พระเสด็จโดยแดนชล ราษฎรเฝ้าชมพระบารมี

วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2562 เป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย มีพระราชพิธีสำคัญในวันนั้น “การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562” ที่เว้นว่างมา 93 ปี หรือ เกือบ 100 ปี เป็นอีกวันที่พี่น้องชาวไทยจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญอีกคราวหนึ่ง

การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งล่าสุด ต้องย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2468 (ถ้านับแบบปัจจุบันจะตรงกับ พ.ศ.2469)

เรือพระราชพิธี

เรือที่ใช้ในงานพิธีกรรมของราชสำนัก

สมัยอยุธยายังไม่พบหลักฐานถึงการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราชลมารค เรือพระราชพิธีก็บ่งบอกอยู่แล้วว่า คือเรือที่ใช้ในพิธีกรรมของราชสำนัก ซึ่งเป็นเรือศักดิ์สิทธิ์ที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดังปรากฏหลักฐานลายเส้นรูปเรือบนกลองมโหระทึก และในเอกสารโบราณไม่ว่าจะเป็น กฎหมายตราสามดวง และพระราชพงศาวดาร ก็พบว่าเป็นเรือที่ใช้ในการพระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักรและพระราชพิธีสำคัญ

ดังปรากฏในกฎมณเฑียรบาลสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะพระราชพิธีแข่งเรือในเดือน 11 (อาสยุช) แล้วจะต่อเนื่องมาถึงเดือน 12 ลดชุดลอยโคม เดือน 1 ไล่เรือ

Advertisement

“…เดือน 11 การอาสยุชพิทธี มีหม่งครุ่มซ้ายขวา ระบำหรทึกอินทเภรีดนตรี…สมรรถไชยเรือต้น สรมุกขเรือสมเดจ์พระอรรคมเหษี สมรรถไชยไกรสรมุกขนั้นเปนเรือเสี่ยงทาย ถ้าสมรรถไชยแพ้ไซ้เข้าเหลีอเกลีออี่มศุกขเกษมเปรมประชา ถ้าสมรรถไชยชำนะไซ้จะมียุข”

อาสยุช (แปลว่าเดือน 11) มีการแข่งเรือสรรมถไชย ของพระเจ้าแผ่นดิน กับเรือไกรสรมุขของพระอัครมเหสี ถ้าเรือสมรรถไชยแพ้เรือไกรสรมุข บ้านเมืองจะมีอความอุดมสมบูรณ์ แต่ถ้าตรงกันข้ามกันเกิดเรือสมรรถไชยชนะ บ้านเมืองจะเกิดเป็นกลียุค

หนังสือพระเสด็จโดยแดนชล เขียนโดย รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ จัดพิมพ์โดย สนพ.มติชน

(รายละเอียดเพิ่มเติมมีอยู่ในหนังสือ พระเสด็จโดยแดนชล เขียนโดย รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ จัดพิมพ์โดย สนพ.มติชน 2562)

Advertisement

ในพิธีกรรมดังกล่าวก็จะเป็นช่วงที่ราษฎรได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ เพราะส่วนใหญ่พระเจ้าแผ่นดินและพระอัครมเหสีจะประทับในพระบรมมหาราชวัง ดังมีบันทึกของชาวต่างชาติที่เข้ามายังแผ่นดินสมัยพระนารายณ์ ในหนังสือ ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม เขียนโดย นิโคลาส แชรแวส เขียนว่า “มีอยู่วันหนึ่งเหมือนกันในรอบปีที่ประชาชนพลเมืองจะแลเห็นพระเจ้าแผ่นดินของตนได้คือในวันแข่งเรืออันถือว่าเป็นงานใหญ่และเอิกเกริกยิ่ง”

นอกจากนี้เรือพระราชพิธียังเกี่ยวข้องกับการจัดขบวนเรือที่พระเจ้าแผ่นดินสมัยอยุธยาเสด็จไปยังที่ต่างๆ เช่น

พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนฯ ฉบับตัวเขียน กล่าวถึง เรือพระราชพิธีในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม มีการเขียนถึง “เรือพระที่นั่งไชย” เป็นเรือพระที่นั่งทรงของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปพระพุทธบาท เมื่อ พ.ศ.2149 ดังความในพระราชพงศาวดารว่า

“…ศักราช 968 ปีมะเมีย อัฐะศก ทรงพระกรุณาให้พูนดินหน้าพระวิหารแกลบไว้เปนที่สำหรับถวายพระเพลีง ในปีนั้นเมืองสุระบุรีบอกมาว่า พรานบุณภบรอยเท้าอันใหญ่บนไหล่เขาเหนปลาด สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวดีพระไทย เสดจ์ด้วย พระธินั่งเรือไชย พยุหบาตราพร้อมด้วยเรือท้าวพญาสามนต์ราชดาษดาโดยชลมารคนทีธารประทับท่าเรือ…”

หรือในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมีการกล่าวถึง “เรือพระที่นั่งไกรสรมุขพิมาน” เป็นเรือพระที่นั่งทรงของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปฉลองวัดป่าโมก เมื่อ พ.ศ.2277 ดังความในพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ ว่า

“…ลุศักราช 1096 ปีขาล ฉ้อศก พระบาทสมเดจ์บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว จึ่งมีพระราชดำหรัดสั่งท้าวพญามุขมนตรีทั้งหลายว่า วัดปากโมกนั้นการทั้งปวงสำเรจ์บริบูรณแล้ว ให้จัดแจงการฉลองและเครื่องสการบูชาทั้งปวงไว้ให้พร้อมสรัพ ครันถึงวิสาขมาษศุกปักษยดฤษถีพิไชยฤกษ สมเดจ์พระพุทธเจ้าอยู่หัว ก็เสดจ์ลง เรือพระธินั่งไกรสรมุขพิมาน อันอลงการ ด้วยเครื่องพระอภิรุมรัตน์ฉัตรชุมสายบังแซกสลอนสลับ ประดับด้วยเรือศีศะสัตวดั้งกรรสรรพอะเนกนาวา ท้าวพญาข้าทูลอองทุลีพระบาท โดยเสดจ์พระราชดำเนีรแห่แหนตามขบวรพยุหะบาตราหน้าหลังเปนขนัดแน่นเดียรดาษอรรณพนทีธาร บันลุพลับพลาไชย ณ วัดชีประขาว เสดจ์ขึ้นประทับในที่นั้นแล้วเสดจ์ทรงพระราชยานดำเนีรโดยสถลมารคถึง ณะ วัดปากโมก…”

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งล..าทรง ในขบวนพยุหยาตราชลมารคเลียบพระนคร ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช รัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2454 (ภาพจากประมวลภาพประวัติศาสตร์ไทย พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์. กรมศิลปากร. 2550.)

การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราชลมารค

เริ่มเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์ และมีการโปรดเกล้าฯ ให้จัดการเลียบพระนครโดยทางชลมารคนั้น เพื่อให้ราษฎรได้ชื่นชมพระบรมโพธิสมภาร และจะได้เป็นพระเกียรติยศไปภายหน้านั้น

เริ่มเป็นครั้งแรกในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2394

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 4 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) โดยจัดแบ่งย่อหน้าใหม่ แต่คงอักขรวิธีการเขียนไว้ตามต้นฉบับ ดังนี้

“…แล้วทรงพระราชดำริว่า พระมหากษัตริย์แต่ก่อนเลียบพระนครก็แต่ทางสถลมารควันเดียวเท่านั้น ครั้งนี้เห็นว่าราษฎรนิยมชมชื่นทั่วกัน เรือพระที่นั่งและเรือต่างๆ มีอยู่เป็นอันมาก ไม่มีการสิ่งไรเก็บไว้ก็ไม่มีผู้ใดเห็น ครั้งนี้จะแห่พยุหยาตราเรือให้ราษฎรเชยชมพระบรมโพธิสมภารทั่วกันอีกคราวหนึ่ง จะได้เป็นเกียรติยศปรากฏไปภายหน้า จึงสั่งเจ้าพนักงานให้เตรียมพยุหยาตราเรือไว้

รุ่งขึ้น ณ วันพุธ เดือนหก แรมหกค่ำ เสด็จออกเลียบพระนครทางชลมารค พวกข้าทูลละอองผู้ใหญ่ผู้น้อย ราษฎรไพร่บ้านพลเมืองไทยจีน ที่อยู่แพอยู่เรือนริมน้ำชวนกันตั้งโต๊ะเครื่องบูชาอย่างไทยจีนจุดประทีปธูปเทียนกระทำสักการบูชารับเสด็จรอบพระนคร มีความชื่นชมโสมนัสยินดียิ่งนัก…”

ริ้วกระบวนแห่พยุหยาตราชลมารคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หลักฐานที่แสดงถึงรูปแบบขบวนเรือพยุหยาตราชลมารคอีกชิ้นหนึ่งที่สำคัญ เพราะนอกจากจะบอกตำแหน่งของเรือต่างๆ แล้ว ยังมีรูปวาดของเรือแต่ละลำพร้อมชื่อ หลักฐานชิ้นนี้เป็นของที่ชำระขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นผู้ให้ชำระขึ้นใหม่ ใน พ.ศ.2459 ภาพจากกรมศิลปากร, ริ้วกระบวนแห่พยุหยาตราทางชลมารคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จำลองจากต้นฉบับหนังสือสมุดไทยของหอสมุดแห่งชาติ (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2530)

การจัดขบวนพยุหยาตราชลมารคในครั้งนี้ มีจำนวนเรือในขบวนถึง 269 ลำ มีเรือนอกขบวนที่เข้าร่วมด้วยประมาณ 50 ลำเศษ และมีจำนวนฝีพายทั้งหมดประมาณ 10,000 คนเศษ โดยเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยทางชลมารคตามทักษิณาวรรตรอบพระนคร เริ่มจากท่าราชวรดิษฐ์ไปทางทิศเหนือ เข้าคลองรอบพระนครไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร จากนั้นจึงเสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดอรุณราชวราราม แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับยังพระบรมมหาราชวัง

ถือเป็นขบวนพยุหยาตราชลมารคครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์

หลังจากขบวนพยุหยาตราชลมารคเลียบพระนครในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 4 การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลต่อๆ มาจึงได้มีการจัดขบวนพยุหยาตราชลมารคเลียบพระนครด้วย

ขบวนพยุหยาตราชลมารคเลียบพระนคร ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช รัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2454 เห็นเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์จอดเทียบท่าที่พลับพลาท่าราชวรดิษฐ์ (ภาพจาก ฟิล์มกระจกจดหมายเหตุ หนึ่งพันภาพประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์. กรมศิลปากร. 2559.)

สมัยรัชกาลที่ 5 ปรากฏหลักฐานว่าใน พ.ศ.2416 ซึ่งเป็นการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดขบวนพยุหยาตราชลมารคเลียบพระนคร โดยใช้เส้นทางเดียวกันเมื่อคราวงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 4

สมัยรัชกาลที่ 6 ปรากฏหลักฐานว่าใน พ.ศ.2454 ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดขบวนพยุหยาตราชลมารคเลียบพระนคร จากท่าราชวรดิษฐ์ไปยังวัดอรุณราชวราราม

สมัยรัชกาลที่ 7 ปรากฏหลักฐานว่าใน พ.ศ.2468 ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดขบวนพยุหยาตราชลมารคเลียบพระนคร โดยใช้เส้นทางเดียวกันเมื่อคราวงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 6

ส่วนใน สมัยรัชกาลที่ 8 มีการเว้นว่างเพราะไม่ได้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และ รัชกาลที่ 9 นั้นไม่มีการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราชลมารค ถึงแม้จะมีขบวนพยุหยาตราชลมารคหลายครั้งก็ตามที

วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2562 อีกไม่นานนี้ ปวงชนชาวไทยจะได้ชื่นชมพระบารมี และความยิ่งใหญ่ตระการตา ณ ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งลำทรง ในขบวนพยุหยาตราชลมารคเลียบพระนคร ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2468 (ภาพจาก ประมวลภาพประวัติศาสตร์ไทย พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์. กรมศิลปากร. 2550.)
เรืออสุรวายุภักษ์ เรืออสุรปักษา ในขบวนพยุหยาตราชลมารคเลียบพระนคร ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2468 (ภาพจาก ประมวลภาพประวัติศาสตร์ไทย พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์. กรมศิลปากร. 2550.)

ในโอกาสมหามงคลเช่นนี้ ทางบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดรายการสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนาครั้งประวัติศาสตร์ “พระเสด็จโดยแดนชล” เผยแพร่องค์ความรู้เรื่องเรือพระราชพิธี โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ราชประเพณี ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ, รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ, อ.ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ และ ผศ.ดร.ชัชพล ไชยพร เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ ห้อง ICON LUX HALL ICONSIAM วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2562 เวลา 13.00-16.30 น.

รายละเอียดการสำรองที่นั่งติดตามที่ได้ที่ facebook ศิลปวัฒนธรรม และ www.silpa-mag.com

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image