‘…ที่ผมจะเล่า มันต่างจากประวัติศาสตร์แห่งชาติ’ ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องกำแพงเพชร เมื่อหัวใจไม่ใช่การเมือง แต่เป็นการค้า

รายการขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ตอน "มหัศจรรย์มหาศิลาแลง เมืองกำแพงเพชร" ดำเนินรายการโดย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก มติชนออนไลน์, ข่าวสด, ศิลปวัฒนธรรมและยูทูปมติชนทีวีเมื่ออังคารที่ 29 ต.ค.62

แรงดีไม่มีตก แม้ซับเหงื่อในบางจังหวะ สำหรับขรรค์ชัย บุนปาน ประธาน บมจ.มติชน และสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ชื่อดังที่พากันออกเดินทางไปยังโบราณสถานมากมายจนเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของพุทธศักราชสองพันห้าร้อยหกสิบสอง พาแฟนานุแฟนรายการ “ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว” เยี่ยมเยือนกำแพงเพชร เมืองเก่าแก่ที่ทั้งคู่เคยบุกป่าฝ่าดงเข้าสำรวจตั้งแต่เป็นนักศึกษาคณะโบราณคดี รั้วศิลปากร ก่อนก่อตั้งอุทยานประวัติศาสตร์ที่เปี่ยมด้วยมนต์ขลังทั้งยังงดงามเขียวขจีในวันนี้

เปิดฉากที่กำแพงเมือง ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ร่วมย้อนอดีตเมืองแห่งนี้ด้วยที่มาของชื่อ “กำแพงเพชร” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของบางสิ่งที่สำคัญยิ่ง ก่อนเน้นย้ำว่าสิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้ มีความแตกต่างจากประวัติศาสตร์แห่งชาติที่คุ้นเคยกันมาจากหน้ากระดาษในแบบเรียน

“เมืองนี้มีความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับพระอินทร์เกือบทั้งหมดซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก กำแพงเพชร หมายถึง เมืองที่มีกำแพง ป้อม ปราการมั่นคงแข็งแรงและงดงามเสมือนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระอินทร์ซึ่งมีปราการแก้ว กำแพงเพชร หมายถึงกำแพงแก้ว ประวัติศาสตร์ที่ผมจะเล่า ต่างจากประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทย ซึ่งเอามาจากประวัติศิลปะสมัยเจ้าอาณานิคมซึ่งกำหนดรูปแบบศิลปะ ไม่ใช่ยุคสมัยของสังคม

สำหรับผม กำแพงเพชร เริ่มต้นด้วยชุมชนเกษตรกรรม ประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว มีคนอยู่เป็นหย่อมๆ เช่น บริเวณที่เป็นเมืองนครชุม เมืองโกสัมพี เมืองไตรตรึงส์ จากนั้นเริ่มมีการค้าข้ามภูมิภาคซึ่งเราเริ่มรับวัฒนธรรมอินเดียผ่านการค้าโลกราว พ.ศ.1000 ที่บ้านเราเรียกว่า ยุคทวารวดีต่อมาเป็นชุมชนการค้าชั่วคราวบนเส้นทางคมนาคมยุคการค้าโลก เมื่อ 1,500 ปีมาแล้ว กระทั่งเป็น ‘เมืองสองฝั่งน้ำ’ ในอำนาจรัฐอยุธยา-สุพรรณภูมิ เมื่อราว 600 ปีก่อน” สุจิตต์เล่า แล้วเชื่อมโยงถึงการพบหลักฐานสำคัญในประวัติศาสตร์ ซึ่ง ขรรค์ชัย มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ ณ “ดงแม่นางเมือง”

Advertisement

“ในราว พ.ศ.1000 เขตนี้ทั้งหมดน่าจะเป็นเครือข่าย เครือญาติกับดงแม่นางเมือง อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ขึ้นมาจนถึงเมืองไตรตรึงส์ ซึ่งเชื่อมโยงกับอำนาจที่เหนือกว่าขึ้นไปอีกนั่นคือ หริภุญชัย ลำพูน สมัยคุณขรรค์ชัยเป็นนักศึกษา ออกสำรวจกับอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ซึ่งสอนอยู่ที่คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร พบว่าดงแม่นางเมือง เป็นเมืองใหญ่มาก แล้วยังพบจารึกที่เอ่ยนามกษัตริย์ศรีธรรมาโศกราช ระบุ พ.ศ.1710”

เขยิบลงมาถึงการสถาปนาเมืองกำแพงเพชรโดย เจ้านครอินทร์ ดังปรากฏหลักฐานในจารึกกฎหมายลักษณะโจร

“เจ้านครอินทร์ ซึ่งสืบราชสมบัติอยู่สุพรรณฯ มาสร้างเมืองกำแพงเพชร ถามว่าเมื่อไหร่ ตอบว่าไม่รู้ คงสร้างมาตั้งแต่รุ่นพ่อคือขุนหลวงพะงั่ว แต่จารึกกฎหมายลักษณะโจรระบุข้อความว่า พ.ศ.1940 เสด็จขึ้นเสวยราชย์ ทำพิธีบรมราชาภิเษกที่เมืองกำแพงเพชรบุรีศรีวิมลาสน์ซึ่งเป็นแดนพระธรรมราชสีมา”

Advertisement
พระอิศวรเมืองกำแพงเพชร

สุจิตต์ ยังหยิบยกประติมากรรมชิ้นเอกของเมืองมาวิเคราะห์ร่วมกับขรรค์ชัยในประเด็นประวัติศาสตร์ที่น่าฟังอย่างยิ่ง นั่นคือ พระอิศวรสัมฤทธิ์เมืองกำเพงเพชร ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร

“กำแพงเพชร มีพระอิศวรและให้ความสำคัญมาก ที่ฐานมีจารึกระบุ พ.ศ.2053 มีประเด็นสำคัญคือ 1.เจ้าเมืองกำแพงเพชรขณะนั้น ชื่อ เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ซึ่งเป็นชื่อในอุดมคติเรื่องพระเจ้าอโศกเป็นธรรมราชา ไม่ได้มีเฉพาะภาคใต้ ในจารึกดงแม่นางเมืองก็มีชื่อนี้ จึงชี้ชัดว่ามีความสืบเนื่องทางวัฒนธรรม 2.ในจารึกมีคำว่าพุทธศาสน์และไสยศาสน์ ซึ่งคำว่าไสยศาสน์ในที่นี้ หมายถึง ไศว คือพระศิวะ สะท้อนร่องรอยที่มาของคำว่าไสยศาสตร์ในภายหลัง 3.มีคำว่าพระเทพกรรม หรือผีปะกำซึ่งเป็นผีพื้นเมืองที่ได้รับยกย่องเทียบเท่าเทวดาอินเดีย”

เจาะลึกลงไปกว่านั้น ขรรค์ชัย-สุจิตต์ บอกว่ากำแพงเพชรเป็น “ข้อต่อ” ระหว่างรัฐสุโขทัยกับรัฐสุพรรณภูมิ เสมือนมีอำนาจชนกัน 2 กลุ่ม คือกลุ่มพระเจ้าอู่ทอง กับกลุ่มพระร่วง พระร่วงคือสัญลักษณ์ของรัฐสุโขทัย พระเจ้าอู่ทองคือสัญลักษณ์ของรัฐสุพรรณภูมิ อย่างไรก็ตาม หัวใจไม่ได้อยู่ที่การเมือง แต่อยู่ที่การค้า

บ้าน “พะโป้” นายห้างค้าไม้ ริมคลองสวนหมาก สถานที่รับเสด็จรัชกาลที่ 5

“การเมืองต่างหากมาจัดการการค้า เพราะการค้านำทาง เมืองเกิดบนเส้นทางการค้า ถ้าเมืองไม่มีการค้า จะเอาเงินที่ไหนมาสร้าง จากสเกลเมืองกำแพงเพชร เศรษฐกิจต้องใหญ่โตมหาศาล อะไรจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจใหญ่โตแบบนี้ได้ ก็ต้องค้าสำเภากับจีน ลักษณะเมืองกำแพงเพชรมีหลายอย่างเป็นแบบเดียวกับสุพรรณบุรี เช่น ป้อมเมืองกำแพงเพชร มีลักษณะเดียวกับป้อมเมืองสุพรรณ ส่วนที่หลายคนบอกว่าเทคโนโลยีสร้างกำแพงเมืองที่นี่ได้จากฝรั่ง ผมบอกว่า ก็ได้เหมือนกันแหละ เพราะลักษณะการใช้งานเป็นพยานหลักฐานอยู่ แต่ก่อนหน้ารับฝรั่ง เชื่อว่ารับจากจีน เพราะจีนมาก่อน เราลืมเรื่องนี้ไม่ได้ แต่ประวัติศาสตร์ไทยขาดเรื่องจีนกับอิหร่าน เพราะไปให้ความสำคัญแต่อินเดียกับฝรั่งทั้งที่หลักฐานเทคโนโลยีจากอิหร่าน หรือเปอร์เซีย เต็มไปหมด เราก็เคยหลงทางมานาน เช่น ซุ้มประตูหน้าต่างสมัยพระนารายณ์ เดิมคิดว่ามาจากฝรั่งเศส จริงๆ แล้วมาจากเปอร์เซีย” (อดีต) สองกุมารสยามทิ้งท้าย

จากนั้น ย้ายโลเกชั่นไปยัง “วัดช้างรอบ”‘ นั่งพักริมบ่อขุดศิลาแลงที่หลงเหลือร่องรอยเป็นหลุมลึกขนาดใหญ่

วัดช้างรอบ สะท้อนอิทธิพลลังกาอย่างเด่นชัด

“ศิลาแลงคือความมหัศจรรย์ของกำแพงเพชร กล้วยไข่ เฉาก๊วยชากังราว กระยาสารทก็ขายไป ไม่มีปัญหา แต่อย่าลืมขายศิลาแลง ว่านี่คือความมหัศจรรย์ของเมืองกำเพงเพชร ตั้งแต่ชื่อกำแพงเพชร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ยิ่งใหญ่ของเทคโนโลยีก่อสร้างด้วยศิลาแลง พื้นที่ในจังหวัดนี้เต็มไปด้วยศิลาแลง นักโบราณคดีบอกว่าเกือบทุกวัดมีบ่อขุดศิลาแลงเพื่อเอามาสร้างโบสถ์วิหารเจดีย์ การสร้างวัดอย่างนี้ไม่ได้เสร็จในปีสองปี แต่ยืดเยื้อยาวนานจนไม่รู้ว่ากี่ปี และสร้างเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ วัดช้างรอบก็สร้างด้วยศิลาแลงทั้งวัด คนธรรมดาทำไม่ได้ ต้อง 1.เจ้านาย 2.มหาเศรษฐี เจ้านายธรรมดาก็ทำไม่ได้ ต้องเป็นเจ้านายที่ค้าสำเภาทางทะเล คุมพระคลังสินค้า จึงจะมีทรัพย์จ้างไพร่ขุดแลงได้ ส่วนช้างเหล่านี้คือผู้แบกค้ำจุนจักรวาลให้ดำรงอยู่ ซึ่งไม่ใช่คติพื้นเมืองแต่รับจากลังกาแม้กระทั่งเจดีย์ทรงลังกา”

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ยังเล่าเกร็ดจากวรรณคดี ไม่ทิ้งลายนักกลอนเก่าผู้ร่ายบทกวีตั้งแต่วัยหนุ่มจนถึงวันนี้ยังมีผลงานใน หน้า 3 มติชนรายวัน ทุกฉบับวันอาทิตย์

“ในขุนช้างขุนแผน ตอนพระพันวัสสาให้ขุนแผนไปตีเชียงใหม่ ขุนแผนก็ยกทัพจากอยุธยา ผ่านขึ้นมาทางกำแพงเพชร ตอนตีดาบฟ้าฟื้น ก็ต้องมาเอาเหล็กที่กำแพงเพชร เหล็กที่เขาว่าดีนักหนา ขุนแผนไปหามาหมด”

เมืองกำแพงเพชร ยาวตามแม่น้ำปิงซึ่งไหลจากเหนือลงใต้กำแพงเพชรอยู่ฝั่งตะวันออก โดยมีเมืองนครชุมอยู่ฝั่งตะวันตก

พูดถึงวรรณคดีแล้ว ไม่ลืมกล่าวถึง สุภาพบุรุษ จาก คลองสวนหมาก นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ผู้ยิ่งใหญ่ ครูมาลัย ชูพินิจ ผู้แต่งนิยายเรื่อง “ทุ่งมหาราช” รวมถึง “ชั่วฟ้าดินสลาย” โศกนาฏกรรมความรักที่ถูกสร้างเป็นภาพยตร์ตรึงใจ

“คลองสวนหมากเป็นเส้นทางทรัพยากรสำคัญ ต้นน้ำอยู่ทางทิศตะวันตก พรมแดนไทย-พม่า บ้านครูมาลัยอยู่ที่นี่”

ปิดท้ายด้วยประเด็นชวนเพิ่มอุณหภูมิร้อน นั่นคือ “ชากังราว” ชื่อเมืองโบราณที่เชื่อกันมานานว่าอยู่ที่กำแพงเพชร สุจิตต์ ยกผลงานของ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ นักประวัติศาสตร์คนสำคัญ ผู้เชี่ยวชาญสังกัดกรมศิลปากร ที่บอกว่า “ชากังราว ไม่ใช่กำแพงเพชร” เพราะพงศาวดารทั้งหมด ระบุว่า ชากังราวอยู่แม่น้ำน่าน ไม่ใช่แม่น้ำปิง โดยเชื่อว่าชากังราวอยู่ที่เมืองพิชัย ซึ่งก็คืออำเภอพิชัย จังหวัดอุดรดิตถ์ต่างหาก

กล่าวยังไม่ทันจบ มีแฟนคลับช่าวกำแพงเพชรบุกมาพบ หอบ “เฉาก๊วยชากังราว” ใส่กระจาดมามอบ บอกว่า ชื่นชอบทั้งสองผู้อาวุโส เนื่องจากเปิดโลกความรู้ใหม่ๆ ซ้ำยังโดนใจด้วยสไตล์ “ฮาร์ดคอร์”

ขรรค์ชัย-สุจิตต์ยืนยัน แม้ชากังราวไม่ใช่กำแพงเพชร แต่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนยี่ห้อเฉาก๊วย เพราะอร่อยมากจนติดตลาดไปแล้ว แต่ในมุมของข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ขอให้รับรู้ร่วมกันและสามารถถกเถียงได้โดยใช้ข้อมูลหลักฐาน ก็เป็นอันแฮปปี้ไม่มีความขัดแย้ง

มีแต่ความก้าวหน้าทาง “ความรู้” ที่ต้องอยู่คู่สังคมไทย ไม่ว่าจะยุคเก่ายุคใหม่ ยุคกระดาษหรือออนไลน์ ก็ไม่แตกต่าง


ขรรค์ชัยชี้เป้า สุจิตต์เล่านิทาน

ย้ำเศรษฐกิจสร้างสรรค์-หนุนท่องเที่ยว 3 เมืองรวด

ขรรค์ชัย บุนปาน (ขวาสุด) สำรวจดงแม่นางเมืองราว พ.ศ.2510

ไม่ใช่แค่แง่มุมประวัติศาสตร์ ทว่า ทั้ง 2 ท่านยังมองถึงปัจจุบันและวันพรุ่งนี้ของกำแพงเพชร ก่อนเปิดรายการ ขรรค์ชัย นั่งรถวนรอบอุทยานฟื้นความหลังครั้งเก่าก่อน โดยเล่าว่า ยุคนั้นต้องขึ้นรถโดยสารมาเป็นวันๆ กว่าจะถึง เพราะถนนหนทางไม่ได้สะดวกสบายเหมือนปัจจุบัน ส่วนการสำรวจนั้น ตนถือมีดพร้าหรือไม้ด้ามยาวๆ เพื่อฟันพงหญ้าและต้นไม้ที่ขึ้นรกเรื้อ หวังส่งสัญญาณให้งูเงี้ยวเขี้ยวขอไม่มาตอแย

“วันนี้มาอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร พบว่าได้รับการดูแลอย่างดี สะอาดเรียบร้อย ถือว่ามีความพยายาม แม้เพิ่งเจอพายุฝน นอกจากเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ควรสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีก โดยสามารถเที่ยวแบบเป็นกลุ่ม 3 เมือง คือ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร สามารถนอนพักที่จังหวัดใดก็ได้ อีกทั้งควรเปิดให้มีกิจกรรมที่สร้างชีวิตให้วัดวาอารามที่เป็นโบราณสถาน เช่น อนุญาตให้จัดสวดมนต์ในคืนเดือนหงาย และช่วงเสาร์-อาทิตย์ เพื่อให้คนเดินทางมาเยี่ยมชม เพิ่มความสมบูรณ์ทางใจ เพราะคนกำแพงเพชรส่วนหนึ่งก็ยังไม่เคยเข้าชมอุทยานฯ ซึ่งด้วยสถานที่มีความสวยงาม เก่าแก่ เหมาะสมที่สุด” หัวเรือใหญ่ค่าย “มติชน” กล่าว

ด้านสุจิตต์บอกว่า กำแพงเพชรยังมีนิทานสำคัญคือ “ท้าวแสนปม” ซึ่งทางการควรยกย่องเป็นจุดขายเพื่อผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในอนาคต รัชกาลที่ 6 ยังทรงให้ความสำคัญ โดยมีราชนิพนธ์ เรื่องท้าวแสนปมมาแล้ว เนื้อหาโดยย่อคือหนุ่มชาวไร่ชื่อนายแสนปม เนื้อตัวตะปุ่มตะป่ำ ทำไร่ปลูกมะเขือ พระธิดาของพระเจ้าศิริชัยเชียงแสนเสวยมะเขือจากไร่ท้าวแสนปม เกิดทรงพระครรภ์ ถูกไล่ออกไปอยู่กระท่อมปลายนาด้วยกัน พระอินทร์มาช่วย สุดท้ายท้าวแสนปมสร้างเมืองเทพนคร ส่วนพระโอรสได้นามว่า ท้าวอู่ทอง ต่อมาไปสร้างกรุงศรีอยุธยา

สุจิตต์มองว่าตัวละครในเรื่องต่างสะท้อนสัญลักษณ์ที่น่าขบคิดอย่างยิ่ง

“พระเจ้าศิริชัยเชียงแสนคือสัญลักษณ์ของคนพูดภาษาตระกูลไต-ไท ที่เคลื่อนย้ายมาจากทิศเหนือตามเส้นทางการค้าของดินแดนภายใน ท้าวแสนปมคือคนพื้นเมือง เมื่อแต่งงานก็เกิดการผสมกลมกลืนระหว่างกลุ่มชนต่างๆ ระหว่างพื้นเมืองกับคนเข้ามาอยู่ใหม่ ท้าวอู่ทองคือสัญลักษณ์ ของกลุ่มพ่อค้า นิทานเรื่องท้าวอู่ทอง ไม่เคยทำอาชีพอื่น นอกจากค้าขาย ไม่ค้าขายทางบกก็ทะเล”

เป็นอีกหนึ่งทริปที่มากมายด้วยประเด็นชวนขบคิดเช่นเคย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image