‘เหยี่ยวนกเขา’ บินไกลกว่าหมื่นกิโลเมตร ทีมวิจัยต่อยอดอนุรักษ์ จากทุกระยะทางอพยพ

เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน

หลังจากมีผู้บุกเบิกการดูเหยี่ยวอพยพที่จังหวัดชุมพร พื้นที่ เขาดินสอ ในตำบลบางสน อำเภอปะทิว ถือเป็นแลนด์มาร์กสำคัญในการศึกษาและเฝ้าดูการอพยพของนก โดยเฉพาะเหยี่ยวและนกอินทรีมานานเกือบ 20 ปี

ด้วยอยู่ในเส้นทางอพยพเอเชียตะวันออกผ่านแผ่นดินใหญ่ (East Asian Continental Flyway) และอยู่ใกล้กับคอคอดกระ ซึ่งเป็นบริเวณที่แคบที่สุดของแผ่นดินในคาบสมุทรมลายู มีความสูงจากน้ำทะเลปานกลางราว 350 เมตร อยู่ใกล้อ่าวไทย ประกอบกับโครงสร้างของร่างกายนกที่เอื้อให้ใช้ประโยชน์จากมวลอากาศร้อนซึ่งเกิดจากการดูดกลืนและคายความร้อนของแผ่นดิน รวมทั้งการอพยพผ่านแผ่นดินเป็นเวลานานมีความปลอดภัยมากกว่าการอพยพข้ามทะเล

“เขาดินสอ” จึงเป็นจุดเหมาะสมอย่างยิ่งในการเก็บข้อมูลนกที่อพยพผ่าน

แต่ใช่ว่านกจะอพยพกันตลอดปี เพราะเมื่อฤดูร้อนใกล้สิ้นสุดลง ซีกโลกตอนเหนือเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว กลางวันสั้นลง กลางคืนยาวนาน อาหารหายากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ได้กระตุ้นให้นกนานาชนิดเริ่มเตรียมตัวอพยพ ทั้งนี้ ในทวีปเอเชีย นกเหยี่ยวจำนวนมหาศาลจากรัสเซียตะวันออก จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ถูกกระตุ้นให้อพยพ โดยมีจุดหมายอยู่ที่ประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียเป็นหลัก

Advertisement

หากจำกัดวงอยู่เพียงเขาดินสอ เราสามารถพบเหยี่ยวตัวแรกที่อพยพผ่านได้ตั้งแต่ประมาณกลางเดือนสิงหาคม เรื่อยไปถึงกลางเดือนพฤศจิกายน และพบเจอได้ทุกวัน

ไม่นานมานี้ มีโอกาสลงพื้นที่เขาดินสอกับคณะของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรรม (อว.) ผู้สนับสนุนทุนวิจัยแก่ทีมวิจัยจากห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย และมูลนิธิศึกษาธรรมชาติเขาดินสอ ใน การใช้เครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมพลังงานแสงอาทิตย์ติดตามเส้นทางเหยี่ยวอพยพ

รังสิมา ตัณฑเลขา ผู้อำนวยการโปรแกรมการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวิภาพและการใช้ประโยชน์ สวทช. เปิดเผยว่า สวทช.ทำงานด้านการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตมานานแล้ว พร้อมเห็นว่าเทคโนโลยีสัญญาณดาวเทียมสามารถนับมาติดเหยี่ยว เพื่อติดตามเส้นทางอพยพ อันจะนำไปสู่การอนุรักษ์เหยี่ยวอพยพต่อไปได้

Advertisement


“ตอนนี้เขามีงานวิจัยด้านการนับเหยี่ยวอยู่แล้ว เพราะเห็นว่านกอพยพบินมาเป็นแสน เป็นล้านตัว ถามเขาว่ารู้ไหมว่านกบินไปไหน เขาก็ไม่รู้หรอก เราจึงสนับสนุนงานวิจัยตรงนี้ขึ้นมา หลังจากติดไปทั้งหมด 8 ตัว เรารู้ว่าเขาไปไหน ไปไกลถึงตรงไหน ใช้เวลาเท่าไหร่ในการวนลูปกลับมาที่เขาดินสออีกครั้ง แวะพักที่ไหนบ้าง จากงานวิจัยนี้ทำให้เรารู้ได้ทันที ถือว่าประสบความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีจิ๋ว

“สวทช.ให้การสนับสนุนทุนวิจัยตั้งแต่ปี 2559 ตอนนี้ใกล้จะจบโปรเจ็กต์แล้ว คาดว่าเฟส 2 จะเริ่มซีซั่นหน้า โดยตั้งเป้าเปลี่ยนเทคโนโลยีจากสัญญาณดาวเทียมเป็นสัญญาณโทรศัพท์ และเพิ่มปริมาณการติดตั้งมากขึ้น จาก 8 อาจจะเป็น 20 ตัว เพื่อให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากขึ้น”

ขณะที่ แอนดรูว์ เจ เพียร์ซ ผู้เชี่ยวชาญ สังกัดห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ มจธ. และคณะวิจัย ให้รายละเอียดว่า ทีมวิจัยได้ทำการจับเหยี่ยวนกเขาที่อพยพผ่านบริเวณเขาดินสอ ระหว่างเดือนกันยายนและเดือนตุลาคม ปี 2559 และ 2560 ซึ่งเป็นช่วงที่มีเหยี่ยวอพยพผ่านเขาดินสอมากที่สุดของปี โดยใช้ตาข่ายแบบพรางตาเพื่อทำการติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 4 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวเหยี่ยว ติดที่ตัวเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน 4 ตัว และเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น 4 ตัว แบบสะพายหลัง ซึ่งทุกขั้นตอนดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับนก

แอนดรูว์ กับรงรองสาธิตการติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมบนตัวเหยี่ยว

สำหรับเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน 4 ตัวที่ติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมพลังงานแสงอาทิตย์ ประกอบด้วย ดารา (DARA), อีริน (ERIN), เฟิร์น (FERN) และเฮรา (HERA) ส่วนเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น 4 ตัว คือ อาภัสรา (APASARA), บรอนวิน (BRONWYN), ชม (CHOM), และกัลยา (GALYA)

โดยขั้นตอนติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกเหยี่ยว 2 สายพันธุ์จากการติดตั้งตาข่ายพรางแสง เลือกเฉพาะเพศเมียที่มีน้ำหนักมากกว่า 140 กรัม ขนาดโตเต็มวัย จากนั้นนำมาวัดสัดส่วนเพื่อเก็บข้อมูลพื้นฐาน ทำการใส่ห่วงขา ก่อนจะติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที ก่อนจะปล่อยนกคืนสู่ธรรมชาติ

“อาภัสรา” เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น 1 ใน 8 ตัวที่ติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียม

ประสิทธิภาพของเครื่องส่งสัญญาณให้ความแม่นยำในระยะ 0.5-1.5 กิโลเมตร สามารถใช้งานได้ราว 10 ชั่วโมง ระหว่างนั้นเครื่องจะเก็บพิกัดที่นกบินผ่านไปเรื่อยๆ ก่อนจะหยุดทำงาน โดยใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ทำการชาร์จนานกว่า 2 วัน ก่อนเครื่องจะกลับมาพร้อมใช้งานอีกครั้ง

และจากรายงานที่เก็บหลังการติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน พบว่ามี 1 ใน 4 ตัว ใช้ระยะทางในการอพยพทั้งสิ้น 14,532 กิโลเมตร หรือมากกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของโลกเสียอีก!

‘เฟิร์น-ชม’ 2 เหยี่ยวนกเขา ผู้สร้างระยะทางอพยพอันน่าทึ่ง

ใช่, อ่านไม่ผิดว่า 14,532 กิโลเมตร จริงๆ ซึ่งตัวที่สร้างสถิติอันน่าทึ่งคือ เฟิร์น เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน ซึ่งข้อมูลจากคณะวิจัยระบุว่า “เฟิร์น” เดินทางอพยพลงใต้ไปใช้ชีวิตในช่วงฤดูหนาวอยู่ทางตะวันออกของประเทศติมอร์-เลสเต ซึ่งเป็นรายงานแรกของโลกที่พบว่าเหยี่ยวนกเขาใช้พื้นที่นี้อาศัยหากินในช่วงฤดูหนาว

โดยปกติเหยี่ยวนกเขาสามารถบินอพยพได้ไกลถึง 400 กิโลเมตรต่อวัน แต่ในขากลับ “เฟิร์น” ตัดสินใจบินอพยพข้ามทะเลเป็นระยะทางกว่า 800 กม. ใช้เวลาในการบินติดต่อกันถึง 22 ชั่วโมง ซึ่งมี 10 ชั่วโมง ที่ต้องบินในเวลากลางคืน และแวะพักเพียงครั้งเดียว ในบริเวณที่คาดว่าจะเป็นแท่นขุดเจาะน้ำมัน หรือเรือกลางทะเล

ทั้งนี้ “เฟิร์น” บินอพยพผ่านเขาดินสออีกครั้งในปีถัดมา ทำให้ทราบเส้นทางการอพยพที่สมบูรณ์ของเหยี่ยวนกเขาชนิดนี้เป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งมีระยะทางรวมกว่า 14,532 กิโลเมตร

เส้นทางอพยพของ “เฟิร์น” เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน รวมระยะทางกว่า 14,532 กิโลเมตร หรือมากกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของโลก

แอนดรูว์บอกว่า จากการติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมให้กับเหยี่ยวนกเขาทั้ง 8 ตัว ทำให้ทราบว่า “เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน” จะอพยพลงใต้ไปยังบริเวณเกาะสุมาตรา ฝั่งตะวันออกของเกาะ Nusa Tenggara และประเทศติมอร์-เลสเต ซึ่งจะใช้เป็นพื้นที่อาศัยในช่วงฤดูหนาว โดยจะใช้เวลาบริเวณนี้ประมาณ 70-80 วัน และเมื่อถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม เหยี่ยวจะอพยพกลับไปยังพื้นที่ผสมพันธุ์ทางตอนใต้ของจีน

ขณะที่ “เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น” แอนดรูว์เล่าว่า ทีมวิจัยติดตามสัญญาณไปถึงพื้นที่ของเกาะสุมาตราและบอร์เนียว ซึ่งเป็นพื้นที่อาศัยในช่วงฤดูหนาว และใช้เวลาบริเวณนี้ประมาณ 130-170 วัน ก่อนจะอพยพกลับขึ้นทางเหนือ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ทีมวิจัยสามารถรับสัญญาณจากเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่นได้เพียง 1 ตัว คือ ชม ระหว่างอพยพกลับเท่านั้น

“ชม” ออกจากพื้นที่อาศัยในช่วงฤดูหนาวบนเกาะ Bangka อินโดนีเซีย ไปยังพื้นที่ผสมพันธุ์ในเขตอามูร์ ทางตะวันออกของประเทศรัสเซีย ก่อนที่สัญญาณจะขาดหายไป ระยะทางการอพยพอยู่ที่ 7,699 กิโลเมตร และใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้นประมาณ 50 วัน

ศึกษาเพื่อต่อยอดการอนุรักษ์

ผลที่ได้จากงานวิจัยครั้งนี้ รงรอง อ่างแก้ว ผู้ช่วยนักวิจัย สังกัดห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ มจธ. กล่าวว่า สามารถใช้สำหรับวางแผนอนุรักษ์และการจัดการของสปีชีส์นั้นๆ เช่น หากรู้ว่านกไปอินโดนีเซีย ก็ต้องบอกอินโดนีเซียว่านกไปใช้งานในพื้นที่ตรงนั้นอยู่ หากวันหนึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงไปหมดจนนกไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในฤดูหนาวได้ หรือไม่มีแหล่งหากินที่เพียงพอ อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของเขา

“ผลจากการติดเครื่องส่งสัญญาณทำให้รู้ว่าเหยี่ยวนกเขาทั้ง 2 ชนิดนี้มีรูปแบบการอพยพต่างกันไหม เช่น ตัวนี้บินเร็วกว่า ระยะทางไกลกว่า อีกทั้งกรณีที่เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนมีอาหารหลักคือกบ หากวันหนึ่งในพื้นที่เกิดความเปลี่ยนแปลง สปีชีส์กบหายไป ก็ต้องกลับมามองว่าเป็นเพราะอะไร มีการใช้สารเคมีในพื้นที่เยอะไปรึเปล่า หรือมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

 

“ดังนั้น การติดเครื่องส่งสัญญาณจะช่วยเรื่องการจัดการประชากรได้ และอาจขยายผลการอนุรักษ์ไปยังสปีชีส์ที่มีความอ่อนไหวมากกว่า”

ถามว่า ทีมวิจัยแบ่งปันข้อมูลเส้นทางอพยพกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อต่อยอดการอนุรักษ์หรือไม่ รงรองให้การยืนยันว่ามี ดังเช่นที่ตอนนี้แอนดรูว์เชื่อมโยงข้อมูลกับทีมนักวิจัยชาวไต้หวันที่ติดเครื่องส่งสัญญาณกับเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนเช่นกัน เพื่อใช้ในการตรวจสอบประชากรนกอพยพว่าใช้เส้นทางเดียวกันหรือไม่ บินไปที่ไหนมาบ้าง กระทั่งดูว่าประชากรนกอพยพเหล่านั้นมีแหล่งที่มาเดียวกันหรือไม่

สั่งสมประสบการณ์ ‘นับนก’ หนุนความแม่นยำงานวิจัย

หากกล่าวถึงการชมเหยี่ยวอพยพที่เขาดินสอแล้ว จะไม่กล่าวถึง ชูเกียรติ นวลศรี ปลัดเทศบาลตำบลหมอนนาง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี และประธานมูลนิธิศึกษาธรรมชาติเขาดินสอ เลยคงเป็นไปไม่ได้

เขาเล่าว่า แต่เดิม จ.ชุมพร จัดเทศกาลดูเหยี่ยวอพยพอยู่แล้ว แต่เพราะเล็งเห็นศักยภาพของเขาดินสอตั้งแต่ปี 2545 ด้วยเป็นสถานที่ที่พบเหยี่ยวอพยพในปริมาณมหาศาล ประกอบกับการพัฒนาพื้นที่ สร้างศูนย์ศึกษาธรรมชาติเขาดินสอ จัดแสดงนิทรรศการ อำนวยความสะดวกเรื่องการจอดรถ เขาดินสอจึงกลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญสำหรับผู้สนใจศึกษาเหยี่ยวอพยพตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ชูเกียรติ นวลศรี

นอกจากนี้ ปลัดชูเกียรติยังเผยวิธีการ “นับนก” เพื่อสำรวจประชากรนกสนับสนุนงานวิจัยและการอนุรักษ์ให้ฟังอย่างตั้งใจว่า การนับนกล่าเหยื่อโดยพฤติกรรมการบินมีอยู่ 3 แบบคือ 1.มาแบบรายตัวเรียงเป็นหน้ากระดาน มาทีละตัว ทีละชนิด ผู้นับต้องจำแนกว่าชนิดนี้คืออะไร 2.มาแบบเป็นสายเหมือนค้างคาว บินมาเรื่อยๆ ลักษณะนี้จะใช้วิธีนับเป็นช่วงๆ และ 3.การบินอพยพเป็นก้อน ซึ่งนับยากที่สุด ผู้นับต้องพยายามนับเป็นกรุ๊ป อาจตัดเป็นช่วง จัดเป็นระดับบนลงล่าง ด้วยประสบการณ์ที่มากพอ ผู้นับจะสามารถระบุได้ว่ากลุ่มนกขนาดดังกล่าวมีปริมาณนกอยู่จำนวนเท่าไหร่

“จากการทำงานด้านการอนุรักษ์มา 20 ปี ทำให้ทีมวิชาการรู้จักพื้นที่เขาดินสอเป็นอย่างดี สามารถรู้ได้ว่าเหยี่ยวชนิดไหนจะอพยพช่วงไหน และมีจำนวนเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ไม่เคยรู้คือเหยี่ยวอพยพแต่ละสายพันธุ์มาจากไหน เช่น เหยี่ยวนกเขาชิครา ก็ยังไม่ทราบแหล่งที่มาว่ามาจากที่ใด หรือแม้แต่เหยี่ยวชนิดย่อยในภูมิภาคต่างๆ นั้นมีสายพันธุ์อะไรบ้าง

“การมีงานวิจัยสนับสนุนจาก สวทช. ให้ทีมวิจัยจาก มจธ.และพันธมิตรทำงานวิจัยร่วมกันศึกษาเส้นทางอพยพของเหยี่ยว ทำให้ทราบข้อมูลเหล่านั้นชัดเจนมากขึ้น เพื่อเก็บข้อมูลทางวิชาการนำไปสู่การอนุรักษ์อย่างถูกต้องและร่วมกันทำงานทั้งในเชิงพื้นที่และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป” ประธานมูลนิธิศึกษาธรรมชาติเขาดินสอกล่าวสรุป

เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน
เหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image