15 ปี ตายหมู่ที่ ‘ตากใบ’ ความทรงจำโหดร้าย ใครรับผิดชอบ?

วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า กระทั่งเข้าสู่ 15 ปี ครบรอบเหตุการณ์เจ็บปวด บาดลึก และโหดร้ายต่อความทรงจำในใจของคนไทยโดยเฉพาะครอบครัวผู้เสียชีวิตที่ “ตายหมู่” ณ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2547

เริ่มต้นจากการ “เรียกร้องความเป็นธรรม” ให้ผู้ประท้วงที่ถูกจับกุม 6 คน ก่อนสถานการณ์บานปลาย รัฐไทยตัดสินใจใช้มาตรการสลายชุมนุม กระทั่งมีการจับกุมโดยมีผู้เสียชีวิตระหว่างขนส่งผู้ต้องหา 84 ศพ และสูญหายมากกว่า 60 ราย

กลายเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลในยุคร่วมสมัยสำหรับการเมืองไทยที่บ่งชี้ปมปัญหามากมาย และซับซ้อนยิ่ง

16 นาฬิกา 35 นาที วันที่ 25 ตุลาคม 2562 ที่สกายวอล์ก แยกปทุมวัน สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย (สนมท.) จัดกิจกรรมแฟลชม็อบรำลึก 15 ปี เหตุการณ์ตากใบ

Advertisement

มารุวรรณ หะยีดอเล๊าะ นักศึกษาคณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยชินวัตร ในฐานะประธาน สนมท. อ่านแถลงการณ์รำลึก พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจำนวนหนึ่งร่วมสังเกตการณ์

มารุวรรณกล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ ซึ่งการชุมนุมครั้งนั้นเกิดจากคนจำนวนนับพันเรียกร้องให้ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) จำนวน 6 คน ที่ถูกทางการตั้งข้อหา พร้อมคุมขังระหว่างการสวบสวนนานกว่าสัปดาห์ เนื่องจากสงสัยว่ามีการพัวพันกับอาวุธปืนที่หายไป แต่ชาวบ้านเชื่อว่าคนเหล่านั้นไม่ผิด การชุมนุมจึงดำเนินต่อไป กระทั่งการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายไม่ได้รับข้อสรุป เกิดการขว้างปาสิ่งของ และผู้ชุมนุมพยายามจะเข้าไปภายใน สภ.อ.ตากใบ เพื่อเจรจาอีกครั้ง ต่อมา แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้นมีคำสั่งสลายการชุมนุม เริ่มจากการฉีดน้ำใส่ฝูงชน ใช้แก๊สน้ำตา และยิงตอบโต้นาน 30 นาที

นักศึกษาเรียกร้องความเป็นธรรมที่สกายวอล์ก แยกปทุมวัน

การสลายชุมนุมครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิต 85 คน สูญหาย 7 คน และบาดเจ็บมากกว่า 1,000 คน นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของชาวปาตานี หรือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ เวลาผ่านมาแล้ว 15 ปี ความยุติธรรมและความรับผิดชอบของฝ่ายรัฐบาลที่ทำการสลายการชุมนุมยังไม่ปรากฏขึ้น

“ในปีครบรอบเหตุการณ์สลายการชุมนุม 15 ปีตากใบครั้งนี้ เราตระหนักได้ว่าหลังจากเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมตากใบ รัฐบาลไทยตอนนั้นได้สนับสนุนโครงการพับนกกระดาษสันติภาพ เพื่อร้อยใจส่งสารความห่วงใยให้กับพี่น้องปาตานี ต่อมาในปี 2548 สามจังหวัดชายแดนใต้ได้รับ ‘อนุสรณ์สถานนกสื่อสันติภาพ’ แต่ความเป็นธรรมยังไม่เกิด คนผิดยังลอยนวล ความจริงแล้วอนุสรณ์สถานดังกล่าวเป็นเพียงสัญลักษณ์หนึ่งที่บอกว่าเหตุการณ์ที่ 3 จังหวัดเกิดอะไรขึ้นบ้าง มีการทุบตีระหว่างเกิดการชุมนุมของชาวปาตานีที่เรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ชุด ชรบ.ที่ถูกกล่าวหา

“การแสดงเจตนารมณ์ของเราในวันนี้จึงต้องการสื่อสารให้ภาคประชาชนและภาครัฐทราบว่า หลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา อาทิ การตายของนายบิลลี่ พอละจี หลายๆ เหตุการณ์การอุ้มหาย รวมถึงการพยายามยิงฆ่าตัวตายของผู้พิพากษาจังหวัดยะลาที่ต้องการรักษาความถูกต้องนั้นได้แสดงให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยยังมีปัญหา การสูญเสียหลายครั้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยยังไม่เคยได้รับความเป็นธรรม” มารุวรรณกล่าว ทั้งยังย้ำว่า ไม่ได้ต้องการเพียง ‘อนุสรณ์’ เพื่อรำลึก หากแต่ต้องการกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม ไม่เช่นนั้น เหตุการณ์ลักษณะนี้จะยังเกิดขึ้นวนลูป การพ้นผิดลอยนวลยังคงดำเนินต่อไปไม่สิ้นสุด”

อนุสรณ์สถานพับนกสันติภาพ ภาพโดย เทคโนโลยีชาวบ้าน

ย้อนหลังกลับไปในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2547 หลังเหตุการณ์ราว 1 สัปดาห์ มี คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 335/2547 แต่งตั้ง คณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เพื่อสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ปรากฏข้อมูลเผยแพร่ใน ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า โดยในตอนหนึ่งระบุว่า

“จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้เริ่มก่อเหตุการณ์คือกลุ่มแกนนำบางคนที่ต้องการให้สถานการณ์ยืดเยื้อ เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นฝ่ายเข้าไปดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ละคนได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนภายใต้ข้อจำกัดหลายประการ ซึ่งอาจนำไปสู่ข้อบกพร่องไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ไม่มีเจตนาที่จะก่อให้เกิดการเสียชีวิต บาดเจ็บ อนึ่ง ในเหตุการณ์นี้มีข้อสังเกตว่าข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่หลายท่านได้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเสียสละ กล้าหาญ จึงต้องนำเหตุการณ์นี้มาศึกษาเสนอแนะเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายเช่นนี้ขึ้นอีก และการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมจำนวนมากระหว่างการเคลื่อนย้ายจาก สภ.อ.ตากใบ มายังค่ายอิงคยุทธบริหารนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดถึงและไม่มีเจตนาที่จะให้เกิดเหตุการณ์ที่เศร้าสลดเช่นนี้”

นอกจากนี้ คณะกรรมการอิสระยังมีข้อเสนอว่า เพื่อป้องกันมิให้เกิดการเสียชีวิตในกรณีมีการชุมนุมประท้วงเช่นนี้อีก ให้ชุดปราบจลาจลของตำรวจที่ได้รับการฝึกอบรม และมีความพร้อมในเรื่องอุปกรณ์การปฏิบัติงานในพื้นที่เป็นหลัก สำหรับชุดปราบปรามจลาจลของฝ่ายทหาร จะใช้เป็นกองหนุนในกรณีที่กำลังตำรวจมีไม่พอเท่านั้น และห้ามติดอาวุธ ส่วนข้อเสนอแนะแนวทางการบริหารงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

คณะกรรมการอิสระชุดดังกล่าวระบุว่า การจัดตั้งองค์กรบริหารราชการ ควรจัดตั้งให้มีลักษณะพลเรือนมากขึ้น โดยให้องค์กรประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น, ใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร และนำองค์กรเครือข่ายอาสาสมัครภาคประชาชนในระดับตำบลและหมู่บ้านทุกองค์กรมาสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจากการพิจารณาของคณะกรรมการอิสระ มีการระบุถึงเจ้าหน้าที่หลายรายที่เกี่ยวข้อง โดยใช้คำว่า “ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ไม่ครบถ้วนตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา” ทั้งสิ้น

เช่น ความในตอนหนึ่งที่กล่าวถึงผู้รับผิดชอบในสถานการณ์โดยรวม ว่า

“…แม้จะมีข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อเวลาประมาณ 01.30 น.ของวันที่ 26 ตุลาคม 2547 มทภ.4 ก็ได้ทราบข่าวว่ามีคนตายที่ค่ายอิงคยุทธบริหารประมาณ 70 คนแล้ว แต่ก็มิได้ดำเนินการอะไร จนถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2547 มทภ.4 จึงเข้ามาที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เพื่อมาตอบข้อสอบถามของคณะกรรมาธิการวิสามัญวุฒิสภา ซึ่งเดินทางมายังค่ายอิงคยุทธบริหาร เพื่อหาข้อมูลการตายของผู้ชุมนุม 78 คน คณะกรรมการอิสระจึงเห็นว่า พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี มทภ.4 ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ขาดความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีหน้าที่ติดตามดูแลภารกิจที่ได้มอบหมาย ให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติอย่างใกล้ชิด?”

ส่วนบทเรียนจากเหตุการณ์ ถูกมองว่า การเสียชีวิตของผู้ชุมนุมจำนวนมากระหว่างการเคลื่อนย้ายจาก สภ.อ.ตากใบ มายังค่ายอิงคยุทธบริหารนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดถึงและไม่มีเจตนาที่จะให้เกิดเหตุการณ์ที่เศร้าสลด

“…จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้เริ่มก่อเหตุการณ์คือกลุ่มแกนนำบางคนที่ต้องการให้สถานการณ์ยืดเยื้อ เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นฝ่ายเข้าไปดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ละคนได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนภายใต้ข้อจำกัดหลายประการ ซึ่งอาจนำไปสู่ข้อบกพร่องไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ไม่มีเจตนาที่จะก่อให้เกิดการเสียชีวิต บาดเจ็บ อนึ่ง ในเหตุการณ์นี้มีข้อสังเกตว่าข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่หลายท่านได้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเสียสละ กล้าหาญ จึงต้องนำเหตุการณ์นี้มาศึกษาเสนอแนะเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายเช่นนี้ขึ้นอีก…”

รำลึก 15 ปี ตากใบที่บ้านนายรอเซะ โซะ สมาชิกอบต.ไพรวัน อ.ตากใบ

สลายชุมนุมจบ ความขัดแย้งไม่จบ หากแต่ทวีความรุนแรงร้าวลึกในจิตใจ โดยมีการฟ้องร้องกันตามกฎหมายหลายคดี คดีสุดท้าย จังหวัดสงขลา พิพากษาเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2552 หรือ 5 ปีหลังเหตุการณ์ว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติ “ตามความจำเป็นแห่งสภาพการณ์เท่าที่เอื้ออำนวย” ผู้ตายทั้งหมด เสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจระหว่างการปฏิบัติงานตามหน้าที่

สิงหาคม 2556 ปรีดา นาคผิว ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากญาติของผู้เสียชีวิตจำนวน 34 คนจากเหตุการณ์ครั้งนั้น เข้ารับฟังการพิจารณาคดีของศาลฎีกา ตามที่ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลจังหวัดสงขลา ที่มีคำสั่งไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตของผู้เสียชีวิตจำนวน 78 คน เกิดจากขาดอากาศหายใจ ระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งญาติขอให้ศาลพิจารณาทำคำสั่งใหม่ เนื่องจากไม่มีการกล่าวถึงพฤติการณ์ว่าใครเป็นผู้ทำให้เสียชีวิต

ศาลฎีกายกคำร้อง โดยมีข้อมูลระบุว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องด้วยเหตุผลว่า เมื่อศาลจังหวัดสงขลาเป็นศาลชั้นต้นเช่นเดียวกันกับศาลอาญา ได้รับคดีไว้ และทำการพิจารณาทำคำสั่งไปแล้ว จึงไม่อาจรับคดีไว้พิจารณาได้อีก ต่อมาศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ศาลฎีกาประชุมตรวจสำนวนแล้วเห็นฟ้องกับศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ จึงมีคำสั่งยกคำร้อง

ตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมา มีความพยายามเรียกร้องความเป็นธรรมตามกระบวนการ และเข็มนาฬิกาก็กำลังเดินไปข้างหน้าสู่ปีที่ 16 ซึ่งอาจเป็นอีกปีที่ทำได้เพียงการรำลึกเฉกเช่นที่เป็นมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image