ไทย-เวียดนาม 14 ตุลา 62 กับ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

“บ้านเราที่ด่าคนรุ่นใหม่ก็เพราะกลัว ไปคิดว่าคนรุ่นใหม่ได้รับความคิดข้างนอกแล้วจะมาทำลายความยิ่งใหญ่ ความดีงามที่อยู่ข้างในของเรา นี่เป็นความคิดที่หลงตัวเอง และปิดกั้นตัวเอง”

คือถ้อยคำจากปาก ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ชายวัย 72 ผู้มีคำนำหน้าตามตำแหน่งวิชาการว่า ศาสตราจารย์ ดร.

เปล่าเลย, นี่ไม่ใช่คำกล่าวที่เกิดขึ้นหลังการบรรยายอันลือลั่นของ ผบ.ทบ.ประเทศไทยที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์การถกเถียงครั้งใหญ่ในสังคมไทย จากมุมมองทางประวัติศาสตร์ที่ “บิ๊กแดง” หยิบยกขึ้นมาใช้บนเวทีในวันนั้น

ทว่า ย่อหน้าข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนาที่เกิดขึ้นบน “Golden Bridge” สะพานลอยฟ้าบนประติมากรรมรูปอุ้งมือขนาดยักษ์บนเขา “บานาฮิลล์” แลนด์มาร์กใหม่ที่กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเมืองดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระหว่างการลงพื้นที่ภาคสนามของนักศึกษา โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา หรือ SEAS มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในวันรุ่งขึ้นซึ่งตรงกับ 6 ตุลา ที่บรรยากาศในไทยจะเต็มไปด้วยการรำลึกเหตุการณ์อันน่าเศร้า

Advertisement

“ใช่ๆๆ” คือคำตอบพร้อมรอยยิ้มของนักประวัติศาสตร์คนสำคัญของไทยท่านนี้ เมื่อได้ยินประโยค “คนไม่ค่อยเชื่อ ว่าอาจารย์เคยเข้าป่า” จะด้วยรูปลักษณ์ ท่าทีอันสุภาพ อ่อนโยน หรือเหตุผลใดก็ตาม

14 ตุลาคม 2516 หรือวันนี้เมื่อ 46 ปีที่แล้ว นักศึกษาชื่อ นายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ สมาชิกกลุ่ม “สภาหน้าโดม” คือหนึ่งในผู้อยู่ร่วมเหตุการณ์เคลื่อนไหวทางการเมือง กระทั่งต้องหนี “เข้าป่า” ซึ่งเจ้าตัวเล่าบนโต๊ะอาหารใกล้ด่าน “ลาวบาว” ระหว่างลาวกับเวียดนามระหว่างการเดินทางว่า ในช่วงนั้นไม่ค่อยได้กิน “ข้าว” ไม่ใช่ว่าเป็นของหายาก แต่ต้องฝากชาวบ้านซื้อ หากยิ่งซื้อมาก ทางการก็จะ “ผิดสังเกต” ส่วนใหญ่เลยเน้นเมนูผักจากแปลงที่ปลูกกันเอง นานๆ ทีจะมีเนื้อสัตว์ตกถึงท้อง บางครั้งได้กินเนื้อชะนีที่เมื่อแบ่งกันแล้ว เหลือชิ้นเล็กนิดเดียว

เป็นประวัติศาสตร์ชีวิตของนักประวัติศาสตร์ผู้ผ่านทั้งเหตุการณ์ ปรากฏการณ์ และสถานการณ์มากมายที่เกิดขึ้นในช่วงเกินครึ่งศตวรรษ

Advertisement

เวียดนามเดินหน้า
‘กรุงสยาม’ หาโอกาส ‘ถอย’ ?

ตัดฉากกลับมาที่การสนทนาบนสะพานมือ ในประเทศสังคมนิยมอย่างเวียดนาม ซึ่ง ธเนศ ยอมรับว่าก่อนมายืนอยู่ตรงนี้ ไม่ได้มีความสนใจเป็นพิเศษ แต่เป็นโปรแกรมที่ ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ หัวเรือใหญ่ของทริปนี้ เข้า “กูเกิล” เจอผ่านอินเตอร์เน็ต แต่เมื่อมาถึงแล้วต้องชื่นชมความคิดสร้างสรรค์ที่ทำให้ผู้คนมหาศาลเดินทางมาที่นี่ นอกจากนี้ ยังมองเห็นถึงความ “กล้า” ในการลงทุน ซึ่งกว่าจะขึ้นมาถึงสะพานแห่งนี้ มีการสร้างกระเช้าที่ทันสมัย ทั้งยังเนรมิตจุดกิน ดื่ม เที่ยว ปราสาทและสวนสนุก

ความเจริญของเวียดนามรุดหน้าขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งเศรษฐกิจและการศึกษาที่เชื่อกันว่าจะแซงอีกหลายประเทศในอาเซียนถึงไทยได้ไม่ยาก

“ถ้าดูจากสื่อ จากการวิวาทะในสังคม ปรากฏการณ์ทางการเมือง หลายอย่างมันลงเหวนะ ถ้าดูเวียดนามแล้วมองไทยในตอนนี้ ผมคิดว่าน่าห่วงมาก เพราะเวียดนามเขาเดินไปข้างหน้าอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เป็นระบบ ในขณะที่กรุงสยามหาทางจะถอยให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ นี่มันคนละเรื่องเลย” ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศกล่าว

จากประเทศที่ผ่านสงครามครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก พานพบความเจ็บปวดแสนสาหัส กลับพลิกฟื้นและเดินมาจนถึงวันนี้ อะไรทำให้เวียดนาม “เดินหน้า” ในขณะที่ไทยถูกมองว่าเขยิบถอยหลังมากขึ้นทุกที แน่นอนว่าคงไม่ได้มาจาก “ดีเอ็นเอ” และความบังเอิญ

นับแต่บรรทัดนี้ คือความคิดความเห็นใน 14 นาทีที่เข้มข้นท่ามกลางเสียงเซ็งแซ่หลากภาษาของนักเดินทางจากมุมต่างๆ ของโลกบนสะพานที่ทอดยาวบนทิวเขาแห่งเมืองดานัง

‘ช้าไป…ไม่ทัน’ มองประวัติศาสตร์
จากจารีตสู่สมัยใหม่

“ถ้าจะมองจากประวัติศาสตร์ ก็ต้องไปเริ่มที่โลกทัศน์ซึ่งเวียดนามกับสยามรับมา เวียดนามรับสายอารยธรรมที่ผมขอเรียกว่า ขงจื๊อ ดีกว่า เพราะถ้าใช้คำว่าจีน มันเป็นรัฐชาติ เราจะนึกถึงตัวตนปัจจุบัน อารยธรรมมันไปมากกว่าความเป็นรัฐ และความเป็นชาติ อารยธรรมขงจื๊อมากับทั้งการเรียนการสอน การอ่าน การท่องจำ การคิดค้นอะไรต่างๆ ซึ่งมีระบบซับซ้อน อยู่กับธรรมชาติ กับชีวิตชาวบ้าน และอยู่กับราชสำนักก็ได้ เขามีคำสอนด้านนี้แบบที่เป็นองค์ความรู้ค่อนข้างรอบด้าน สะสม และไม่หมดไป”

สรุปเบื้องต้นว่า ลัทธิขงจื๊อ คือเหตุผลหนึ่ง ส่วนบ้านเรา สยามรับพราหมณ์ ฮินดู พุทธ ออนท็อปคือ ผี โดยมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 4

“จริงๆ แล้วเวียดนามก็มีผี แต่ไม่ค่อยมีบทบาทลึกซึ้งเท่าไร แต่เดาว่าทางภาคพื้นทวีปสยามน่าจะรับคติเรื่องผีเยอะมาก ผมคิดว่าตัวที่มากำหนดโลกทัศน์ยุคใหม่ คือสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงที่เปลี่ยนทั้งภูมิภาค มีแรงปะทะจากตะวันตก จากอาณานิคม ซึ่งสยามในยุคนั้นสามารถใช้วิธีแบบตะวันตกคือไปนำทรัพยากรในรัฐรอบๆ กรุงเทพฯมา แล้วเก็บภาษีเอง รวมปัตตานี ล้านนา ล้านช้างเข้ามา คือแทนที่ฝรั่งจะเก็บ เราเก็บเอง แต่นักประวัติศาสตร์ไทยไม่รับทฤษฎีนี้ ก็แล้วไป แต่คุณปฏิเสธไม่ได้ว่ามันทำให้กรุงเทพฯเข้มแข็ง ระบบใหม่ที่เกิดขึ้นคือระบบบริหาร ส่วนหนึ่งก็เป็นระบบบริหารแบบตะวันตก เป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ ไม่ได้เป็นแบบเวียง วัง คลัง นา เหมือนแต่ก่อนซึ่งเป็นแบบจารีต

นี่คือแบบ 12 กระทรวง แต่ในยุคแรกเป็นการตั้งลูกหลานข้าราชการเข้ามาทำงานในกระทรวง เพราะยุคนั้น ยังไม่มีคน ไม่มีการสอบคัดเลือก จนตอนหลังตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว จึงมีคนจบมหาวิทยาลัยเยอะมาก ข้าราชการถึงได้ยกระดับตัวเองขึ้นมา ไม่ใช้ว่ามีตระกูลที่ครองกระทรวง แต่เปิดให้คนข้างล่างขึ้นมาได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่ามันช้าไปแล้ว มันไม่ทัน” ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศตั้งข้อสังเกต

เพื่อนบ้านเก็บบทเรียน
‘สร้างประเทศ’
ไทยมัว ‘สยอง’ ทุนสามานย์

การหยุดนิ่งในบางช่วงบางตอน ยังเกิดจากการลิดรอนระบบราชการและระบบการศึกษาใหม่ที่จะเข้ามาในไทย

“ในช่วง พ.ศ.2490 เมื่อสงครามเย็นเข้ามา เกิดการต่อสู้อีกแบบหนึ่ง ไทยกลับไปเล่นงานฝ่ายคณะราษฎรลิดรอนระบบราชการแบบใหม่และระบบการศึกษาแบบใหม่ที่จะเข้ามา จอมพล ป. พิบูลสงคราม พยายามสู้ จน พ.ศ.2500 ซึ่งก็ต้องถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ทั้งระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุข โดยมีความช่วยเหลือจากภายนอกน้อยมาก ทำกันเอง ไม่มีเงินทุน แต่พอเจอตอนสงครามเย็น จะเอาแต่ต้านคอมมิวนิสต์อย่างเดียว ไม่ได้สนใจอะไรทั้งสิ้น เลยมีการยึดอำนาจ หนุนทหารขึ้นมาอีก นี่คือการที่เราเจอกระแส ในขณะที่ประเทศอื่นกำลังเรียนรู้จากบทเรียนมา ‘สร้างประเทศ’ ของตัวเอง แต่สยามกลับไปสร้างประเทศตามจารีตมากขึ้นกว่าเดิม แทนที่จะมองไปข้างหน้าว่าจะเป็นโลกาภิวัตน์แบบไหน”

เจาะให้แคบลงไปอีกนิดว่านอกจากปัจจัยในประเทศไทยที่ทำให้ตัวเองหยุดก้าวไปข้างหน้าด้วยตัวเองแล้ว อะไรทำให้เวียดนาม “ไปต่อ” อย่างไม่หยุดยั้ง

“จีน เวียดนาม ได้เปรียบ เพราะเมื่อสังคมนิยมเป็นอุดมการณ์นำ มันต้องไปข้างหน้า สังคมนิยมไม่มีทางกลับไปข้างหลัง มีการนำขงจื๊อมารับใช้สังคมนิยมแบบที่ไม่สามารถมากลบสังคมนิยมได้ แต่ในบ้านเรา อุดมการณ์จารีตกำลังเข้าไปครอบงำอุดมการณ์พัฒนาแบบใหม่

ยุคพันธมิตรต่อต้านทุนสามานย์ ทักษิณขึ้นมาไม่ได้ พรรคเพื่อไทยขึ้นมาไม่ได้ ตอนนี้กลุ่มธนาธร ก็ขึ้นมาไม่ได้ ถูกมองเป็นทุนสามานย์หมดเลย โอ้โห! แล้วคุณจะไปสร้างอะไร คุณจะเอาแต่กลุ่มทุนใหญ่เท่านั้นหรือ ประเด็นอีอีซี ก็ถูกคนวิจารณ์แล้วว่าเป็นการเอื้อกลุ่มทุนหรือไม่ โอ๊ย ตายแล้ว” กล่าวอย่างออกรสออกชาติ เพิ่มความแซ่บแบบอุษาคเนย์

ถามว่า ประเทศอื่นไม่ได้ “สยอง” กับคำว่า “ทุนนิยม” ในดีกรีระดับเดียวกับบ้านเราใช่หรือไม่ ?

“ใช่ (หัวเราะ) ตอนนี้สื่อบางสำนัก ยังวิจารณ์ทุกวันเรื่องทุนสามานย์ ไม่มีเรื่องอื่นเลย ไม่รู้จะพูดอะไรแล้วเหรอ ผมเสียดายพวกนักข่าวรุ่นเก่าๆ ที่ทำงานมาเกือบตาย มาจบชีวิตด้วยการประณามคนอื่นว่าเป็นทุนสามานย์ ในขณะที่ทุกแห่งของโลก ประเทศคอมมิวนิสต์ทั้งหลายเขาเปิดรับทุนแหลกลาญ แต่ประเทศเราซึ่งอยู่กับทุนมาก่อนเพื่อนในอุษาคเนย์ กลับปิดกั้นตัวเอง มันเกิดอะไรขึ้น?” ศาสตราจารย์ ดร. ธเนศตั้งคำถามกลับ

จากเรื่องส่วนตัว สู่โรคระบาด

“ทำไมคนไทยยังด่าทุนสามานย์ ผมมองว่า มันเริ่มจากเรื่องส่วนตัว แล้วไม่หมดไป ตอนนี้กลายเป็นโรคระบาด ซึมไปในระบบต่างๆ รับเชื้อไปหมด”

เจ้าตัวยังกล่าวถึงประเด็นนายคณากร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นศาลจังหวัดยะลา ใช้ปืนยิงตัวเองหวังฆ่าตัวตายในห้องพิจารณาคดี

“คนดีๆ อย่างผู้พิพากษายะลาที่ยิงตัวตาย ผมคิดว่าไม่มีอะไรที่จะชัดขนาดนี้แล้วว่าคนดีๆ ที่อยู่ในระบบ มันอยู่ไม่ได้ ต้องคิดเพี้ยนๆ ถึงอยู่ได้”

หากให้นิยามความรู้สึกในตอนนี้เพียงหนึ่งคำในฐานะนักประวัติศาสตร์และมนุษย์คนหนึ่งซึ่งอยู่ร่วมสถานการณ์ทางสังคมการเมืองไทยมาจนถึงวินาทีนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ ตอบในแทบจะทันทีว่า “สังเวช”

“ผมสังเวช แต่เป็นความสังเวชในความหมายเดิมของ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ คือรู้สึกเจ็บปวดในความทุกข์ของคนอื่น ไม่ได้สังเวชด้วยความดูถูกว่าเขาโง่ ซึ่งเป็นความหมายที่ถูกใช้ผิดไปในภายหลัง คุณกุหลาบใช้คำว่าสังเวช ในความหมายที่เราต้องเมตตาเขา เห็นใจในความลำบากของเขา ที่ผมสังเวชคนเหล่านั้นเพราะรู้สึกว่าเขาไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น เขามีศักยภาพ มีสติปัญญา แต่จะด้วยอะไรก็ไม่รู้ จึงเป็นอย่างนี้ ผมก็ได้แต่ถอนหายใจ ว่ามันก็ต้องเป็นไป”

ทั้งในความเป็นคุณพ่อของลูกสาวทั้ง 2 ที่เป็น “คนรุ่นใหม่” ใน พ.ศ.นี้ และในความเป็น “ครู” ของนักศึกษารุ่นแล้วรุ่นเล่า มองเห็นความเป็นไปของคนรุ่นใหม่ที่ในปัจจุบันกลับถูกปิดกั้นและตำหนิจาก “คนรุ่นเก่า”

อาจารย์ท่านนี้บอกว่า คนรุ่นเก่าบางคนที่มีลูกหลาน อยากให้ถามลูกหลานว่า ที่พ่อพูด ลูกเข้าใจไหม พ่อเปิดอินสตาแกรมบ้างหรือเปล่า เล่นทวิตเตอร์บ้างหรือเปล่า ?

“พออายุมากหน่อยเป็นเหมือนกันหมด ทั้งพ่อค้า แม่ค้า ครูบาอาจารย์ บอก คนเดี๋ยวนี้ทำไมเป็นอย่างนี้ บางทีเขาก็ไม่ได้ตั้งใจจะว่า แต่กลายเป็นความเคยชิน คนอื่นพูดอย่างนี้ กรอกหูทุกวัน ก็เลยพูดตาม กลายเป็นว่าคนรุ่นเก่า ร่วมกันสร้างความเคยชินแบบใหม่ที่กดทับคนรุ่นใหม่ หรือคนอื่นที่ไม่พูดเหมือนเรา กลายเป็นเชื้อโรค”

หันมามอง “เวียดนาม” ธเนศบอกว่า

“เขาเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ถึงจะเกลียดทุน แต่ไม่ด่าทุน ทั้งจีน ทั้งเวียดนาม”

ย้อนกลับมาถึงประโยคเปิดเรื่อง ที่ว่า บ้านเราด่าคนรุ่นใหม่เพราะ “ความกลัว” ว่าการรับความคิดจากภายนอกจะมาทำลายความยิ่งใหญ่และดีวามภายในที่เคยมีอยู่

นี่เป็นความคิดที่หลงตัวเอง

ถ้าเป็นรุ่นผม อย่างมากก็ตีกลองฉิ่งฉับ

แม้เกษียณจากงานประจำ ณ รั้วเหลืองแดงแห่งธรรมศาสตร์และการเมือง ชีวิตของ ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ นักประวัติศาสตร์ชื่อดังก็ไม่ได้เงียบเหงา หากแต่ยังรุมเร้าด้วยการงานหลากหลายอันเป็นที่รัก ทว่า ยังเจียดเวลาร่วมทริป ‘สะหวันนะเขต-เว้-ดานัง-ฮอยอัน-หมีเซิน’ ของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 โครงการ ‘ซีส์’ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ในฐานะ ‘ผู้ร่วมทัศนาจร’ ที่รับหน้าที่เป็น ‘คอมเมนเตเตอร์’ ในบางจังหวะ

ครั้นค่ำคืนสุดท้ายใน 5 วัน 6 คืน ถูกเชิญเป็นผู้มอบรางวัลให้เฟรชชี่ที่กล่าวสรุปทริปได้ดีจนต้องกดไลค์ ธเนศ เดินออกไปด้วยเสื้อลายสไตล์ ‘อุษาคเนย์’ ยื่นหนังสือ ‘เวียดนาม : ประวัติศาสตร์ฉบับพิสดาร’ ของ เหงียนคักเวียน แปลโดย ศาสตราจารย์ เพ็ชรี สุมิตร ให้นักศึกษา

“เล่มนี้สำคัญมาก คุณจะต้องอ่านให้ดี เพราะคนเขียนคือ เหงียนคักเวียน นักประวัติศาสตร์ที่ก้าวหน้า เขาเขียนขึ้นก่อนการปลดปล่อย ไม่มีใครเขียนประวัติศาสตร์เวียดนามแบบเก่าๆ โดยเอาเรื่องจากข้างในเข้ามา เพราะส่วนใหญ่เป็นเรื่องจากคนนอกมองเข้าไป คนก็สงสัยว่าคนเวียดนามจริงๆ คิดอย่างไร นี่คือเล่มที่เผยแพร่ไปทั่วโลก เป็นเล่มคลาสสิก ลองอ่านประวัติศาสตร์ แล้วดูเวียดนามที่คุณเห็นวันนี้ ว่ามันเชื่อมโยงกันได้ไหม ?”

อาจารย์เอ่ยแนะ แล้วยังบอกว่าฉบับภาษาไทยนี้ จัดพิมพ์โดย มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่ง ศาสตราจารย์ เพ็ชรี สุมิตร ผู้แปล เป็นประธานและศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นผู้จัดการ โดยมีหนังสือกว่าพันเล่มให้อ่านทั้งวันทั้งคืน จากนั้นกล่าวถึงการฝึกภาคสนามครั้งนี้ที่นักศึกษาต่างมี ‘คีย์เวิร์ด’ หรือคำสำคัญอันเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เวียดนามเป็นการบ้านที่ต้อง ‘สอบเก็บคะแนน’ ในพื้นที่บ้าง บนรถทัวร์ระหว่างเส้นทางบ้าง

“ผมแปลกใจมากที่นักศึกษาสามารถเรียนรู้ข้ามประเทศ ข้ามเมือง ข้ามจังหวัด รับข้อมูลจากอาจารย์ จากผู้ช่วยสอนได้ดีสำหรับการบ้าน ดูแล้วยังแปลกใจว่าจะทำกันไหวเหรอ (หัวเราะ) ถ้าเป็นรุ่นผม คงไม่มีทาง อย่างมากขึ้นรถทัวร์มาก็ตีกลอง ร้องเพลงเชียร์ฉิ่งฉับเท่านั้นเอง การมานั่งรายงานอย่างนี้ ผมนึกไม่ออกเลยว่าทำได้อย่างไร แต่พวกคุณทำได้”

ย้ำชัดถึงความสามารถของคนรุ่นใหม่ ที่คนรุ่นเก่าบางกลุ่มยากจะเข้าใจและยอมรับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image