‘จิบกาแฟ แลปางขอน’ จุดเช็กอินล่าสุด จากความมุ่งมั่นของคนรุ่นใหม่

"ดอยปางขอน" แหล่งท่องเที่ยวน้องใหม่ใน จ.เชียงราย พัฒนาโดยคนรุ่นใหม่ร่วมกับ ม.แม่ฟ้าหลวง

ดอยปางขอน หรือ บ้านปางขอน ต.ห้วยชมพู อ.เมือง จ.เชียงราย เป็นหมู่บ้านที่อยู่บนพื้นที่สูง เดินทางค่อนข้างง่าย ผู้คนเป็นมิตร และที่สำคัญถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวน้องใหม่ที่ถูกพัฒนาโดยคนรุ่นใหม่ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.)

บ้านปางขอนอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงรายราว 20-30 กิโลเมตร ผู้คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นชาวเขาที่ดำรงชีวิตโดยการปลูกบ้านเรือนตามไหล่เขา มีอาชีพหลักคือทำการเกษตร จุดเด่นที่เรียกว่าเป็นอัตลักษณ์ของบ้านปางขอนคือ เสน่ห์ของการผสมผสานของดอกพญาเสือโคร่ง หรือซากุระเมืองไทย และกาแฟ ซึ่ง กาแฟปางขอน มีชื่อเสียงมาก เมื่อไปถึงแล้วถ้าไม่ชิม “กาแฟปางขอน” ถือว่าพลาด

นอกจากนี้ ถ้าอยากผจญภัยยังมีการเดินป่าตามเส้นทางธรรมชาติ และมีน้ำตกขุนกรณ์ มาให้พักผ่อนหย่อนใจท่ามกลางบรรยากาศดี ที่ไม่ว่าจะมาช่วงไหนจะมีอากาศเย็นสบายคอยต้อนรับตลอดปี โดยเฉพาะในหน้าหนาว

ลองจินตนาการตื่นมายามเช้าชมทะเลหมอก พร้อมกับจิบกาแฟ ดื่มด่ำบรรยากาศสุดชิล หลีกหนีจากงานหนักสุดปวดหัว ความวุ่นวายในเมืองหลวงยามเช้า หากโชคดีในเดือนมกราคมจะพบดอกพญาเสือโคร่งที่จะบานต้อนรับอยู่ที่สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านปางขอน

Advertisement

เปิดอดีต ‘บ้านปางขอน’ ก่อนอยู่ในเช็กลิสต์ สถานที่ท่องเที่ยวน้องใหม่

จากที่เกริ่นไปก่อนหน้าว่า “บ้านปางขอน” เป็นสถานที่ท่องเที่ยวน้องใหม่ที่ได้รับการพัฒนาจากความร่วมมือร่วมใจของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้าน และ มฟล.ที่เข้ามาช่วย ซึ่ง อินทฤทธิ์ วุยยะกู่ อายุ 30 ปี พ่อหลวงของหมู่บ้าน หรือผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านปางขอน ผู้เป็นหนึ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ร่วมพัฒนาบ้านปางขอนสู่การท่องเที่ยว เปิดเผยว่า จุดเด่นของหมู่บ้านคืออากาศเย็นตลอดทั้งปี เป็นหมู่บ้านที่ปลูกกาแฟ เพราะถือเป็นอาชีพหลักของคนในหมู่บ้าน และเนื่องจากบ้านปางขอนอยู่บนพื้นที่สูงจะมีทะเลหมอกให้ชมอยู่ตลอด และมีดอกพญาเสือโคร่ง ที่จะบานเต็มดอยปางขอนในช่วงปลายธันวาคม-มกราคม

อินทฤทธิ์ วุยยะกู่

เมื่อก่อนดอยปางขอนจะปลูกฝิ่น อินทฤทธิ์เล่าว่า ประมาณปี 2536 ที่มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านชาวบ้านปลูกกาแฟ แทนการปลูกฝิ่น จนชาวบ้านทุกครัวเรื่องหันมาปลูกกาแฟเป็นอาชีพหลักจนถึงปัจจุบัน ถือว่าทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนไปมาก

Advertisement

“จากสมัยก่อนอาชีพหลักของชาวบ้านคือการปลูกฝิ่น แทบจะไม่มีรถจักรยานยนต์สักคัน หลังจากที่เราเริ่มปลูกกาแฟ ทำให้วิถีชีวิตชาวบ้านดีขึ้น เริ่มมีรายได้ สามารถสร้างบ้าน ซื้อรถเข้ามาขับขี่ในหมู่บ้านมากขึ้น กาแฟถือเป็นตัวแทนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชน ทำให้เรามีรายได้มากขึ้น ได้รายได้จนสามารถส่งเสียค่าเล่าเรียนต่างๆ ให้ลูกหลาน และเมื่อลูกหลานเรียนจบมา บางคนก็กลับเข้ามาช่วยพ่อแม่ทำงาน หรือบางคนไปทำงานเมืองนอกก็กลับมาช่วยบ้านปางขอนผลิตต่อยอดผลิตภัณฑ์ แปรรูปกาแฟ ต่อยอดจากสิ่งที่พ่อแม่ทำไว้”

ก้าวไปอีกขั้น…ร่วมมือ มฟล.พัฒนาการท่องเที่ยว

อินทฤทธิ์อธิบายว่า มฟล.เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวให้หมู่บ้านคือ ช่วยสนับสนุนด้านความรู้ เราค่อยไม่มีความเข้าใจในเรื่องนี้มากนัก ประกอบกับชาวบ้านไม่มีเวลา เพราะช่วงหน้าหนาวหรือช่วงท่องเที่ยวเป็นช่วงที่วุ่นที่สุดของหมู่บ้าน เพราะเป็นช่วงที่เก็บผลผลิต เก็บเมล็ดกาแฟ ทั้งนี้ ที่หมู่บ้านยังมีกลุ่มวัยรุ่น เช่น กลุ่มของตนที่สนใจเรื่องการท่องเที่ยว จึงเข้าร่วมอบรมเรื่องการท่องเที่ยว และพบกับ ผศ.ดร.บุษบา สิทธิการ อาจารย์ประจำสำนักวิชาการจัดการ มฟล. ที่เข้ามาให้ความรู้ในเรื่องการจัดตั้งกลุ่มหรือวิธีการจัดการบริหารการท่องเที่ยว

ปัจจุบันนี้ ทางหมู่บ้านมีกลุ่มท่องเที่ยวที่ทำเป็นโฮมสเตย์ไว้รองรับนักท่องเที่ยวแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเที่ยวในรูปแบบหมู่คณะหรือนอนเดี่ยว พร้อมรองรับทั้งหมด แม้ความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวยังน้อยอยู่ เพราะรับได้มากสุดประมาณ 30 กว่าคนเท่านั้น แต่ยังมีสถานที่อื่นไว้รองรับเช่นกัน คือการกางเต็นท์นอน เป็นต้น

“ส่วนถ้ามีประชาชนเข้ามาเยอะจะกลัวว่ามาทำลายธรรมชาติหรือไม่ มีวิธีป้องกันอย่างไรนั้น ผมมองว่า บ้านปางขอนยังไม่เป็นที่รู้จักมากเท่าใดนัก แต่ได้วางแผนไว้ว่าถ้ามีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น จะมีช่วงปิดและเปิดรับนักท่องเที่ยวแค่ในเดือนพฤศจิกายน-เมษายนเท่านั้น เพราะยอมรับว่าเรายังไม่สามารถบริหารจัดการได้ทั่วถึง ผมก็อยากต่อยอดกาแฟในรูปแบบผลิตภัณฑ์อื่น เช่น ขนม หรือสินค้า เพื่อจะทำขายควบคู่กับกาแฟในร้านกาแฟของบ้านปางขอน”

อินทฤทธิ์ยังกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือในการช่วยพัฒนาชุมชน เพราะเรายังไม่มีความรู้เรื่องการแปรรูปมากนัก ถึงจะมีวัตถุดิบเพียงพอ และอยากให้รัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเกษตรกร โดยเข้าถึงชุมชน พร้อมกับถามความต้องการของเกษตรกรโดยตรง

มฟล.กับการบริการวิชาการ เพื่อช่วยพัฒนาการท่องเที่ยว

ด้าน ผศ.ดร.บุษบาเปิดเผยถึงการเข้ามาช่วยพัฒนาหมู่บ้านปางขอนของ มฟล.ให้ฟังว่า เนื่องด้วย มฟล.มีโครงการบริการวิชาการ ที่เราเน้นของการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของชุมชน ให้สามารถบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ได้ ซึ่งเราเริ่มทำโครงการตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งพัฒนาชุมชนชาติพันธุ์ ทั่ว จ.เชียงราย โดยให้ผู้แทนชุมชนเข้ามาอบรมกับมหาวิทยาลัย หลังจากนั้นเราพบว่ามีหมู่บ้านชาติพันธุ์ที่มีจุดเด่นในการปลูกชา กาแฟ รวมแล้ว 19 หมู่บ้าน

“ในปี 2560 ทางสำนักวิชาการจัดการ สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยว ได้ของบประมาณจากโครงการบริการวิชาการ ของมหาวิทยาลัย และงบวิจัยจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชนวิถีชากาแฟ ซึ่งปางขอนถูกเลือกให้เป็นพื้นที่นำร่อง ด้วยเหตุผลที่ว่าอยู่ใกล้เมืองมากที่สุด สะดวกต่อการเดินทาง และกลุ่มชาวบ้านในชุมชนที่ร่วมโครงการก็เป็นคนหนุ่มสาวที่กลับมายังบ้านของตน และมีความต้องการที่จะพัฒนาต่อยอดหมู่บ้าน โดยสร้างการท่องเที่ยวบนฐานทรัพยากรกาแฟที่มีอยู่” ผศ.ดร.บุษบากล่าว

“ดอกพญาเสือโคร่ง” อัตลักษณ์ของบ้านปางขอน

ผศ.ดร.บุษบาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มฟล.เข้ามาช่วยเหลือหมู่บ้านปางขอน ตั้งแต่ปี 2560-2561 ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ตอนนี้อยากให้มีการพัฒนาต่อยอดในบางเรื่อง เช่น เมื่อชาวบ้านสามารถบริหารจัดการการท่องเที่ยวสำเร็จ สามารถรับนักท่องเที่ยวได้ แต่นวัตกรรมการท่องเที่ยวคือการนำกระบวนการให้บริการนั้น จะเพิ่มหรือสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจอย่างไร คงจะต้องพัฒนาสินค้าต่างๆ เช่น ของที่ระลึก ของที่ทำมาจากพื้นฐานทางวัฒนธรรมในหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นผ้าปัก สร้อย ตุ้มหู เป็นต้น ซึ่งจุดนี้จะเป็นตัวที่ก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และถือเป็นรายได้เสริมให้กับชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ มฟล.ได้ดึงนักศึกษามามีส่วนร่วม โดยชักชวนมาทดลองเส้นทาง เช่น เส้นทางเดินป่า มหาวิทยาลัยจะให้นักศึกษามาดูว่าเมื่อมาใช้เส้นทางนี้ รู้สึกอย่างไร มีความปลอดภัยหรือไม่ และต้องการอะไรเพิ่มเติม รวมทั้งเรื่องของการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวต่างๆ และที่สำคัญคือการให้นักศึกษาเข้ามาช่วยมาทำการตลาด ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด คือ การทำคลิปวิดีโอจนสามารถดึงนักท่องเที่ยวที่เป็นนักศึกษาเข้ามาท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมาก เพราะกลุ่มเป้าหมายในการท่องเที่ยวบ้านปางขอนนี้ คือคนหนุ่มสาว นักศึกษา วัยทำงานช่วงต้นๆ ที่สามารถเข้ามาเดินป่า ทำกิจกรรมได้ เนื่องจากทางชุมชนกำหนดตัวเองว่าเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

การเข้ามาพัฒนาชุมชนในช่วงแรกนั้น ผศ.ดร.บุษบาเล่าวว่า เจอปัญหาบ้าง เพราะในพื้นที่ยังไม่มีอะไร มีกลุ่มคนไม่กี่คนที่ต้องการพัฒนาหมู่บ้าน ส่วนชาวบ้านคนอื่นไม่มีใครรู้จักอยากจะพัฒนาการท่องเที่ยว หรือการสร้างหมู่บ้านให้เป็นที่รู้จัก แต่ไม่ใช่แค่ในพื้นที่นี้เท่านั้น ปัญหาลักษณะนี้พบในพื้นที่อื่นเช่นกัน

นอกจากนี้ มฟล.มีโครงการต่อยอดขยายฐานความรู้ที่ได้จากบ้านปางขอน ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบ เพื่อจะขยายฐานความรู้ ไปยังพื้นที่ปลูกชา กาแฟอีก 18 หมู่บ้าน ในปี 2563 ด้วย

หน้าหนาวใกล้เข้ามาแล้ว หากใครยังไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวในใจ “หมู่บ้านปางขอน” เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่บรรยากาศดี มีครบทั้งที่ถ่ายรูปสวยๆ ดอกพญาเสือโคร่ง น้ำตกขุนกรณ์ ขอเชิญเข้ามา “จิบกาแฟ แลบางขอน” ที่หมู่บ้านปางขอน จ.เชียงราย แห่งนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image