นับถอยหลัง ห้วงเวลาแห่งความปีติ ‘สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส’ เสด็จเยือนไทย เชื่อมอารยธรรม ‘รัก’ ของมวลมนุษยชาติ

คริสตศักราช 2019 นับเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์อันเกี่ยวเนื่องกับคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกในดินแดนไทย เนื่องด้วยการครบรอบเหตุการณ์สำคัญยิ่ง ไม่ว่าจะเป็น

350 ปี การก่อกำเนิด “มิสซังสยาม” ครั้งแรกภายใต้การผลักดันของ พระสังฆราชฟรังซัวส์ ปัลลือ ในยุคกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี 1669

50 ปี แห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยและนครรัฐวาติกัน เมื่อปี 1696

35 ปี สมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์แรกเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 1984

Advertisement

เมื่อปฏิทินล่วงมาถึงวันศุกร์ที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา “สำนักวาติกัน” แถลงว่าสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก จะเสด็จเยือนประเทศไทยระหว่างวันที่ 20-23 พฤศจิกายนนี้ ก่อนจะทรงเดินทางต่อไปยังประเทศญี่ปุ่น เสด็จเยือน ฮิโรชิมา และนางาซากิ 2 เมืองที่ถูกระเบิดปรมาณูถล่มในสงครามโลกครั้งที่ 2

นับเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ทศวรรษ ของประมุขแห่งคาทอลิก ตั้งแต่การเสด็จเยือนญี่ปุ่นของสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 เมื่อปี 1991 และเสด็จเยือนไทยในปี 1334 ตรงกับ พ.ศ.2537

ในวันเดียวกัน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ออกข่าวสารนิเทศแจ้งถึงประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่าเป็นการเสด็จอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของรัฐบาลไทยและสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย (Catholic Bishops’ Conference of Thailand)

Advertisement

เช่นเดียวกับการแถลงข่าวอันน่ายินดี ณ ห้องประชุมชั้น 11 อาคารรวมจิตเพียรธรรม โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร โดยมี อาร์ชบิชอป พอล ชาง อิน นัม เอกอัครสมณทูตนครรัฐวาติกัน ประจำประเทศไทย อ่านประกาศเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทย ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เป็นภาษาอิตาเลียน และพระคาร์ดินัล ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช ประธานสภาประมุขบาทหลวง อ่านประกาศเป็นภาษาไทย

ไม่เพียงนำมาซึ่งความปลื้มปีติแก่คริสต์ศาสนิกชนไทยซึ่งมีประชากรคาทอลิกจำนวน 388,468 คน แต่รวมถึงคนไทยผู้ประสงค์จะอยู่ร่วมเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่ถึง 60 วันข้างหน้า

แถลงข่าวการเสด็จเยือนไทย ที่ โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ กรุงเทพ เมื่อ 13 กันยายนที่ผ่านมา

ภารกิจยิ่งใหญ่ สร้างสะพานสันติภาพสู่มวลชน

“…ภารกิจสำคัญอีกอย่างของการมาเยือนของพระสันตะปาปา คือ การจาริกแสวงบุญ สร้างสะพานแห่งสันติภาพ เพื่อนำสันติสู่มวลชนทุกคนด้วย โดยการพบปะพูดคุยกับประชาชนกลุ่มต่างๆ”

คือถ้อยแถลงของ มงซินญอร์ ดร.วิษณุ ธัญญอนันต์ รองเลขาธิการสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย หลังการกล่าวถึงจุดประสงค์และพันธกิจสำคัญคือ มาเยี่ยมพี่น้องคริสตชนในประเทศไทย รวมทั้งการร่วมเสวนาทางศาสนา กับผู้นำทางศาสนาทุกศาสนาในประเทศไทย เพื่อเปิดมิติการทำงานเชื่อมการศาสนาต่างๆ โดยอาจมีการพบเจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก รวมถึงการพบผู้ป่วย เวชบุคคล ผู้นำเยาวชน ประชาชนชาวไทย คนจน และพบคณะทูต ซึ่งอยู่ระหว่างการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการหารือร่วมกันกับนครรัฐวาติกัน สำหรับความพร้อมในการเตรียมงาน คืบหน้าราว 80% แล้ว

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเผยถึงภารกิจที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนของสมเด็จพระสันตะปาปา คือ การทำ “พิธีมิสซา” โดยจะจัดขึ้น 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 สำหรับประชาชนชาวไทย และครั้งที่ 2 สำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ส่วนสถานที่จัดงานอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดของวันเวลา การเดินทางของประชาชน จำนวนคนที่เข้าร่วม เบื้องต้นมีความเป็นไปได้สูงว่าอาจจัดในสนามกีฬาที่สามารถรองรับผู้คนได้มาก

ซิสเตอร์อานา โรซา ซิโวรี รองอธิการ ‘เซนต์เมรี อุดรธานี’ ญาติใกล้ชิดโป๊ปฟรานซิส

เปิดใจพระญาติใกล้ชิดโป๊ปฟรานซิส
รองอธิการ ‘เซนต์เมรี่ อุดรธานี’

อีกหนึ่งเรื่องราวน่าสนใจที่เกี่ยวเนื่องกับการเสด็จเยือนไทยของพระสันตะปาปาพระองค์นี้ คือทรงมีผู้ใกล้ชิดอยู่ในประเทศไทยด้วย สำนักข่าวระดับโลกอย่าง เอเอฟพี ได้ระบุถึง ซิสเตอร์อานา โรซา ซิโวรี (Sr. Ana Rosa Sivori) ญาติผู้ใกล้ชิดกับพระสันตะปาปา ซึ่งเปิดโรงเรียนคาทอลิกสตรีอยู่ในประเทศไทย ว่าจะต้อนรับโป๊ปฟรานซิสในช่วงที่เสด็จเยือนกรุงเทพฯ

เรื่องราวของ ซิสเตอร์ อานา โรซา ซิโวรี ถูกเปิดเผยผ่านเว็บไซต์ popevisitthailand.com โดยอ้างอิงจาก “อุดมสาร” ฉบับที่ 40 ประจำวันที่ 29 กันยายน-5 ตุลาคม 2019

“พระสันตะปาปากับซิสเตอร์ เราเป็นญาติพี่น้องกัน เป็นชั้นที่ 2 คุณตาพระสันตะปาปากับคุณปู่ของซิสเตอร์ เป็นพี่น้องกัน แม่ของพระสันตะปาปาและบิดาของซิสเตอร์ก็เป็นพี่น้องกัน ท่านอายุมากกว่าซิสเตอร์ 6 ปี สมัยที่เป็นเด็กๆ ครอบครัวเราอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน สังกัดวัดนักบุญคาร์โล หรือนักบุญชาร์ลส์ เป็นวัดของคณะซาเลเซียน ได้รับศีลล้างบาปที่วัดเดียวกัน” ซิสเตอร์ อานา โรซา ซิโวรี กล่าว

ซิสเตอร์ ถวายตัวเป็นนักบวชคณะธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์ (คณะซาเลเซียนหญิง) ในคริสต์ศักราช 1965 และสมัครใจเป็นธรรมทูต ปีเดียวกันนั้น ผู้ใหญ่ก็ส่งให้เตรียมตัวอยู่ที่อิตาลี 11 เดือน และมาถึงประเทศไทย ในปี 1966 ตรงกับ พ.ศ.2509 ปัจจุบันเป็นรองอธิการโรงเรียน เซนต์เมรี่ อุดรธานี

เมื่อครั้งเสด็จเยือนเมียนมา เมื่อ พ.ศ.2560

“ซิสเตอร์รู้สึกดีใจมาก และขอบคุณพระเป็นเจ้าที่พระสันตะปาปาฟรังซิสจะเสด็จเยี่ยมประเทศไทยที่รักของเราเร็วๆ นี้ เป็นพระพรพิเศษสำหรับชาวไทยคาทอลิกทั้งหลาย และหวังว่าทุกคนก็จะมีความยินดี

ในการมาเยี่ยมของพระองค์เช่นกัน

อยากจะบอกทุกคนว่าพระสันตะปาปาฟรังซิสจะมาเยี่ยมชาวไทยเพื่อร่วมยินดีกับเราใน 350 ปีของมิสซังสยาม พระองค์เลือกที่จะมาประเทศไทยของเราเพราะพระองค์รักและอยากพบทุกคนไม่ว่าชาติใดศาสนาใด พระองค์ยินดีมอบสิ่งที่ดีๆ สิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อให้ทุกคนพบความสุขแท้ในชีวิต การเยี่ยมของพระองค์เป็นของขวัญที่ยิ่งใหญ่สำหรับเราทุกคน

ซิสเตอร์อยากให้ทุกคนเตรียมตัวเตรียมใจด้วยคำภาวนาเพื่อการเยี่ยมของสมเด็จพระสันตะปาปาจะนำพระพรและการฟื้นฟูความเชื่อ ความศรัทธาในพระเจ้ามาสู่คริสตชนไทยทุกคนให้เราเปิดใจเลียนแบบพระองค์ในการแบ่งปันกับคนยากจนและด้อยโอกาส ให้พวกเขาได้สัมผัสกับความรักของพระเจ้าผ่านทางชีวิตของเราเหมือนที่พระสันตะปาปาได้ทรงกระทำให้โลกได้เห็น” ซิสเตอร์เปิดเผยกับ “อุดมสาร”

ศิลปินไทยร่วมใจขับขาน ‘ให้รักเป็นสะพาน’

นอกจากการเตรียมการอย่างแข็งขันของฝ่ายศาสนจักรในไทย ยังมีความเคลื่อนไหวจากเหล่าศิลปิน ดารา นักร้องที่ชาวโรมันคาทอลิก ซึ่งร่วมแรงร่วมใจกันขับร้องบทเพลง “ให้รักเป็นสะพาน” สำหรับอุทิศเป็นเพลงที่ใช้ตลอดงาน เพื่อสร้างความเข้าใจในเป้าหมายและธรรมชาติของการเยือนประเทศต่างๆ ของพระองค์ โดยเนื้อหากล่าวถึง การมอบความรักเป็นสะพานเชื่อมโยงสู่กัน เพื่อทำให้โลกนี้มีสันติสุข

บิลลี่ โอแกน, คริสติน่า อากีล่า, นิโคล เทริโอ, เปาวลี, ทอม อิศรา, เพชร เผ่าเพชร, แปม ศิรภัสรา, เฟ้น นักร้องนำจากวงพอส และฟ้อนด์ BNK48 และอาจารย์ใบหม่อน-ศิโยน ดาวรัตนหงษ์ และบาทหลวงประธาน ตันเจริญ พร้อมกับการรวมกลุ่มเด็กและเยาวชนจากโรงเรียนคาทอลิกอีก 15 คน คือทีมแห่งความรักที่ร่วมถ่ายทอด “สาร” อันไพเราะด้วยฝีมือการร้อยเรียงถ้อยคำออกมาเป็นบทเพลงโดย ชวัลย์วิทย์ ยิ่งยศเสนี นักแต่งเพลงมากฝีมือ ร่วมด้วย แมนลักษณ์ ทุมกานนท์ หรือ โซ่ วง ETC ซึ่งมารับหน้าที่โปรดิวเซอร์และเรียบเรียงดนตรี ควบคุมการผลิตโดย บาทหลวงอนุชา ไชยเดช ผู้อำนวยการสื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย และ กริช ทอมมัส รองกรรมการผู้อำนวยการ บริหารหน่วยงาน สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิก โดยจะมีมิวสิกวิดีโอให้รับชมทั่วประเทศในเร็วๆ นี้

คือภารกิจสำคัญอันจะเชื่อมมิตรภาพระหว่างผู้คน ศาสนา วัฒนธรรม ภราดรภาพ พร้อมส่งสารของอารยธรรมแห่งความรัก ซึ่งคนไทยรอคอยด้วยใจอันเบ่งบาน

พระคาร์ดินัลฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช, มงซินญอร์ ดร.วิษณุ ธัญญอนันต์, คุณพ่ออันโตนีโอ วาลแซ็กกี และคุณพ่อเชษฐา ไชยเดช เดินทางไปยัง APOSTOLIC PALACE นครรัฐวาติกัน เพื่อ พบมงซินญอร์ Guido Marini นายจารีตของสมเด็จพระสันตะปาปา เพื่อเตรียมพิธีมิสซา เมื่อวันที่ 16 กันยายน


ชีวิตและพันธกิจแห่งรัก
โป๊บฟรังซิส พระสันตะปาปาองค์ที่ 266 แห่งศาสนจักร

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส มีพระนามเดิมว่า ฮอร์เก มาริโอ แบร์โกลิโอ เสด็จพระราชสมภพเมื่อ 17 ธันวาคม ค.ศ.1936 เป็นบุตรของคนงานทางรถไฟ ทรงได้รับปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเคมี จากมหาวิทยาลัยบัวโนสไอเรส และทรงเข้าศึกษาในสามเณราลัย พระองค์ได้ปฏิญาณตนเป็นนักบวชคณะแห่งพระเยซูเจ้า (เยสุอิต) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ.1958

ต่อมาใน ค.ศ.1967 ทรงจบการศึกษา แล้วรับศีลบวชเป็นบาทหลวงเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ.1969 ทรงทํางานสอนที่มหาวิทยาลัยซานมีเกล (San Miguel) จนดํารงตําแหน่งเป็นศาสตราจารย์ทางเทววิทยาแล้วได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราชผู้ช่วยแห่งบัวโนสไอเรส และได้สืบตําแหน่ง เป็นพระอัครสังฆราชแห่งบัวโนสไอเรส วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1998

21 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2001 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัล โดยสมเด็จพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 ครั้นเมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 ทรงสละตําแหน่งเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2013 ได้มีการจัดการประชุมเลือกตั้งพระสันตะปาปาในวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ.2013 การเลือกตั้งสำเร็จลงวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ.2013 หลังจากการลงคะแนนเสียงครั้งที่ 5 โดยพระคาร์ดินัลผู้มีสิทธิออกเสียงจํานวน 115 ท่าน พระคาร์ดินัลฮอร์เก แบร์โกลิโอ พระอัครสังฆราชแห่ง บัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ได้รับเลือก และทรงเลือกพระนาม “ฟรังซิส” ซึ่งหมายถึงนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซี

นับเป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรกจากทวีปอเมริกาและคณะเยสุอิต และเป็นองค์แรกในรอบ 1,300 ปี ที่ไม่ได้เป็นชาวยุโรป นับตั้งแต่สมเด็จพระสันตะปาปาเกรโกรี่ ที่ 3 ชาวซีเรีย เมื่อปี ค.ศ.731 และถือเป็นพระสันตะปาปาที่ไม่ได้เป็นชาวอิตาเลียนคนที่ 3 ติดต่อกัน

สำหรับช่องทางการติดตามข่าวสารการเสด็จเยือนประเทศไทยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ได้แก่

www.popevisitthailand.com

Facebook: popevisitthailand

Twitter: popevisit_th

Instagram: popevisitthailand2019

Youtube: Pope Visit Thailand

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image