อย่าเพียงสืบหา ‘ใครฆ่าบิลลี่’?

ภาพจากครอบครัวบิลลี่

“น้อยใจที่บนโลกนี้ทำไมคนดีถึงไม่มีที่ให้ยืน”

อาจเป็นคำกล่าวคุ้นหูที่ดูแสนธรรมดา แต่เมื่อนี่คือวาทะจากปาก มึนอ ภรรยาและแม่ของลูก 5 คนของ บิลลี่ กะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่หายตัวปริศนานานกว่า 5 ปี กระทั่งพบเศษกระดูกยืนยันการลาจากโลกใบนี้ด้วยน้ำมือมนุษย์ด้วยกัน

คำกล่าวข้างต้นนั้น จึงไม่ธรรมดา

และแน่นอนว่าในห้วงเวลานี้ วันต่อวัน ชั่วโมงต่อชั่วโมง นาทีต่อนาที การสืบหาว่าใครอยู่เบื้องหลังการฆาตกรรมบิลลี่ ยัดถัง เผาทำลาย และถ่วงน้ำในแก่งกระจาน ดำเนินไปอย่างเข้มข้น โดย กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ มีความคืบหน้าเปิดเผยให้สาธารณชนติดตามต่อเนื่อง

Advertisement

ทุกภาคส่วนร่วมมือแข็งขัน ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งย้าย 4 เจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ขณะจับกุมบิลลี่ เมื่อ 17 เมษายน 2557 ออกนอกพื้นที่แก่งกระจาน เพื่อเปิดทางคลี่คลายคดี

นักท่องเที่ยวที่เคยเยี่ยมเยือนสะพานแขวนในแก่งกระจาน จุดพบหลักฐานเศษกระดูกในถังน้ำมัน นำภาพถ่ายที่ถูกลั่นชัตเตอร์ไว้เมื่อ 6 กันยายน 2559 ในช่วงน้ำลด ออกมาเปิดเผย บ่งชี้การมีอยู่ของถังดังกล่าวมานานแล้ว อย่างน้อยก็ในช่วงเวลานั้น

ในขณะที่ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 อุบลราชธานี อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ออกมาแจ้งความว่า “ลูกน้อง” ถูกข่มขู่เพื่อให้การปรักปรำตนเองในคดีนี้ ซึ่งเจ้าตัวถูกสปอตไลต์ส่องแรงถึงความเกี่ยวพันการฆ่าโหด เนื่องด้วยเป็นผู้ควบคุมตัวบิลลี่ฐานครอบครองน้ำผึ้งป่า 5 ขวด ก่อน (อ้างว่า) ปล่อยตัวไปแล้ว ทว่าไม่มีใครพบเห็นบิลลี่ในสภาพที่ยังมีลมหายใจอีกเลย

Advertisement

แน่นอนว่า การสืบสวนเพื่อหาตัวฆาตกรผู้อยู่เบื้องหลังและลงมือฆ่าบิลลี่ คือสิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้ เพื่อนำตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งสำคัญที่สังคมไทยต้องหันมาร่วมขบคิดถึงปมปัญหาซับซ้อนและหลากหลายที่เชื่อว่านำมาซึ่งแผนฆาตกรรมอำพราง เพื่อป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอย่างที่เคยวนลูปมาแล้วหลายครั้ง เพราะบิลลี่ไม่ใช่คนแรกที่ต้องเผชิญชะตากรรมเช่นนี้

‘คนกับป่า’ น้ำผึ้ง 5 ขวด

และวาทกรรม ‘รุกล้ำ’ อุทยานแห่งชาติฯ

“ถ้าบิลลี่ไม่ได้ทำงานนี้ เชื่อว่าความผิดจะไม่เกิด สิ่งที่เกิดขึ้นเชื่อว่าเหตุการณ์มันโยงมาจากการที่ปู่คออี้ถูกเผาบ้าน และบิลลี่ก็เข้าไปช่วยเหลือ”

มึนอ ภรรยาบิลลี่กล่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อ 5 กันยายน หลังการแถลงของดีเอสไอ สะท้อนความเชื่อถึงเหตุจูงใจในการฆ่าที่ย้อนกลับไปถึงปมปัญหาที่บิลลี่เกี่ยวพัน นั่นคือคดีเจ้าหน้าที่อุทยานบุกเผาทำลายบ้านและยุ้งฉาง ราว 100 หลังของชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานเมื่อพฤษภาคม 2554 ที่ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี หนึ่งในนั้นคือบ้านของ “ปู่คออี้” หรือ โคอิ มิมิ ผู้นำจิตวิญญาณกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ซึ่งบิลลี่มีศักดิ์เป็นหลาน

คดีดังกล่าว มีตัวแทนกะเหรี่ยง 6 คน ยื่นฟ้องศาลปกครองต่อกรมอุทยานแห่งชาติฯ เรียกร้องค่าเสียหายและขอกลับไปอาศัยในที่ทำกินเดิม

บิลลี่เป็นตัวแทนชาวกะเหรี่ยงที่ต่อสู้เรียกร้องมาโดยตลอด

7 ตุลาคม 2559 ศาลปกครองกลางตัดสินว่าปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามกฎหมายอุทยานแห่งชาติ แต่ให้จ่ายสินไหมทดแทนข้าวของเครื่องใช้ในบ้านที่ถูกเผาคนละ 10,000 บาท ซึ่งผู้ฟ้องได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป

ส่วนการอ้างมติ ครม.ปี 2553 เรื่องฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ว่าเป็นการอาศัยอยู่ในชุมชนดั้งเดิมนั้น ศาลตัดสินให้ไม่อาจเรียกร้องได้ เพราะถือว่าชาวกะเหรี่ยงเป็นผู้บุกรุกแผ้วถางป่าดงดิบไม่ยอมอาศัยทำกินในพื้นที่ซึ่งรัฐกำหนดให้

5 ตุลาคม 2561 ปู่คออี้หมดลมหายใจโดยไม่ได้รับรู้ว่าบิลลี่เหลือเพียงเศษกระดูกไม่กี่ชิ้น มีเพียงความในใจถึงหลานที่ปู่คออี้เคยเอ่ยไว้ “ก็คิดถึงบิลลี่ แต่เขาหายไปตรงไหนก็ไม่รู้ ไม่รู้จะทำยังไง สุดเสียดาย”

เหตุการณ์นี้ สะท้อนความขัดแย้งระหว่างภาครัฐ และชาวบ้านที่ถูกมองว่าเป็นผู้บุกรุกป่า ทว่าจากการศึกษาข้อมูลอย่างลุ่มลึก โดย สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม พบว่า มีหลักฐานชี้ชัดถึงการอยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยงที่นี่มานานแล้ว โดยไม่ได้รุกป่าแต่อย่างใด เพราะอยู่มา ก่อนการตั้งอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน คาดว่าย้อนไปไกลถึงสมัยรัชกาลที่ 3 หรือรัชกาลที่ 4 ด้วยซ้ำไป โดยในแผนที่ทหารเมื่อปี 2512 ก็สำรวจพบหมู่บ้านกะเหรี่ยง และในการสำรวจครั้งต่อๆ มาทุกครั้ง ก็มีหมู่บ้านนี้อยู่โดยไม่ได้ตกสำรวจ

น้ำผึ้งเพียง 5 ขวดในมือบิลลี่ จึงกลายเป็นของที่ถูกขโมยไปจากอุทยาน “แห่งชาติ” ซึ่งชาวบ้านไม่มีสิทธิครอบครอง

และ สุรพงษ์ คนนี้เองคือผู้รับร้องเรียนจาก ทัศน์กมล โอบอ้อม อดีตผู้สมัคร ส.ส.เพชรบุรีที่เข้ามาช่วยประสานงานกับชาวกะเหรี่ยงหลังการเผาทำลายหมู่บ้าน โดยขณะนั้นสุรพงษ์นั่งเก้าอี้ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ

หลังการร้องเรียนไม่กี่วัน ทัศน์กมลถูกยิงเสียชีวิตขณะขับรถเข้าตัวเมืองเพชรบุรี

3 ปี หลังการตายของอดีต ส.ส.คนดังกล่าว บิลลี่ก็หายตัวไป โดยไม่กี่วันที่ผ่านมา ครอบครัวยังเปิดเผยภาพในความทรงจำ นั่นคือ รูปถ่ายในเครื่องแบบสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี งานที่เจ้าตัวภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือชาวบ้าน ทว่านั่นอาจเป็นชนวนเหตุที่ทำลายชีวิตของตนเองในเวลาต่อมา

มรดกโลกและการเมืองเรื่องชาติพันธุ์

เมื่อ ‘กะเหรี่ยง’ คือ ‘คนอื่น’?

พอละจี รักจงเจริญ คือชื่อในบัตรประชาชนไทยของบิลลี่ มีผลตามกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติ บิลลี่ ครอบครัว และกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในประเทศไทย เดินอยู่ในความเท่าเทียมจริงหรือไม่ ?

“เพราะเขาเห็นว่าเราด้อยโอกาส ไม่ว่าคนไทยหรือคนชาติพันธุ์ที่ด้อยกว่าจะไม่ได้รับความยุติธรรม” มึนอเปิดใจในคราวครบรอบ 3 ปีการหายตัวของสามีเมื่อ พ.ศ.2559 วันที่คดียังไม่คืบหน้า วันที่โลกตั้งคำถาม แต่ ดีเอสไอ ยังไม่รับคดีดังกล่าวเป็น “คดีพิเศษ” โดยหนึ่งในเหตุผลที่ชี้แจงคือมึนอที่เป็นผู้ร้องไม่ได้เป็นภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส กระทั่ง 28 มิถุนายน 2561 ดีเอสไอ ยอมรับเป็นคดีพิเศษ และเริ่มสอบสวนหาหลักฐานนับแต่นั้น

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ถูกมองว่าเกี่ยวพันกับสถานการณ์ต่างๆ ตั้งแต่จุดเริ่มต้น นั่นคือการที่รัฐบาลไทยเตรียมประกาศกลุ่มผืนป่าแก่งกระจานเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติของยูเนสโก ซึ่งอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานรวมอยู่ในพื้นที่นี้ด้วย พูดง่ายๆ ว่ามีการส่ง “แก่งกระจาน” ชิงมง “มรดกโลก” ซึ่งเชื่อว่าทำให้เกิดความพยายามผลักดันกะเหรี่ยงออกนอกผืนป่าที่พวกเขาอยู่อาศัยกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ภายใต้วาทกรรม “รุกล้ำ” อุทยานฯ กระทั่งเกิดความขัดแย้งรุนแรง สร้างบาดแผลร้าวลึกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเมื่อต้น พ.ศ.2559 หลังบิลลี่หายตัว 3 ปี วุฒิ บุญเลิศ ประธานกรรมการเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี บอกว่า การเตรียมการขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจานเกิดขึ้นในช่วงปี 2553-2554 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีการเผาไล่ที่และผลักดันชาวกะเหรี่ยง จึง “คาดว่าปฏิบัติการเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมพื้นที่เพื่อประกาศผืนป่ามรดกโลก” โดยที่ผ่านมาเครือข่ายกะเหรี่ยงฯเคยยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการมรดกโลกว่าการเตรียมประกาศผืนป่ามรดกโลกจะมีผลกระทบต่อชุมชนดั้งเดิม โดยมีที่ปรึกษาคณะกรรมการมรดกโลกลงมาดูพื้นที่ จนการเสนอครั้งแรกไม่ผ่าน

“เครือข่ายกะเหรี่ยงเห็นด้วยกับการประกาศผืนป่ามรดกโลก แต่มีข้อเรียกร้องให้คนกะเหรี่ยงกลับไปใช้วิถีชีวิตดั้งเดิม ความมั่นคงในพื้นที่ทำกินและแนวเขตไทย-พม่าต้องชัดเจน การประกาศผืนป่ามรดกโลกจะผนวกพื้นที่ผืนป่าตะนาวศรีเขตทวายและมะริด ซึ่งเป็นผืนป่าเดียวกัน เรื่องนี้เป็นที่สนใจของกะเหรี่ยงฝั่งพม่าด้วย จึงคิดว่าไทย-พม่าควรเสนอขอประกาศผืนป่ามรดกโลกร่วมกัน” วุฒิกล่าว

กระทั่ง กลางปี 2562 แก่งกระจานก็ชวดมรดกโลกด้วยปมปัญหา “สิทธิมนุษยชน” ที่ยังอีนุงตุงนัง คลุมเครือและมืดมน

ที่น่าสนใจ คือท่ามกลางการประกาศศึกอย่างไม่เป็นทางการระหว่างเจ้าหน้าที่ “พิทักษ์” ป่า และกะเหรี่ยงที่ถูกสักหน้าผากว่า “รุกป่า” กลับมีภาพและคลิปวิดีโอบันทึกเหตุการณ์ ชายสวมเสื้อเจ้าหน้าที่อุทยานกำลังตัดต้นไม้ ภายในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยเป็นยุคที่ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ยังเป็นหัวหน้าอุทยานฯ

ใช่แล้ว หลักฐานเหล่านั้นอยู่ใน คอมพิวเตอร์ ส่วนของของบิลลี่

คนหาย ไม่ใช่คนตาย กฎหมายต้าน

‘บังคับสูญหาย’ ความหวังที่ยังไม่เป็นจริง

“เมื่อไม่มีศพ คือยังไม่ตาย” ผลคือไม่มีผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายไม่รู้อยู่ที่ไหน

ไม่ใช่แค่บิลลี่ แต่ผู้ถูกบังคับสูญหายในไทยมีมากมาย รวมถึง ทนง โพธิ์อ่าน อดีตประธานสภาองค์การลูกจ้าง สภาแรงงานแห่งประเทศไทย ที่ถูกลักพาตัวไปในปี 2534

82 คือจำนวนกรณีของไทยที่องค์การสหประชาชาติบันทึกไว้

ล่าสุดเมื่อ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เจ้าของรางวัลแม็กไซไซปีล่าสุด ภรรยาทนายสมชาย ผู้สูญหายตั้งแต่ปี 2547 ออกจดหมายถึงรัฐบาลและสภาจี้ฟื้นร่างกฎหมายป้องกันอุ้มหาย-ซ้อมทรมาน หรือที่มีชื่อทางการว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย พ.ศ. … โดยที่ผ่านมามีปัญหาและอุปสรรคมากมายในการเข้าถึงความยุติธรรมและความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมของเหยื่อ โดยเฉพาะอุปสรรคทางกฎหมายเนื่องจากประเทศไทยไม่มีกฎหมายในความผิดฐานบังคับบุคคลให้สูญหายและเอาผิดต่อผู้กระทำผิด

แม้ที่ผ่านมารัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีได้ลงนามรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance : ICPPED) ขององค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 และต่อมาได้มีมติเห็นชอบในหลักการการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฯ รวมถึงเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย พ.ศ. … ที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรมเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 และได้ส่งร่าง พ.ร.บ.ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา แต่ สนช.ใช้เวลาพิจารณาอย่างล่าช้า มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวโดยการตัดเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญหลายประเด็นที่เป็นหลักประกันสำคัญทางกฎหมายในการป้องกันและยุติการบังคับสูญหายออกไป

นอกจากนั้นในการตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ของ สนช. ยังขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงผู้มีความเชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนอย่างมีนัยสำคัญ และในที่สุดร่าง พ.ร.บ.ทรมานและบังคับสูญหายก็ตกไปโดยไม่มีใครทราบสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งถือเป็นการก้าวถอยหลังอย่างยิ่งของรัฐบาลไทยในการดำเนินการตามคำมั่นที่ได้รับปากรับคำไว้

เหล่านี้คือปมปัญหามากมายซึ่งต้องแก้ไขเพื่อป้องกันและยุติความรุนแรง การอุ้มหายและทรมาน ไม่เช่นนั้น บิลลี่ซึ่งไม่ใช่คนแรก ก็คงไม่ใช่คนสุดท้ายที่ตกเป็นเหยื่อสังหารโหดด้วยวิธีการที่โลกตั้งคำถามถึง “ความเป็นมนุษย์”


ไทม์ไลน์ 5 ปี ‘บิลลี่’ สูญหาย

17 เม.ย.57-3 ก.ย.62

-17 เม.ย. 57 บิลลี่ถูกควบคุมตัวขึ้นรถยนต์ โดยชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแก่งกระจานฯ ขณะนั้น อ้างว่าเพื่อตักเตือนที่บิลลี่บุกรุกป่า ครอบครองรังผึ้ง และน้ำผึ้งป่า ก่อนอ้างว่าปล่อยตัวไปบริเวณแยกหนองมะค่าเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 57

– 21 เม.ย. 57 ภรรยาบิลลี่ ชาวบ้าน และตัวแทนเครือข่ายกะเหรี่ยง ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯเพชรบุรี และ ผบก.ภ.จว.เพชรบุรี

– 12 พ.ค. 57 ภรรยาบิลลี่ พร้อมชาวบ้านเดินทางไปยื่นหนังสือเรียกร้องต่ออธิบดีกรมอุทยานฯ

– 15 พ.ค. 57 คณะกรรมการดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ระบุว่าไม่พบความไม่เชื่อมโยงระหว่างนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร กับการหายตัวไปของบิลลี่ แต่สั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 1 เดือน

– 26 ก.พ. 58 ศาลอุทธรณ์ ยกคำร้องของภรรยาบิลลี่

– 2 ก.ย. 58 ศาลฎีกายกคำร้องของภรรยาบิลลี่ โดยให้เหตุผลว่าคำให้การของทั้ง 3 พยาน ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ขณะบิลลี่ถูกควบคุมตัว

– 28 มิถุนายน 2561 ดีเอสไอ ยอมรับเป็นคดีพิเศษ และเริ่มสอบสวนหาหลักฐาน

– 10 ก.ค. 62 ดีเอสไอยันไม่ได้เพิกเฉยคดีบิลลี่หาย ยันส่ง จนท.แฝงตัวหาหลักฐานสำคัญอยู่ในพื้นที่

– 27 ส.ค. 62 ครอบครัวบิลลี่ พร้อมทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เข้ายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้บิลลี่เป็นบุคคลสาบสูญ

ดีเอสไอแถลงว่าบิลลี่โดนฆ่าเผายัดถังทิ้งเขื่อนแก่งกระจาน โดยตรวจพบหลักฐานชิ้นส่วนกระดูก 2 ชิ้น ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร 1 ถัง เหล็กเส้น 2 เส้น ถ่านไม้ 4 ชิ้น และเศษฝาถังน้ำมัน กระดูกกะโหลกศีรษะข้างซ้ายของมนุษย์ และตรวจพบสารพันธุกรรมตรงกับนางโพเราะจี รักจงเจริญ มารดา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image