เมื่อเส้นใย ‘เพอร์มา’ ผสมผสาน ‘ไหมไทย’ บุกแฟชั่นโชว์ญี่ปุ่น มุ่งผงาดเวทีโลก

เจ้าหญิงทาคามาโดะ พระชายาในเจ้าชายทาคามาโดะ พระภาดาในสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นทรงเยี่ยมชมการสาธิตการทอผ้าไทย

จบลงอย่างสวยงามสำหรับ “โครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ” ที่กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการต่างประเทศ เครือข่ายทางวัฒนธรรม และภาคประชาชนชน ร่วมกันต่อยอดมรดกทางศิลปวัฒนธรรมไทย ส่งเสริมให้ “ผ้าไทย” มีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้น โดยร่วมกันหอบสุดยอดผ้าไทยไปจัดแฟชั่นโชว์ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโตเกียว กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา 12 สิงหาคม 2562

งานนี้ เจ้าหญิงทาคามาโดะ พระชายาในเจ้าชายทาคามาโดะ พระภาดาในสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น เสด็จเข้าร่วมงาน นอกจากนี้ ยูมิ คาโต้ มิสยูนิเวิร์สเจแปน 2018 ยังร่วมเดินแฟชั่นโชว์ในชุดฟินาเล่อีกด้วย

เดินสายโชว์ผ้าไทยทั่วแดนปลาดิบ

แผนการเผยแพร่ผ้าไทยนั้น ไม่ได้จบเพียงแค่การแสดงแฟชั่นโชว์ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโตเกียว กรุงโตเกียว เท่านั้น กระทรวงวัฒนธรรมได้วางกำหนดการจัดกิจกรรมครั้งนี้ไว้เพิ่มเติมอีก 2 แห่ง คือ เดอะ การ์เด้น โอเรียนทัล โอซากา นครโอซากา และปิดท้ายที่โรงแรมโอกูระ ฟุกุโอกะ เมืองฟูกุโอกะ

เจ้าหญิงทาคามาโดะ พระชายาในเจ้าชายทาคามาโดะ พระภาดาในสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นทรงเยี่ยมชมการสาธิตการทอผ้าไทย

อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยรายละเอียดของกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งประกอบด้วย 1.การแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าไทยร่วมสมัย โดยการคัดเลือกชุดผ้าไทยของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมทั้งออกแบบชุดใหม่สำหรับการแสดงในครั้งนี้โดยใช้ผ้าไหม      อัศจรรย์ (Assajan Silk) ที่ใช้ไหมทอกับเส้นใยรีไซเคิลแอนตี้แบคทีเรีย หรือเส้นใย Perma ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมใหม่ของคนไทย

Advertisement

ยังมีนิทรรศการ The Future of Thai Textile จากแนวคิดผ้าไทยสู่สากล โดยแบ่งเนื้อหาเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ “ราชินีกับผ้าไทย” หมายถึง ความใส่ใจที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวไทย โดยการส่งเสริมการทอผ้าไทย เพื่อเป็นอาชีพให้แก่คนไทยทั่วประเทศ “ประเภทของผ้าไทย” ซึ่งสื่อถึงความใส่ใจในการสร้างสรรค์ผ้าไทยที่ประณีตวิจิตรของภูมิปัญญาไทย การคัดเลือกวัตถุดิบ การใส่ใจต่อกระบวนการผลิต

ท้ายสุดคือ “ผ้าไทยสู่สากล” นำเสนอถึงความเป็นไปได้ของผ้าไทยในตลาดสากล รวมถึงการทอผ้าไทยร่วมกับเส้นใยยับยั้งแบคทีเรีย ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ กระบวนการผลิตมีทั้งแบบทอมือและระบบโรงงาน ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกกับผ้าไทยมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผ้าไทยสามารถขยายตลาดไปสู่อุตสาหกรรมการแพทย์ และการดูแลสุขภาพ ทั้งนี้ นิทรรศการดังกล่าวมีการนำเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) มาใช้ในการนำเสนอผลงานการออกแบบผ้าไทยร่วมสมัยด้วย

อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมกล่าวเปิดงานการจัดแสดงแฟชั่นโชว์ พร้อมนิทรรศการผ้าไทย ภายใต้ธีมงาน : ผ้าไทยสู่สากล “Thai Texile a touch of thai”

“กระทรวงวัฒนธรรมมีนโยบายและยุทธศาสตร์เสริมสร้างอัตลักษณ์ ค่านิยมความเป็นไทย รวมทั้งอนุรักษ์สืบทอด และต่อยอดมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของไทย สร้างบทบาทของไทยในเวทีโลก จึงได้ร่วมกับหน่วยงานรัฐ เอกชน เครือข่ายทางวัฒนธรรม และภาคประชาชนจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมไทยหลากหลายสาขาให้คงอยู่คู่ชาติ และอนุรักษ์ลวดลายผ้าทอในแต่ละภูมิภาคไม่ให้สูญหายไป” อิทธิพลกล่าว

Advertisement

ก้าวไปอีกขั้นเมื่อ ‘ผ้าไทย’

รวมกับ ‘Perma’ เส้นใยสุดพิเศษแอนตี้แบคทีเรีย

จุดเด่นของงานครั้งนี้คือ การนำเส้นใยเพอร์มามาผสมกับผ้าไทย นอกจากความพิเศษที่ช่วยแอนตี้แบคทีเรียแล้ว ไชยยศ รุ่งเจริญชัย ซีอีโอ บริษัท เพอร์มา คอร์ปอเรชั่น จำกัด บอกเล่าความพิเศษของเส้นใยนี้ว่า ทางบริษัทได้พัฒนานวัตกรรมนี้เข้าปีที่ 5 แล้ว ตัวเส้นใยทำจากวัสดุรีไซเคิล มีสารช่วยยับยั้งแบคทีเรีย และความพิเศษของเส้นใยนี้จะทำให้ผ้าไม่มีกลิ่น มีความพิเศษคือไม่ว่าจะซักกี่ครั้ง คุณสมบัติของการแอนตี้แบคทีเรียยังอยู่ และทำให้แบคทีเรียไม่เจริญเติบโต ไม่เหมือนกับการเคลือบเส้นใย ที่เมื่อนำผ้าไปซัก 5-10 ครั้ง สารที่เคลือบจะหลุดไป

“เมื่อความพิเศษของเส้นใยคือการแอนตี้แบคทีเรีย จึงสามารถนำไปต่อยอดผลิตเป็นผ้าในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น นำมาใช้ทำเป็นถุงเท้า ชุดชั้นใน รองเท้า กางเกงยีนส์ รวมทั้งการนำมาผลิตเป็นสิ่งทอทางการแพทย์ด้วย เมื่อเร็วๆ นี้ ทางบริษัทได้ทำวิจัยว่าเมื่อนำเส้นใยเพอร์มามาทำเป็นผ้าหรือชุดต่างๆ และมาทดสอบว่า ?เชื้อโรคชนิดหนึ่ง? จะสามารถเจริญเติบโตในผลิตภัณฑ์ของเราหรือไม่ ซึ่งผลการทดลองพบว่าเชื้อโรคเหล่านี้ไม่เจริญเติบโต ทำให้ทางบริษัทสามารถต่อยอดผลิตสินค้าให้ผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ต่อไปได้” ไชยยศระบุ

‘ประภากาศ’ สุดยอดดีไซเนอร์

ร่วมออกแบบผ้าไทยร่วมสมัย

เมื่อพูดถึงความพิเศษของเส้นใยเพอร์มาแล้ว คนสำคัญที่อดพูดถึงไม่ได้คือ “นักออกแบบเครื่องแต่งกาย” ของงานครั้งนี้ ประภากาศ อังศุสิงห์ จาก HOOK’S สุดยอดดีไซเนอร์แห่งวงการแฟชั่นไทย ที่ถูกรับเลือกให้มาออกแบบชุดในงานครั้งนี้ ด้วยความเป็นนักออกแบบพัสตราภรณ์ แบรนด์ Hook’s ที่เล่าขนบธรรมเนียมความเป็นไทยผ่านเสื้อผ้าจากหลายยุคหลายสมัย โดยสอดแทรกความทันสมัยและลูกเล่นต่างๆ

งานออกแบบของประภากาศ ได้ส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยเรื่องรวมของวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตของไทย ผ่านเส้นใยที่มีเสน่ห์เฉพาะแต่ละท้องถิ่น โดยในปี 2560 ที่ผ่านมา เขาคว้ารางวัลชนะเลิศจากการส่งผลงานเข้าประกวดชุดประจำชาติ “เมขลาล่อแก้ว” สำหรับมิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ ทั้งหมดนี้ทางกระทรวงวัฒนธรรมเห็นว่า ประภากาศและ Hook’s นั้น มีงานออกแบบที่หลากหลาย รวมถึงการทำโชว์ให้กับแบรนด์ต่างๆ มากมาย จึงมีความเหมาะสมกับตลาดญี่ปุ่นเป็นอย่างยิ่ง

อีกก้าวของการพัฒนา เมื่อผ้าไทย

“ต้นทุนถูกลง”ทันสมัยมากขึ้น

ด้าน แพรวา รุจิณรงค์ นักออกแบบสิ่งทอ เจ้าของ “เติมเต็มสตูดิโอ” บอกเล่าความพิเศษจากการร่วมงานครั้งนี้ว่า จากที่เรารับรู้ว่าผ้าไทยนั้นมีความพิเศษอยู่แล้ว และทางเติมเต็มได้นำเส้นใยเพอร์มามาใช้เป็นครั้งแรก ก็รู้สึกถึงความพิเศษเพราะเส้นใยมาจากวัสดุเหลือใช้ มีคุณสมบัติพิเศษ และประจวบเหมาะเมื่อมาใช้กับไหมไทย ซึ่งตัวเส้นไหมนั้นเป็นเส้นใยธรรมชาติอยู่แล้ว ทำให้เมื่อทอออกมาได้เสื้อที่ทำให้เกิดการระคายเคืองที่น้อยลงกว่าเดิม และทำให้ผ้านั้นมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

“ส่วนขั้นตอนการผสมเส้นใยของไทยกับเส้นใยเพอร์มานั้นยากหรือไม่ มองว่าขึ้นอยู่กับชนิดของเส้นใยแต่ละอันด้วย ซึ่งทางเติมเต็มนั้น เราใช้เทคนิคการทอผ้าแบบพิเศษ ที่มีกระบวนการผสมผสานเทคนิคการทอแบบรายริ้ว กับการทอมัดหมี่ โดยนำเส้นใยเพอร์มามาทอพุ่งเป็นริ้ว ผสมกับการทอแบบมัดหมี่ ซึ่งเป็นลวดลายของไทย เมื่อผสมผสานกันเกิดเป็นลวดลายใหม่ขึ้นมา โดยที่มีคุณสมบัติคือผิวสัมผัสของเนื้อผ้านั้นไม่ทำให้ระคายเคือง ผู้หญิงหรือคนที่จะมาใส่เสื้อผ้าที่เราทอ ต้องเป็นผู้หญิงที่เข้าใจตัวเอง รู้ความต้องการของตนเองว่าต้องการอะไรในชีวิต เป็นคนมั่นใจ คิดว่าฉันเป็นคนแบบนี้ ฉันเป็นคนที่รู้ว่าตัวเองจะทำอะไร ต้องการอะไร ไม่จำเป็นต้องสวย รูปร่างดี แค่มีอินเนอร์จากข้างในที่มั่นใจก็เติมเต็มตัวเองและเข้าใจตัวเองได้” แพรวาระบุ

ส่วนทาง ลิเดีย ตันติวิริมานนท์ จากบริษัท อัศจรรย์คอลเลคทีฟ หนึ่งในแบรนด์เสื้อผ้าที่มาร่วมงานครั้งนี้ ได้เล่าว่า ความพิเศษของชุดที่ทางบริษัทได้ทำคือแน่นอนว่าเป็นการนำเส้นใยเพอร์มามารวมกับเส้นใยของไทย โดยอยากชูความเป็นไหมไทยที่สามารถนำมาร่วมกับเส้นใยอื่นได้ ไม่ใช่เพียงนำมาตั้งโชว์ หรือทำในลักษณะรูปแบบพื้นเมืองเท่านั้น

ชุดของแบรนด์ ‘อัศจรรย์’ ที่ใช้เส้นใยเพอร์มาและเส้นใยของอัศจรรย์ ผลิตเป็นชุดลำลองร่วมสมัยทุกเพศทุกวัยสามารถสวมใส่ได้

“ชุดนี้ทุกเพศทุกวัยสามารถใส่ได้ และเมื่อใส่แล้วจะรู้สึกว่าเนื้อผ้านั้นต่างจากผ้าอื่นๆ ที่สำคัญคือเมื่อมีเส้นใยเพอร์มาเข้ามาผสมกับเส้นใยของไทย ต้นทุนจะลดลง เพราะว่าผ้าไหมไทยแพงมาก เมื่อเรามาผสมกับเส้นใยนี้ ซึ่งเป็นเส้นใยรีไซเคิล จะทำให้ต้นทุนถูกลง แต่จะได้คุณสมบัติเพิ่มมากขึ้นคือ ได้ผ้าที่แอนตี้แบคทีเรีย คุณภาพ ระยะเวลาในการใช้งาน การดูแลรักษาเหมือนเดิม อาจจะมีความพิเศษมากขึ้นคือไม่ต้องซักบ่อยเพราะผ้านั้นแอนตี้แบคทีเรีย จะทำให้ลดกลิ่นอับไปในตัว”

ถือเป็นอีกก้าวที่สำคัญของ “ผ้าไทย” ที่จะพิสูจน์ให้คนไทย และต่างประเทศเห็นว่าเส้นไหมที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศนั้น สามารถต่อยอดสู่สิ่งที่ทันสมัยมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image