‘ท่านเผาเทียน ท่านเหล้นไฟ’ ลอยกระทงมิติใหม่ ในประเพณีที่เพิ่งสร้าง?

(ซ้าย) กระทงน้ำแข็งที่แพร่หลายในโซเชียลในเทศกาลลอยกระทงปีนี้ (ขวา) นางนพมาศ วรรณคดียุคต้นรัตนโกสินทร์ ไม่ได้เก่าแก่ถึงสุโขทัย (ภาพจากหอจดหมาเหตุแห่งชาติ)

คึกคักอย่างแรง สำหรับลอยกระทง สองห้าหกสอง ตั้งแต่น้ำยังไม่นองเต็มตลิ่ง เมื่อมีการล่อซื้อกระทงจากเด็กหญิงวัย 15 อ้างว่าละเมิดลิขสิทธิ์การ์ตูนดัง ก่อนบริษัทตัวแทนออกแถลงการณ์ยืนยันไม่มีเอี่ยว ท่ามกลางเสียงติเตียนอย่างหนักจากทั่วสารทิศ พร้อมกับคำถามจากปากเด็กน้อยที่ว่า ทำไมทำกับหนูแบบนี้

ล่าสุด กรณีดังกล่าวนำไปสู่ การสั่งย้าย พ.ต.อ.คเชนทร์ เสตะปุตตะ ผกก.สภ.เมืองนครราชสีมา ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงานตำรวจภูธรภาค 3 นครราชสีมา เป็นเวลา 30 วัน

ยังไม่รวมประเด็นที่ต้องตามต่อ เพราะมีผู้ประสบเหตุใกล้เคียงกันนับสิบราย ส่อเค้ากลายเป็นขบวนการกรรโชกทรัพย์จากการเรียกค่าปรับนับหมื่นนับพันบาท เท่านั้นไม่พอ ล่าสุด บริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์จากญี่ปุ่น ระบุว่า กระทงดังกล่าวไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจาก “หน้าไม่เหมือน” ตัวการ์ตูน “รีลัคคุมะ”

ไม่รู้จะเรียกเสียงฮา หรือเสียงร้องไห้กับความน่าเศร้าใจในพฤติกรรมของผู้ใหญ่บางคนในสังคมไทยกันดี

Advertisement

กระทงน้ำแข็ง-ลอยออนไลน์
ทางเลือกใหม่เพื่อ ‘พระแม่คงคา’

อย่างไรก็ตาม ประเทศชาติยังไม่สิ้นหวัง เมื่อในช่วงเวลาเดียวกัน เกิดกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ในปีนี้ถูกปลุกด้วยข้อความในเฟซบุ๊กของศิลปินดังอย่าง

“โจอี้ บอย” ซึ่งออกมาชักชวนให้ “ขอขมาพระแม่คงคา” ด้วยการเก็บขยะชายหาด แม่น้ำ ลำคลอง ลอกท่อ โดยยืนยันว่าไม่ได้บอกให้เลิกลอยกระทง แต่วัสดุที่ใช้ควรเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ไม่เพียงเท่านั้น ยังเผยแพร่คลิปการทำกระทงน้ำแข็งเป็นไกด์ไลน์ ก่อนที่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีต รมว.คมนาคม ผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี จะออกแรงหนุนว่าเห็นด้วยทุกประการ โดยระบุว่า

“ปีนี้เรายังเลือกผู้ว่าฯ กทม.ไม่ได้ แต่เราเลือกกระทงที่จะลอยได้”

Advertisement

ทั้งยังแนะช่องทาง “ลอยกระทงออนไลน์” สนับสนุนประเพณีแบบทันยุคสมัย ไม่ทำร้ายแม่น้ำ และทะเล

กทม.เก็บกระทงวัสดุธรรมชาติไปทำปุ๋ย

ชัชชาติยังระบุว่า หากจะเลือกลอยกระทงจริง อย่าเลือกกระทงโฟมหรือพลาสติก ซึ่งการลอยเพียง 5 นาที กระทบสิ่งแวดล้อมยาวนานถึง 50 ปี

ข้อมูลน่าสนใจยิ่งสำหรับการลอยกระทงในปี 2561 ที่ผ่านมา คือ จากกระทงที่ กทม.เก็บ 841,357 มีกระทงโฟมถึง 44,883 ใบ เมื่อเทียบสัดส่วนอาจดูไม่มาก แต่หากดูกระแสการอนุรักษ์ธรรมชาติในช่วง 10 ปีที่เข้มข้นขึ้นตามลำดับ ก็ยังถือว่าไม่น่าพอใจเท่าที่ควรหรือไม่?

มีน้อย แต่มีนะ ‘กระทงโฟม’ เนเวอร์ดาย ทำสัตว์ทะเลตายอื้อ!

ประเด็นท้องทะเลและแม่น้ำ ต้องถาม ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งให้ข้อมูลปรากฏตามสื่อว่า กระทงบางส่วนไหลลงทะเลจนกระทบต่อชีวิตสัตว์ทะเลหายากตายจำนวนมาก โดยเฉพาะเต่าทะเลมากกว่า 400 ตัว ไม่นับรวมโลมา วาฬ พะยูน ถือว่าเป็นการสูญเสียสัตว์ทะเลหายากมากที่สุด

หันมาดูข้อมูลจาก ประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ที่ว่า กทม.ในการจัดเก็บกระทงในเขตกรุงเทพมหานคร ปี 2551-2561 พบว่ามีปริมาณ 800,000-900,000 ชิ้นต่อปี (ยกเว้นปี 2554 และปี 2559) พบว่าการใช้กระทงที่ทำจากธรรมชาติมีแนวโน้มสูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 87-94.7 กระทงโฟมมีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 13 ลดลงเหลือร้อยละ 5.3 ซึ่งในปี 2561 คิดเป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติร้อยละ 94.7 และกระทงโฟมร้อยละ 5.3

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ แนะหลักการ 3 ข้อให้ท่องขึ้นใจแข่งกับอาขยาน นั่นคือ ใช้น้อย ใช้ซ้ำ และ ใช้ใหม่

ใช้น้อย คือ ลดขนาดและจำนวนชิ้น แฟนกัน ครอบครัวเดียวกัน ใช้กระทงเดียว เพิ่มความแน่นเหนียวในความรัก

ใช้ซ้ำ คือ ทำกระทงจากวัสดุเหลือใช้ ซึ่งช่วยลดปริมาณขยะได้ด้วย

ใช้ใหม่ คือ แปรรูปกระทงมาใช้ประโยชน์ อาทิ นำกระทงจากวัสดุธรรมชาติมาทำปุ๋ย

ภาพที่ใช้รณรงค์งดปล่อยโคมในเทศกาลลอยกระทงที่ส่งผลกระทบทั้งทรัพย์สินชาวบ้านจนถึงสัตว์ที่ไร้เดียงสา

สำหรับกระทงที่ทำจากขนมปัง ฟังดูโอเค แต่หากมีเยอะเกินไป ปลาพุงกาง หม่ำกันไม่ไหว ก็กลายเป็นของเน่าคาแม่น้ำลำคลองอยู่ดี ด้วยเหตุนี้ ก่อนลอยกระทงไม่ว่าจะด้วยวัสดุใด ต้องคิดให้รอบคอบกันสักหน่อย

ขณะที่ วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกมาเชิญชวนคนไทยทั่วประเทศ ช่วยกันลดการใช้กระทงที่ทำจากพลาสติกและโฟม แล้วหันมาใช้วัสดุที่ทำจากธรรมชาติ และย่อยสลายไม่เป็นอันตรายต่อแม่น้ำลำคลอง โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี จะนำร่องปีนี้ลอยกระทงปลอดโฟม เพื่อลดปริมาณขยะที่จะลงสู่แม่น้ำลำคลองแล้วไหลลงปากแม่น้ำและทะเลด้วย เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณแม่น้ำ และพระแม่คงคาอย่างแท้จริง

‘เผาเทียน เล่นไฟ’ ไม่ใช่ลอยกระทง
‘นางนพมาศ’ นิยายแต่งใหม่ยุค ร.3

สำหรับอีกประเด็น ที่เคยวนมาสร้าง “วิวาทะ” กันทุกปี อย่างลอยกระทง ไม่ได้มีตั้งแต่สุโขทัย แต่เป็นประเพณีเกิดใหม่ในยุครัตนโกสินทร์ และนางนพมาศ เป็นแค่นิยาย ไม่ได้มีตัวตนจริง ในปีนี้ นับว่าเถียงกันบ้าง อย่างกระเส็นกระสาย ยังไม่เห็นดราม่าร้อนแรงอย่างที่เคย ที่สำคัญคืนลอยกระทงพักหลังมานี้ สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้เปิดประเด็นดังกล่าวมานานกว่า 30 ปี อาจนอนหลับฝันดีเป็นพิเศษ เพราะกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมเผยแพร่หนังสือ “ลอยกระทง รักษ์น้ำ รักวัฒนธรรม” โดยระบุชัดเจนอย่างที่ไม่เคยเป็น ว่า นางนพมาศ เป็นเพียง “นางในวรรณคดี” ไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง และในจารึกพ่อขุนรามคำแหง มีแต่คำว่า “เผาเทียน เล่นไฟ” ที่มีความหมายอย่างกว้างๆ ว่าเป็นการทำบุญไหว้พระ โดยไม่มีคำว่า ลอยกระทง แต่อย่างใด

ความตอนหนึ่งว่า

“…ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศนี้ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเชื่อว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากสำนวนโวหารมีลักษณะร่วมกับวรรณกรรมสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ อีกทั้งยังมีข้อความหลายตอนที่แสดงให้เห็นว่าแต่งสมัยกรุงสุโขทัยไม่ได้ เช่น การอ้างถึงอเมริกัน ปืนใหญ่ เป็นต้น ดังนั้น นางนพมาศ เป็นเพียงนางในวรรณคดี มิได้มีตัวตนอยู่จริง

นอกจากนี้ ในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยและเอกสารร่วมสมัยก็ไม่มีปรากฏชื่อ ลอยกระทง แม้ในแต่ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ก็มีแต่ชื่อ เผาเทียน เล่นไฟ ที่มีความหมายอย่างกว้างๆ ว่าการทำบุญไหว้พระ โดยไม่มีคำว่า ลอยกระทง…”

นางนพมาศ จากหนังสือของกระทรวงวัฒนธรรม ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2559 ระบุว่า เป็นเพียงนางในวรรณคดี ไม่มีตัวตน

ประเด็นนี้ วริศรา ตั้งค้าวานิช ระบุในหนังสือ “ประวัติศาสตร์สุโขทัยที่เพิ่งสร้าง” โดยกล่าวว่า เมื่อกล่าวถึงการลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ มักเป็นไปในทำนองที่ว่าเป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย หรือสมัย “พระร่วงเจ้า” โดยนางนพมาศเป็นผู้ประดิษฐ์กระทง

เรื่องเล่านี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปตามหลักฐานหรือการตีความทางประวัติศาสตร์ใหม่ๆ รวมทั้งการแสดงแสงสีเสียงต่างๆ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ยิ่งเป็นตัวส่งเสริมให้ประเพณีนี้ดูมีตัวตนและเก่าแก่ยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ เป็นประเพณีที่ได้มีการประดิษฐ์สร้างขึ้นมาพร้อมๆ กับการสร้างอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยนั่นเอง

แนวความคิดที่มาของประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ มาจากนายนิคม มูสิกะคามะ หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เมื่อ พ.ศ.2520 และต่อมาได้เป็นอธิบดีกรมศิลปากรในระหว่าง พ.ศ.2541-2542 ได้เสนอให้จังหวัดสุโขทัย “พลิกฟื้น” ประเพณีนี้ขึ้น และจัดให้เป็นงานใหญ่ระดับชาติ มีจุดประสงค์สำคัญคือ สร้างสุโขทัยให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่สนใจ ผู้จัดงานคือทางส่วนราชการจังหวัดสุโขทัยเอง และมีการขอให้กรมศิลปากรเข้ามาช่วยดูแลโบราณสถาน

สำหรับหลักฐานในการ “ฟื้น” ประเพณีนี้อาศัยการตีความจากศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่ได้มีการกล่าวถึงเทศกาลประเพณีในเมืองสุโขทัย และได้ให้ชื่อเทศกาลนี้ตามคำในศิลาจารึกว่า “งานเผาเทียน เล่นไฟ”

การจัดการแสดงแสงสีเสียงจำลองบรรยากาศสมัยสุโขทัย จำลองเรื่องราวของพระร่วงเจ้าและนางนพมาศผู้ให้กำเนิดกระทงเป็นประจำทุกปี ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้มาเที่ยวที่สุโขทัยเป็นจำนวนมากยังเกิดขึ้นทุกปี เป็นการยืนยันเรื่องเล่าและประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างของประเพณีนี้อย่างแข็งขัน

ไม่ต้องเลิก แต่ต้องรู้ จุดสมดุลคือทางออก

วริศรา อธิบายในรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “ประเพณีประดิษฐ์” โดยยกข้อมูลของ อีริค ฮอบสบอม (Eric Hobsbawm) ที่กล่าวไว้ในหนังสือชื่อ The Invention of Tradition ว่าเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่ถูกสร้างหรือถ่ายทอดออกมาจากการนำเอา “ของโบราณ” หรือ “เครื่องมือโบราณ” (Ancient Materials) เช่น เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ พิธีกรรม ข้อปฏิบัติต่างๆ ของสังคมและอื่นๆ ที่มีมาแต่อดีต นำมาสร้างใหม่ ตีความ ปรุงแต่ง ผลิตซ้ำ โดยกระบวนการก็เป็นการทำให้เป็นระเบียบแบบแผน (Formalize) และการทำให้เป็นพิธีกรรม (Ritualization) ซึ่งมักจะมีการแสดงหรือพรรณนาถึงคุณสมบัติของประเพณีเหล่านั้น โดยการอ้างอิงกับความเป็นอดีตที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ การรับใช้เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ในปัจจุบันที่กำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงและเกิดการโหยหาอดีต

อลหม่านล่อซื้อกระทงการ์ตูนอ้างลิขสิทธิ์ ทำพิษเด้งผู้กำกับ สภ.เมืองนครราชสีมา

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่างานลอยกระทงกลายเป็นประเพณีสำคัญของคนไทยในปัจจุบันไปแล้ว ไม่ว่าจะมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยหรือเป็นประเพณีประดิษฐ์ใหม่เมื่อวานนี้ นำรายได้สู่ท้องถิ่นทำเม็ดเงินแพร่สะพัดกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทุกปี ซึ่งแม้แต่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ก็บอกว่า ถึงจะยืนยันแน่นหนักถึงหลักฐานที่ว่า ลอยกระทงคือ ประเพณีใหม่ในยุครัตนโกสินทร์ไม่ใช่สุโขทัย และนางนพมาศ ไม่ได้มีตัวตนจริง แต่ตนไม่เคยต่อต้านงานลอยกระทง ทว่า สังคมควรรับรู้และร่วมทำความเข้าใจในข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

เช่นเดียวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งแม้แต่ “อินฟลูเอนเซอร์” ที่ออกมาชักชวนสังคมไทยให้ใส่ใจพระแม่คงคาในมิติใหม่ก็ไม่ได้บอกให้เลิกลอยกระทง หากแต่ยังมีช่องทาง และวิธีการใหม่ๆ ที่อาจเหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบันมากกว่า

จุดสมดุลจึงสำคัญ ทั้งการอนุรักษ์ธรรมชาติ สีสันประเพณี เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ที่ล้วนมีความสำคัญไม่แตกต่าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image