‘ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว’ เส้นทางสร้างธุรกิจกว่าครึ่งศตวรรษ ฉบับ ‘ธนินท์ เจียรวนนท์’

ธนินท์ เจียรวนนท์

“หนังสือเล่มแรกที่บอกเล่าเส้นทาง วิธีคิด การสร้างธุรกิจ โดยเจ้าของเรื่องตัวจริง ‘ธนินท์ เจียรวนนท์’ เพื่อนักธุรกิจรุ่นต่อไป…สู่การสร้างเศรษฐกิจชาติที่เข้มแข็ง” คือคำโปรยหนังสือ ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว ที่กระจ่างชัดแจ้งในตัว

หนังสือที่กลั่นกรองประสบการณ์บนเส้นทางธุรกิจยาวนานกว่า 50 ปีให้กลายเป็นเรื่องเล่าเรียบง่าย ทว่า แฝงด้วยแนวคิดและปรัชญาการทำงานให้ประสบความสำเร็จไว้มากมาย โดย ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) หรือที่หลายคนเรียกขานว่า “เจ้าสัว ซี.พี.” ใช้เวลาจัดทำนานถึง 8 ปี

หนังสือที่เพิ่งพิมพ์เสร็จใหม่ๆ จากแท่นพิมพ์ สำนักพิมพ์มติชน พร้อมกันนี้เจ้าตัวยังเข้าร่วมเวทีทอล์กแห่งปีในงานเปิดตัวหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” อย่างเป็นทางการ วันที่ 6 ตุลาคม 2562 เวลา 13.00-15.00 น. บริเวณ The Portal Ballroom อิมแพ็ค เมืองทองธานี ดำเนินรายการโดย “หนุ่มเมืองจันท์” สรกล อดุลยานนท์ นักเขียนและคอลัมนิสต์ชื่อดัง หนึ่งในอีเวนต์ของงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 24 ที่ผู้สนใจจะพลาดไม่ได้

หนังสือที่มีความยาว 304 หน้า รวมกว่า 7 บท 27 ตอน อ่านง่าย ย่อยง่าย สาระเข้มข้น มี คริสมาส ศุภทนต์ บรรณาธิการ และ สุธาสินี เตชะรุ่งเรืองกิจ เรียบเรียง

Advertisement

หนังสือที่ทำให้เข้าใจว่า ทำไมความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว?

ดีใจวันเดียว

บทแรกของหนังสือเล่มนี้ใช้ชื่อว่า “เปิดม่าน” ประกอบด้วย 1 ตอนถ้วนคือ “ดีใจวันเดียว” อันเป็นที่มาของชื่อหนังสือ ด้วยคติที่ธนินท์ยึดถือมาตลอดว่า วันนี้สำเร็จ พรุ่งนี้ก็อาจจะล้มเหลว วันนี้เราเก่ง พรุ่งนี้ก็อาจมีคนที่เก่งกว่า ผมจึงต้องคิดพัฒนาอยู่ตลอดเวลา

“ซี.พี.ไม่เคยจำกัดตัวเอง เราถือว่าตลาดโลกเป็นของทุกคน คนเก่ง วัตถุดิบ และเงินในโลกนี้เป็นของทุกคน หากมีความสามารถย่อมหามาได้ เราจึงขยายธุรกิจเติบโตไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด คนไม่เข้าใจไม่เคยเห็นตอนผมสร้างธุรกิจ เพราะไม่มีใครสนใจมาทำ มาเห็นตอนที่ธุรกิจของผมสำเร็จแล้ว คิดว่า ซี.พี.ผูกขาด แต่ไม่รู้ว่าตอนผมสร้างธุรกิจ ลองผิดลองถูกอยู่นั้นมันลำบากขนาดไหน

Advertisement

“โลกนี้ไม่มีอะไรง่าย ยิ่งทำงานใหญ่ อุปสรรคก็ยิ่งใหญ่ ถึงมีเงินเยอะ ก็ใช่ว่าจะทำอะไรได้ทุกอย่าง มีแต่ความกดดันรอบตัว วันนี้สำเร็จ พรุ่งนี้ก็อาจจะล้มเหลว วันนี้เราเก่ง พรุ่งนี้ก็อาจมีคนที่เก่งกว่า ผมจึงต้องคิดพัฒนาอยู่ตลอดเวลา… การทำธุรกิจในแบบของผม ‘ความสำเร็จ จึงดีใจวันเดียว'”

หลายคนอาจรู้ว่า ซี.พี.ถือ หลักการ 3 ประโยชน์ ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งประธานอาวุโส ซี.พี.เปิดเผยเรื่องนี้ไว้ในบท “ยุทธศาสตร์ ซี.พี.” ดังนี้ จะทำธุรกิจที่ไหน ประเทศนั้นต้องได้ประโยชน์ ประชาชนประเทศนั้นต้องได้ประโยชน์ และบริษัทก็ต้องได้ประโยชน์ ถ้าเราจะไปหากินในประเทศเขา เราต้องเอาของดีไปให้เขา ถ้าเขาทำให้เราเติบโต เราก็ต้องตอบแทน

เช่น เมื่อครั้งที่ ซี.พี.เข้าไปลงทุนที่พม่าได้นำข้าวโพด ซี.พี.888 ซึ่งในเวลานั้นถือเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์ดีที่สุดที่ ซี.พี.มีไปให้เขา

“เราไม่ได้เอาข้าวโพดไปให้อย่างเดียว เราให้ความรู้ด้วย เพราะเราไปสอนคนของเขาให้ปลูกข้าวโพด การสอนเขาให้เขาทำงานได้ ให้อาชีพเขาแบบนี้เป็น ‘การให้สไตล์ ซี.พี.’ ซึ่งผมถือว่าเป็นการให้ที่ยั่งยืน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เราให้เขาไป ช่วยให้เขาเพิ่มผลผลิตได้ทันตาเห็น ทางพม่าบอกว่า ซี.พี.เข้าไป 3 ปี ช่วยลดต้นทุนเลี้ยงไก่ไข่ลง ราคาไข่บ้านเขาลดลงไป 3 เท่าตัว ทั้งที่หลายสิบปี ไข่บ้านเขาไม่ลดราคาเลย

“สิ่งที่ประเทศกำลังพัฒนาถือที่สุดคือเรื่องการถูกเอาเปรียบ เขาจะกลัวว่านายทุนมาเอาเปรียบหรือเปล่า เราจะมากอบโกยจากเขาหรือเปล่า ดังนั้น เราต้องแสดงให้เห็นว่าเราไม่ใช่อย่างนั้น เราเข้ามาช่วยเขา เราจะชนะด้วยกันทั้งคู่ ผมได้ คุณได้ เขาจึงต้อนรับเรา

“ความจริงใจช่วยสร้างคุณประโยชน์นี่เองที่ทำให้ ซี.พี.ยืดหยัดอยู่อย่างมั่นคงในทุกที่ที่ไป ซึ่งผมเรียกว่า ‘หลักการ 3 ประโยชน์'”

เมื่อผมอยากเป็นผู้สร้างหนัง

ในวัยเลข 8 ของธนินท์ เจียรวนนท์ ใครจะรู้ว่าเมื่อครั้งเยาว์วัยเขาฝันใฝ่จะเป็นผู้สร้างภาพยนตร์?

“ผมเองมีความใฝ่ฝันอยากจะเป็นผู้สร้างหนัง” ความลับที่เขาซุกซ่อนไว้ในบท “เมล็ดพันธุ์แห่งชีวิต”

บางช่วงบางตอนของบทดังกล่าว เขาเล่าว่า ในวัย 12 ปี ได้ตัดสินใจเริ่มเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ใหม่ที่ซัวเถา ประเทศจีน การเริ่มต้นชีวิตการเรียนที่นี่นั้น “ไม่ง่าย” ต้องปรับตัวเรื่องภาษาจีน แม้ว่าตอนอยู่เมืองไทยจะพูดกับแม่ด้วยภาษาจีน สำเนียงแต้จิ๋ว แต่เรื่องยากกว่านั้นคือการเขียนภาษาจีน เพราะเมื่อเรียนเสร็จกลับบ้านไม่มีครูมาช่วยสอน ต้องขยันเอง จนในที่สุดสอบได้ที่ 1 ของชั้น

“ผมเป็นเด็กเรียนดี ที่ไม่ใช่เด็กเรียน” เจ้าตัวว่าอย่างนั้น

“…ช่วงที่ผมอยู่ชั้นประถมที่ซัวเถาทุกปี โรงเรียนจะให้นักเรียนมาแสดงละคร ผมเองมีความใฝ่ฝันอยากจะเป็นผู้สร้างหนัง ผมก็เริ่มเอาหนังสือมาดูว่า แต่ละเรื่อง งานของผู้กำกับคืออะไร บทภาพยนตร์เป็นอย่างไร วิธีการพูดจา โต้ตอบ วิธีสร้างโครงเรื่อง สร้างบทพูด จากนั้นผมได้นำไปฝึกซ้อม และจัดแสดงเป็นละครเวทีของโรงเรียน โดยตัวผมเองเป็นผู้กำกับการแสดง ครูบาอาจารย์และเพื่อนนักเรียนสนุกสนานเพลิดเพลินกันมาก

“ตอนผมอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ซัวเถา ผมอยากรู้ว่าเขาเล่นมายากลกันอย่างไร ผมยอมลงทุนไปซื้อทั้งวิชาและอุปกรณ์การแสดง จนสามารถเล่นกล เสกไข่ ซ่อนนกพิราบ ดึงผ้ายาว สร้างความสนุกสนานให้เพื่อนๆ…”

4 พี่น้องเจียรวนนท์

กฎเหล็กครอบครัว ‘เจียรวนนท์’

วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 สร้างผลกระทบให้หลากหลายธุรกิจถ้วนหน้า ไม่เว้นแม้แต่ ซี.พี.ที่เจ้าสัวธนินท์ยอมรับตรงๆ ในบท “ยุทธศาสตร์ ซี.พี.” ว่า เป็นวิกฤตหนักหน่วงช่วงหนึ่งเท่าที่เคยประสบมา

ในบท “‘คน’ สร้างธุรกิจ” เขาเล่าเหตุการณ์ขณะ 4 พี่น้องเจียรวนนท์ประชุมกันภายใน โดยธนินท์ขอให้พี่น้องเชื่อมั่นในความรับผิดชอบของเขา พร้อมให้การรับรองว่าจะไม่ขายธุรกิจที่พี่ชายสร้างมา หากต้องขายก็จะขายธุรกิจที่ตัวเองได้ริเริ่มใหม่ ทุกคนสบายใจได้

นอกจากนี้ เขายังสร้าง 4 กฎเหล็ก เพื่อรักษาความสามัคคีปรองดองในครอบครัว ประกอบด้วย 1.ลูกชายที่แต่งงานแล้ว ต้องออกจากบ้าน กฎข้อนี้เป็นกฎเหล็กที่สืบทอดต่อมาจากคุณพ่อ มีไว้เพื่อป้องกันความขัดแย้งระหว่างพี่น้อง เพราะหากลูกชายที่แต่งงานแล้วยังอยู่บ้านใหญ่ต่อไป ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดกระทบกระทั่งในเรื่องส่วนตัว และลามเป็นเรื่องครอบครัวได้

2.ห้ามมิให้ผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นภรรยา สะใภ้ บุตรสาว เข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกิจครอบครัว ถ้าต่างคนต่างเอาภรรยามาก็กลายเป็นบริษัทครอบครัว โอกาสที่คนเก่งๆ จะเข้ามาก็มีน้อยลง กฎข้อนี้มีจุดประสงค์แบบเดียวกับกฎข้อแรกคือป้องกันความขัดแย้งระหว่างพี่น้อง เพราะพี่น้องจะทะเลาะกันอย่างไรก็ยังเป็นพี่น้อง แต่พอมีภรรยามาเกี่ยวข้อง คราวนี้พี่น้องก็จะแตกกันได้

3.รู้จักให้อภัยพี่น้อง สร้างความกลมเกลียวในครอบครัว แม้จะพยายามวางกฎ 2 ข้อแรกไว้ป้องกัน แต่การทำธุรกิจระหว่างพี่น้องย่อมต้องมีความเห็นขัดแย้ง หรือแม้กระทั่งเรื่องส่วนตัว จึงต้องมีกฎข้อ 3 นี้ไว้รักษาความเป็นปึกแผ่นให้กับครอบครัวและธุรกิจ กฎข้อนี้สำคัญมาก ยิ่งตอนนี้เราดึงมืออาชีพมาทำงาน แน่นอนว่า ต้องกระทบกับสถานะของคนในครอบครัว ถ้าพี่น้องไม่มีการให้อภัยกัน เอาแต่ต่อต้าน บ้านก็แตก ฉะนั้น ต้องให้อภัย ต้องเข้าใจว่าเราทำเพื่อระบบ ไม่ใช่ส่วนตัวหรือเพื่ออำนาจ แต่ทำเพื่อส่วนรวม

และ 4.ไม่เห็นแก่ตัว อดทนเสียสละเพื่อพี่น้องและครอบครัว กล่าวคือ จะทำอะไร พี่น้อง ครอบครัวต้องได้ด้วย แล้วตัวเราเองเป็นคนที่ 3 ถึงจะได้ประโยชน์ ไม่ใช่เอาตัวเรามาตั้งเป็นคนแรกที่ได้ประโยชน์ แบบนี้พี่น้องคงทะเลาะกันแน่

ไม่ว่าจะหลักการ 3 ประโยชน์ของ ซี.พี.ความพยายามเรียนรู้และต้องทำให้ได้ดังฝันวัยเด็กของธนินท์ หรือกฎเหล็กของครอบครัว ทว่า ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหาก “ผู้นำ” ไม่พัฒนาตัวเองให้เท่าทัน ความล้มเหลวของธุรกิจในเครืออาจรออยู่วันพรุ่งนี้ก็ได้

ดังนั้น ความสำเร็จจึงดีใจได้แค่วันเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image