กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค พระราชพิธีแต่กรุงศรีฯ และนัยยะแห่งมงคล

ภาพเขียนสีกระบวนเรือพระที่นั่งรับราชทูตฝรั่งเศสภายในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

สําหรับเดือนตุลาคมนี้มีรัฐพิธีสําคัญคือ การเสด็จพระราชดําเนินเลียบพระนคร โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ในวันที่ 24 ตุลาคม 2562

เพื่อเป็นการร่วมบันทึกประวัติศาสตร์ครั้งสําคัญของประเทศ

นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนตุลาคม 2562 จึงเสนอ 2 บทความเกี่ยวกับพระราชพิธีดังกล่าว หนึ่งคือ เรื่องกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในเอกสารตะวันตกสมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ โดย รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อีกหนึ่งคือ ครุฑ นาค และหงส์ สัญลักษณ์ เทพเจ้าศาสนาพราหมณ์ฮินดู ในโขนเรือพระราชพิธี โดย รศ.ดร.ศานติ ภักดีคํา ภาคีสมาชิก สํานักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสภา

ขอเริ่มจาก รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี ที่ค้นคว้าเอกสารต่างชาติ มาเรียบเรียงให้เห็นภาพกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในอดีต เช่น สมัยกรุงศรีอยุธยา จากบันทึกข้อมูลของโปรตุเกส, ฮอลันดา, สเปน และฝรั่งเศส และสมัยรัตนโกสินทร์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จากเอกสารของสวีเดน, รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา

Advertisement

ตัวอย่างหนึ่งจากเอกสารของฮอลันดา โยส สเคาเต็น (Joost Schouten) ผู้จัดการบริษัท การค้าฮอลันดา (Manager of the Dutch East Indies Company) ประจํากรุงศรีอยุธยา รวมเวลา 8 ปี 2 รัชกาล คือ รัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ในระหว่างนั้นนายสเคาเต็นได้เขียนจดหมายเหตุบันทึกสิ่งต่างๆ ที่พบเห็นในสยาม รวมถึงเรื่องกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคไว้ ดังนี้

กระบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค ภาพเขียนของชาวต่างชาติ


“มีประเพณีแต่โบราณนานมาแล้วว่า พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรสยามจะต้องแสดงพระองค์ให้ประชาชนเข้าชมพระบารมีปีละครั้งในเดือนตุลาคม ในการเสด็จออกให้ประชาชนเข้าชมพระบารมีตามประเพณีนี้ ขุนนางในราชสํานักทุกคนจะต้องตามเสด็จพระราชดําเนินด้วย ขบวนแห่แหนจะประกอบด้วยเจ้านายผู้มีบรรดาศักดิ์และขุนนางแต่งตัวกันอย่างหรูหรา และตามเสด็จทั้งทางบกทางน้ำเป็นงานเอิกเกริก…

แต่ถ้าหากว่าเป็นการเสด็จพระราชดําเนินทางชลมารค การจัดรูปขบวนเป็นดังนี้ ขบวนแรกได้แก่ ขุนนาง 200 คน แต่ละคนมีเรือสวยงามนั่งมามีคนพาย 60 ถึง 80 คนทุกลํา ขบวนที่ 2 เป็นขบวนเรือเครื่อง ดนตรีดีดสี ตี เป่า 4 ลํา ถัดมา คือขบวนเรือหลวง 50 ลําของพระมหากษัตริย์มีคนพายลําละ 80 ถึง 90 คน ถัดมาคือขบวนเรือต้น สวยงามมากฉาบทองทั้งลํา และพายก็ฉาบทองด้วย ลําหนึ่งๆ มีคนพาย 90 ถึง 100 คน

แล้วจึงถึงเรือประทับของพระมหากษัตริย์ พระองค์ประทับอยู่บนเรือพระที่นั่งประหนึ่งพระพุทธรูป แทบพระบาทของพระองค์มีบุคคลสําคัญเป็นอันมากนั่งเฝ้าอยู่ ถัดมาคือขบวนของพระอนุชาธิราช แล้วจึงถึงขบวนข้าราชการฝ่ายใน ขบวนสุดท้ายคือขบวนขุนนางข้าราชการ เพราะฉะนั้นในการเสด็จพระราชดําเนินทางชลมารคจึงมีเรือเข้าขบวนรวมทั้งหมด 450 ลํา และมีคนประมาณ 25,000 ถึง 30,000 คน เข้าในขบวน เมื่อขบวนเสด็จพระราชดําเนินเสด็จผ่านที่แห่งใด ทั้งสองฝั่งแม่น้ำจะมีผู้คนพลเมืองจํานวนเหลือที่จะคณานับก้มกราบอยู่บนเรือเล็กๆ ของเขาแน่นไปหมด”

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9โดยกองทัพเรือได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างเรือพระที่นั่งลำ นี้ขึ้นใหม่ทั้งลำ เมื่อ พ.ศ.2539

เมื่อเห็นภาพกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในอดีตแล้วก็ต้องมาดูเรื่องของความหมายมงคล ของ “เรือพระราชพิธี” ที่ รศ.ดร.ศานติ ภักดีคํา อธิบายถึงการใช้ ครุฑ, นาค และหงส์ อันเป็นสัญลักษณ์เทพเจ้า ศาสนาพราหมณ์ฮินดู มาสร้างโขนเรือพระราชพิธี

ผู้เขียน (รศ.ดร.ศานติ ภักดีดํา) อธิบายว่า เรื่องนาค หรือพญานาคมีบันทึกอยู่ในคัมภีร์ต่างๆ ที่ล้วนอธิบายสอดคล้องกันถึงความสําคัญของนาคในคติพราหมณ์ฮินดู เพราะนอกจากจะเป็นบัลลังก์ที่บรรทมของพระนารายณ์แล้ว ยังเกี่ยวข้องกับการอวตารของพระนารายณ์ในปางต่างๆ และการนํามาใช้เป็นสัญลักษณ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ในฐานะที่ “พญานาค” เป็นบัลลังก์ของพระนารายณ์

สมัยกรุงศรีอยุธยา จึงมีการยกย่องพระมหากษัตริย์ว่าเป็นดั่งองค์ “พระนารายณ์” อวตารมาเป็น “พระราม” กษัตริย์แห่งสูรยวงศ์ผู้ครองเมืองอโยธยา ด้วยเหตุนี้ตั้งแต่ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาจึงให้ความสําคัญกับความเป็น “พระราม” ดังที่ปรากฏพระนามว่า “สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1”

โขนเรือรูปครุฑสมัยอยุธยา จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุทธยา

โขนเรือพระราชพิธีจึงเชื่อมโยงกับคติเรื่องโลกและจักรวาล ดังที่ รศ.ดร.ศานติ ภักดีคํา อธิบายว่า

“พระเจ้าแผ่นดินจึงต้องประทับบนเรือพระที่นั่งมงคลสุบรรณ เรือพระที่นั่งครุฑพาหนะ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช (เพราะทรงเป็นพระนารายณ์) ประทับบนเรือสุพรรณหงส์ (เพราะทรงเป็นพระพรหม) ที่ 2 แวดล้อมไปด้วยเรือชัย และเรือเหล่าแสนยากร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์หมายถึงสัตว์ป่าหิมพานต์ที่เชิงเขาพระสุเมรุ (ศูนย์กลางจักรวาล) รวมทั้งโขนเรือของทหารเอกแห่งกองทัพพระราม (พระนารายณ์อวตาร) เช่น พาลีรั้งทวีป สุครีพครองเมือง เป็นต้น”

ที่กล่าวมานี้ก็เป็นบางส่วนที่อยากเชิญชวนให้ท่านผู้อ่านติดตามเนื้อหาที่ครบถ้วน จากนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนตุลาคมนี้ อ่านล่วงหน้าวันพระราชพิธี หรือจะติดมือไว้อธิบายให้ลูกหลาน คนใกล้ตัวฟังในวันพระราชพิธี 24 ตุลาคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image