ผนึกศรัทธา 5 แผ่นดิน ‘สุภชัย วีระภุชงค์’ เปิดเบื้องหลัง ‘ธรรมยาตรา’ สำเร็จงดงาม

โครงการธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 2 เพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ บนเส้นทางยาวไกลถึง 5 ประเทศ ตั้งแต่พิธีเปิดโครงการ ณ วัดพระธาตุผาเงา จ.เชียงราย เข้าสู่จังหวัดท่าขี้เหล็ก มุ่งหน้าเชียงตุง รัฐฉาน เมียนมา ต่อไปยังหลวงพระบาง และนครเวียงจันทน์ สปป.ลาว แล้วเข้าสู่จังหวัดเดียนเบียน ประเทศเวียดนาม ก่อนจะสิ้นสุดลงที่เมืองเสียมราฐ กัมพูชา โดยปิดฉากอย่างยิ่งใหญ่หน้าปราสาทนครวัด มรดกวัฒนธรรมสำคัญของโลก

จุดมุ่งหมายที่เล่ามาข้างต้นไม่ใช่เส้นทางที่สะดวกสบาย แต่แรงศรัทธาที่เต็มเปี่ยมทั้งพระสงฆ์ ฆราวาส ผลักดันให้การเดินทางนับร้อยนับพันกิโลเมตรเป็นไปอย่างราบรื่น และสุขใจ เมื่อถึงที่หมายแต่ละครั้ง รอยยิ้มอย่างชื่นบานก็เกิดขึ้นบนใบหน้า ผู้ร่วมยาตราต่างหายเหนื่อยโดยอัศจรรย์

ภาพเบื้องหน้างดงามสมความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ภาพเบื้องหลัง ก็งดงามไม่ต่างกัน

สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการชมรมโพธิคยา คือหัวเรือใหญ่ในภารกิจสำคัญครั้งนี้

Advertisement

“โครงการธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขงครั้งนี้ได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างดี ได้รับความเมตตาจากประธานสงฆ์และสมเด็จพระสังฆราชทั้ง 5 แผ่นดิน รวมถึงระดับผู้นำของทั้ง 5 ประเทศ สำหรับประเทศไทยได้รับความเมตตาจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โปรดให้สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดยานนาวา เป็นประธาน นอกจากนั้น ยังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย รวมถึงเจ้าอาวาสวัดพระธาตุผาเงา อีกทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย คุณเกษม มูลจันทร์ ประธานกรรมการส่งเสริมกิจการ มรภ.เชียงราย และท่านอธิการบดี ก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ส่วนภาครัฐของไทยได้รับความเมตตาจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านรับเป็นประธานโดยส่งตัวแทนมา ผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ อาทิ อุดรธานี นครพนม สกลนคร ก็ให้ความร่วมมือ” สุภชัยกล่าว

จากนั้น เล่าถึงการประสานความร่วมมือกับอีก 4 แผ่นดิน ได้แก่ เมียนมา, ลาว, เวียดนาม และกัมพูชา ทั้งในส่วนของภาครัฐ องค์กรสงฆ์และภาคประชาชน ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการพูดคุยถึงโครงการธรรมยาตราครั้งที่ 3 ในอีก 2 ปีข้างหน้าแล้ว

Advertisement

“เราได้รับความร่วมมือจากประชาชนที่ประเทศเมียนมา ท่านคินฉ่วย ประธานสมาพันธ์พุทธเถรวาทแห่งสหภาพเมียนมา มุขมนตรีรัฐฉานที่ให้การต้อนรับ รวมทั้งหลวงปู่แสงหล้า อีก 2 ปีข้างหน้าถ้าไม่มีอุปสรรคอะไร ธรรมยาตราครั้งที่ 3 น่าจะเกิดขึ้นจะมีพิธีเปิดที่เมืองย่างกุ้ง เมียนมา แต่เป็นเส้นทางใหม่ เบื้องต้นได้คุยกับท่านคินฉ่วยว่าจะเดินทางเข้าท่าขี้เหล็ก สู่ย่างกุ้ง ทำพิธีทางศาสนาที่เจดีย์ชเวดากอง แล้วเดินทางต่อไปยังอาณาจักรพุกามซึ่งมีพระเจดีย์ยิ่งใหญ่ แล้วกลับมาทางแม่สอด จังหวัดตาก จากนั้นเดินทางไปกราบพระพุทธชินราช ที่จังหวัดพิษณุโลก ไปมุกดาหาร ข้ามด่านไป สปป.ลาว สู่แขวงสะหวันนะเขต ใช้ถนนหมายเลข 9 เข้าสู่เมืองเว้ เมืองหลวงเก่าของประเทศเวียดนาม ซึ่งมีวัดพุทธเถรวาท จากนั้นจึงเข้าสู่กัมพูชา” เลขาธิการชมรมโพธิคยาบอกถึงเส้นทางอย่างเห็นภาพ

ถ้อยความข้างต้น สะท้อนถึงแรงศรัทธาที่อยู่ในจิตใจของผู้จัดทำโครงการธรรมยาตราฯและคณะของโพธิคยาวิชชาลัยที่วางแผน “เส้นทางใหม่” ของโครงการในครั้งหน้าหลังปิดฉากธรรมยาตราครั้งนี้เพียง 1 วันเท่านั้น

กลับมาที่เรื่องราวของธรรมยาตราที่เพิ่งผ่านพ้นไป สุภชัย บอกว่า “สื่อออนไลน์” มีผลอย่างมากในการเผยแพร่ข่าวสาร ภาพกิจกรรมที่งดงาม สะท้อนความมุ่งมั่นตั้งใจของชาวพุทธถูก “แชร์” และส่งต่อในสังคมโซเชียล ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี

“สื่อออนไลน์มีบทบาทต่อการเผยแพร่ข่าวของชมรมเราเป็นอย่างมาก และทุกคนได้ทราบข่าวก็ร่วมอนุโมทนาบุญกัน ชาวพุทธทั้ง 5 แผ่นดินอยากให้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ซึ่งสิ่งนี้สามารถพิสูจน์ได้จากการที่ประชาชนเป็นหมื่นๆ มาร่วมตักบาตร อย่างที่วัดไพรพัฒนา จังหวัดศรีสะเกษ ชาวบ้านออกมาตั้งแถวรอรับพระสงฆ์ มีประเพณีล้างเท้าและเช็ดเท้าพระสงฆ์ก่อนเข้าทำพิธีทางศาสนา ซึ่งถือเป็นแห่งเดียวในโลกก็ว่าได้ ส่วนในเวียดนาม ชาวบ้านเอ่ยปากว่า ไม่เคยใส่บาตรพระสงฆ์ที่ห่มจีวรแบบเถรวาทมาก่อนเลย ในเมียนมา เห็นภาพชัดเจนที่รัฐฉาน ซึ่งประชาชนมากมายมาใส่บาตรกันนานถึง 4 ชั่วโมง สำหรับใน สปป.ลาว ธรรมยาตราถือเป็นกิจกรรมครั้งประวัติศาสตร์

ตลอด 18 วันที่ผ่านมาของโครงการธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขง เป็น 18 วันของความสุข 18 วันของความเชื่อ 18 วันของความหวัง โดยมุ่งหวังให้พุทธศาสนิกชนนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งตลอด 18 วันที่ผ่านมา ได้เห็นถึงพลังศรัทธาของพุทธศาสนิกชนใน 5 ประเทศลุ่มน้ำโขง และถือว่าโครงการธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ประสบความสำเร็จในการนำพุทธศาสนา เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ และเป็นประวัติศาสตร์ ที่ทั้ง 5 ประเทศลุ่มน้ำโขง ได้ร่วมกันจาริกเผยแผ่พุทธศาสนา” สุภชัยกล่าว พร้อมเน้นย้ำว่า

“แม่น้ำโขง กั้นเพียงเขตแดน แต่พลังศรัทธาของพุทธศาสนิกชน 5 ประเทศตั้งมั่น การจัดงานธรรมยาตรา 5 แผ่นดิน เป็นงานในเชิงสัญลักษณ์ เสาธรรมจักร เป็นการหมุนกงล้อธรรมครั้งยิ่งใหญ่ ธงฉัพพรรณรังสี ธงธรรมยาตรา ได้ถูกปักลงในประเทศลุ่มน้ำโขง เพื่อให้พุทธศาสนาปักหลักมั่นคงในดินแดนศักดิ์สิทธิ์สืบต่อไปอีก 2,500 ปี”


 

พระทัน ตะวัน ภิกษุเวียดนาม

18 วัน ภารกิจเข็นกงล้อแห่งธรรม ลุ่มน้ำโขง
ตามรอยพระอริยสงฆ์ ครั้งที่ 2

“ธรรมยาตรา 5 แผ่นดินลุ่มน้ำโขง ตามรอยพระอริยสงฆ์” ครั้งที่ 2 จัดขึ้นด้วยความร่วมใจของสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย ชมรมโพธิคยา และมูลนิธิวีระภุชงค์

นับแต่ พระมหาผ่อง สะมาเลิก อดีตประธานองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว รูปที่ 4 มีแนวคิดสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว กระทั่งกลายเป็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัยครั้งสำคัญ เป็นเวลา 18 วันเต็ม นับแต่ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในช่วงสายของวันอังคารที่ 15 ตุลาคม ณ โรงแรมเวียงอินทร์ อ.เมืองเชียงราย ก่อนจัดพิธีบวงสรวงพระบรมธาตุพุทธนิมิตเจดีย์ พระธาตุผาเงา จ.เชียงราย

เริ่มเดินทางจาก “เชียงราย” ถึง “เชียงตุง” รัฐฉาน สืบสานพุทธศาสน์ให้ยืนยาว ใส่บาตร 2 ฝั่งทั้งเขตแดนสยาม และเมียนมา กราบสักการะ “พระมหามัยมุนี” เมืองเชียงตุง จากนั้นย้อนกลับสู่ประเทศไทย มุ่งหน้า “วัดพระแก้ว” เมืองเชียงของ จ.เชียงราย ปลูกหน่อพระศรีมหาโพธิ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

รุ่งขึ้น ยาตราต่อไปยังแขวง “บ่อแก้ว” สปป.ลาว ตักบาตร ณ วัดพระธาตุชัยมงคลรัตนมิ่งเมือง เมืองไซ (แขวงอุดมไซ) เพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธลุ่มน้ำโขง 17 ชนเผ่าลาวโปรยดอกไม้ ถวายน้ำปานะ

ถัดไป เคลื่อนขบวนเข้าสู่เวียดนาม ผ่านด่านชายแดนเมืองพงสาลีของ สปป.ลาวกับเมืองเดียนเบียนฟู โดยมีองค์กรพุทธแห่งเวียดนามมาต้อนรับ ท่ามกลางวัฒนธรรมงดงามของชาว “ไทดำ” กลุ่มชาติพันธุ์สำคัญในเวียดนามที่นับถือศาสนาพุทธ

กระทั่งมาถึงแผ่นดินสุดท้าย ปิดฉากลงแล้วอย่างงดงามตรึงใจ ณ ปราสาทนครวัด กรุงเสียมราฐ กัมพูชา

พระทัน ตะวัน ภิกษุเวียดนาม หนึ่งในตัวแทนเดินทางร่วมคณะ เปิดเผยความรู้สึกว่า ประเทศในลุ่มน้ำโขง พูดภาษาไม่เหมือนกันแต่จิตใจเดียวกัน โครงการนี้ถือเป็นกิจกรรมที่ดีงามมากๆ และนี่เป็นครั้งแรกที่ได้เข้าร่วม

“ในประเทศเวียดนามยังไม่เคยมีงานแบบนี้ อาตมาได้เห็นประชาชนออกมาใส่บาตรมากมายจริงๆ นี่เป็นครั้งแรกที่ได้เดินบิณฑบาตบนเส้นทางที่ยาวมาก”

คือหนึ่งเสียงจากภิกษุผู้ร่วมกิจกรรมอันดีงามที่จะสืบสานต่อไปในอนาคตเพื่อพุทธศาสนาที่หยั่งรากในดินแดนแห่งนี้อย่างลึกซึ้งและยาวนาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image