เพราะหัวใจคือ ‘ผู้คน’ จากบทเรียนสู่ความหวัง ช่องว่างการรับฟังเพื่อ ‘เมืองเถียงได้’

ประเทศไทยมีเมืองแห่งหนึ่งที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว พลุกพล่านไปด้วยผู้คนที่อพยพเข้าสู่ศูนย์กลาง ความเจริญทางเศรษฐกิจเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทว่าผู้คนมาก ปัญหามาก รากฐานปัจจัยของแต่ละแห่งต่างกันในรายละเอียด

ขณะที่กรุงเทพฯเป็น “มหานคร” กรุงเทพฯก็เป็นเมืองประวัติศาสตร์

ขณะที่การเติบโตของมหานครรุกไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว คุณค่าของเมืองประวัติศาสตร์ที่ประกอบด้วยวิถีชีวิตของผู้คน ความเป็นชุมชน กลุ่ม อาคารสถาปัตยกรรม และวิถีวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างหลากหลาย กำลังถูกท้าทายจากนานานโยบายเพื่อการพัฒนาที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วม

Advertisement

เราจึงมีบทเรียนมากมายจากการพัฒนาเมืองที่ล้มเหลว ชุมชนป้อมมหากาฬล่มสลายกลายสภาพเป็นสวนสาธารณะ ปากคลองตลาด คลองถม ถูกจัดระเบียบ ยังมีโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทางเดิน-ปั่น เลียบแม่น้ำ และบทเรียนมากมายที่เคยเกิดและกำลังจะเกิดขึ้นในอีกหลายพื้นที่

ภายใต้โครงสร้างและสถานการณ์ทางนโยบายปัจจุบัน คงจะดีหากมีพื้นที่ปลอดภัยใดที่เชื่อมร้อยถักทอผู้คนให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สู่การพัฒนาเมืองที่ทุกคนมีส่วนกำหนด ออกแบบและพัฒนา เพื่อทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อเลี่ยงคำว่า “เมืองที่ถ่างความเหลื่อมล้ำ เบียดขับ กลบซ่อนคนเล็กคนน้อย”

Advertisement

บ่ายวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา บริเวณชั้น 4 ของคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อัดแน่นไปด้วยชาวบ้านที่มาล้อมวงจับเข่านั่งคุย

ต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของบทสนทนาในเวทีเสวนาสาธารณะ “เมืองเถียงได้” อันเกิดจากการจับมือร่วมกันของ UrbanJam, สำนักข่าวประชาไท, สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.), School of Architecture and Design (SoA+D) และพรรคโดมปฏิวัติ

กฤษณะพล วัฒนวันยู เชื่อมร้อยบทสนทนา โดยเริ่มว่า ถ้าให้คนยังอยู่ได้ ก็เหมือนจะวิน-วิน แต่ส่วนใหญ่ไม่ออกมาเช่นนั้น

ย้อนไป 2535 ครั้งหนึ่งที่นี่เคยมีบ้านเก่าแก่ หากคนป้อมมหากาฬไม่ลุกขึ้นมาเถียง เราก็คงได้สวนร้างไร้ชีวิตตั้งแต่ตอนนั้น

เหตุการณ์นี้ไม่ควรเกิดซ้ำ เพราะคนเคยอยู่ย่านเมืองเก่าหากย้ายที่อยู่จะขาดรายได้ ภาครัฐเหมือนจะเป็นส่วนกลางในการตอบสนอง ทั้งแรงงาน งบประมาณ แต่กลับล้มเหลวหลายครั้ง

“15 ปีมานี้เหลื่อมล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ คงฝากความหวังไว้ที่ กทม.ไม่ได้ แม้อาจมีการเตรียมแผนอยู่บ้าง แต่ก็ไม่สามารถรองรับได้ทั้งหมด” กฤษณะพลกล่าวแทนเสียงของชาวบ้าน

“ไม่รู้จะทำอย่างไร เรามีสิทธิหรือไม่ในการอยู่อาศัย เรามีสิทธิหรือไม่ในการถกเถียง และถ้าเราเถียงได้จะเกิดเป็นรูปธรรมหรือไม่ หากร่วมมือได้ ก็เป็นหนทางในเชิงอุดมคติ เพราะชุมชนไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด ถ้าเมื่อใดก็ตามมีเม็ดเงินหรือในรูปแบบผลประโยชน์ ยิ่งชุมชนเถียงกันเอง การล่มสลายยิ่งเกิดเร็วขึ้น”

ผู้ร่วมเวทีสาธารณะ “เมืองเถียงได้”

สุวัน แววพลอยงาม ชาวบ้านชุมชนวัดแคนางเลิ้ง เผยความรู้สึกที่บ้านกำลังสลายไปจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม

“ระยะหลังทุกอย่างเหมือนโดนโค่นล้ม เราไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ ไม่มีการโต้ตอบเรื่องการยกเลิกบ้านมั่นคง ผู้ใหญ่กับเด็กไม่เคยได้คุยกัน ทุกคนหวาดผวา ไม่รู้จะต่อสู้อย่างไร การพัฒนาของนางเลิ้งมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก สมัยก่อนชุมชนทำการท่องเที่ยว ตอนนี้มีป้ายติด ‘ยินดีต้อนรับ’ แต่ถ่ายรูปไม่ได้ ต้องขออนุญาต ต้องเสียค่าขายของหน้าบ้านตัวเองเดือนละ 900 บาท”

“ไม่เคยมีใครเดินมาบอกว่าโดนไปแล้วกี่หลังคาเรือน น่าจะพูดความจริงกับประชาชน ชุมชนมีเหตุผลพร้อมยอมรับ แต่ตอนนี้ชุมชนต้องไปเอง เพราะถูกเวนคืน และขอเช่าไม่ได้

“เมื่อมีรถไฟฟ้าต้องมีการพัฒนา ชุมชนขอพัฒนารูปแบบที่อยู่อาศัย 5 ปีที่ผ่านมา ไม่มีคำตอบใด เรายากลำบาก ไม่รู้ยุทธศาสตร์ต้องการอะไร ไม่เชิงปั่นให้ชุมชนแตกแยก แต่ทำให้เหมือนว่าเราพูดคนละเรื่อง ทั้งที่เป็นพื้นที่เดียวกัน” สุวันระบุ ก่อนจะเล่าต่อ

“เพื่อนเราที่สนามม้านางเลิ้งมาขอเทียนไขไปจุดตอนโดนตัดไฟ สะท้อนใจถึงตัวเรา ถ้าเราพึ่งรัฐบาลเรายังยื่นหนังสือได้ แต่ตอนนี้จะมีวิธีการอย่างไรให้เห็นว่าเราจะสามารถที่จะคุยได้ เพราะเราไม่กล้าเผชิญหน้า” คือข้อกังวลที่สุวรรณยอมรับ

“เราไม่ได้ทำใจ อยากหาทางสู้ให้นางเลิ้งคงอยู่ และยังเถียงได้”

“ถ้าบ้านของคุณเป็นส่วนหนึ่งของเมือง คุณจะเถียงอย่างไร” คือเสียงของ ธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชน “ป้อมมหากาฬ” ที่ตั้งคำถามชวนขบจากประสบการณ์ที่บ้านกลายเป็นสวนสาธารณะ ก่อนจะกล่าวต่อว่า

หากตีบริบทคำว่า “เมือง” เมืองเกิดจากแรงงานของพวกไพร่ศึก เชลย ที่กวาดต้อนก่อกำแพงสร้างเมือง วัดวาอาราม เมืองเกิดจากมือคน เมื่อมีการเลิกทาส ทาสก็เกาะอยู่กับเขตที่ใกล้กับเมือง จากเมืองเป็นชีวิตของผู้คนที่ตั้งรกราก เกิดถิ่นฐานหรือชุมชน

ตั้งแต่ยุคต้นกรุง บ้านเรือนไทยโบราณยกโถงสูง ต้องมีบ่อน้ำเพื่อบริโภค คือข้อยืนยัน ซึ่งสุดท้าย กรุงเทพมหานคร (กทม.) รื้อละเอียด

“เมืองจะเป็นไปไม่ได้ หากจะเนรมิตโดยปราศจากลมหายใจของเมือง ไม่ได้คิดเฉพาะกรณีล้มเหลวหรือผ่านมา แต่บทสุดท้าย นั่นคือวิถีชีวิตที่โตมาพร้อมกับเมือง ซึ่งนับวันยิ่งเลวร้ายขึ้น

“กรณีป้อม 1 ปี 5 เดือน 22 วัน ผมเป็นครอบครัวและบ้านหลังสุดท้ายที่เดินออกจากป้อม

“ที่ผ่านมา กทม.ดูแลอะไรบ้าง มีแต่พี่น้องโยงใยเป็นเครือข่าย ให้ที่พักพิงที่ซุกหัวนอน

“พี่น้องป้อมเราแยกเป็น 2 ขบวน หนึ่งคือประปาแม้นศรี เอาพี่น้องป้อมขุดรากเหง้าเข้าไปอยู่ในโครงการคนไร้บ้าน ปัจจุบันถูกเนรเทศเพราะต้องคืนพื้นที่ สุดท้ายวิถีชีวิตล่มสลาย ความที่เคยยืนแล้วบอกว่า ‘เราคือครอบครัวที่มีรากมีเหง้า’ ไม่เหลือ เขาไม่ได้ตัดแค่ต้น แต่ขุดทั้งราก ระยะเวลาที่ผ่านมา ถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากพี่น้องชุมชนรถไฟสายสีแดง เราไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน ไม่สายเกินไปที่จะเริ่มเถียง และมีส่วนร่วม อย่าให้เหมือนกรณีป้อม ที่ได้เถียง 26 ปี แต่ไม่มีสิทธิที่จะทำ คงจะดีหาก กทม.มานั่งคุยด้วยกัน”

ธวัชชัย ยังเผยมุมมองด้วยว่า เหตุใดป้อมฯจึงแตก?

“ผมเป็นประธานมา 19 ปี ป้อมมหากาฬมีทั้งพื้นที่เยาวชน กลุ่มกิจกรรมการเรียนรู้ เป็นที่ฝึกอาชีพ พูดง่ายๆ ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต จับต้องได้ เอาไปต่อยอดในพื้นที่ได้ แต่สิ่งที่เกิดตอนนี้ได้แต่คิดปลอบใจตัวเองว่า เราไม่ได้แพ้ ถ้าการบริหารราชการแผ่นดินปกติ ตีอย่างไรป้อมก็ไม่แตก”

“เขาเยี่ยมเรา 3 เวลา เช้ามาหาก่อนจะตื่น กลางวันถามเรากินข้าวหรือยัง กลางคืนถามว่าทำไมเราไม่ยอมนอน วันดีคืนดีเอากองรักษาการทหารเข้ามาตั้งในชุมชน โดยที่ให้เหตุผลว่า ‘เป็นกรณีปัญหาที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดกรณีพิพาทกับหน่วยงานรัฐ’

“อุปนิกขิต ชายในเครื่องแบบ ไม่คุยกับชาวบ้านแน่ แต่มาเสนอค่าหัวคิว พยายามทำลายความเชื่อมั่นที่เราอยู่กันฉันพี่น้อง ที่ทุกคนกล้าเป็นปากเสียง แก้ปัญหามากว่า 26 ปี แต่เพียงไม่ถึง 2 เดือน ศรัทธาพี่น้องไม่เพียงสั่นคลอน แต่ไม่เหลือ ด้วย ‘ยุทธปัจจัย’ ให้พูดถึงตัวเลขที่ต้องการ ทำให้ป้อมแตกความสามัคคี พร้อมเน้นย้ำว่าอย่างไรก็อยู่ไม่ได้แน่นอน”

ในฐานะประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ธวัชชัยบอกว่า การเป็นผู้นำของตนไม่ได้เป็นด้วยการแต่งตั้ง แต่เป็นด้วยจิตสำนึกว่าถ้าพี่น้องหลังใดถูกรื้อหลังอื่นก็อยู่ไม่ได้ จึงเอาภาระทั้งหมดแบกไว้บนบ่า

“แต่วันที่เราถูกรื้อมันคือความเจ็บปวด ‘พี่น้อง’ ที่ร่วมต่อสู้กันมาจับกลุ่มนั่งดูบ้านเราถูกทำลายไปต่อหน้า กลับส่งเสียงยินดีพอใจ เป่านกหวีด และปรบมือ แต่ละทีที่ฝาบ้านถูกพังลงมา เพราะเหตุใด ถ้าไม่มีตัวแปรที่ปฏิเสธจิตสำนึก ระหว่างที่เราเดินหน้าต่อสู้กับอำนาจรัฐ ข้างหลังคุณต้องใส่เกราะไว้ด้วย” คือบทเรียนที่ป้อมมหากาฬได้รับ

“คำว่าเมืองน่าอยู่ วันนี้ใครอยู่? ทั้งที่วันแล้ววันเล่าคุณไล่คนที่อยู่ แล้วความเสมอภาคอยู่ตรงไหน?” ธวัชชัยกล่าว

ด้าน นิตยา พร้อมพอชื่นบุญ ตัวแทนอดีตชุมชนคลองเตย ที่ปัจจุบันกำลังจะกลายเป็น “Smart Community” เผยความรู้สึก

“เราถูกกดทับสิทธิของเราหลายเรื่อง”

“คนยากจนทุกวันนี้เราถูกผู้บริหารประเทศเห็นเงินสำคัญกว่ามนุษย์ พยายามหยิบพื้นที่ที่หาเงินได้เยอะ เพื่อพวกเขาจะได้กินเงินเดือนมาก คนไร้ค่า จะจับไปอยู่ตรงไหนก็ได้ให้พ้นจากที่ที่เขาตั้งเป้าหมาย หาสตางค์ให้ประเทศหาเงินได้”

“ปี 2493 สงครามเลิก เมืองต้องพัฒนา ใช้คนยากคนจนแบกหาม

“ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นคนสร้างเมืองตั้งแต่สมัยสงครามเลิก พอมาปี 2559 บอกว่าเป็นพื้นที่ราคาแพง ตารางวาละหลายแสน เหมาะแก่การทำธุรกิจเพื่อประเทศชาติ เราอยู่ไม่ได้ ท่านทั้งหลายมองเห็นชีวิตมนุษย์หรือไม่”

“การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ครอบครองที่ดินเวนคืนเพื่อนำมาพัฒนาประเทศ ตั้งคณะกรรมการ 4 ชุด คณะสำรวจพูดดีมาก ให้รายละเอียด

“คณะแบบบ้าน คุยแบบบ้านมั่นคง ว่าแบ่งปันพื้นที่ให้การท่าเรือ ส่วนหนึ่งจัดการตัวเอง สร้างบ้านด้วยมือตัวเอง แต่จัดการอย่างไรให้คนจนอยู่กับเมืองให้ได้” นิตยาตั้งโจทย์

ก่อนจะให้เหตุผล “คนจนต้องอยู่กับเมือง ใครจะขับมอเตอร์ไซค์ เป็นแม่บ้านทำความสะอาด คิดบ้างหรือไม่?”

“จากเดิมมือสร้างเมือง ก็ไม่มีโอกาสได้สร้าง ชีวิตเศร้า จะทำความดียังไม่มีโอกาส

‘ใครอยากขึ้นตึกสูง-ไป ใครอยากไปหนองจอก-เชิญ ใครอยากรับเงิน 2 แสน กลับภูมิลำเนาเดิม’

“แต่ถ้าเขาเกิดคลองเตยจะไปไหน? นี่คือสถานการณ์ปัจจุบัน เราจึงต้องลุกมาเถียงอย่างมีเหตุผล เราจะแบ่งที่ดินคืนให้การท่าเรือ อีกส่วนให้พวกเราอยู่ได้หรือไม่” นิตยาระบุ

หนึ่งในชาวชุมชนคลองเตยยังเผยด้วยว่า “ตอนนี้สิ่งที่รัฐลงทุนให้พี่น้องบางส่วนไปอยู่วัชรพล ไม่สามารถช่วยคนได้จริง จะทำอาชีพอะไร เมื่อวิถีชีวิตเดิมยังอยู่คลองเตย ต้องวนเวียนไปมา ระยะห่างเกือบ 40 กิโลเมตร การศึกษาไม่ได้รองรับเด็กคลองเตยที่จะย้ายเข้าไป โต๊ะสองตัว นั่งเรียนสี่คน เบียดบังเด็กในพื้นที่เดิม ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ เด็กก็ถูกปรับ คุณภาพชีวิตเขาเป็นอย่างไรในเมื่อผู้ใหญ่หาเลี้ยงชีพไม่ได้”

นิตยาจึงขอเถียงว่า นี่คือผลพวงจากการลงสำรวจ “ตอนนี้เรารู้ทัน และจำเป็นต้องให้เถียงว่า ‘เราไม่ให้สำรวจ ตราบใดที่แบบสำรวจเรายังไม่พอใจ’

“คนจนต้องอยู่ร่วมกับเมือง สามารถลุกขึ้นมาพูดได้ ไม่ถูกเบียดเบียน และรัฐเองจะต้องไม่คิดเรื่องความเหลื่อมล้ำ ที่แพงอยู่ไม่ได้ แล้วเราจะทำมาหากินอย่างไร ขอรัฐบาลอย่ามองว่าเงินสำคัญกว่ามนุษย์ ทุกคนเกิดมามีศักดิ์ศรี เราท่านมีชีวิตเหมือนกัน ประเทศก็เป็นของเรา ประชากรคลองเตยแสนกว่า ไม่ได้เพียงอยากเถียงแต่เราอยากทำด้วย เพราะคนจะมีความสุขได้เกิดจากบ้าน บ้านที่ต้องมีส่วนคิดและทำร่วมกัน เป็นความทุกข์ใจที่เล่าสู่กันฟัง การพัฒนาจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร หากการรับฟังประชาชนมีเพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น” นิตยาฝากไว้ให้คิด

ที่สุดแล้วต่างก็มีปัญหา จะทำอย่างไรให้มีพื้นที่ส่วนกลางเพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อได้ อาจเพื่อขอจัดการสถานที่สาธารณะ

อาจมีมิติบางอย่างของสมัชชาย่านเมืองเก่าในพื้นที่เมือง เพื่อขอจัดการการมีส่วนร่วมของเมือง

ก่อนที่ ฐิติพร คหัฎฐา ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ลุกขึ้นขอจับไมค์ส่งท้าย

โดยการอาสาสร้างแพลตฟอร์มกลาง เป็นสะพานประสานการพัฒนาข้อเสนอถึงรัฐบาล

“สัปดาห์ที่ผ่านมามีการคุยกับนักวิชาการ สถาปนิก และกลุ่มอื่นๆ เรื่องการมีส่วนร่วมกัน ซึ่งเขาสนใจ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรที่จะเชื่อมเรื่องแพลตฟอร์ม เราจึงอาสาแปะโป้งช่วยกันพัฒนา แต่ว่านิสัยของคนไทย คือคนในชุมชนไม่ฟังกันเอง ดังนั้นสิ่งสำคัญอย่างแรก คือความร่วมมือจากนักวิชาการ เริ่มจากวิเคราะห์กฎหมายที่เกี่ยวข้องว่ามีอุปสรรคอย่างไร วิเคราะห์ถึงสิ่งที่ผ่านมา โดยเราจะมีเวทีแรกเพื่อคุยกับนักวิชาการ เวทีที่ 2 คุยกับภาคประชาสังคม ร่วมประสานและเป็นผู้ขับเคลื่อนต่อไป”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image