จากแล็บสู่นวัตกรรม ‘ถุงพลาสติกสลายตัวได้’ ประเดิมใช้จริง ‘กาชาดสีเขียว 2562’

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาขยะทั้งบนบกและในทะเลกลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกตื่นตัวกันมาก โดยเฉพาะขยะพลาสติก ไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 6 ของประเทศที่ทิ้งพลาสติกสู่ท้องทะเลมากที่สุดในโลก หลักๆ แล้ว มาจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ที่มีอัตราส่วนสูงถึง ร้อยละ 40 ของขยะพลาสติกทั้งหมด

“เมื่อขยะหลุดรอดออกไปสู่สิ่งแวดล้อม ภาครัฐและภาคส่วนต่างๆ จึงได้ร่วมจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก 20 ปี และกำหนดการลดและเลิกใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง จำนวน 7 ชนิด ที่พบมากในทะเลของประเทศไทยและก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม” คือคำกล่าวของ ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. ที่เน้นย้ำว่าภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ ในโอกาสการจัดงานกาชาดปีนี้ จึงมุ่งเป้าเป็นต้นแบบงาน “การกุศล สีเขียว” เพื่อลดขยะ งดใช้โฟม ลดพลาสติก

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ เอ็มเทค สวทช. บอกว่า กระบวนการจัดการขยะมีความจำเป็นต้องใช้ถุงพลาสติกเพื่อรวบรวมและขนส่งขยะ โดยเฉพาะขยะอินทรีย์เช่น ขยะเศษอาหาร ไม่ให้ปนเปื้อนกับขยะที่รีไซเคิลได้และขยะอื่นๆ และเพื่อลดผล กระทบต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานเก็บขยะ เอ็มเทค สวทช. จึงได้ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBiA) ผลิต “ถุงพลาสติกสลายตัวได้สำหรับขยะอินทรีย์” ที่เป็นผลงานวิจัยของเอ็มเทค สวทช. ร่วมกับ บริษัท เอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด พัฒนาสูตรพลาสติกชีวภาพขึ้นโดยใช้วัตถุดิบที่มีในประเทศไทยคือ แป้งมันสำปะหลัง นำมาแปรรูปเป็นพลาสติกและทำการผสมสูตรเพื่อเพิ่มคุณสมบัติทางวิศวกรรมให้เหมาะสมกับการนำไปขึ้นรูปเป็นฟิล์มบาง

จุลเทพ ขจรไชยกูล

เมื่อบวกกับความร่วมมือจากภาคีอุตสาหกรรมพลาสติก ที่สนับสนุนกระบวนการเป่าขึ้นรูปถุงพลาสติกสลายตัวได้ สำหรับใช้แยกขยะอินทรีย์ จึงพร้อมประเดิมใช้ครั้งแรกที่ “งานกาชาด 2562” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-24 พฤศจิกายนนี้ ที่สวนลุมพินี

Advertisement

ดร.นพดล เกิดดอนแฝก นักวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีพลาสติก กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง เอ็มเทค สวทช. เปิดเผยว่า จุดเด่นของถุงพลาสติกย่อยสลายได้ คือ ส่วนผสมจากวัตถุดิบธรรมชาติ อย่าง แป้งมันสำปะหลัง ที่บริษัท เอสเอ็มเอสฯ นำมันสำปะหลังของเกษตรกรไทย มาใช้เป็นวัตถุดิบหลัก

“ทีมวิจัยมีการออกแบบกระบวนการผสมเทคนิค โดยหลอมนวดเนื้อวัตถุดิบให้เข้ากันได้ดี ผลิตออกมาเป็นเม็ดคอมพาวด์ หรือเม็ดพลาสติกผสมที่มีความเหนียว ยืดหยุ่น และแข็งแรง สามารถเป่าขึ้นรูปได้ง่ายด้วยเครื่องจักร มี 2 ขนาด คือ ถุงหน้ากว้าง 18 นิ้ว สำหรับใช้ตามร้านขายอาหาร และถุงหน้ากว้าง 30 นิ้ว สำหรับวางตามจุดคัดแยกกว่า 40 จุดทั่วงานกาชาด โดยมีทีมงานจิตอาสาคอยให้ข้อมูลและแนะนำวิธีการคัดแยกขยะที่ถูกต้องก่อนที่ทางกรุงเทพมหานครจะนำไปบริหารจัดการขยะในโรงงานขยะต่อไป”

“ทีมวิจัยเรามีความคาดหวังว่า ถุงขยะย่อยสลายได้นี้จะถูกนำไปใช้งานจริงและจะช่วยพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บขยะ สามารถจัดการขยะเปียกได้ง่ายขึ้น ปลอดภัย สามารถนำขยะในถุงนี้ไปทิ้งในพื้นที่ (หมักขยะ หรือหมักปุ๋ย) ถึงแม้ในห้องแล็บจะรู้ว่าถุงนี้ย่อยสลาย แต่เรายังมีทีมวิจัยที่จะไปติดตามการย่อยสลาย ขยะและถุงขยะยังจะถูกติดตามไปอีก 3 เดือนในสภาวะจริง” ดร.นพดลกล่าว

Advertisement

ด้าน ดร.วีรวัฒน์ เลิศวนวัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในฐานะผู้แทนสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBiA) เปิดเผยว่า ในฐานะที่บริษัท เอสเอ็มเอสฯ คือผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังดัดแปลงสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร กระดาษ กาว สิ่งทอ และอีกหลากหลายอุตสาหกรรม โดยใช้วัตถุดิบจากมันสำปะหลังซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีอยู่มากในประเทศไทย ผสมผสานกับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่าให้กับมันสำปะหลังเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ให้กับชาวไร่ของไทย ปัจจุบันมีการใช้พลาสติกชีวภาพเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ของการใช้พลาสติกทั้งหมด และอุปสรรคในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพที่สำคัญคือ ปัญหาด้านต้นทุนการผลิต ทำให้การนำมาประยุกต์ใช้จริงเป็นไปได้ยาก หากบริษัท สามารถช่วยลดต้นทุนส่วนนี้ได้จะเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป

“การคิดค้นพัฒนาแป้งมันสำปะหลังให้อยู่ในรูปของเม็ดพลาสติก TAPIOPLAST ซึ่งมีความเข้ากันได้กับเม็ดพลาสติกย่อยสลาย จึงสามารถนำมาผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่มีคุณภาพดีและย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เกิดเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปุ๋ยในดินที่เป็นประโยชน์กับพืช ดังนั้น การใช้ TAPIOPLAST เป็นส่วนผสมในการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายนอกจากทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันด้านราคาได้มากขึ้นแล้ว ยังเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย” ดร.วีรวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image