‘สามัคคีโฟล์กซอง’ ความมหัศจรรย์ของดนตรีบำบัด

อานุภาพของดนตรีช่างวิเศษเหลือล้น เห็นได้จาก โครงการสามัคคีโฟล์กซอง “Folk Song in Harmony” โดย มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ร่วมกับ แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ให้โอกาสเด็กและเยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านอุเบกขา, ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านมุทิตา, ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้าน กาญจนาภิเษก, ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายสิรินธร โรงพยาบาลตุลาการเฉลิมพระเกียรติ และโรงเรียนฟ้าใสวิทยา เรียนรู้เทคนิคการเล่นดนตรี ซึ่งจัดแสดงไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้ ที่คอนเสิร์ตฮอลล์ “Yamaha Music Hall” ชั้น 4 อาคารสยามกลการ ถนนพระราม 1 กรุงเทพมหานคร

ครูทอมมี่-ทยารัตน์ โสภณพงษ์ สมาชิกวงจันทร์แรม เล่าให้ฟังว่า เมื่อ 4 เดือนที่แล้วได้รับการติดต่อจากมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ให้เข้าร่วมโครงการสามัคคีโฟล์กซอง “Folk Song in Harmony” โดยการถ่ายทอดความรู้ เทคนิค และวิธีการให้กับเด็กและเยาวชนทั้ง 5 ศูนย์ฝึก และ 1 โรงเรียน สิ่งที่วงได้รับในวันแรกที่เข้าบ้านไม่ใช่ความรุนแรง หรือความก้าวร้าว ทว่า เป็น “แพชชั่น” ซึ่งเห็นจากแววตาเด็กๆ ที่พร้อมเปิดใจเรียนรู้ดนตรี

“เราวางแผนร่วมกับมูลนิธิ และแผนงานว่าแต่ละสัปดาห์จะสอนอะไร เราเป็นนักดนตรีก็อยากเทให้เขาได้ทั้งหมดเหมือนกัน แต่ด้วยระยะเวลาและการประเมินความจำเป็น จึงต้องตัดทอนสิ่งที่เป็นประโยชน์ และเด็กสามารถนำไปใช้ในชีวิตได้จริง เช่น การอ่านโน้ต เขาไม่สามารถอ่านโน้ตทั้งเล่มได้ นั่นคือโจทย์ที่วงจันทร์แรมต้องมาขบคิดว่าจะมีเทคนิคอะไรที่เขาจะเข้าใจได้ง่ายและเร็วที่สุด เราได้ฝึกความเป็นมืออาชีพผ่านการสอนดนตรีให้เด็กทุกบ้าน เด็กต้องฟังพูดอ่านเขียนได้ ต้องรู้จักทฤษฎี รู้จักการรวมกับวง ฉะนั้นเขาจะได้รู้จัก 3 อย่าง คือ พื้นฐาน การรวมวง และประยุกต์ใช้ และปัญหาเราเจอคือเครื่องดนตรีมีจำกัด เราก็จัดหามาให้เด็กได้เล่นกันครบวงเลย และสิ่งที่น่าทึ่งคือเขาทำได้ เขามีศักยภาพมากกว่าที่เราคิด เราจึงต้องดันเขาไปให้สุด” ครูทอมมี่กล่าว

Advertisement
ทยารัตน์ โสภณพงษ์


ขณะที่ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข บอกว่า งานศิลปะทุกชนิดเป็นเสรีภาพที่ทุกคนจะทำได้ หัวใจที่เสรีนำไปสู่การพัฒนาความสามารถด้านต่างๆ เด็กเกิดมาทุกคนมีความสามารถที่แตกต่างกัน แต่ความสามารถนั้นต้องมาจากการฝึกฝนให้เชี่ยวชาญ เพราะสุดท้ายแล้วจะพบว่าไม่มีใครทำให้เราเก่งได้ นอกจากตัวเราเองต้องฝึกทุกวัน เด็กที่เข้าร่วมโครงการในวันนี้ถือว่าได้รับโอกาสที่ดีมาก สามารถเดินต่อไปได้อย่างมีความหวัง ขอให้ทุกคนอย่าสิ้นหวัง คนเราเลือกเกิดไม่ได้ ลบอดีตไม่ได้ เขียนประวัติศาสตร์ของเราใหม่ไม่ได้ แต่ทุกคนสามารถเลือกอนาคตได้ ด้วยการสร้างจากมือของเราเอง

Advertisement


ไม่ต่างจาก รศ.ดร.เกสินี ประทุมสุวรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่อยากให้เด็กๆ คิดถึงวันงานดังกล่าวไว้ เพราะเป็นความมหัศจรรย์ พร้อมกันนี้ยังขอให้ทุกคนเขียนประวัติศาสตร์ของตัวเองให้ดี เริ่มต้นสร้างชีวิตใหม่ และกลับมาช่วยงานที่บ้าน สอนน้องๆ เล่นดนตรีแบบที่ตัวเองเคยได้รับโอกาส

“วันนี้เป็นคอนเสิร์ตเล็กๆ อบอุ่น แต่มีพลัง และแผนงานพร้อมสนับสนุนโครงการนี้ทุกปีเรื่อยมา จนมาถึงวันนี้เรารับรู้ได้เลยว่าเด็กทุกคนตื่นเต้นมาก เขาตื่นเต้นกับสถานที่ ไม่เหมือนตอนแสดงที่บ้าน สัมผัสได้ถึงความจริงใจสิ่งที่เด็กทุกบ้านถ่ายทอด เขาทำให้คนฟังมีความสุข อิ่มตา อิ่มหู อิ่มใจ และเด็กทุกคนบอกว่านี่คือความฝันของเขา ในอนาคตเมื่อเขากลับไปอยู่ในสังคม ชีวิตเขาอาจจะสะดุดบ้าง แต่สิ่งนี้คือคำตอบที่จะเยียวยาให้เขาดำเนินชีวิตต่อไปได้”

รศ.ดร.เกสินี ประทุมสุวรรณ


และสำหรับ โอ้ (นามสมมุติ) วัย 20 ปี จากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก เปิดเผยว่า เมื่อ 3 ปีที่แล้วมีความผิดฐานมียาเสพติดไว้ในครอบครอง และต้องใช้ชีวิตที่บ้านนี้ต่อไปอีก 5 ปี ครั้งแรกที่มีครูจากมูลนิธิและวงจันทร์แรมเข้ามาสอนดีใจมากและเกิดแรงบันดาลใจ อยากเล่นดนตรีอย่างจริงจัง ในที่สุดก็ทำสำเร็จ ตนกับเพื่อนรวมตัวกันเป็นวงเพื่อไปเล่นดนตรีเปิดหมวกที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และตลาดนัดจตุจักร ได้เงินมาจำนวนหนึ่ง ภูมิใจมาก นอกจากนี้ ยังได้มิตรภาพจากเพื่อนทุกบ้าน กิจกรรมนี้ทำให้เราได้รู้จักกัน มีกิจกรรมระหว่างบ้านร่วมกัน ทำให้พวกเราคลายเครียด

“ดนตรีคือยาบำบัดชั้นดี เราสามารถเล่นดนตรีได้ทุกที่ ตอนนี้เสียงดนตรียังทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับพ่อแม่ดีขึ้นมาก ความผูกพันในครอบครัวเริ่มก่อกำเนิด เรามีบทสนทนาที่ดีด้วยกันเสมอ แม่ขอให้ผมเล่นเพลงโปรดให้ฟังทุกครั้งที่เจอกัน ผมดีใจที่เสียงดนตรีจากลูกชายทำให้คนเป็นแม่ยิ้มได้ครับ” โอ้เล่าอย่างภูมิใจ

เชื่อไหมว่า อานุภาพของดนตรีช่างวิเศษเหลือล้นจริงๆ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image