ก่อนจ่ายไฟจากน้ำ พันธะสัญญา ‘ไซยะบุรี’ ไม่เพียงพลังงาน แต่คือชาวบ้านรอบโขง

ลัดเลาะทางเขาเข้าสู่ทิศใต้ของเมืองมรดกโลก 80 กิโลเมตร คือระยะห่างจากหลวงพระบาง ถึง ไซยะบุรี ที่ตั้งของโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบฝายทดน้ำขนาดใหญ่ (Run-of-River) แห่งแรกบนแม่น้ำโขงตอนล่างของประเทศลาว หน้าตาละม้ายคล้ายเรืออยู่กลางลำน้ำ มีความยาว 820 เมตร

ย้อนกลับไป 12 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ปากแบ่ง หลวงพระบาง ปากลาย สานาคาม ยังไม่มีโครงการใดๆ ริมแม่น้ำโขงตอนล่างของ สปป.ลาว แหล่งพลังงานแห่งนี้คือที่แรก เกิดขึ้นได้ภายใต้การบริหารงานของ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP จากการร่วมหุ้นของ บริษัท นที ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีพี จำกัด (ผู้เดียว) ด้วยงบลงทุน 135,000 ล้านบาท

จากหลายโครงการของแผนแม่บท สุดท้าย “ไซยะบุรี” คือที่มั่นเหมาะ เพราะชื่อเป็นมงคล ดังที่ ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ CKP ยืนยันหนักแน่นว่า “ชื่อดีมีชัยไปกว่าครึ่ง โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีจะต้องสำเร็จได้”

ในปี 2007 จึงได้ลงนามข้อตกลงกับรัฐบาลลาว เพื่อการศึกษาพัฒนาโครงการไซยะบุรี ลงพื้นที่เก็บข้อมูล สำรวจหิน ดิน น้ำ และวิถีชีวิตชาวบ้านที่อยู่รอบๆ ก่อนสร้างบนสันเนินกลางแม่น้ำ เนื่องจากฐานรากแข็งแรง และให้มีโรงไฟฟ้าอยู่ขนาบข้าง

Advertisement

แต่เนื่องด้วยเป็นโครงการที่อยู่บนแม่น้ำโขงสายหลัก ต้องผ่านกติกาของ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงสากล (MRC) ซึ่งมีความกังวลเรื่องปลาว่ายทวนน้ำในฤดูวางไข่ และตะกอนอันเป็นปัจจัยในการดำรงอยู่ของแม่น้ำ ทั้งในแง่สารอาหาร การกัดเซาะตลิ่ง และยังเป็นแหล่งวางไข่ของปลาหลายชนิด จึงดำเนินการปรับแบบเพื่อสนองต่อความกังวลดังกล่าว

โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี

มาวันนี้ “ไซยะบุรี” ประกาศดีเดย์ 29 ตุลาคม พร้อมผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังน้ำเชิงพาณิชย์ ด้วยกังหัน 8 เครื่อง

7 เครื่องสำหรับส่ง “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” (กฟผ.) 95% และอีก 1 สำหรับ 5% ที่จะส่งไปยัง “รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว” ด้วยกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ ซึ่งจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงสุด 7,600 ล้านหน่วย/ปี

Advertisement

ถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากเจตนารมณ์ในการเป็นผู้ผลิตพลังงานสะอาดจากพลังน้ำ เนื่องจากไม่เกิดพลังงานเผาไหม้ ไม่สร้างมลภาวะ

ตลอดระยะเวลา 12 ปีในการดำเนินโครงการ แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นเป็นระยะจากนานาข้อกังวล ด้วยแม่น้ำโขงเสมือนเส้นเลือดหลักหล่อเลี้ยงผู้คนสองฝั่งโขง ทั้งยังเป็นแหล่งอาหาร เส้นทางสัญจรตั้งแต่เรือเล็กไปจนถึงเรือขนส่งสินค้า การทำโรงไฟฟ้าจึงต้องทำบนพื้นฐานที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อยู่กับธรรมชาติและวิถีชีวิตของชาวบ้านรอบๆ คือสิ่งที่ ธนวัฒน์ ยืนยันหนักแน่นว่า หากไม่ดูแลก็ไม่สามารถยืนในระยะยาวได้ จึงเป็นข้อที่อยู่ในแผนงานมาตลอด

“ไม่เพียงดูเรื่องปลาและตะกอน แต่ชาวบ้านรอบๆ ก็สำคัญ ที่ผ่านมาเราทำโรงการซีเอสอาร์ ภายใต้โครงการหิ่งห้อย เป็นการพัฒนาโรงเรียน นำความรู้เรื่องพลังงานไปช่วยสร้างตึก มีไฟฟ้า โซลาร์ สร้างฝาย สูบขึ้นไปให้นักเรียนมีน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้ง รวมทั้งเครื่องปั่นไฟ

จากนั้น ปีที่ 4 มีโครงการ ‘เฮือนเคียงโฮง (ไฟฟ้า)’ ปรับปรุงโรงเรียน มอบอุปกรณ์กีฬา สอนเตะฟุตบอล นอกจากกิจกรรมแล้วยังดูแลเรื่องน้ำท่วมโรงเรียน แก้ไขปัญหาระยะยาวว่าเกิดจากอะไร ขยะอุดตัน มีการบล็อกทางเดินน้ำหรือไม่ เป็นกิจกรรมที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปรับปรุงถนน ปรับปรุงระบบน้ำดื่มให้กับโรงเรียนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้า” ธนวัฒน์กล่าว

ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์

“12 ปีที่มีแต่รายจ่าย ไม่มีรายรับ 3 ปีแรกยังไม่ทราบว่าโปรเจ็กต์จะขึ้นได้หรือไม่ เป็นเพียงการศึกษา จึงต้องอาศัยวิสัยทัศน์และภาวะผู้นำอย่างสูงในการมองภาพและตัดสินใจ กว่าจะมาถึงจุดนี้มีการปรับปรุงแบบหลายครั้ง นอกจากจะศึกษาข้อมูลอย่างจริงจัง ยังมองในแง่เผื่อไว้ก่อนเสมอ เราสำรวจปลาบริเวณนี้มีปลาว่ายขึ้นว่ายลง 3,000 กก./ชม. แต่สุดท้ายเราใช้ 5,000 กก. มองโอกาสความเป็นไปได้เป็นหลัก รักษาธรรมชาติ ทุกอย่างอนุรักษ์ไว้” นี่คือที่มาของการออกแบบ อานุภาพ วงศ์ละคร รองกรรมการผู้จัดการงานเดินเครื่องและบำรุงรักษา เผยข้อเท็จจริง

อานุภาพยังบอกอีกว่า โครงสร้างหน้าตาหลังปรับปรุงแบบไม่ได้เปลี่ยนจากเดิมมาก เพราะปรับปรุงในรายละเอียดจากความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องที่ทุกอย่างเป็นไปตามข้อกำหนดของ MRC ตั้งแต่ต้น

“เราลงทุนเกือบ 2 หมื่นล้านบาทในการสร้างฮาร์ดแวร์ เพิ่มบานประตู เพื่อปรับความเร็วน้ำในการล่อปลา ส่วนที่จะตามมาคือซอฟต์แวร์ เพื่อบริหารจัดการตามวัตถุประสงค์ ซึ่งฮาร์ดแวร์ที่ดีไซน์มาบังคับอยู่แล้ว น้ำที่เรายกระดับขึ้นมา เราทำเพียงครั้งเดียว หลายคนมองว่าเป็นการกักน้ำ ซึ่งไม่ใช่ตามที่เป็นข่าว แต่เกิดจากน้ำแล้ง เนื่องจาก เราเป็นรันออฟริเวอร์ มีพื้นที่เก็บน้ำจำกัดมาก มาเท่าไหร่ก็ต้องปล่อยเท่านั้น เพราะหากเก็บน้ำไว้ โรงไฟฟ้าจะท่วมทันที น้ำจากแม่น้ำล้านช้างมีประมาณ 60% จากลาว 40% ท้ายน้ำไม่ได้เกิดผลกระทบอะไร ส่วนเหนือน้ำผลกระทบคือระดับน้ำสูงขึ้นและคงที่ตลอดทั้งปี แทนที่จะขึ้นลงระหว่างฤดูแล้งหรือฝน”

อานุภาพ วงศ์ละคร

“นอกจากนี้เรามีทางเดินเรือ ตามข้อกำหนด MRC มีการจัดการตะกอน ทั้งตะกอนหนัก 3% และตะกอนแขวนลอย 97% ผ่านทางสปิลเวย์ หรือประตูระบายน้ำล้น จาก 7 เพิ่มอีก 4 ประตู หากน้ำมาเกินความต้องการของโรงไฟฟ้า เราสามารถเปิดสปิลเวย์เพื่อให้น้ำเข้า เท่ากับน้ำออก ขณะเดียวกันตะกอนเบาและตะกอนหนักก็สามารถไปกับน้ำได้

ต่อมาคือเรื่องสิ่งแวดล้อม ต้องทำรายงาน และแผนตามกฎหมายของ สปป.ลาว ซึ่งเหมือนไทย เป็นกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก และเนื่องจากเราเป็นรันออฟริเวอร์ ต้องลงทุนอีกมากเพื่อจัดการซอฟต์แวร์ ให้รู้ว่าน้ำจะมาเท่าไหร่ เพื่อการแจ้ง กฟผ.ล่วงหน้า ส่วนคุณภาพไม่มีอะไรน่ากังวล เพราะน้ำที่ผ่านกังหันไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเคมี หรือฟิสิกส์ คุณภาพไม่ได้ดีขึ้น ไม่แย่ลง”

“อีกส่วนสำคัญ คือ เนวิเกชั่นล็อก หรือช่องทางเดินเรือ ขณะนี้เราเปิดใช้งานแล้ว ซึ่งชาวบ้านพึงพอใจ ทำให้เดินเรือสะดวกตลอดทั้งปี

ช่องทางสัญจรเรือ หรือ เนวิเกชั่นล็อก

ส่วนระบบทางปลาผ่านก็ได้ศึกษาสภาพธรรมชาติ และพฤติกรรมของปลาแต่ละชนิดว่าปลาว่ายขึ้นลงอย่างไรก่อนจะออกแบบ มีการปรับปรุงแบบไปมาก ให้ปลาตัวเล็กสามารถผ่านได้ ส่วนปลาตัวใหญ่มีอุโมงค์ มีปั๊มช่วยล่อปลาเพื่อไม่ให้สูญเสียน้ำมาก ซึ่งปลาอพยพมีหลากหลาย ทำอย่างไรให้อพยพได้ ปลาบางสายพันธุ์กินกันเอง จึงออกแบบ Fish Ladder ทางปลาผ่าน ปลาเล็กสามารถหลบหลีกปลาใหญ่ได้ และ Fish lock ช่องยกระดับปลา เพื่อปรับลดความเร็วของน้ำ ทั้ง Fish Ladder กับ Fish lock เอามาผสมเป็นที่แรก เพราะทำงานร่วมกันได้ดี” คือความเปลี่ยนแปลงจากการปรับตามข้อกังวลของทุกฝ่าย อานุภาพเผย ก่อนอธิบายขั้นตอนการทำงานว่า

น้ำที่ไหลผ่านกังหัน จะผ่านเครื่อกำเนิดไฟฟ้า ผ่านหม้อแปลง ลงมาที่สวิตช์เกียร์ ขึ้นเสาส่ง โดยรอบของโรงไฟฟ้าจะฝังอุปกรณ์วัดไว้เพื่อดูการซึมของน้ำ หากโครงสร้างเคลื่อนตัวจะรู้ทันที โดยมีผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่าการเคลื่อนตัวนั้นอันตรายหรือไม่

บันไดปลา (Fish Ladder)

“การเดินเครื่อง น้ำที่ไหลจะแบ่งเป็น 3 ส่วนเสมอ โรงไฟฟ้าใช้น้ำ 5,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ส่วนเกินไปที่สปิลเวย์และทางปลาผ่าน โดยมีการติดตั้งสถานีวัดน้ำ สถานีระหว่างชายแดนลาวและจีน ซึ่งจะรู้ล่วงหน้าประมาณ 3-5 วัน มีการทำนายโอกาสเกิดฝนตก ซึ่งสามารถคำนวณได้ว่าน้ำจะมาเท่าไหร่ พร้อมกับตัวเลขความน่าเชื่อถือ สุดท้ายคือกระบวนการที่ส่งไปให้ กฟผ.รับทราบ ในแต่ละเดือน แต่ละปีว่าจะเดินเครื่องได้เท่าไหร่” อานุภาพระบุ

ก่อน ธนวัฒน์ จะขอกล่าวส่งท้าย

“CKP ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ส่วนแรกเป็นข้อกำหนดของคณะกรรมการแม่น้ำโขงสากลกำหนดว่าโครงการที่อยู่บนแม่น้ำโขงสายหลักที่เป็นโรงไฟฟ้าประเภทรันออฟฯ มีมาตรฐานอะไรบ้าง ซึ่งมีอยู่ 5 ด้าน เน้นที่สุดคือด้าน ปลากับตะกอน ว่าจะต้องทำให้ดีที่สุด เสมือนหนึ่งไม่มีโรงไฟฟ้ากั้นแม่น้ำโขงอยู่ ให้ปลาขึ้นลง อพยพได้เหมือนวิถีเดิม เคยไปมาอย่างอิสระอย่างไร ถึงมีโรงไฟฟ้าก็ต้องให้เขาไปมาอย่างอิสระได้ เช่นเดียวกันกับตะกอน 4 ประเทศตกลงกันไว้ ผู้พัฒนาโครงการที่รับผิดชอบก็ต้องทำให้ได้ตามนั้น จึงเป็นที่มาว่า ถ้าจะทำให้ได้ตามนั้น ตะกอนผ่านได้ ปลาอพยพได้เสมือนธรรมชาติดั่งเดิมตอนไม่มีโรงไฟฟ้า ก็แปลว่าต้องลงทุนสิ่งที่ดีที่สุด ณ วันนี้ เพราะไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าหน้าตาต้องเป็นอย่างไร ทางปลาผ่าน ทางระบายตะกอน ต้องหน้าตาเป็นอย่างไร เราจึงต้องทำดีที่สุดให้เสมือนธรรมชาติตามเดิม จึงต้องเอาเทคโนโลยี และเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาช่วย รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญคนไทยที่ไปเก็บตัวอย่างตะกอนในแม่น้ำทั้งปี เก็บตัวอย่างปลาทั้งปี เพื่อใช้ในการออกแบบให้ดีที่สุด”

“CKP เชื่อว่าถ้าเราทำไม่ดี พิสูจน์แล้วไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เราเองก็อยู่ไม่ได้ จะทำโรงไฟฟ้าถัดไปผู้ให้กู้ หรือแบงก์ก็คงไม่ให้ รัฐบาลลาวก็คงไม่เชื่อถือ ถ้ามองในระยะยาวหากเน้นธุรกิจพลังงงานโดยเฉพาะพลังงานน้ำ วันนี้ก็ต้องทำให้ดีที่สุด เพื่อพิสูจน์กับทุกคนให้ได้ว่าเราทำแล้ว ดูแลสิ่งแวดล้อมได้ ผลกระทบมี เราสามารถลดและแก้ไขได้หมด เพื่อการเติบโตระยะยาว” ธนวัฒน์ระบุ

พร้อมยอมรับด้วยว่า การทำโรงไฟฟ้าพลังน้ำมีชาเลนจ์หลายอย่าง

“สิ่งที่ยากที่สุดเริ่มตั้งแต่การสร้างความเข้าใจต่อผู้มีส่วนร่วม ว่าความจริงแล้วโรงไฟฟ้าพลังน้ำมีประโยชน์อย่างไร ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมสามารถแก้ไข ลดทอนอย่างไรบ้าง เมื่อสร้างความเข้าใจแล้ว สิ่งที่ยากถัดมาคือการก่อสร้าง เพราะโรงไฟฟ้าพลังน้ำเป็นการสร้างบนธรรมชาติ ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าวันนี้น้ำจะกี่มากน้อย ใช้ระยะเวลาก่อสร้างนาน และมีความเสี่ยงหลายจุด ต้องมีมาตรการดูเรื่องความปลอดภัย มีสิ่งที่กั้นน้ำไม่ให้พื้นที่ก่อสร้างถูกน้ำท่วม

ส่วนพื้นที่สร้าง หากฐานรากใต้ดินไม่ดีพอก็สร้างไม่ได้ หรือสร้างไปก็ต้องลงทุนเพิ่มอีกมาก กว่าจะเลือกสถานที่ได้ ต้องไปเจาะสำรวจชั้นหิน ชั้นดิน อย่างละเอียด ใช้ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์จริง ต้องมีความรู้และเคยเจอของจริงมาก่อนจึงจะประเมินได้ว่าความเสี่ยงทางธรณีวิทยาเป็นอย่างไร นอกจากเรื่องน้ำ และธรณีวิทยาแล้ว เรื่องงานก่อสร้างก็ยาก เนื่องจากใช้คนมาก คนหลายเชื้อชาติ ในเขื่อนไซยะบุรี มี 14 สัญชาติมาอยู่ร่วมกันทำงานก่อสร้างเป็นเวลา 8 ปี คนงานหมื่นคนในช่วงพีค” ธนวัฒน์กล่าว

สายส่งไฟ

“12 ปีที่ผ่านมาเห็นความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเมื่อโครงการไซยะบุรีเข้ามา ก็เอาน้ำ เอาไฟเข้ามา จึงเห็นด้วยตาว่ามีการพัฒนา ระหว่างเส้นทางจากหลวงพระบางมาถึงไซยะบุรีมีบ้านเรือนของชาวบ้านอยู่เป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น ลักษณะโครงสร้างบ้านเรือนก็ดูทันสมัย พัฒนาไปมาก ใหญ่ขึ้น มีการติดแอร์ มีปั๊มน้ำมัน ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านขายของ ส่วนชาวบ้านที่เดิมอยู่รอบโรงไฟฟ้าเราก็ต้องชดเชยค่าที่ดินเดิม และไปสร้างหมู่บ้านใหม่ให้เขา ตามพันธะในสัมปทาน ซึ่งเราได้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้เขา ทั้งโรงเรียน สถานีอนามัย จัดหาไฟฟ้า น้ำประปา ไว้พร้อม โดยมีการทำประชาพิจารณ์หลายรอบ เป็นการตัดสินใจร่วมกัน ว่าสุดท้ายจะย้ายไปอยู่ที่ไหน ลักษณะบ้านที่จะสร้างให้อยู่ใหม่ ชอบแบบไหน ลักษณะอาชีพที่เราไปเทรนด์ให้ ก็ถามเขาก่อน ให้เขาเป็นคนตัดสินใจ

เพราะพันธะมีอยู่ว่า สร้างหมู่บ้านใหม่แล้วต้องดูแลด้วย เดิมเขาอยู่ตรงนี้ ไปอยู่อีกที่จะใช้ชีวิตอย่างไร เดิมทีอาจจะเคยจับปลา ตรงน้ำโขงทาน หรือร่อนทอง พอไปอยู่ในพื้นที่เป็น คอมมูนิตี้ขึ้นมา จะทำอาชีพอะไร เราก็ต้องสอนอาชีพเขา เอาอาจารย์จากเมืองไทยมาสอน เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด ปลูกเห็ด ปลูกข้าวโพด ทำยาง ส่งเสริมอาชีพตามที่เขาถนัด ซึ่งรัฐบาลก็มีคณะกรรมการมาตรวจวัดตลอด มีกำหนด KPI ไว้ว่า ถึงที่สุดจนจบเฟสการก่อสร้างแล้วจะต้องมีรายได้ต่อครัวเรือนไม่ต่ำกว่า 1,800 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี เป็นเป้าที่เราจะต้องไปถึงให้ได้”

ธนวัฒน์เล่าว่า เท่าที่คุยกับชาวบ้าน เดิมทีวิถีชีวิตคือจับปลา จับได้ก็มีทาน จับไม่ได้บางวันก็ไม่ได้ทานอะไร เมื่อย้ายไปอยู่ในลักษณะคอมมูนิตี้ก็มีอาชีพที่มั่นคงขึ้น มีรายได้หาเลี้ยงตัวมากพอ จนสามารถเอามาปรับปรุงบ้านตัวเอง จากบ้านยกสูงใต้ถุนโล่งเหมือนบ้านไทย พอย้ายไปประมาณ 3-4 ปี เริ่มก่ออิฐใต้ถุนขึ้นมาเป็นอีกห้อง ติดแอร์ทำเป็นทำบ้านเช่าก็มี เพราะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยว ทำเป็นโฮมสเตย์ สร้างรายได้ จะเห็นว่าเศรษฐกิจดีขึ้น เพราะเริ่มมีร้านขายของชำ ร้านเสริมสวย ร้านขายเสื้อผ้าเล็กๆ น้อยๆ ร้านซ่อมจักรยาน รถมอเตอร์ไซค์ สะท้อนว่าเขามีชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น

“ทุกโรงไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้ CKP ต้องลงไปดูแลประชาชนที่อยู่รอบๆ เข้าไปส่งเสริม ไม่ใช่ลักษณะเอาของไปให้เพียงอย่างเดียว เราต้องไปคุยกับเขาว่าขาดอะไร ต้องการเสริมด้านไหนและการเสริมนั้นต้องยั่งยืนด้วย ไปปรับปรุงอาคารเรียน เช่น เกิดเขาปลูกข้าวโพดเก่ง อยากจะทำผลิตภัณฑ์อื่น ทำป๊อปคอร์นดีไหม เราก็อาจจะหาคนที่มีความรู้ไปช่วยสอนว่าทำแพคเกจจิ้งอย่างไร แพคเกจดีแล้วเอาไปขายที่ไหน ในเมืองหลวงพระบางจะได้ราคาดีกว่า เป็นการช่วยในลักษณะนี้ ซึ่งทำให้ยั่งยืน

ถ้ารอบโรงไฟฟ้ามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีเราก็สบายใจ อยู่กันได้อย่างราบรื่น” ธนวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image