เสริม RQ เด็กยุคดิจิทัล ภูมิคุ้มกันเพื่อใจแกร่ง

ด้วยสังคมที่เปลี่ยนเเปลงในปัจจุบัน การเลี้ยงดูลูกยุคโซเชียลจำเป็นที่ต้องคำนึงถึงจิตใจของเด็กให้มาก เด็กขี้กลัว อ่อนไหว ขาดความมั่นใจ ดื้อ ต่อต้าน โดนรังแก เป็นปัญหาที่พบบ่อยขึ้นในสังคมสมัยนี้ ซึ่งถ้าปล่อยไว้ไม่แก้ไขอาจนำไปสู่พัฒนาการของคนรุ่นใหม่ที่ใจร้อน หงุดหงิดง่าย ก้าวร้าว มีปัญหาทางอารมณ์จนต่อไปอาจเสี่ยงฆ่าตัวตายหรือก่ออาชญกรรมได้ในอนาคต พ่อเเม่จึงต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้บุตรหลานตั้งเเต่วัยเยาว์ พร้อมเพิ่มความสามารถในการปรับตัว “ล้มเเล้วลุก” ได้ เเม้ต้องเจอสถานการณ์ยากลำบากทั้งกายเเละใจ

“เด็กในกรุงเทพฯมีความอดทนน้อยกว่าเด็กชนบทถึง 2 เท่า เพราะสภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมเมือง พ่อแม่ปกป้องลูกมากเกินไป มีเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทำให้ใช้ชีวิตง่ายขึ้น เร็วขึ้น ทำให้เด็กไม่ต้องทนรออะไร อยากพูดอยากแสดงออก ก็สามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องคิดถึงผลกระทบต่อคนอื่น การแก้ปัญหานี้แต่ต้นมือจึงเป็นเรื่องจำเป็น โดยต้องเร่งพัฒนา RQ หรือ Resilience Quotient ความฉลาดทางอารมณ์ที่จะช่วยให้เด็กสามารถปรับตัวในสภาวะที่ยากลำบาก เป็นเรื่องสำคัญสำหรับยุคนี้” พญ.สุรางคณา เตชะไพฑูรย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช และโรงพยาบาลบีเอ็นเอช และผู้อำนวยการโรงพยาบาลเด็กสมิติเวชระบุ

สำหรับ RQ เป็นคำนิยามในช่วงที่เราเจอสิ่งที่กระทบกระเทือนจิตใจเเต่ก็สามารถฟื้นกลับคืนมาได้ เหมือนคนที่ “ล้มเเล้วลุก” ได้ ซึ่งสะท้อนว่าเด็กที่จิตใจเเข็งเเกร่งนั้นข้างในต้องมี “Growth Mindset” กรอบความคิดหรือทัศนคติ แนวคิดแบบยืดหยุ่นและเติบโตพัฒนาต่อไปข้างหน้า ประกอบรวมกับ EF (Executive Function) ความสามารถของสมองและจิตใจที่ใช้ในการควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ดังนั้น การมี RQ จึงผสมกันทั้งการมี Growth Mindset เเละ EF

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการ Samitivej Parenting Center อธิบายถึงเทคนิคการเสริมสร้างให้เด็กมีจิตใจที่เเข็งเเกร่งว่า มนุษย์ทุกคนเปลี่ยนพฤติกรรมได้ และยิ่งเปลี่ยนง่ายขึ้นหากมีแรงเสริม เช่น มีการให้โบนัส มีรางวัล โดย EF ต้องฝึกไปด้วยกันทั้งครอบครัว ซึ่งการอบรมสั่งสอนจะต้องทำอย่างคงเส้นคงวา ทำจนเป็นนิสัย โดยพฤติกรรมของพ่อแม่สามารถบ่งบอกถึงอนาคตและ EF ของลูกได้ พ่อแม่จึงต้องปรับเปลี่ยนตัวเองมี EF มากขึ้นตามลูกด้วย ไม่ว่าอายุเท่าไหร่ก็สามารถเปลี่ยนได้

Advertisement

“สุขภาพจิตของเด็กเป็นปัญหาสำคัญ เด็กบางคนเริ่มตั้งแต่ ขี้กลัว อ่อนไหว ดื้อ และลุกลามไปจนถึงการฆ่าตัวตาย แสดงให้เห็นถึงความสามารถของเด็กในการปรับตัวต่อสภาวะที่ยากลำบาก หรือความยืดหยุ่นในการปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ความเเกร่งในจิตใจไม่ใช่อยู่ดีๆ จะผุดขึ้นมาต้องสะสมมาเรื่อยๆ สภาพเเวดล้อมก็มีส่วน ผมอยากให้มีการดูเเลสุขภาพจิตเด็กอย่างเป็นระบบในเมืองไทย ส่งต่อระบบความรู้ให้จิตแพทย์รุ่นน้องเพื่อช่วยเหลือคนในสังคม ถึงเวลาที่ทุกคนต้องเรียนรู้ถึงกระบวนการสร้างให้เด็กมีจิตใจที่เเข็งเเกร่งอย่างแท้จริง”

ในช่วงแรก Samitivej Parenting Center จะเปิดโปรแกรมสำหรับพ่อแม่และผู้ปกครองเพื่อรักษาเด็กสมาธิสั้น (ADHD) และเด็กดื้อ (ODD) อายุ 2-12 ปี โดยเป็นการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการที่มีโครงสร้างลักษณะเฉพาะและมีแบบแผนชัดเจนอิงตามแนวทางของ Russell A. Barkley ศาสตราจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมาธิระดับโลก พ่อแม่และผู้ปกครองจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับโรคสมาธิสั้นและพฤติกรรมดื้อต่อต้าน อย่างครบวงจร อาทิ ฝึกสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกกับลูก ฝึกออกคำสั่งแบบมีประสิทธิภาพ ฝึกทักษะปรับพฤติกรรม การเลือกโรงเรียน

“ผลวิจัยพบว่าเด็กที่สามารถรอได้ตอน 4 ขวบ เมื่ออายุมากขึ้นส่วนใหญ่จะมีชีวิตที่ดี มีหน้าที่การงานดี รายได้สูงกว่าเด็กที่ไม่ได้รับการฝึกให้รอเป็น พ่อแม่จึงต้องฝึกฝน โดยต้องเลือกสถานการณ์ให้ถูกต้อง ตามหลักพัฒนา 5 Point of EF intervention ได้แก่ Choose Situation-Change Situation-Choose Attention-Change Thoughts-Change Response พัฒนาไปพร้อมกับลูก เพราะถ้าจะเเก้ปัญหาจิตใจเด็ก เเต่ตราบใดที่ความสัมพันธ์ในครอบครัวยังไม่ได้เรื่อง เเม้จะมีเทคนิควิเศษสุดก็จะไม่เปลี่ยน ดังนั้นจึงต้องทุ่มเทให้กับการสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกก่อน แล้วค่อยไปสอนพ่อเเม่ว่าต้องจัดการกับลูกอย่างไร เเต่หลายครอบครัวมักไม่สนใจขั้นตอนพื้นฐานเหล่านี้ อยากกระโดดไปสเต็ปที่ 4-5 เลย แต่ทุกอย่างต้องใช้เวลา”

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image