ธนาคารน้ำใต้ดิน ทางรอด ‘ท่วม-แล้ง’ นวัตกรรมสังคม ต้านภัยธรรมชาติ

การสาธิตวิธีการทำธนาคารน้ำระบบปิด

ช่วงฤดูฝนจะมีมวลน้ำจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถบริหารจัดการได้ ในฤดูแล้งเราขาดแคลนน้ำ และหลายพื้นที่ประสบปัญหานี้ เช่นเดียวกับ หนองมะโมง ดินแดนภาคกลาง ทางทิศตะวันตกของ “ชัยนาท” ที่ไม่สามารถนำน้ำจากเจ้าพระยามาใช้ได้แม้แต่หยดเดียว ทำให้ต้องเผชิญปัญหาอุทกภัยและความแห้งแล้งซ้ำซาก

“เวลาฝนตกหนองมะโมงจะได้รับมวลน้ำมหาศาลจาก อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี เพราะเป็นพื้นที่ราบสูงกว่า ปราการทางธรรมชาติ คือ ต้นไม้ถูกทำลาย กอปรกับสภาวะของแหล่งน้ำที่ตื้นเขิน ทำให้มวลน้ำลงสู่พื้นที่ อ.หนองมะโมงได้อย่างรวดเร็ว” คำกล่าวของ สายัณห์ ฉุนหอม วิทยากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้นแบบจัดการน้ำตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ธนาคารน้ำใต้ดิน) ภาคกลาง สะท้อนชัดถึงภาพความลำบากของผู้ประสบปัญหาในเรื่อง “น้ำ” อันเป็นส่วนหล่อเลี้ยง “ชีวิต”

20 พ.ค. 2560 ชูชีพ สุพบุตร นายกเทศบาลตำบลหนองมะโมง ตัดสินใจเดินหน้าเสาะหาศาสตร์มาปรับใช้กับพื้นที่ ศึกษาดูงานที่ อบต.เก่าขาม อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี จนได้เรียนรู้แนวทางการเก็บน้ำไว้ใต้ดินในลักษณะฝากธนาคาร กลับมาศึกษาองค์ประกอบทั้งสภาพภูมิประเทศ ชั้นดิน ผังน้ำ และชุมชน หลายส่วนประกอบกัน นำไปสู่การทดลองทำ “ธนาคารน้ำใต้ดิน” เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมขังในพื้นที่

กว่า 2 ปีที่น้อมนำพระราชดำรัสของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องการเก็บน้ำไว้ในถ้ำมาดำเนินกิจกรรม ตาม 3 ข้อหลัก คือ 1.หาที่ให้น้ำอยู่ ด้วยการสร้างฝาย อ่าง สระ 2.หาที่ให้น้ำไป ด้วยการสร้างทางระบายน้ำ และ 3.ทำที่กักเก็บน้ำแบบถาวร ด้วยการเก็บน้ำไว้ใต้ดิน

Advertisement

มาวันนี้ 81.60 ตารางกิโลเมตร ของ 12 หมู่บ้าน มีหวังหลังจากน้ำท่วมขังสลับแห้งแล้งมาเป็นเวลากว่าร้อยปี

ตัวอย่างนวัตกรรมธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด

แต่ 10 ปากว่าไม่เท่าตาดู ชูชีพ สุพบุตร นายกของหนองมะโมง อาสาพานำเยี่ยมชมโครงการด้วยตนเอง เมื่อ 11 กันยายนที่ผ่านมา ถือโอกาสเปิดตัว โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด)ละโครงการการบริหารจัดการธนาคารน้ำใต้ดินด้วยเทคโนโลยีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในพื้นที่ชุมชนหนองมะโมง 2 นวัตกรรมอันเป็นผลสำเร็จจากความร่วมมือของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ที่เข้ามาสนับสนุนเรื่องทุนในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคม และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่เข้ามาช่วยดูในส่วนของนวัตกรรม

กวาดสายตารอบ 35 ไร่ อันเขียวขจี นี่คือผืนดินที่นายกหนองมะโมงเสียสละหวังเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ

“วันนี้หนองมะโมงชุ่มฉ่ำไปโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นภูเขา ที่ราบ ที่ดินสาธารณประโยชน์ 1,000 กว่าไร่ สร้างความชุ่มชื้นให้ที่ดินบริเวณนี้เป็นอย่างดี จากธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด เมตร 50 x เมตร 50 เพียงแค่ 30-40 จุดเท่านั้น

กราบเรียนว่าทำไปแล้วได้ผลดีแน่นอน ผลที่ชัดเจนคือทำให้ป่าไม้เขียวชอุ่ม ทำให้พื้นที่ระบบน้ำตื้นสามารถขุดดินลงไปเมตร 50 แล้วเจอน้ำเลย ส่วนที่ทำในศูนย์เรียนรู้นี้ สมัยก่อนขุดลงไป 2-3 เมตร ยังไม่มีน้ำ แต่ปัจจุบันขุดไปเพียง 1.5 เมตร ก็สามารถนำน้ำขึ้นมาใช้ได้ตลอดทั้งปี ใช้ทั้ง 35 ไร่ก็ไม่หมด เป็นนวัตกรรมที่เราทำสำเร็จมาแล้ว” ท่านนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลการันตี

ก่อนจะพาชมสาธิต การถอนน้ำจากธนาคารใต้ดินมาใช้ในแปลง โดยมี สายัณห์ ฉุนหอม วิทยากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อธิบายเป็นระยะ

“ธนาคารน้ำใต้ดิน คือการเก็บน้ำไว้ใต้ดิน มี 2 ประเภท คือ ระบบปิด ที่ใช้วัสดุอุปกรณ์ในการจัดทำ และระบบเปิด เป็นการขุดสระ หรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่ให้ทะลุชั้นดินดานเพื่อให้สามารถเก็บน้ำอยู่ได้ ต้องทำ 2 ประเภทควบคู่กันจึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด”

โดยจะขอกล่าวถึงระบบปิดที่ใช้งบ 3,000 บาทเท่านั้น อุปกรณ์มีดังนี้ 1.หินใหญ่คละขนาด (หินลิปแลป) 2.หินย่อยขนาดเล็ก 3.ผ้ามุ้ง ผ้าตาข่าย หรือจีโอเท็กซ์ไทล์ 4.ท่อ PVC เส้นผ่านศูนย์กลาง 2 นิ้ว หรือ 3 นิ้ว ยาว 2 เมตร และ 5.ท่อ PVC สามทางขนาดพอดีกัน

หลักการทำธนาคารน้ำใต้ดิน เริ่มจากหาจุดรวมน้ำ จุดที่น้ำท่วมขัง ที่ไม่มีสารเคมีหรือยาฆ่าแมลง ขุดหลุมขนาดกว้าง ยาว และลึก 1.50 เมตร ให้ทะลุชั้นดินเหนียว แต่ต้องลึกไม่เกิน 3 เมตร รองก้นหลุมด้วยวัสดุประเภทหินใหญ่ สูงประมาณ 30 ซม. ตั้งท่อ PVC (ท่ออากาศ) ขึ้นตรงกลาง จากนั้นใส่หินใหญ่คละขนาด หรือเศษอิฐ สูง 1.30 เมตร เพื่อขยายพื้นที่ซับน้ำ ปูผ้ามุ้งหรือผ้าตาข่ายบนหินใหญ่คละขนาด เพื่อป้องกันไม่ให้หินเกล็ดที่โรยในขั้นตอนต่อไปหล่นลงไปในช่องว่างของหินใหญ่ และป้องกันเศษใบไม้ใบหญ้าที่ไหลมากับน้ำ แต่หินเกล็ดจะโรยประมาณ 20 เซนติเมตรเท่านั้น ซึ่งวิธีนี้จะสามารถเติมน้ำลงชั้นดินได้ไม่น้อยกว่า 6 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง โดยน้ำจะกระจายออกเป็นรัศมีวงกลมตามแรงเหวี่ยงของโลก หรือตามเส้นทางเดินใต้ดิน ตามร่องระบายอากาศของรากต้นไม้ ใช้อากาศเป็นตัวนำพา

สายัณห์บอกว่า พื้นที่ของหนองมะโมงส่วนใหญ่จะเป็นชั้นหินศิลาแลง แต่ในความโชคร้ายยังมีความโชคดีอยู่บ้าง ได้อาศัยความพรุนรอยแตกรอยแยกในการเก็บน้ำได้ดีในระดับหนึ่ง ก่อนจะย้ำว่า การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด เมื่อทำเสร็จแล้วต้องเก็บน้ำก่อนระยะเวลา 1 ปี ไม่ใช่ว่าทำ 1-2 เดือนแล้วจะเห็นผล ที่นิยมทำกันคือช่วงฤดูฝนเพื่อเก็บน้ำที่จัดการในครัวเรือนไม่ได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนด้วย ถ้าฝนทิ้งช่วงก็ไม่มีฝาก เหมือนเงินในบัญชีถ้าทำพื้นที่ฝนชุกก็จะดีมาก จะเก็บน้ำได้เยอะ

ตาน้ำและทางน้ำไหลที่ได้จากการทำธนาคารน้ำใต้ดิน


“ธนาคารน้ำใต้ดินเหมือนฝายชะลอน้ำ น้ำไหลหลากมา 100 เจอบ่อแรกเหลือ 90 เจอบ่อที่ 2 เหลือ 80 เป็นการชะลอน้ำ ลดความเร็วและปริมาณของน้ำ เมื่อบ่อถูกขุด อากาศที่อยู่ตรงช่องว่างชั้นดินชั้นหินก็เกิดการเคลื่อนที่ เมื่ออากาศเคลื่อนที่น้ำก็เคลื่อนด้วย ให้นึกถึงหลักการกระป๋องนม เจาะรูเดียวนมข้นหวานไม่ไหล เจาะอีกรูนมข้นหวานถึงจะไหล หลักการเป็นอย่างนี้”

สายัณห์เล่าอีกว่า ธนาคารน้ำระบบปิดมีข้อดีมาก คือ แก้ปัญหาน้ำท่วมขัง แก้ปัญหาพื้นที่แห้งแล้งเพิ่มระดับน้ำบาดาลใต้ดิน (น้ำตื้น 1-2 เมตร) เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวดินทำให้ต้นไม้เขียวขจีทั้งปี ลดอัตราการระเหยของน้ำบนผิวดินจากลมและแดด ลดปริมาณน้ำเสียที่ท่วมขังในชุมชน พร้อมยังแนะด้วยว่า ตรงไหนที่น้ำเสียมาก ให้ทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด ใส่น้ำหมักชีวภาพลงไปเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำและดินไปในตัว นอกจากนี้ ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด ยังช่วยลดความเสียหายจากปัญหาฝนตกน้ำป่าไหลหลาก ถนนขาด ลาดยางพัง ทั้งยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และป้องกันไฟป่า เพราะการทำธนาคารน้ำใต้ดินบริเวณที่ปลูกป่าจะช่วยเก็บน้ำไว้

เมื่อถึงฤดูแล้งปรากฏการณ์หนึ่งของต้นไม้จะมีการรักษาตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัยด้วยวิธีลดการคายน้ำ และสลัดใบ ทำให้ไฟป่าปะทุได้ง่าย

แต่ข้อจำกัดก็มีเช่นเดียวกัน คือ ไม่สามารถทำในเขตอุตสาหกรรมได้ ไม่สามารถทำในพื้นที่ใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง (สูง) และสภาพทางธรณีวิทยา บางพื้นที่ต้องมีการศึกษาข้อมูลก่อน

ส่วนอีกนวัตกรรมจากโครงการการบริหารจัดการธนาคารน้ำใต้ดินด้วยเทคโนโลยีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในพื้นที่ชุมชนหนองมะโมง ดร.ปริเวท วรรณโกวิท หัวหน้าศูนย์วิศวกรรมสารสนเทศภูมิศาสตร์และนวัตกรรม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นผู้อธิบาย

“โปรเจ็กต์ของผมเป็นส่วนหนึ่ง ที่เมื่อเริ่มโครงการ อยากจะให้มีระบบสารสนเทศในการเก็บข้อมูล ในการนำวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ จึงต้องมีการศึกษาข้อมูลด้านกายภาพ ไม่ว่าธรณีวิทยา อุทกวิทยา ขอบเขตลุ่มน้ำ ระดับน้ำ การไหลของน้ำ รวมทั้งคุณภาพของน้ำด้วย เป็นโปรเจ็กต์ที่เสริมในเรื่องการเก็บคุณภาพน้ำว่าน้ำที่ลงไปไม่ปนเปื้อนอะไร เพื่อส่งให้กรมต่างๆ ตรวจวัด จัดทำแผนที่ข้อมูลด้วยมาตราส่วนที่เหมาะสม เพื่อศึกษาและนำเครื่องมือนี้มาใช้ในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำ ต่อยอดกับชุมชนอื่นๆ” ดร.ปริเวทกล่าว

ในวันเดียวกัน วิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ก็ลงแปลงทดลองปลูกต้นไม้ จากนวัตกรรมที่หน่วยงานของตนสนับสนุน

“ปกติถ้าพูดถึงนวัตกรรม เราจะนึกถึงนวัตกรรมทางด้านเศรษฐกิจ แต่นวัตกรรมที่เกี่ยวกับสังคมก็มีความสำคัญ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติเห็นว่านวัตกรรมทางสังคมคือการประยุกต์ใช้ความคิดใหม่และเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อช่วยแก้ปัญหาต่างๆให้ชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และสังคมที่ดีขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและยากจน”

วิเชียร สุขสร้อย


“เราไม่ได้เอาเทคโนโลยีเข้ามายัดเยียดให้กับชุมชน แต่ให้ชุมชนดูก่อนว่าปัญหาในชุมชนคืออะไร ปัญหาของที่นี่คือเรื่องเกษตรกรรม เรื่องของน้ำเป็นหลัก ก็ใช้ทางออกที่มีอยู่แล้วในประเทศไทยที่ได้ศึกษาและทดลอง มาขยายสเกลให้ใหญ่ขึ้น ซึ่งก็ต้องใช้เทคโนโลยี และข้อมูลภูมิศาสตร์ในพื้นที่ชุมชนในเรื่องของที่ดินมาทำแผนที่ช่วยในการรายงาน ประเมินปริมาณน้ำใต้ดิน”
วิเชียรระบุ

ทั้ง 2 โครงการ จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาของชุมชนในที่อื่นๆ อย่างจับต้องได้ หากไร้ซึ่งการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เป้าหมายต่อไปของโครงการ คือกระจายองค์ความรู้ และนวัตกรรมธนาคารน้ำใต้ดิน ให้คนท้องถิ่นนำไปจัดการในพื้นที่ของตน

“เพราะเงินในบัญชีใครฝาก คนนั้นก็ได้ใช้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image