‘พันเอก ปิ่น มุทุกันต์’ จากลูกอีสานสู่นักรบ ผู้ปกป้องพุทธศาสนายุคสงครามเย็น

ในช่วงเวลาที่ประเด็นถกเถียงด้านแนวคิดอันเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนายังคงร้อนแรง ย้อนไปในเวทีนำเสนอโครงการเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทยครั้งที่ 13 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เมื่อวันที่ 6-7 กันยายนที่ผ่านมา มีผลงานน่าสนใจที่ช่วยให้เห็นภาพชัดในประวัติศาสตร์ห้วงหนึ่ง ซึ่งสะท้อนวิธีคิดอันเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาดยเฉพาะในภาคอีสาน

‘พระพุทธศาสนาภาคอีสาน ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนถึงยุคสงครามเย็น’

โดย วิราวรรณ นฤปิติ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือผลงานที่กำลังพูดถึงปิ่น มุทุกันต์ (พ.ศ.2459-2515) เป็นลูกอีสาน เกิดที่บ้านคำพระ เมืองอำนาจเจริญ มณฑลอุบลราชธานี เกิดและโตในครอบครัวชาวนา เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 9 คน

ราวปี พ.ศ.2472 เด็กชายปิ่นได้รับการฝากฝังให้เป็นลูกศิษย์วัดบ้านคำพระ โดยมี พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นผู้ดูแล

Advertisement

การก้าวขึ้นบันไดชีวิตของ พันเอก ปิ่น เป็นจังหวะเดียวกันกับที่โครงสร้างของรัฐไทยกำลังได้รับการพัฒนาและจะส่งผลอย่างมหาศาลต่อการไหลบ่าเข้ามายังเมืองหลวงของประชากรจากภูมิภาคต่างๆ พันเอก ปิ่น เข้าสู่วงการศาสนาตั้งแต่ยังเป็นเด็กผ้าขาว ขณะนั้นอิทธิพลของคณะธรรมยุติกนิกายได้ตั้งมั่นลงบนท้องถิ่นอีสานเรียบร้อยแล้ว วัดสุปัฏนาราม อุบลราชธานี กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาสำคัญของมณฑลอีสาน ผลิตนักเปรียญธรรมเป็นจำนวนมาก จนอีสานได้รับยกย่องว่าเป็นเมืองแห่งพระนักปราชญ์ พันเอก ปิ่น ผ่านเส้นทางการศึกษาพระพุทธศาสนานี้ และได้เข้ามาจำวัดอยู่ที่วัดสัมพันธ์วงศ์ กรุงเทพมหานคร สังกัดธรรมยุติกนิกาย

วิราวรรณ นฤปิติ

ต่อมา ปิ่น มุทุกันต์ ลาสิกขา เพื่อสอบเข้ารับราชการตำแหน่งอนุศาสนาจารย์ทหารบก เป็นข้าราชการกระทรวงกลาโหม สัญญาบัตรชั้นตรี ท่านใช้ความสามารถในการเทศน์ปากเปล่าที่ฝึกฝนมาตั้งแต่ตอนที่อยู่สำนักวัดเกาะจนทำให้อนุศาสนาจารย์เป็นที่รู้จักในที่สาธารณะในฐานะนักพูดผู้บรรยายธรรมะ ระหว่างทศวรรษที่ 2490 เป็นต้นมาจนถึง พ.ศ.2500 ชื่อเสียงของท่านมาถึงจุดสูงสุด เป็นที่กล่าวขวัญในหมู่ประชาชนทั่วไปในบทบาทผู้สอนศีลธรรมและนักพูดผู้บรรยายธรรมะ

“ในปีพุทธชยันตีหรือปีกึ่งพุทธกาล (พ.ศ.2500) ปิ่น มุทุกันต์ ขณะนั้นมียศเป็นพันโท ได้มีส่วนร่วมสร้างปรากฏการณ์เพื่อฉลองวาระสำคัญทางศาสนานี้ โดยชักชวนให้บุคคลทั่วไปร่วมศึกษาธรรมะผ่านรายการวิทยุธรรมนิเทศ ออกอากาศทางสถานีวิทยุของกรมทหารสื่อสาร แรกเริ่มจัดรายการวิทยุเพื่ออบรมทหาร แต่ได้กลายมาเป็นช่องทางในการเชื่อมประชาชนให้เข้าถึงธรรมะโดยการชักชวนให้ผู้ฟังทั่วไปให้ร่วมฉลอง 25 พุทธศตวรรษกับทางราชการซึ่งจัดเป็นพิธีใหญ่โต การบรรยายเริ่มตอนที่หนึ่งเมื่อวันพุธที่ 24 พฤษภาคม ปี พ.ศ.2499 และสิ้นสุดในตอนที่ 45 (เท่ากับพระชนมายุของพระพุทธเจ้าหลังตรัสรู้) เมื่อวันพุธที่ 27 มีนาคม ปี พ.ศ.2500 ภายหลังได้มีการรวมเล่มเป็นหนังสือชื่อว่าคำบรรยายพุทธศาสตร์ ฉบับฉลอง 25 พุทธศตวรรษ มีทั้งหมด 3 ภาค

Advertisement

“พระพุทธศาสนาไทยยุคสงครามมีความสัมพันธ์กับรัฐราชการอย่างแนบแน่น จากการศึกษาผ่านชีวิตและงานของพันเอก ปิ่นมุทุกันต์ ได้แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์และสังคมวิทยาในสังคมพระพุทธศาสนาอีสานอย่างสำคัญ พัฒนาการดังกล่าวเริ่มขึ้นในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จากนั้นคือการรุกคืบเข้าไปเผยแผ่อิทธิพลของธรรมยุติกนิกาย จนกระทั่งอิทธิพลของคณะธรรมยุตนี้เข้าไปตั้งมั่นและมีบทบาทสำคัญในวงการสงฆ์สายวัดป่าอีสาน

การประดิษฐานของคณะธรรมยุตในอีสานนี้ยังเป็นบันไดขั้นสำคัญให้กับลูกหลานชาวอีสานอย่างพันเอก ปิ่น ในการประสบความสำเร็จทางอาชีพในองค์กรราชการะดับชาติ และสร้างชื่อเสียงทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์ พันเอก ปิ่น ผู้ซึ่งต่อมาได้รับตำแหน่งอธิบดีกรมการศาสนา สนับสนุนแนวทางพัฒนาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ด้วยการตีความพระคัมภีร์ มงคลสูตร สิงคาลกสูตร และกาลามสูตร สอนให้พุทธศาสนิกใช้จ่ายอย่างประหยัด ขยันทำมาหากิน คบแต่มิตรที่ดี ปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ให้เท่าทันกับยุคพัฒนาที่กำลังก่อร่างสร้างตัว” วิราวรรณกล่าว

ไม่เพียงเป็นผู้บรรยายเผยแผ่หลักธรรมคำสอน การค้นคว้าของวิราวรรณทำให้ทราบว่า

พันเอก ปิ่น ได้ชื่อเป็นนักรบผู้ปกป้องศาสนาพุทธ ไม่ว่าจะเป็นโครงการพระธรรมทูตที่ท่านรื้อฟื้นขึ้นมา ดำเนินการโดยรับสมัครพระนักเปรียญธรรมจากกรุงเทพฯ เดินทางไปเผยแผ่ศาสนายังพื้นที่หุบเขาที่ห่างไกลทางภาคเหนือ และอีสาน พระธรรมทูตเหล่านี้ยังเป็นตัวนำความเจริญด้านโครงสร้างพื้นฐานเข้าไปยังชนบทเพื่อจุดประสงค์หลักคือต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์

“พ.ศ.2506 ท่านรับตำแหน่งอธิบดีกรมการศาสนา ทำงานเผยแผ่ธรรมะร่วมกับงานพัฒนาวัดทั่วประเทศ ผลงานสำคัญคือการรื้อฟื้นโครงการพระธรรมทูตและธรรมจาริก อันเป็นการส่งพระนักเปรียญธรรมออกไปเผยแผ่ศาสนาพุทธยังพื้นที่ห่างไกล ซึ่งนักวิชาการทางด้านมานุษยวิทยาชื่อดังอย่าง ชาร์ลส์ คายส์ วิเคราะห์ว่าเป็นโครงการใช้ศาสนาพุทธต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ภาคเหนือและภาคอีสาน โครงการพระธรรมทูตนี้เหมาะสำหรับประชาชนในย่านห่างไกลความเจริญและถิ่นทุรกันดาร การคมนาคมไม่สะดวก โครงการนี้ประสบความสำเร็จจนกระทั่งมหาเถรสมาคมรับช่วงต่อดำเนินกิจการมาจนถึงปัจจุบัน” วิราวรรณปิดท้าย

นับเป็นอีกหนึ่งชีวประวัติน่าสนใจทั้งยังมีมิติหลากหลายชวนให้ขบคิด เชื่อมร้อย และโยงใยเหตุการณ์ต่างๆ เพื่ออธิบายความเป็นไปในประวัติศาสตร์ที่ส่งผลมาถึงทุกวันนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image