสนับสนุนการอ่าน การเขียน ผ่านการจัดโครงการค่ายอบรมเสวนาเกี่ยวกับการพัฒนางานเขียนของนักเขียนหญิงให้แก่ผู้ที่สนใจ

สายตาฉันพร่าเลือน หรือสายตากรรมการเข้าไม่ถึงงาน

เมื่อผลเป็นเอกฉันท์ เมื่อไม่มีผู้ได้รับรางวัล ก็ยิ่งเกิดข้อสงสัยตามมา นำมาสู่การพูดคุยว่า “แล้วตรงไหนคือปัญหา” ในหัวข้อ “รางวัลชมนาด ส่งเสริม-พัฒนางานเขียนสตรีไทย รางวัลวรรณกรรมขึ้นอยู่กับผลงานหรือกรรมการ” ผ่านสายตาของคณะกรรมการรอบตัดสิน

เริ่มที่ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ที่ให้ความเห็นว่า “ขึ้นอยู่กับการประกวด” วรรณกรรมหรือเรื่องเล่าเป็นเสรีภาพของผู้ผลิตผลงาน แต่เมื่อเข้ามาประกวดย่อมมีกติกาและเงื่อนไข จึงต้องขึ้นอยู่กับทั้ง 2 ปัจจัย

“เกณฑ์ในการวินิจฉัยถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ‘เนื้อเรื่อง’ และ ‘ศิลปะการนำเสนอ’ หรือรูปแบบในการประพันธ์ ผลงานที่ส่งเข้ามาในปีนี้มีเนื้อเรื่องดีทุกเรื่อง แต่ใช้รูปแบบในการนำเสนอที่มีข้อด้อย-ข้อเด่นต่างกัน เกณฑ์หลักของชมนาด คือ เป็นนักเขียนหญิง และต้องการจะเผยแพร่ไปสู่สากลได้ด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วจึงยังไม่มีผลงานที่ถึงมาตรฐานของรางวัลที่เราอยากจะให้เป็น”

เวทีเสวนา “รางวัลชมนาด ส่งเสริม-พัฒนางานเขียนสตรีไทย “รางวัลวรรณกรรมขึ้นอยู่กับผลงานหรือกรรมการ”

ทั้งนี้ ศิลปินแห่งชาติยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า “นักเขียนหญิงมีความคิดที่ละเอียด แต่ขาดส่วนกว้าง” ในขณะที่นักเขียนชายจะมีความคิดที่กว้างกว่า ยึดโครงสร้างเเต่ขาดความละเอียด ซึ่งวรรณกรรมสมัยใหม่ “ต้องการทั้งสองเเบบ ต้องเติมเต็มกันเเละกัน”

ด้าน กนกวลี พจนปกรณ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยเห็นด้วยกับเนาวรัตน์ โดยให้เหตุผลว่า งานประกวดในแต่ละเวทีมีกติกาและจุดประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป

“อย่างเวทีพานแว่นฟ้า ของรัฐสภา ก็ต้องเน้นเรื่องการเมือง แต่สำหรับเวทีชมนาด มีวัตถุประสงค์ชัดเจน 4 ข้อ คือ 1.เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้นักเขียนแสดงออกถึงความสามารถ และชั้นเชิงในการเขียน 2.ส่งเสริม เผยแพร่ และผลักดันผลงานของสตรีไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่สากล 3.ยกระดับวรรณกรรมไทยให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ 4.สนับสนุน ปลูกฝังให้คนไทยรักการอ่านและมีความริเริ่มที่จะเขียน คณะกรรมการที่ทำงาน หรือนักเขียนที่ส่งผลงานก็ต้องยึดตามวัตถุประสงค์นี้ ดูว่างานเข้าวัตถุประสงค์หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานสตรีไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่สากล

“เเม้ว่าเราอยากจะให้ทุกท่านได้รางวัล เเต่ท้ายที่สุดต้องดูกันที่พล็อตเรื่อง มีเเก่นเเกนอย่างไร จะนำผู้อ่านไปได้อย่างไร มีเนื้อหาชัดเจน ต้องกลับมาดูว่าผู้เขียนตอบโจทย์ให้คนอ่านรู้สึกถึงหรือไม่ มุมมองของผู้เล่าก็สำคัญเพราะจะเป็นตัวสื่อถึงคนอ่านได้อย่างถูกจุด เพราะวรรณกรรมจะต้องมีทั้งเรื่องเเละทั้งรส การถ่ายทอดอารมณ์ของเเต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับเทคนิค จังหวะการตัดต่อก็สำคัญ ฉากไหนจะจบเร็วหรือเชื่อมกันอย่างไร เเม้เล็กน้อยเเต่มองข้ามไม่ได้ โจทย์ของชมนาดจึงมีความพิเศษในหลายด้าน” นายกสมาคมน้ำหมึกไทยเน้นย้ำ

ในมุมของ ดร.ถนอมวงศ์ ล้ำยอดมรรคผล รองประธานสมาพันธ์องค์กรเพื่อพัฒนาหนังสือและการอ่าน สวมแว่นครูภาษาไทยก่อนจะมองว่า นอกจากรูปแบบเนื้อหา สิ่งสำคัญคือการใช้ภาษา หรือ “วรรณศิลป์”

“มีการเว้นวรรคเเละสะกดผิด การใช้ภาษาไม่ตรงกับบริบทของเรื่อง จึงคิดว่าหากมีการเเปลในอนาคตอาจทำให้สับสน บางเรื่องรู้สึกว่าเคยอ่านมาเเล้วจึงเกิดความไม่เเน่ใจว่าจะไปใกล้เคียงกับผลงานของคนอื่นหรือไม่ หรือเเค่ได้รับเเรงบันดาลใจมา” ดร.ถนอมวงศ์กล่าว และยังเน้นย้ำอีกครั้ง “การใช้ภาษาสำคัญมาก”

ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ มอบเงินสนับสนุนโครงการอบรมนักเขียนหญิงแก่สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย


“คนรุ่นหลังต้องได้รู้ว่าวรรณกรรมที่ได้รับรางวัลนั้นหมายถึงการได้รับการขัดเกลาภาษามาเเล้ว เเละความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งสำคัญมากในวรรณกรรมยุคดิจิทัล เล่มไหนได้รับรางวัลเราก็หวังว่าจะมีคนอ่านไปอีกหลายปี รวมถึงการได้เป็นวรรณกรรมตัวอย่างด้วย

“เพราะมองว่าการพัฒนาการเขียนของเยาวชนไทย แรกเริ่มคือ ‘การอ่าน’ เป็นการอ่านเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อ่านมากกว่าปกติ ที่สำคัญต้องอ่านให้หลากหลาย” คือคำที่ ดร.ถนอมวงศ์แนะทิ้งท้าย

คือเยาวชน ผู้ลุ่มหลงวรรณศิลป์
คือเด็กสาว 16 ปี ผู้จับปากกา สู่รอบตัดสิน

พิรฎา อุตตโมทย์ หรือจัสมิน นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนจิตรลดา ในวัย 16 ปี ผู้เขียน “หลงกลิ่นบุนนาค” หนึ่งในต้นฉบับ 6 เล่มที่เข้ารอบตัดสิน

พิรฎาเปิดเผยว่า ส่งรางวัลชมนาดเป็นครั้งแรกและได้เข้ารอบ ใช้เวลาเขียนประมาณ 1 เดือนครึ่งในช่วงกิจกรรมกีฬาสี และคาบว่าง

แม้ปีนี้ไม่มีผู้ชนะ และพิรฎาก็ยอมรับว่าค่อนข้างเสียใจ แต่อย่างน้อยก็ได้เขียนความเป็นตัวเองออกมา ส่วนจะได้รางวัลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการ

“ส่วนตัวหนูไม่มีปัญหาถ้ามีคนได้รางวัลแล้วหนูจะแพ้กลับไป แต่ยอมรับว่าไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่กับผลการตัดสิน ในมุมของหนู อย่างน้อยท่านคณะกรรมการก็น่าจะตัดสินเบื้องต้นว่าผลงานไหนดีที่สุด เพราะเราจะได้รู้และไปแก้-ไปซ่อมหลังจากนั้น”

ในอีกมุม พิรฎาคือหลานของย่า ผกาวดี อุตตโมทย์ เธอเปิดเผยว่า แม้คุณย่าจะเป็นนักเขียน แต่ก็ไม่ได้กดดันว่าจะต้องเป็นหรือทำตามคุณย่าทำ ถ้าอย่างนั้นเธอก็ได้ซึมซับความหลงใหลในประวัติศาสตร์มาจากคุณย่าแบบไม่รู้ตัว

พิรฎา อุตตโมทย์


” ‘หลงกลิ่นบุนนาค’ เขียนให้อยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีประเด็นเรื่องเสรีไทยที่ต้องหลบซ่อนตัวอยู่กับรัฐบาลสมัยนั้น และเขียนถึงประเด็นการเป็นเลสเบี้ยนในสมัยรัชกาลที่ 8 ซึ่งคนส่วนใหญ่ ไม่ยอมรับ ในแบบเรียนไทยไม่เคยพูดถึงคนที่ใช้ชีวิตในประวัติศาสตร์ เราพูดถึงการรบ สงคราม แต่ไม่พูดถึงวิถีชีวิต-การเป็นอยู่ของคนสมัยก่อน ซึ่งสำคัญ เพราะคนเราไม่ได้ต้องการจะสู้รบปรบมือตลอดเวลา และเรื่องความหลากหลายทางเพศของมนุษย์ก็เป็นเรื่องปกติ เพียงแต่คนสมัยนี้กล้าพูดมากขึ้นในขณะที่คนสมัยก่อนมองว่าเรื่องแบบนี้ไม่ดี เพราะคนไม่กล้าพูดกันมากกว่า

“อีกประเด็นคือ เราใช้เวลานานไปหรือไม่ 70 ปี กับการเปลี่ยนจากผ้าซิ่นมาเป็นกระโปรง ความไม่แฟร์ต่างๆ ของสังคมไทยยังมีอยู่ทุกวันนี้ หนูคิดว่ามันนานเกินไป ไม่ควรจะใช้เวลานานขนาดนี้กับเรื่องพื้นฐานที่เราควรจะเข้าใจตั้งแต่แรก …แต่ไม่เปลี่ยนไปเลย” พิรฎาเผย ก่อนจะเล่าถึงความหวัง

“ถ้าวันหนึ่ง ผลงานของหนูมีโอกาสไปสู่สายตาชาวโลก ก็อยากจะพูด พูดให้โครงสร้างเชิงอำนาจของเราเอื้อให้เราปฏิบัติต่อกันได้ดีขึ้น ด้วยพื้นฐานคนเราเท่าเทียมกันไม่ได้อยู่แล้ว อย่างน้อยที่สุดเราควรปฏิบัติต่อกันอย่างไม่ดูถูก ปฏิบัติต่อกันอย่างมีมนุษยธรรม ไม่ก้าวล้ำในสิทธิ อยากให้มีการสนับสนุนเรื่องสิทธิ LGBT ด้วย เลยเขียนเรื่องนี้ออกมา เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเฉพาะ แต่เป็นไอเดียที่มนุษย์ด้วยกันควรจะเข้าใจกันตั้งแต่แรก เรารู้ว่าคนนี้ไม่เหมือนเรา แต่จะอยู่กับคนที่เขาแตกต่างกับเราได้อย่างไร โดยที่ไม่เกิดความขัดแย้งกัน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image