‘ReArm’ นวัตกรรมช่วยผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง

ทีม ReArm สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยอีกครั้ง เมื่อพวกเขาสามารถคว้ารางวัล Merit Award (Technology) และ Best Prototype ได้จากเวที Global Student Innovation Challenge ภายในงานประชุมวิชาการนานาชาติเรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก หรือ i-CREATe 2019 ที่เมืองแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย เมื่อเร็วๆ นี้

เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งเมื่อผลงานดังกล่าวเป็นของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ประกอบด้วย นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มธ. ชั้นปีที่ 4 คือนายรมย์ พานิชกุล นายอนัส สุภัคไพศาล และนายสิรภพ เจริญภิญโญยิ่ง และ น.ส.คคนันท์ งามเด่นเจริญศรี นักกายภาพบำบัดและวิศวกรรมทางการแพทย์

ทางด้านหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการออกแบบและพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมอย่างสร้างสรรค์ และหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. อย่าง ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองบุญ ได้เล่าให้ฟังว่า “ReArm” เป็นนวัตกรรมเพื่อการฟื้นฟูและกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยกล้ามเนื้อแขนอ่อนแรงและอัมพาตครึ่งซีก เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมอง มีความโดดเด่นด้านงานออกแบบกลไกให้ใช้งานสะดวก มีประสิทธิภาพ และน้ำหนักเบากว่าอุปกรณ์การแพทย์รูปแบบเดิม ที่สำคัญคือลดภาระค่าใช้จ่ายและไม่เสียเวลาการเดินทางเพื่อไปทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลหรือคลินิก นอกจากนี้ ReArm ยังตอบโจทย์การใช้งานของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงให้สามารถยกแขนและนิ้วมือต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เมื่อผู้ป่วยเริ่มเดินได้เองแล้ว สามารถนำอุปกรณ์นี้ใส่ไว้ที่หลังเพื่อทำกิจวัตรประจำวันที่บ้านเหมือนคนปกติทั่วไป เช่น หยิบแก้วน้ำ รดน้ำต้นไม้

Advertisement


“รางวัลนี้นับเป็นความสำเร็จของความร่วมมืออย่างบูรณาการ เพื่อส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมของ มธ. ทั้งด้านวิศวกรรม สหเวชศาสตร์ และนักกายภาพบำบัด ขับเคลื่อนให้นวัตกรรมของนักศึกษามีมิติสร้างสรรค์ไม่แพ้ชาติใดในโลก กระทั่งชนะรางวัลในเวทีประกวด i-CREATe 2019 ซึ่งมีทีมต่างๆ เข้าแข่งขันถึง 40 ผลงาน จาก 10 ประเทศทั่วโลก อาทิ สวีเดน ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านการออกแบบและพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมอย่างสร้างสรรค์ มธ.มีศักยภาพไม่แพ้ชาติใดในโลก เราพร้อมทั้งอุปกรณ์ เครื่องมือ และกระบวนการผลิตที่ตอบโจทย์ปัญหา สร้างสตาร์ตอัพระดับนักศึกษา และสร้างนักวิจัยที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย ทั้งประโยชน์ของสาธารณะและเชิงพาณิชย์ได้”
ผศ.ดร.บรรยงค์กล่าว

ขณะที่ รมย์ ตัวแทนทีม ReArm เปิดเผยว่า นวัตกรรมนี้เริ่มจากความสนใจปัญหาผู้ป่วยสโตรกจึงลงพื้นที่สัมผัสการทำกายภาพบำบัดของผู้ป่วยจริงในโรงพยาบาลและคลินิก ได้เห็นปัญหาการฟื้นฟูแขนที่อ่อนแรง ใช้เวลานาน แต่เมื่อร่างกายดีขึ้นแล้ว ผู้ป่วยส่วนมากจะไม่ไปกายภาพต่อที่โรงพยาบาลอีก เนื่องจากภาระการเดินทางอย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ดังนั้น เราจึงคิดค้นนวัตกรรม ReArm ที่พยุงน้ำหนักแขนได้ดีกว่า และทำกายภาพเองที่บ้านได้อย่างต่อเนื่อง น้ำหนักเบาเพียง 4 กิโลกรัม นำติดตัวหรือยึดกับโต๊ะทำให้ใช้งานได้สะดวก

ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองบุญ

“พวกเราภูมิใจมากที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันในฐานะตัวแทนจากประเทศไทยท่ามกลางทีมต่างๆ จากทั่วโลก รางวัลที่ได้รับในสาขาเทคโนโลยีนี้ ต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และทีมนักกายภาพบำบัดที่ร่วมสนับสนุนงานวิจัยและงานออกแบบสร้างสรรค์ที่นำมาสู่นวัตกรรม ReArm ในครั้งนี้” รมย์กล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image