สุวรรณภูมิในอาเซียน : คนฮ่องกงดั้งเดิม ไม่ใช่จีนฮั่น เคยถูกจีนฮั่นเหยียดเป็นคนป่าเถื่อน

กวางสี-กวางตุ้ง แหล่งผลิตเครื่องมือสำริด โดยเฉพาะกลองทองมโหระทึก เป็นลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ ไม่พบในจีนฮั่น (ในภาพ) กลองทองมโหระทึกใหญ่ที่สุดในโลก จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่กวางสี

ข้อมูลความรู้ได้รับความกรุณาจากผู้รู้ ดังนี้

ทองแถม นาถจำนง บรรณาธิการผู้เชี่ยวชาญเรื่องเกี่ยวกับจีน

รศ.ดร.พรพรรณ จันทโรนานนท์ คณบดีคณะภาษาและวัฒนธรรมจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ บางพลี จ.สมุทรปราการ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ อาจารย์พิเศษ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Advertisement

ทิมทอง นาถจำนง สถาบันปัญญาภิวัฒน์ จ.นนทบุรี

ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต นักค้นคว้าอิสระเกี่ยวกับจีน


ฮ่องกง เป็นภาษาจีนกวางตุ้ง แปลว่าท่าเรือหอม เพราะดั้งเดิมเป็นแหล่งซื้อขายไม้หอม แต่มีผู้อธิบายเพิ่มว่ากลิ่นหอมมาจากเครื่องกำยาน มีโรงทำธูปตั้งเรียงรายอยู่ริมหาดเกาลูนเหมือนสมัยก่อน

Advertisement

ฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งอยู่ภาคใต้ของจีน ชาวฮ่องกงดั้งเดิม เมื่อหลายพันปีมาแล้ว “ไม่จีนฮั่น” เพราะจีนฮั่น (ซึ่งอยู่ทางเหนือๆ ขึ้นไปแถบลุ่มน้ำ ฮวงโห) เรียกคนทางใต้แถบลุ่มน้ำแยงซีว่าคนป่าเถื่อน (หมาน, ฮวน, เย่ว์)

ฮ่องกง (ภาพจาก https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_1264585)

ฮ่องกง ‘ไม่จีนฮั่น’

7,000 ปีมาแล้ว พื้นที่ฮ่องกง (ซึ่งหมายรวมถึงทั้งเกาะ และบริเวณแผ่นดินใหญ่) มีชุมชนเหล่า (ใช้เครื่องมือหิน) เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์เจ้อ (She) ที่พบแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในเขตมณฑลกวางตุ้ง ในสมัยนั้นชุมชนชาวเจ้อยังชีพด้วยการทำประมงแบบง่ายๆ โดยมีรูปแบบทางวัฒนธรรม และเครื่องมือเครื่องใช้แตกต่างจากวัฒนธรรมหลงชาน ที่จะพัฒนาต่อมาเป็นจีน ที่ร่วมสมัยกันอยู่อย่างชัดเจน

3,000 ปีมาแล้ว พวกไป่เย่ว์ (เย่ว์ร้อยจำพวก) ที่มีเทคโนโลยีเหนือกว่า โดยเฉพาะการผลิตสำริด ได้แพร่กระจายเข้ามาสู่บริเวณมณฑลกวางตุ้ง รวมถึงเขตฮ่องกง พร้อมๆ กับที่ขับพวกเจ้อให้กลายเป็นชนกลุ่มน้อย เอกสารประวัติศาสตร์ของจีนหลายฉบับ (เช่น หมานซู และฮั่นซู) ระบุตรงกันว่า พวกเย่ว์ไม่ใช่ชาวจีน ต่อมาพวกเย่ว์กลุ่มหนึ่งได้พัฒนาบ้านเมืองขึ้นเป็น “รัฐฉู่” มีศูนย์กลางอยู่ที่มณฑลหูเป่ย มีพื้นที่ฮ่องกงอยู่ในเขตปริมณฑลทางวัฒนธรรม

ฮ่องกงอยู่ทางใต้สุดของจีน [แผนที่จากหนังสือ THE GENIUS OF CHINA ต้นกำเนิด 100 สิ่งแรกของโลก สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2554
หลัง พ.ศ.300 ฉินซีฮ่องเต้ปราบรัฐฉู่ลง พร้อมกับการเริ่มแพร่ขยายวัฒนธรรมจีนเข้ามาในพื้นที่วัฒนธรรมของพวกไป่เย่ว์ ทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง

พ.ศ.338 ราชวงศ์ฉินล่มสลาย เกิดสงครามระหว่างรัฐฉู่ตะวันตก (ที่อ้างตนว่าสืบทอดมาจากรัฐฉู่) และรัฐฮั่น นาน 5 ปี จนสุดท้ายรัฐฮั่นเป็นฝ่ายชนะ และสถาปนาขึ้นเป็นราชวงศ์ฮั่น แล้วแพร่กระจายทั้งอำนาจ, ผู้คน และวัฒนธรรมเข้าสู่พื้นที่ตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง รวมถึงเขตพื้นที่ฮ่องกง

แผนที่ภูมิภาคอุษาคเนย์ มีพื้นที่ต่อเนื่องถึงภาคใต้ของจีน ซึ่งแต่เดิมมีวัฒนธรรมร่วมกัน และถูกจีนฮั่นเหยียดเป็นพวกป่าเถื่อนเหมือนกันทั้งหมด

จีนทางใต้สมัยโบราณ
เป็นส่วนหนึ่งของอุษาคเนย์

บริเวณที่เป็นภาคใต้ของประเทศจีนทุกวันนี้ สมัยโบราณไม่ใช่ดินแดนจีน เพราะเอกสารจีนโบราณหลายฉบับระบุตรงกันว่าเป็นถิ่นฐานของพวก “ป่าเถื่อน” มากมายหลายเผ่าพันธุ์ รวมทั้งพวกพูดตระกูลภาษาไต-ไท (ต้นทางภาษาไทย)

จดหมายเหตุเรื่อง “หมานซู” ของฝันฉัว (แต่งเป็นภาษาจีนเมื่อ พ.ศ.1410) มีความโดยสรุปว่า ตั้งแต่บริเวณมณฑลยุนนานลงมาถึงภูมิภาคอุษาคเนย์ปัจจุบัน ถือเป็นดินแดนเดียวกันของพวกหมาน ไม่ใช่ของพวกจีน (หรือฮั่น)

พวกจีน (ฮั่น) ขยายอำนาจลงมาครอบงำ ปราบปราม แล้วผนวกเอาผู้คนและดินแดนไปเป็นของจีนในสมัยหลังๆ

หมาน-เป็นชื่อโบราณที่จีนใช้เรียกมานานกว่า 2,000 ปีแล้ว หมายถึงชนชาติต่างๆ ทั้งหลายที่ไม่ใช่จีน (หรือฮั่น) และล้วนอยู่ทางถิ่นใต้ คือตั้งแต่มณฑลยุนนานทุกวันนี้จนถึงฝั่งทะเลของอุษาคเนย์ โดยไม่ระบุเผ่าพันธุ์และมักมีความหมายดูถูกว่าเป็นพวก “ป่าเถื่อน”

และ-นอกจากจะมีความใกล้ชิดกันทางด้านสภาพและตำแหน่งทางภูมิศาสตร์แล้ว บรรดานักวิชาการด้านต่างๆ ทั้งที่เป็นชาวไทยและชาวต่างประเทศ ยังมองเห็นว่า บริเวณภาคใต้ของจีนตั้งแต่มณฑลยุนนานและดินแดนใกล้เคียง กับบริเวณที่เป็นอุษาคเนย์ มีรูปแบบทางวัฒนธรรมเกี่ยวข้องกันมาช้านานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะยุคเกษตรกรรมที่พบโบราณวัตถุทำด้วยสำริดมีรูปแบบคล้ายคลึงกัน แสดงให้เห็นว่ามีการติดต่อไปมากาสู่กันทั้งทางบกและทางทะเล

การประท้วงชุมนุมในฮ่องกง (ภาพจาก AP Photo/Vincent Yu ในมติชนออนไลน์)

 


สรุปว่า บริเวณภาคใต้ของจีนตั้งแต่มณฑลยุนนาน รวมทั้งดินแดนใกล้เคียง เช่นมณฑลกวางสีกับมณฑลกวางตุ้ง ต้องนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาค “อุษาคเนย์สมัยโบราณ” ที่มีดินแดนประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านรวมอยู่ด้วย

กวางสี, กวางตุ้ง ไม่ใช่ภาษาจีนฮั่น แต่ขณะนี้ผู้รู้ยังไม่ฟันธงว่าเป็นภาษาอะไร?

กวางสี แปลว่า ที่กว้างทางตะวันตก

กวางตุ้ง แปลว่า ที่กว้างทางตะวันออก

ไทย เป็นพวกพูดตระกูลภาษาไต-ไท ถูกจัดเป็น “คนป่าเถื่อน” พวกหนึ่งอยู่ในภูมิภาคนี้มาแต่โบราณด้วย


ภาษาและวัฒนธรรมไต-ไท เก่าสุดราว 3,000 ปีมาแล้ว โยกย้ายไปตามเส้นทางการค้าถึงลุ่มน้ำโขง ลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยไม่จำเป็นต้องมีคนอพยพตามไปด้วย

พวกจ้วง พูดภาษาตระกูลไต-ไท ในกวางสี ตีกลองไม้และกลองทองมโหระทึกในพิธีกรรม(ภาพเมื่อ พ.ศ. 2537)

ชนเผ่าร้อยพ่อพันแม่ ทางทิศใต้ของจีน

ภูมิภาคอุษาคเนย์สมัยโบราณ นับตั้งแต่มณฑลยุนนาน, มณฑลกวางสี, มณฑลกวางตุ้ง และดินแดนใกล้เคียงลงมาถึงชายทะเล เป็นถิ่นฐานของชนเผ่า “ร้อยจำพวก” หรือ “ร้อยพ่อพันแม่” หมายถึงมีจำนวนมากเป็นร้อยๆ เผ่าพันธุ์จนนับไม่ถ้วน มีทั้งพวกพูดมอญ-เขมร พูดพม่า-ทิเบต หรือจีน-ทิเบต พูดม้ง-เย้า พูดไต-ไท หรือจ้วง-ต้ง และ ฯลฯ

เอกสารจีนโบราณเมื่อประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว เรีกยรวมๆ พวกนี้ว่า “ไป่เยะ” แปลว่า “เยะร้อยเผ่า” หรือเยะร้อยจำพวก” หรือ “เยะร้อยพ่อพันแม่” นั่นเอง (คำว่า “เยะ” นี้อ่านได้หลายอย่าง เช่น เย่ว์ แยะ เหยอะ เยอะ เหวียด หรืออวด ก็ได้)

นักวิชาการจีนส่วนมากอ้างถึงเอกสารจีนโบราณแล้วอธิบายว่า ชนเผ่า “ไป่เยะ” เป็นบรรพบุรุษของพวกพูดไต-ไททั้งหลาย เฉพาะที่อยู่ในดินแดนจีนภาคใต้ ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่ามี 8 กลุ่ม คือ 1.จ้วง 2.ปู้ยี 3.ต้ง 4.ไท (ไต) 5.หลี 6.สุ่ย 7.มู่หล่าว และ 8.เหมานาน รวมประชากรมากกว่า 18 ล้านคน

ในจำนวน 8 กลุ่มนี้ จ้วง เป็นพวกพูดตระกูลภาษาไต-ไทที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาประวัติศาสตร์คนไทย และเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ภูมิภาคอุษาคเนย์สมัยโบราณมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง

ประเพณีประโคมตีกลองทองมโหระทึกของชาวจ้วงที่หมู่บ้านหนาลี่ชุน อ. เทียนเอ๋อ เมืองจ้วง กวางสี (ภาพเมื่อ พ.ศ.2537)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image