เปิดฉากประชุม ADMM-Plus/6 สร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้โลก

หลังประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ในการจัด การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ADMM ครั้งที่ 13 ที่ผ่านมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 ในฐานะเจ้าภาพในนามประเทศไทย กระทรวงกลาโหมไทย ยังเหลืออีกงานการประชุมที่ต้องทำหน้าที่ในปีนี้ นั่นคือการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประเทศคู่เจรจา หรือการประชุม ADMM-Plus ครั้งที่ 6 ซึ่งจะมีขึ้นระหว่าง 16-19 พฤศจิกายน 2562 ที่โรงแรม Avani Riverside กรุงเทพฯ

งานนี้นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นหน้าเป็นตาของประเทศแล้ว ส่วนหนึ่งที่เป็นหัวใจของการจัดงานคือ เป็นการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคง ระหว่างอาเซียนกับประเทศมหาอำนาจในภูมิภาค ให้ครอบคลุมในทุกมิติ โดยให้ยึดหลักความเป็นแกนกลางของอาเซียน ถึงขนาด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาให้สัมภาษณ์ย้ำถึงการเตรียมความพร้อมของงานอย่างเต็มที่ และให้ทุกเหล่าทัพสนับสนุนการจัดประชุมอย่างจริงจัง สมเกียรติของกระทรวงกลาโหมและประเทศไทย ในฐานะประธานอาเซียน ปี 2562

ก่อนงานเริ่ม พล.อ.รักศักดิ์ โรจน์พิมพ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน กระทรวงกลาโหม (ผอ.สนผ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุม ADMM-Plus ครั้งที่ 6 โดยกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นกลไกการหารือด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศในระดับยุทธศาสตร์ ระหว่างอาเซียนและประเทศคู่เจรจา เพื่อเป็นการส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันให้มากขึ้นไปอีก และเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงโดยเฉพาะอาเซียนกับประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคทั้ง 8 ประเทศ โดยประเทศคู่เจรจาที่เป็นประเทศมหาอำนาจในกรอบ ADMM-Plus ทั้ง 8 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และสาธารณรัฐเกาหลี การประชุม ADMM-Plus ปีนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 แต่เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งกว่าจะมาถึงครั้งนี้ได้ พล.อ.รักศักดิ์อธิบายว่า ต้องมองย้อนกลับไปว่าอาเซียนก่อตั้งมาถึงปีนี้ เป็นเวลา 52 ปีแล้ว มีวิวัฒนาการผ่านสถานการณ์ต่างๆ การประชุม ADMM-Plus ก็เช่นกัน เริ่มจากการพูดคุยกัน แล้วเป็นความเห็นร่วมกันและตรงกัน ว่าอยากเพิ่มผู้เล่นนอกภูมิภาคเข้ามา เป็นประเทศมหาอำนาจ และจากนั้นมีการทำงานต่อเนื่องกันมา จนมีประเทศคู่เจรจาที่เป็นมหาอำนาจเข้ามาร่วม 8 ประเทศตามที่กล่าว

Advertisement
ภาพจากสำนักข่าว AP

กิจกรรมสำคัญของ ADMM-Plus สมาชิกทั้งหมด 18 ประเทศ (อาเซียน 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจา 8 ประเทศ) ตกลงร่วมมือกันเสริมสร้างความมั่นคงของภูมิภาค ผ่านคณะทำงาน 7 ด้าน ได้แก่ 1.คณะทำงานการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ 2.ด้านควมมั่นคงทางทะเล 3.ด้านแพทย์ทหาร 4.ด้านการต่อต้านการก่อการร้าย 5.ด้านปฏิบัติการรักษาสันติภาพ 6.ด้านปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม 7.ด้านความมั่นคงไซเบอร์

“…ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ร่วมกับรัสเซียจนสามารถจัดตั้งแพทย์ทหารอาเซียนได้สำเร็จ จนเข้าไปอยู่ในกฎบัตรของอาเซียน และได้ร่วมกับจีนในการด้านการต่อต้านการก่อการร้าย สำหรับปีนี้ไทยเราเป็นประธานร่วมกับสหรัฐอเมริกา ทำการฝึกรบร่วมกับอาเซียน ซึ่งได้สำเร็จเสร็จสิ้นไปเรียบร้อยแล้ว การฝึกหรือซ้อมรบนี้มีประโยชน์มากจริงๆ อย่าไปมองว่าเป็นเรื่องของการสู้รบทำสงคราม ซึ่งไม่ใช่ แต่เป็นการซ้อมเพื่อบรรเทาสาธารณภัย การกู้ภัยพิบัติต่างๆ เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในประเทศสมาชิก ยกตัวอย่างการเกิดภัยพิบัติไต้ฝุ่นในประเทศอาเซียน จะช่วยเหลือกันอย่างไร เป็นต้น หรือเกิดภัยพิบัติทางทะเลจะต้องเข้าไปช่วยทำอะไรบ้าง..” พล.อ.รักศักดิ์กล่าว

บรรดาผู้นำกระทรวงกลาโหมประเทศต่างๆ

การประชุมครั้งนี้ จะมีการลงนามในแถลงการณ์ร่วมกันของรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนทั้ง 18 ประเทศ ว่าด้วยการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความมั่นคงที่ยั่งยืน เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจ และเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนในภูมิภาค จะมีการรับรองแถลงการณ์ร่วมในห้วงการประชุม นอกจากนั้น ยังมีการประเมินผลการดำเนินงานของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทั้ง 7 คณะ ซึ่งสมาชิกให้ความเห็นชอบให้คงการดำเนินงานต่อไป เพราะการทำงานของทั้ง 7 คณะ มีความจำเป็นต่อการเสริมสร้างความร่ววมือให้เกิดความเข้มแข็งและสอดคล้องกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงในปัจจุบัน และยังพูดถึงการจับคู่เป็นประธานร่วมในคณะทำงานในวงรอบต่อไป คือระหว่างเดือนเมษายน 2563 ถึง เดือนเมษายน 2566 ทั้งหมดเตรียมเอกสารที่จะนำเข้าสู่การประชุมในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้

Advertisement

สำหรับประเทศไทย นอกจากจะทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพการประชุมแล้ว ยังได้เตรียมเสนอวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุม และนำเสนอแนวคิดอีก 2 ฉบับ คือแนวคิดฝ่ายทหารอาเซียนกับการบริหารจัดการแนวชายแดนได้อย่างไร และอีกฉบับเป็นเรื่อง IUUZ (ไอยูยู) ทั้งสองฉบับนี้เป็นการอยู่นอกกรอบการใช้กำลัง การร่วมรบ แต่เป็นเรื่องของฝ่ายทหารอาเซียน ที่เข้าไปช่วยเหลืออีกสองประชาคม คือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เป็นการเข้าไปช่วยเพื่อให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยของประชาชน และให้เกิดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางทะเล สุดท้ายแล้วก็เพื่อควมมั่นคงอย่างยั่งยืนของอาเซียนตามวัตถุประสงค์

พล.อ.รักศักดิ์ โรจน์พิมพ์พันธุ์

อย่างไรก็ตาม พล.อ.รักศักดิ์กล่าวว่า ในระหว่างการประชุม หากประเทศไหนหรือใครมีข้อเสนอ ข้อคิดอะไร สามารถนำเสนอได้ ส่วนไทยนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ก็จะเป็นการแสดงวิสัยทัศน์มากกว่า สำหรับข้อเสนอหรือแนวคิดในการประชุมครั้งนี้ จะได้นำไปพิจารณาหรือทำในปีต่อไป (2020) โดย ประเทศเวียดนาม เป็นเจ้าภาพประชุมอาเซียนประเทศต่อไป

สำหรับการประชุม ADMM-Plusครั้งที่ 6 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2562 โดยมีกิจกรรมสำคัญ ดังนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประเทศต่างๆ เริ่มทยอยเดินทางมาตั้งแต่ 16 พฤศจิกายน 2562 และเริ่มการหารือทวิภาคี วันที่ 17 พฤศจิกายน 2562 เป็นการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียน อย่างไม่เป็นทางการ (ADMM Retreat) การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียน +1 อย่างไม่เป็นทางการ (ADMM+1 Informal Meeting) ส่วนวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 เป็นพิธีเปิดการประชุม ADMM-Plus ครั้งที่ 6 รวมทั้งพิธีการส่งมอบการเป็นประธานการประชุม ADMM ให้กับกระทรวงกลาโหมประเทศเวียดนาม และการเปิดงาน Defense & Security 2019 ที่เมืองทองธานี

รัฐมนตรีกลาโหมเวียดนาม

“ในกลุ่มประเทศอาเซียน มีประชากร 650 ล้านคน ถือว่าเป็นจำนวนที่มากพอสมควร ซึ่งทั้ง 650 ล้านคนอยู่ในภูมิภาคอาเซียน และอาเซียนยังเป็นศูนย์กลางในเรื่องการเดินทาง การค้าขาย เป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก ฉะนั้น อาเซียนจึงมีความสำคัญอย่างมาก และยิ่งเมื่อไปรวมตัวเลขประชากรกับประเทศคู่เจรจาทั้ง 8 ประเทศแล้ว จำนวนประชากรจะมีถึง 4000 ล้านคน ถ้ามองไปถึงกำลังทางทหารทั้ง 18 ประเทศ (10 ประเทศอาเซียน และ 8 ประเทศคู่เจรจา) ยุทโธปกรณ์ทั้งหมดแล้ว อำนาจทางการรบมีถึง 90% ของโลก ดังนั้น ลองคิดดูว่าอำนาจทางการรบ 90% ของโลก มาอยู่ที่ ADMM-Plus หากเกิดความร่วมมือกันอย่างจริงจัง เป็นรูปธรรม จะสามารถสร้างเสถียรภาพให้กับภูมิภาคได้อย่างยั่งยืน ซึ่งไม่เฉพาะแค่ภูมิภาคอาเซียนเท่านั้น แต่เป็นการสร้างเสถียรภาพให้กับโลกเลยทีเดียว..” พล.อ.รักศักดิ์กล่าวสรุปปิดท้าย

 


 

บรรยากาศการประชุมเมื่อต้นปี 2019

การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน
(ASEAN Defence Ministers Meeting : ADMM)

เป็นการประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือความร่วมมือด้านความมั่นคงและให้การรับรองเอกสารความร่วมมือในกรอบ-ADMM รวมทั้งเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน กับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ADMM-Plus) สำหรับการประชุม ADMM ถือเป็นเวทีหารือระดับสูงสุด ระหว่างกระทรวงกลาโหมของประเทศสมาชิกอาเซียน ภายใต้ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา

ประเทศไทย ในฐานะประเทศเจ้าภาพการประชุม ได้เสนอแนวความคิดในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านความมั่นคง ระหว่างกระทรวงกลาโหมอาเซียน ในปี 2562 ภายใต้แนวความคิด “ความมั่นคงที่ยั่งยืน” ซึ่งมุ่งเน้นการเสริมสร้างประสิทธิภาพ ความร่วมมือต่างๆ ให้เกิดความต่อเนื่อง เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม และสร้างความมั่นคง ปลอดภัย เพื่อให้การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันอย่างยั่งยืนของทุกประเทศในภูมิภาค โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมทั้งได้เสนอความริเริ่มของความร่วมมือด้านความมั่นคง ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมฯ ได้แก่ การประเมินผลความร่วมมือต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น บทบาทของฝ่ายทหารอาเซียนในการสนับสนุนการบริหารจัดการชายแดน เพื่อรับมือกับภัยคุกคามข้ามแดน และบทบาทของฝ่ายทหารในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ไร้การรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing : IUU Fishing)


 

นิทรรศการ Defense & Security 2019
อุปกรณ์ป้องกันประเทศและรักษาความปลอดภัย

เป็นการจัด งานแสดงยุทโธปกรณ์ป้องกันประเทศและรักษาความปลอดภัย จะมีขึ้นในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 ที่เมืองทองธานี เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ต้องการให้นำยุทโธปกรณ์ทางทหารที่หน่วยงานกลาโหมไทย วิจัยและพัฒนาขึ้นมาจัดแสดง พร้อมทั้งอุปกรณ์และยุทโธปกรณ์จากภาคเอกชนไทย เพื่อให้ผู้นำแต่ละประเทศที่มาประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนได้ชม และยังเปิดโอกาสให้ประเทศที่สนใจเข้าร่วมศึกษาวิจัยพัฒนาร่วมกันจนสามารถนำไปสู่การค้าขายได้ในอนาคต เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กลาโหมไทย เป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีกลาโหม ที่ให้ไว้ว่าในอนาคตกระทรวงกลาโหมจะต้องพึ่งตนเองได้

สำหรับการจัดแสดงมี 2 ภาค คือ การต่อต้านการก่อการร้าย และการบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งหมด 400 บูธ จาก 60 ประเทศ พบกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ของบริษัทผู้ผลิตจากทั่วโลก ยุทโธปกรณ์ที่วิจัยและพัฒนาเอง และร่วมกับบริษัทเอกชน จากหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหม และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI)

อาทิ ปืนใหญ่หนักกระสุนวิถีราบ 155 มม., เครื่องยิงลูกระเบิด 120 มม., ระบบสั่งการทางทหารจากสมาร์ทโฟนผ่านวิทยุสื่อสาร, โครงการพัฒนาปืนไรเฟิลซุ่มยิง ขนาด .338 มม, โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาปืนกลมือ, หุ่นยนต์กู้ภัยและสำรวจ Rescue and Survey Robot, โครงการวิจัยและพัฒนาอากาศยานไร้นักบิน แบบนารายณ์ 3.0, โครงการวิจัยและพัฒนาทุ่นระเบิด ทอดประจำที่ปราบเรือดำน้ำแบบล่องหน, โครงการปรับปรุงเครื่องบินขับไล่แบบ F-5 super tigris, รถปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร, ระบบอากาศยานไร้คนขับ, ยานเกราะล้อยางสะเทินน้ำสะเทินบก, เครื่องฝึกจำลองยุทธของพลขับรถถัง ผลงานเหล่านี้นำมาจัดแสดง ที่บูธของกระทรวงกลาโหม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image