Open Banking ก้าวใหม่ของ ‘กรุงไทย’ ในอีก 3 ปี

จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ธุรกิจที่ให้บริการทางการเงินของธนาคารต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญยิ่ง “ธนาคารกรุงไทย” ก็เช่นกัน

ปี 2562 กรุงไทยได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์ “เขาสามลูก” หรือ 3 Summits เป็นหลักในการดำเนินงาน โดยมีหน้าที่ในการสนับสนุนและช่วยผลักดันภาครัฐในด้านต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตและมีศักยภาพสูงขึ้น แต่เท่านั้นยังไม่เพียงพอ เพราะ Digital Technology ที่เข้ามามีบทบาทในภาคการธนาคารอย่างรวดเร็ว ทำให้ธนาคารยิ่งต้องปรับตัวเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพื่อนำไปสู่ความสามารถแข่งขันเชิงธุรกิจควบคู่ไปกับการสนับสนุนภาครัฐได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

“เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” ประธานกรรมการธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ตอนนี้ระบบธนาคารเปลี่ยนไปอย่างมาก ซึ่ง “บิลล์ เกตส์” ประธานคณะกรรมการบริหารบริษัทไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น เจ้าพ่อวงการคอมพิวเตอร์ สรุปไว้ได้ดีมาก ว่า “ระบบธนาคารจำเป็น แต่ตัวธนาคารไม่จำเป็นอีกต่อไป” ดังนั้น จึงเห็นธนาคารต่างๆ เร่งเปลี่ยนแปลงตัวเองในการให้บริการ ทุกธนาคารพยายามปรับตัวเองแข่งกับที่ต่างๆ ที่ผ่านมาธนาคารกรุงไทยได้ทำ 2 เรื่องหลัก คือ โครงการกรุงไทยคุณธรรม และ การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ธนาคารในประเทศไทยทุกธนาคาร พยายามขยับไปสู่เทคโนโลยี

“แต่กรุงไทยฉีกตัวเองออกมาให้แตกต่าง คือ มาทำให้เป็นแพลตฟอร์มของรัฐ ที่ผ่านมาได้ทำเรื่องของ PromptPay กรุงไทยเป็นธนาคารแรกที่นำร่องในเรื่องนี้ จนทำให้ค่าฟีการทำธุรกรรมลดลงมา จนปัจจุบันแทบไม่มีแล้ว นอกจากนี้ ยังเป็นแพลตฟอร์มทำให้กับผู้มีรายได้น้อย คือ ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ คนไม่ค่อยรับรู้ว่ากรุงไทยอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ทั้งหมด ทำให้เงินของรัฐจ่ายตรงไปยังประชาชนทันที คอร์รัปชั่นที่ว่าเป็นการ “เลียไอติม” ก็หายไปเพราะจ่ายเงินลงไปตรง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐนี้ได้นำไปใช้กับร้านธงฟ้า ซึ่งกรุงไทยก็เป็นคนวางระบบอีก และไม่เฉพาะร้านธงฟ้าเท่านั้น ยังมีร้านเล็กๆ จำนวนมาก ที่พอเข้าสู่ระบบมีบัญชีที่ถูกต้องก็ทำให้ยอดขายดีขึ้น ที่เห็นชัดที่สุดปัจจุบันคือ โครงการชิมช้อปใช้ เป็นแพลตฟอร์มอีกอันที่ทำให้กับภาครัฐ ซึ่งเป็นการดึงให้คนมาใช้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐจ่ายรอบแรก 1,000 บาท รอบสองให้คนต้องใส่เงินเข้าไปในระบบ ถ้าใส่ครบ 30,000 บาท ก็จะได้คืน 4,500 บาท” ประธานกรรมการธนาคารกรุงไทยกล่าว

Advertisement

ไม่เพียงเท่านี้ แต่ยังมีแพลตฟอร์มอีกมากมาย ที่ธนาคารกรุงไทยเข้าไปริเริ่มดำเนินการ ซึ่ง “เอกนิติ” บอกว่า ล่าสุดที่ตั้งใจว่าจะต้องทำโดยเร็ว คือ Blockchain (บล็อกเชน) โดยกรุงไทยจะทำให้กับกระทรวงการคลัง เป็นแพลตฟอร์มเกี่ยวกับการคืนภาษีให้กับนักท่องเที่ยว หรือใช้บล็อกเชนกับระบบจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้จัดซื้อจัดจ้างง่ายขึ้น แพลตฟอร์มในเรื่องคมนาคมขนส่งที่เชื่อมบีทีเอสกับรถไฟใต้ดิน และยังได้ไปวางระบบให้กับรถเมล์ด้วย เพราะฉะนั้นบริบทของธนาคารกรุงไทย จึงไม่ใช่ธนาคารแบบเดิมๆ ที่โอนเงิน ปล่อยสินเชื่อเท่านั้น แต่ต้องสามารถเชื่อมต่อกับ Digital Product อื่นๆ ได้ สามารถเรียกใช้งานบริการทางด้านการเงินได้อย่างสะดวกและง่ายดายยิ่งกว่าเดิม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงก้าวต่อไปของกรุงไทย คือการเป็น Open Banking นั่นเอง

เพื่อให้ยุทธศาสตร์ที่วางไว้เป็นไปตามแผน ธนาคารกรุงไทยจึงเหินฟ้าไปศึกษาดูงานด้านเทคโนโลยีทางการเงินของบริษัทชั้นนำ และบริษัทพันธมิตร ไกลถึงเมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ถิ่นกำเนิดแห่งเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นที่ Plug and Play Tech Center พันธมิตรหนึ่งของกรุงไทยในเขตซิลิคอน แวลลี่ ซึ่งได้นำพา 3 บริษัทสตาร์ท-อัพ ได้แก่ Token, Setu และ Verrency มานำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยบริษัทแรก พูดถึงเทคโนโลยีที่สามารถทำร่วมกับแบงก์ชาติประเทศต่างๆ มีระบบเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมสกุลเงินจากทั่วโลก จะในประเทศนั้นๆ หรือระหว่างประเทศก็ได้ โดยที่ไม่มีต้นทุนหรือต้นทุนต่ำมากในการโอนหรือชำระเงิน และปรับปรุงระบบที่ล้าสมัย โดยใช้แนวคิดเรื่องบล็อกเชนมาเป็นกลไกในการทำงานที่ทำได้ในช่วงเวลาเกือบจะ real time

Advertisement

บริษัทที่สอง-เป็นแพลตฟอร์มสำเร็จรูป สามารถซื้อหรือเช่ามาใช้ได้เลย ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มเอง ไม่ว่าการฝากเงิน การเสนอเงินกู้ ที่สำคัญคือ ระบบของเขาสามารถหาผลิตภัณฑ์เงินฝากอื่นมาเชื่อมเป็น Open Banking สามารถถอดปลั๊ก-เสียบปลั๊กได้อย่างรวดเร็ว บริษัทที่สาม-เป็นแพลตฟอร์มที่คิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ที่มีบัตรเครดิตหลายใบ และยังมีพอยต์ต่างๆ มากมาย ระบบจะมาช่วยจัดการเรื่องวุ่นวายนี้ ที่สำคัญมีเทคโนโลยีนำส่วนต่างของการจ่ายเงินที่เป็นเศษสตางค์ไปบริจาคหรือทำบุญให้กับมูลนิธิที่เราระบุไว้โดยอัตโนมัติทันทีที่รูดบัตร ซึ่งทั้งสามบริษัทนี้ “ผยง ศรีวณิช” เอ็มดีแบงก์กรุงไทยบอกว่าน่าสนใจทั้งสามบริษัท

จากนั้นเดินทางต่อไปยังบริษัท Accenture ซึ่งตั้งอยู่ที่ตึก salesforce ในซานฟรานซิสโก เป็นอีกหนึ่งพันธมิตรที่กรุงไทยได้ใช้บริการในการวิจัยแพลตฟอร์มต่างๆ ที่จะนำมาใช้ในอนาคตในการก้าวสู่ Open Banking ซึ่งคำว่า Open Banking คือแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ผู้บริโภคแต่ละคนเห็นที่มีการทำธุรกรรมหลายแห่งหลายที่ รวมไปถึงหลายธนาคารสามารถมองเห็นไฟแนนเชียลของตัวเองได้ ไม่ว่าเขาจะมีการลงทุนหรือไม่ ว่าจะใช้บริการธนาคารไหนก็สามารถรวมมาอยู่ที่เดียวกันได้ ไม่จำกัดเฉพาะบริการของธนาคารเท่านั้น สามารถใช้บริการได้ทั้ง Banking และ Non-Banking โดยผลที่ได้ออกมาจะเกิดมี “เดต้า” จำนวนมหาศาล นอกจากนี้ ยังไปเยือนธนาคาร Wells Fargo และ Visa โดยเฉพาะที่ Visa ได้จัดแสดงนวัตกรรมแห่งโลกอนาคตในการจับจ่ายให้ชม เน้นแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่จะต้องมีในโลกอนาคต

“ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวในการดูงานครั้งนี้ ว่าเพื่อตอกย้ำคำนิยามที่สอดคล้องกับปรัชญาและสปิริต “กรุงไทยเคียงข้างไทย เคียงข้างคุณ” ธนาคารจึงต้องปฏิรูปตัวเองเพื่อประสิทธิภาพในการให้บริการ เนื่้องมาจากนวัตกรรมของโลกที่เปลี่ยนไป กรุงไทยยึดหลักหัวใจ 3 ข้อ คือ หนึ่ง-ยึดลูกค้าเป็นหัวใจ ไม่ใช่ในแบบเดิมแต่เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจลูกค้าในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น ต้องรู้ว่าเขาจะซื้ออะไร ซื้อเมื่อไหร่ หรือต้องการกินอาหารญี่ปุ่น รู้แค่นี้ไม่พอ ต้องรู้ว่าชอบอาหารญี่ปุ่นเแบบไหน ประเภทของร้าน จะกินแบบครอบครัวหรือแบบธุรกิจ เป็นต้น สอง-การให้บริการของธนาคารต้องอยู่บนพื้นฐานการใช้เทคโนโลยีเต็มศักยภาพและสูงสุด สาม-ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานอย่างสิ้นเชิง 3 ข้อหลักนี้จำเป็นจะต้องนำเข้ามาอยู่ในยุทธศาสตร์และปรับเปลี่ยนตัวเองให้ได้

“…บริบทของธนาคารกรุงไทยวันนี้ เดิมใช้เคทีบี เน็ตแบงก์ แล้วออกกรุงไทยเน็กซ์ มา “เคทีบี เน็ตแบงก์” คืออินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง 2.0 เชื่อมกับ 3.0 “วันนี้เราพยายามจะก้าวเข้าสู่ 3.0 คือ Mobile Banking แต่ในช่วงของการเข้าสู่ Mobile Banking วันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นล่าสุดคือเรื่องของ Open Banking เพราะฉะนั้นระหว่างที่เราไม่สามารถยึดหัวหาดแล้วเป็นผู้นำในส่วน Mobile Banking ได้เต็มตัว เราต้องคิดมองไปข้างหน้าแล้วว่าเราจะเป็นผู้นำภายใต้บริบท Open Banking ได้อย่างไร? ดังนั้น วิธีการดำเนินธุรกิจของเราจะไม่พยายามวิ่งตามคู่แข่งเพื่อจะปิดช่องว่าง แต่เราต้องกระโดดข้าม ต้องฉวยโอกาสการเกิด Disruption ให้เป็นโอกาสกับธนาคารเร็วที่สุด ดิสรัปชั่นมีอยู่สองอย่าง หนึ่ง-คือเรื่องการทำลายล้าง สอง-คือการสร้างขึ้นมาใหม่ การทำลายล้างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำได้คือประคองแล้วชะลอ นั่นคือ Traditional Banking แต่สิ่งที่ต้องเร่งทำและสร้างขึ้นมาใหม่เร็วที่สุด คือ Open Banking…”

และการจะไปสู่ Open Banking ได้อย่างที่กล่าวนั้นจำเป็นต้องมี 2 เรื่องหลัก คือโครงสร้างพื้นฐาน IT (IT Infrastructure) และโครงสร้างของเดต้า (Data structure) ซึ่งธนาคารกรุงไทยกำลังศึกษาและดำเนินการทั้งสองส่วนเพื่อหาช่องทางก้าวไปสู่ความเป็น Open Banking ในอนาคต ซึ่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย นับนิ้วคำนวณแล้วว่าน่าจะไม่เกิน 3 ปีต่อจากนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image