‘ไฟ จาก ฟ้า’ ภารกิจสร้างความเข้าใจ ใครก็เข้าถึง ‘พลังงานสะอาด’ ได้

เพราะวิกฤตโลกร้อนสั่นสะเทือนถึงเรื่องพลังงาน กระทั่งทิศทางของโลกมุ่งสู่ “พลังงานสะอาด” มากขึ้น

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ซึ่งมีพันธกิจหลักคือการส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้และความตระหนักด้านพลังงาน จึงร่วมมือกับหน่วยงานภาคีจัดโครงการ “ไฟ จาก ฟ้า” พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ สร้างความรู้ ความเข้าใจให้ประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าที่มาจากพลังงานสะอาด ผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตลอดปี 2562 ต่อเนื่องปี 2563 โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

แคมเปญดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 7 ขององค์การสหประชาชาติที่มุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ มีความทันสมัยและยั่งยืน

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน เล่าให้ฟังว่า ด้วยต้องการสร้างความเข้าใจด้านพลังงานจากสิ่งใกล้ตัว หรือสิ่งแรกๆ หลังจากทุกคนตื่นนอนมาแล้วเจอคือ “แสงอาทิตย์” จึงได้มองหาพาร์ทเนอร์ที่มีผลงานชัดเจน นำมาสู่บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน), หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์, TELLSCORE, บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด เพื่อสื่อสารเรื่อง “พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้” กระทั่งเกิดเป็นบิ๊กอิมแพค ติดแผงโซลาร์จริง ใช้งานจริง

Advertisement

“อย่างที่บอกว่าเราอยากให้คนเข้าใจเรื่องนี้ จึงต้องอาศัยองค์กรที่มีประสบการณ์ มีผลงานชัดเจน เชื่อมั่นได้ มีสื่อเพียงพอที่จะกระจายไปถึงคนทั้งประเทศ ทุกวันนี้เราเจอข้อมูลมากมาย ตื่นมาตอนเช้าเจอสื่อเยอะมาก แต่จะทำอย่างไรให้คนเข้ามาสนใจเรื่องไฟ จาก ฟ้า เรื่องพลังงานสะอาด

“ก็ต้องเริ่มจากการดึงความสนใจก่อน จึงเริ่มจากซอฟต์เพาเวอร์ ดนตรี ศิลปะต่างๆ”

ไฟ จาก ฟ้า : จุดประกายความรู้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันนี้มีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์คลาดเคลื่อน

บัณฑูรยอมรับตรงๆ เพราะจากผลสำรวจปรากฏชัดเจนว่า บางส่วนเข้าใจว่าพลังงานโซลาร์เซลล์ราคาแพง ใช้งานยุ่งยาก กฎกติกาเยอะแยะ ซึ่งความจริงแล้วราคาโซลาร์เซลล์ ณ ปัจจุบันนี้ลดลงกว่าครึ่ง เรื่องกฎระเบียบมีการแก้ไขอยู่ตลอด อีกทั้งเทคโนโลยีก็ใช้งานง่ายขึ้นมาก

แต่ใช่ว่าจะมีส่วนดีทั้งหมด เพราะ “ข้อจำกัด” ของพลังงานสะอาดบางชนิดยังมีต้นทุน ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้ให้เหมาะสม

นอกจากนี้ บัณฑูรยังเปิดเผยถึงกองทุนวิจัยพลังงานหมุนเวียนที่เข้าไปสนับสนุนภาคการศึกษา อาทิ สนับสนุนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ลดต้นทุน รวมทั้งการจัดการแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุ เพื่อเตรียมการรองรับในอนาคต กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

“ความจริงแล้วแผงโซลาร์เซลล์นำมารีไซเคิลได้ ทว่า ยังมีกระจกหรืออะลูมิเนียมบางส่วนที่ต้องดูแลจัดการ นี่เป็นที่มาของรายการ ‘คนบันดาลไฟ’ ของทีวีบูรพาที่นำเสนอแรงบันดาลใจจากคนและสถานที่ต้นแบบพลังงานไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ออกอากาศตอนแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา เวลา 13.30-14.00 น. ช่องไทยรัฐทีวี รวมทั้งบทเพลง ‘แสงของดวงตะวัน’ จัดทำโดยแกรมมี่ แต่งขึ้นจากแรงบันดาลใจของชุมชนหนองตาแต้ม จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ไปคว้ารางวัลจากองค์การสหประชาชาติ United Nations Public Service Awards 2019 จากผลงาน ‘ชุมชนไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบพึ่งพาตนเองขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองตาแต้ม’ ซึ่งชุมชนนี้มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ทั้งหมู่บ้าน ดูแลและซ่อมบำรุงเอง โดยมีช่าง 3 คน ต่อประชากร 100 คน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมการแสดงผลงาน “ชุมชนพลังงานแสงอาทิตย์แบบพึ่งพาตนเอง” ของ อบต.หนองตาแต้ม จ.ประจวบคีรีขันธ์ บริเวณทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา (ภาพจากเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ)


“หลังจากคิกออฟโครงการ ‘ไฟ จาก ฟ้า’ ไปกว่า 2 เดือนแล้ว เห็นได้ว่าเราสร้างแรงบันดาลใจได้จริง ดูจากโซเชียลมีเดีย ยอดเอ็นเกจเมนต์ที่ระบุสถิติชัดเจน อีกทั้งคำถามมากมาย โดยโปรเจ็กต์ที่เรามองไว้หลังจากดึงความสนใจไปแล้วคืออยากให้รู้ว่า ไฟ จาก ฟ้า คืออะไร เงินจากฟ้าคืออะไร จากนั้นจะให้ความรู้เพิ่มเติม เช่น ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์อย่างไร ขายไฟอย่างไร ดูแลจัดการแผงที่หมดอายุแล้วอย่างไร ฉะนั้น พลังงานสะอาดจึงต้องสะอาดตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง เสร็จแล้วนำไปสู่แอ๊กชั่น ติดจริง ใช้จริง”

อย่างไรก็ตาม การที่โลกมุ่งสู่พลังงานสะอาด บัณฑูรมองว่าเกิดประโยชน์ขึ้น 3 ระดับ คือ 1.ระดับบุคคล สามารถลดต้นทุนได้ ลดค่าใช้จ่ายได้ 2.ระดับประเทศ ไทยมีพันธกรณีที่ประกาศกับโลกไว้ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยกันใช้พลังงานสะอาด และเรามีแผนการปฏิรูปประเทศ โดยพลังงานสะอาดเป็นหนึ่งในแผนดังกล่าว เรื่องนี้ทำให้เราต้องบรรลุในสิ่งต่างๆ ที่ทำข้อตกลงไว้ และ 3.โลก ชัดเจนแล้วว่าวันนี้เราต้องช่วยโลก เห็นแล้วว่าคนสร้างปัญหาให้โลก วันนี้ต้องช่วยกันซ่อมแซมแล้ว

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ


“แม้ประเทศไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่มาก หรือเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก แต่ประเทศที่ปล่อย 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทั่วโลกมีจำนวนกว่า 100 ประเทศ หากรวมกันแล้วจะเท่ากับครึ่งหนึ่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกครึ่งหนึ่งคือสหรัฐอเมริกาและจีน ดังนั้น เราอย่ารอความหวังของประเทศใหญ่ๆ แต่ประเทศเล็กๆ 100 กว่าประเทศก็ช่วยโลกได้

“นอกจากนี้ จะเห็นว่ามีรูปธรรมที่เกิดจากพลังงาน เช่น ช่วยให้คนมีการศึกษา ให้แสงสว่างกับเด็กที่ต้องการอ่านหนังสือในพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ช่วยตอบโจทย์เรื่องการแพทย์ อย่างกรณีนายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ที่ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ภายในโรงพยาบาล ทำให้ประหยัดค่าไฟไปได้เดือนละกว่า 2-3 หมื่นบาท ทำให้หมอสุภัทรนำเงินดังกล่าวไปซื้อเครื่องช่วยหายใจ สิ่งเหล่านี้เห็นถึงความเชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างชัดเจน”

ไฟ จาก ฟ้า : แสงของดวงตะวัน

ขณะที่ภาคีหลักของพันธมิตรอย่างแกรมมี่ได้งัดกลยุทธ์ “มิวสิก คอมมูนิเคชั่น” โดยใช้ดนตรีและศิลปะสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายผ่านบทเพลง แสงของดวงตะวัน ซึ่งจะเปิดตัวในเร็วๆ นี้ แต่งโดย นิติพงษ์ ห่อนาค ขับร้องโดย เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ พ่วงตำแหน่ง “เคโอแอล” (Key Opinion Leader) ร่วมด้วย พร้อมสื่อสารไปยังช่องทางต่างๆ อาทิ ช่องวัน 31, ช่องจีเอ็มเอ็ม 25, กรีนเวฟ, เดอะคลาวด์ (The Cloud)

แอบถามจาก บุษบา ดาวเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ว่าทำไมต้องเป็นพี่เบิร์ด?

ได้รับรอยยิ้ม ก่อนคำตอบจะตามออกมาว่า กกพ.เสนอมาว่าเคโอแอลต้องเป็นบุคคลที่ทุกคนรู้จัก อีกทั้ง “พี่เบิร์ด” สามารถพูดเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายได้ ที่สำคัญคือติดแผงโซลาร์เซลล์ที่บ้าน ด้วยเจ้าตัวศึกษาเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ชนิดที่เมื่อได้ไปต่างประเทศก็กลับมาเล่าให้ฟังว่าแต่ละที่ทำงานกันอย่างไร

บุษบาเล่าว่า หลังจากได้รับโจทย์จาก กกพ.แล้วรู้สึกหนักใจมาก เพราะเป็นเรื่องยากและไกลตัว ทั้งนี้ ขอชื่นชมรูปแบบการทำงานของ กกพ.เพราะเป็นนวัตกรรมการสื่อสารรูปแบบใหม่ ซึ่งแกรมมี่เองได้รับการจัดให้อยู่ในหมวดหมู่ซอฟต์เพาเวอร์ ดังนั้น เมื่อถามว่ายากไหม เจ้าตัวยอมรับว่ายาก แต่อยากทำมาก และมีแรงบันดาลใจมาก กระทั่งหาจนเจอ

บุษบา ดาวเรือง และบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์

“ตอนแรกเราคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนมาสนใจเรื่องนี้ สามารถจับต้องได้ รวมทั้งได้คุยกับ กกพ.แต่แรกว่า แกรมมี่เอง หรือพี่เบิร์ดเอง เราเป็นพลังงานบวก เราจะไม่ออกมารณรงค์แบบหมดหวัง หรือโลกนี้จะแตก เราทำออกมาแล้วมีความสุข มีรอยยิ้ม เช่นแคมเปญสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมาคือ ‘โลกสวยด้วยมือเรา’ มาวันหนึ่งเราค้นพบว่ามีหนังสือ Factfulness ที่บิล เกตส์ ไปซื้อให้คนรุ่นใหม่อ่าน ซึ่งส่วนตัวก็ไม่ได้อ่านเอง มีทีมงานอ่านแล้วมาเล่าให้ฟังว่าโลกนี้ไม่ได้เลวร้ายเลย มีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นทุกวัน ทุกที่ ดังนั้น ถ้าแกรมมี่จะรณรงค์ก็จะทำให้คนเกิดความสนใจแล้วมีความหวัง จากนั้นไปรีเสิร์ชต่อจนพบกับ ‘ชุมชนหนองตาแต้ม’ ที่ได้รับรางวัลจากยูเอ็น มองว่านี่แหละคือ Thailand Factfulness เขาเป็นชุมชนต้นแบบ เขาทำได้

“นี่คือจุดเริ่มต้นที่เรานำมาสร้างเป็นเพลงแสงของดวงตะวัน ซึ่งมีหลายเวอร์ชั่นมาก เช่น เวอร์ชั่นหนองตาแต้ม เราให้เดอะคลาวด์ไปเล่าเรื่องราวจริงๆ ของชุมชนนี้ประกอบเพลง เห็นถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่ใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ได้อย่างมีความสุข ในเวลาเดียวกันตามที่รับโจทย์จาก กกพ.คืออยากให้คนมีความผูกพันกับพลังงานแสงอาทิตย์ที่ไม่ใช่เพียงบนหลังคาเท่านั้น ทว่า ควรเป็นเรื่องใกล้ตัว เช่น กระเป๋าเป้ หมวก ก็สามารถอยู่ในชีวิตประจำวันเราได้ง่ายๆ เลยคิดว่าถ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทำได้หลายอย่าง น่าจะทำเพลงได้ด้วย เราเริ่มทำโปรเจ็กต์ทดลองด้วยการบันทึกเสียงโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พี่เบิร์ดไปร้องเพลงตรงนั้นจริงๆ ทุกอย่างบันทึกด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ต่อจากแผงโซลาร์ เราเรียกเวอร์ชั่นนี้ว่าเวอร์ชั่นทะเล

“พอมาทำโปรเจ็กต์นี้ถึงรู้ว่ามันหยุดไม่ได้ สมมุติว่าเราทำโฆษณาสินค้า ลูกค้าก็จะบรีฟว่าส่วนผสมของผลิตภัณฑ์มีอะไรบ้าง เราทำหน้าที่แนะนำ แต่นี่เป็นการให้ความรู้ ให้แรงบันดาลใจ สร้างความชื่นชม ชื่นชอบเรียนรู้ ซึ่งไม่ได้จบจริงๆ เพราะต้องปรับตลอดเวลา”

ไฟ จาก ฟ้า : โครงการดีๆ ที่รับชมได้ทุกช่องทาง

นอกเหนือจากเพลงแล้ว ผู้ชมยังสามารถตาม “พี่เบิร์ด” ไปค้นหาความน่าสนใจของพลังงานไฟฟ้าที่มาจากพลังงานสะอาดได้ใน รายการ “ไฟ จาก ฟ้า” ทางช่องวัน 31 และ วิดีโอซีรีส์ “Song From The Sun” ซีรีส์ที่จะมาถ่ายทอดแรงบันดาลใจจากการใช้พลังงานแสงอาทิตย์จาก “เดอะคลาวด์” พร้อมเผยแพร่ภายในเดือนตุลาคมนี้

สำหรับ “หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร” ก็เตรียมจัด นิทรรศการ “จรัส” นำเสนอโครงการศิลปะเพื่อทางเลือกใหม่ของพลังงานไฟฟ้า อาทิ Life Fest จรัสแสง, เทศกาลศิลปะกลางแจ้ง Cinema Diverse ด้าน “สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ก็พร้อมส่งเสริมผลักดันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย และสนับสนุน เผยแพร่ ให้ผู้ประกอบการ นักสร้างสรรค์ และประชาชนทั่วไปตระหนักถึงความสำคัญของการใช้พลังความคิดสร้างสรรค์ ควบคู่กับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“เทลสกอร์” ขอร่วมสร้างปรากฏการณ์เข้าถึงพลังงานสะอาดจากโซลาร์เซลล์ผ่านทางอินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียงมากมาย ส่งต่อเรื่องราวดีๆ บนโลกโซเชียลมีเดีย

ส่วนที่เริ่มออกอากาศแล้วอย่าง รายการ “คนบันดาลไฟ” ของทีวีบูรพา รายการที่มาถ่ายทอดเรื่องราวบุคคลและสถานที่ต้นแบบที่ภาคประชาชนและเอกชนได้ขับเคลื่อน จนเป็นต้นแบบด้านพลังงานโซลาร์เซลล์ทั้งในและนอกประเทศ สามารถรับชมได้อีกครั้งวันอาทิตย์หน้า เวลา 13.30-14.00 น. ทางช่องไทยรัฐทีวี

หลากหลายสาระความรู้ ความบันเทิง ที่มาในรูปแบบช่วยสร้างความเข้าใจว่า ใครๆ ก็เข้าถึงพลังงานสะอาดได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image