พิสูจน์ ‘ระบบปฏิบัติน้ำ’ คบ.ท่อทองแดง ความหวังใหม่เกษตรกรเมืองกำแพงเพชร

โครงการท่อส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง

เม็ดฝนที่ตกลงมาอย่างไม่หยุดหย่อนในช่วงกลางดึก สมทบกับการยกบานประตูคลองสายย่อยเหนือน้ำ ปล่อยน้ำไหลเข้าพื้นที่สวนส้มของตนเอง เป็นผลให้เกษตรกรฝั่งตรงข้ามต้องพาพวกมาช่วยกันยกบานประตูด้านใต้ ปล่อยน้ำออกท้ายคลองก่อนที่น้ำจะท่วมสวนแตงและสวนมะพร้าวเสียหาย

นี่คือภาพแทนของปัญหาที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ชลประทานแทบทุกแห่งในเมืองไทย รวมทั้งที่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง (คบ.ท่อทองแดง) ต.หนองปลิง อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ซึ่งมีพื้นที่ชลประทานมากกว่า 5 แสนไร่ ไม่นับนอกเขตชลประทานอีกเกือบ 2 แสนไร่ หนึ่งในสองพื้นที่นำร่องนอกเหนือจากพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ โดยใช้งานวิจัยและเทคโนโลยีอัจฉริยะเป็นเครื่องมือพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เป้าหมายเพื่อลดค่าเฉลี่ยการใช้น้ำในภาคเกษตร อุตสาหกรรม รวมทั้งภาคครัวเรือนลงร้อยละ 15 และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ของน้ำในเขื่อนขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 85

ผศ.ดร.ภาณุวัฒน์ ปิ่นทอง จากศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และทีมวิจัย พาลงพื้นที่สาธิตการทำงานของชุดอุปกรณ์ควบคุมการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำอัตโนมัติ ที่ ทรบ.กำนันอ๋า ประตูระบายน้ำที่ควบคุมการทดน้ำเข้าคลองส่งน้ำสายซอย 1L และ 2L ซึ่งมีพื้นที่ชลประทานมากถึง 388,515 ไร่ ก่อนจะพาลงสำรวจพื้นที่เตรียมติดตั้งอุปกรณ์วัดระดับน้ำจุดอื่นๆ ผศ.ดร.ภาณุวัฒน์อธิบายถึง “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบปฏิบัติการบริหารจัดการน้ำเกษตรกรรม เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำเกษตรกรรมและการใช้น้ำต้นทุนที่เหมาะสม” ว่า เป็นการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบปฏิบัติการน้ำเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำต้นทุน ขณะเดียวกันก็เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในโครงการชลประทาน

เครื่องมือที่ใช้ในการจำลองน้ำ


“จุดนี้ (คลองสายซอย 2L) เป็นอีกจุดที่ประสบปัญหาในเรื่องการส่งน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปกับโครงการส่งน้ำชลประทาน โดยเฉพาะกับโครงการท่อทองแดง ที่ใช้คลองธรรมชาติเป็นคลองหลักในการส่งน้ำกระจายไปในพื้นที่กว่า 5 แสนไร่ ซึ่งเป็นโครงการชลประทานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จะเห็นว่าเกษตรกรบางส่วนในพื้นที่พยายามยกบานประตูเพื่อให้น้ำระบายไปด้านท้าย เนื่องจากอยู่ในพื้นที่เหนือน้ำประสบปัญหาน้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่เกษตร ในงานวิจัยชิ้นนี้ เราจึงมุ่งที่จะพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการจำลองน้ำ ร่วมกับการเก็บข้อมูลภาคสนามที่เป็นข้อมูลที่ทันต่อเหตุการณ์เพื่อให้เห็นว่า ปริมาณน้ำที่รับเข้ามาในโครงการจะส่งต่อไปยังพื้นที่เกษตรกรแต่ละแปลงจะใช้เวลานานเท่าไหร่ และพื้นที่ขนาดเท่าใดที่ได้รับผลกระทบจากการท่วมหรือการขาดแคลนน้ำ โดยจะมีอุปกรณ์วัดความชื้นในดิน อุปกรณ์วัดระดับน้ำในคลองส่งน้ำต่างๆ ถูกใช้เป็นโครงข่ายข้อมูลสำหรับทำแบบจำลองประเมินการจัดสรรน้ำไปยังพื้นที่เพาะปลูก”

Advertisement

ผศ.ดร.ภาณุวัฒน์ยังได้ขยายความเพิ่มเติมถึงเป้าหมายลดการใช้น้ำลงร้อยละ15 และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำต้นทุนจากเขื่อนภูมิพลร้อยละ 85 ว่า เนื่องจากเราเป็นโครงการชลประทานที่เสริมน้ำฝน รูปแบบการผันน้ำถ้าปีไหนน้ำมาก ฝนมาก โครงการจะรับน้ำเข้าไปน้อย ถ้าปีไหนฝนน้อย โครงการจะรับน้ำเข้าไปมาก ถ้าเราสามารถคาดการณ์ปริมาณฝนทั้งปี และนำมาประเมินการใช้น้ำจริงของเกษตรกร จะสามารถประหยัดน้ำได้มาก โดยใช้การส่งน้ำตามพฤติกรรมการใช้น้ำของเกษตรกร

“เราแบ่งโซนน้ำเป็น 20 โซน ซึ่งเป็นการแบ่งตาม ‘คลองส่งน้ำ’ ต่างจากแต่เดิมที่แบ่งตาม ‘ตำบล’ เพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการ ฉะนั้นระยะเวลาการส่งน้ำในแต่ละพื้นที่จะเริ่มต้นไม่เท่ากัน ในพื้นที่ลุ่มต่ำอย่างบางระกำ จะเริ่มส่งน้ำให้ก่อน อาจจะวันที่ 1 เมษายน แต่พื้นที่ต่อมาจะเริ่ม 1 พฤษภาคม จะสามารถประหยัดน้ำได้มาก เพราะการประหยัดน้ำ ไม่ได้หมายว่าไม่ใช้น้ำ แต่เป็นการใช้น้ำอย่างคุ้มค่า น้ำที่เราส่งไปทุกคนต้องได้ใช้ เป็นการสร้างความเท่าเทียมอย่างเป็นธรรมในการจัดสรรน้ำ” ผศ.ดร.ภาณุวัฒน์บอก

อีกโครงการที่ดำเนินการคู่ขนานกันไป คือ “โครงการพัฒนาเทคโนโลยีการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมที่เหมาะสม” รศ.ดร.พยุง มีสัจ ศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน มจพ. ในฐานะหัวหน้าโครงการ อธิบายว่า เป็นโครงการพัฒนาและติดตั้งอุปกรณ์การตรวจวัดน้ำที่เหมาะสม เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้น้ำอย่างคุ้มค่าและเป็นธรรม โดยใช้การติดตั้งอุปกรณ์วัดความชื้นของดินในแปลงนาของเกษตรกร อุปกรณ์วัดระดับน้ำที่คลองสายส่งหลัก และนำข้อมูลจากตัวเซ็นเซอร์ที่ได้มาบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสม โดยแบ่งการทำงานเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1 เป็นพัฒนาเครื่องมือการวัดความชื้นของดิน และวัดระดับน้ำในคลองชลประทานแบบเรียลไทม์ เพื่อให้ทันต่อการใช้งาน โดยนำข้อมูลจากเซ็นเซอร์ที่รับมาใช้ในการควบคุมการปิด-เปิดบานประตูรับน้ำอัตโนมัติส่วนที่ 2 เป็นเรื่องของระบบติดตาม รายงานสภาพการเปลี่ยนแปลงของน้ำในพื้นที่เกษตรกรรม ในการพัฒนาระบบควบคุมการสั่งงานเครื่องมือการบริหารจัดการน้ำ และส่วนที่ 3 เป็นการกำหนดพื้นที่ต้นแบบการประยุกต์ใช้เครื่องมือการบริหารจัดการน้ำในระบบแปลงนาและเทคโนโลยีการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม

Advertisement
รศ.ดร.พยุง มีสัจ

สำหรับโครงการนำร่องที่ คบ.ท่อทองแดง นอกจากติดตั้งชุดอุปกรณ์ปิด-เปิดบานประตูรับน้ำอัตโนมัติ 2 จุดหลักในคลองสายหลัก รศ.ดร.พยุงบอกว่า ยังจะมีการติดตั้งจุดวัดระดับน้ำตามคลองสายหลักและสายซอย 8 จุด รวมทั้งจุดวัดความชื้นในแปลงดิน 120 จุด เพื่อเป็นตัวแทนในภาคสนามที่จะเชื่อมโยงเข้าสู่โมเดลในการจัดสรรน้ำ ซึ่งขณะนี้บรรลุไปแล้ว ร้อยละ 50-60

เป็นความหวังใหม่ๆ ของเกษตรกรที่มาจากความมุ่งมั่นทุ่มเทในการดำเนินโครงการอย่างแท้จริง

เก็บข้อมูลภาคสนาม
เกษตรกรผู้ใช้น้ำ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image