‘ปฐม ออร์แกนิก’ เชื่อมห่วงโซ่อาหาร สานต่อชีวิต เรียนรู้เกษตรอินทรีย์

คุณกล้าเปลี่ยนแปลงไหม?

คือคำถามชวนขบ จากหนังสั้นเรื่อง Change

คือ 10 นาที ที่สะท้อนเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของสวนสามพราน ไม่เฉพาะการดำเนินงาน แต่หมายรวมถึงแนวคิด

นับแต่ปี พ.ศ.2505 แหล่งนันทนาการใกล้กรุงเทพฯ แห่งนี้ คือ สถานเรียนรู้ เป็นครูถ่ายทอดวิถีความเป็นไทย ผ่านกิจกรรมในหมู่บ้านไทย และโรงละคร

Advertisement

หลังเป็นผู้นำร่วมขับเคลื่อนระบบอาหารยั่งยืนภายใต้สามพรานโมเดล นับแต่ปี 2554 มาวันนี้ขวบปีที่ 58 สวนสามพรานเปิดบ้านเผยก้าวใหม่ในการเป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจ ให้การเรียนรู้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงผ่านวิถีอินทรีย์ ผ่านการท่องเที่ยวอย่างมีจิตสำนึกและเกื้อหนุนชุมชน

เพื่อสร้างระบบอาหารยั่งยืน สู่เป้าหมายการมีชีวิตที่สมดุล

Advertisement

แม้จะมีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ แต่ยังคงไว้ซึ่งจุดเด่น คือ ความเป็นธรรมชาติริมแม่น้ำท่าจีนที่ห้อมล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่ พันธุ์ไม้หายาก ที่พัก ห้องประชุม ห้องอาหาร ลานกิจกรรม และมุมสวน

อรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการสวนสามพราน อรรจน์ ยุวบูรณ์ รองกรรมการผู้จัดการ และ อนัฆ นวราช ผู้จัดการทั่วไป ต้อนรับขับสู้ในวันเปิดบ้าน เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

อรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการสวนสามพราน เล่าว่า ในส่วนกิจกรรม มีการออกแบบฟาร์ม และฐานสาธิตที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางเรียนรู้อาหารอินทรีย์ครบวงจร ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้วิถีการกินอยู่แบบไทย ปัจจัยการผลิตที่ทำเอง ไปจนถึงการผลิตอาหารและขนมไทยที่เน้นใช้วัตถุดิบอินทรีย์เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค พร้อมการจัดการขยะเพื่อหมุนเวียนไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

จากซ้าย อนัฆ นวราช, อรุษ นวราช, อรรจน์ ยุวบูรณ์

“เราอยากให้ทุกคนที่เข้ามาได้แรงบันดาลใจใหม่ๆ จากการสัมผัสเรื่องราวของสวนสามพราน ซึ่งมีการขับเคลื่อนสามพรานโมเดลเชื่อมโยงห่วงโซ่อาหาร ทั้งเกษตรกรอินทรีย์ ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค เรายังมีมูลนิธิสังคมสุขใจ และสามพรานโมเดล อะคาเดมี ที่ยินดีถ่ายทอดองค์ความรู้ และเชื่อมโยงให้แต่ละภาคส่วนได้มาเจอกัน รวมถึงเปิดให้ทุกคนได้เข้ามาร่วมขับเคลื่อนระบบอาหารยั่งยืน” อรุษระบุ

หากเดินเข้ามาภายใน จะเจอโซนกิจกรรมที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก “ปฐม ออร์แกนิก วิลเลจ” เดิมทีเป็นศูนย์แสดงวัฒนธรรมไทย (หมู่บ้านไทย) ที่แปลงโฉมมาเป็นหมู่บ้านแปรรูปสินค้าอินทรีย์ ตามวิถีชีวิตแบบไทย โดยยึดหลักปัจจัย 4 ผ่านการทำกิจกรรมตามเส้นทางวัตถุดิบ

บรรยากาศมุมสูงมองเห็นแม่น้ำท่าจีน

กิจกรรมกว่า 12 ฐาน เพื่อเรียนรู้ระบบอาหาร ศิลปหัตถกรรมไทย ตั้งแต่การทำปัจจัยการผลิต การผลิต การแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์พร้อมจำหน่าย

ขึ้นเรือข้ามฟาก เขยิบเข้าใกล้ในบรรยากาศฟาร์มอินทรีย์ ที่พัฒนาสวนผลไม้เก่า 30 ไร่ ริมแม่น้ำท่าจีน เป็นฟาร์ม ในนาม ปฐม ออร์แกนิก ที่ถือเป็นต้นแบบแห่งการเรียนรู้วิถีอินทรีย์อย่างครบวงจร

ด้านในไม่มีขวดน้ำพลาสติก ทุกคนจะได้กระเป๋าผ้าพร้อมขันเงินสำหรับกดน้ำดื่มระหว่างทางเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

โดยผลผลิตจาก “ปฐม ออร์แกนิก ฟาร์ม” ทั้งผักผลไม้ ประมาณ 1-2 ตัน/เดือน

คือ วัตถุดิบอินทรีย์จากแปลงสู่ห้องอาหาร ใบรับออร์แกนิก ตามมาตรฐาน IFOAM มีแนวกันชน หรือแนวรั้วในการกรองสารเคมีเข้ามาในฟาร์ม และใช้จากแม่น้ำท่าจีน โดยผ่านบ่อพักน้ำ 1 เดือน ก่อนน้ำเหล่านั้นมาใช้ในฟาร์มได้

ไม่เพียงอาหาร เครื่องปรุงยังออร์แกนิกด้วย

กิจกรรมเริ่มที่ เบสิก ออร์แกนิก ฟาร์มมิ่ง หรือการทำฟาร์มเบื้องต้น ทั้งคัดแยกเมล็ดพันธุ์ การลองปลูก โดยใช้วัสดุธรรมชาติยังมีกิจกรรมตามฤดูกาล ทั้งการคั่วชาเตาถ่าน ที่เริ่มจากการหั่นใบบัว ใบเตย กิจกรรมตามฤดูกาลจะหมุนเวียนไปตามวัตถุดิบที่ได้ เช่น บางเดือนทำไข่เค็มพอกโคลน เดือนที่ต้นนุ่นออกจะสอนปักนุ่น ทำตุ๊กตาพวงกุญแจ ไปจนถึงอีกหนึ่งกิจกรรมไฮไลต์ คือ สไลเดอร์โคลน กลางทุ่ง

พศิน ทองบ่อ

พศิน ทองบ่อ หัวหน้าปฐม ออร์แกนิก ฟาร์ม อาสาพาทำกิจกรรม

“การทำเกษตรอินทรีย์ รู้แล้วเอาไปปลูกขายก็ใช่ว่าจะเป็นอินทรีย์ ก่อนที่เราจะขายพืชผักอินทรีย์ได้ใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี แน่นอนว่าต้องมีใบรับรอง ไม่ใช่อยู่ดีๆ ปลูกผักมาขายแล้วบอกว่าเป็นอินทรีย์เราทำกันมาปาเข้าไป 10 กว่าปี มีการลองผิดลองถูก

“พืชผักที่ปลูกที่นี่จะส่งเข้าโรงแรมประมาณ 1-2 ตัน/เดือน และขายที่ตลาดสุขใจ, ร้านปฐม ทองหล่อ เราปลูกทั้งผักบุ้ง กวางตุ้ง ผักสวนครัว ผักสลัด กำลังเริ่มลงปลูก เพราะพื้นที่ค่อนข้างเป็นดินเหนียว ช่วงนี้อากาศเย็นขึ้น เราจะปลูกช่วงหน้าหนาว ซึ่งแน่นอนว่ายาฆ่าหญ้า สารเคมีต่างๆ เราไม่ได้ใช้” พศินระบุ ก่อนจะพาลงไปดูแปลงที่ปลูกจริง เก็บส่งจริง ว่าปลูกแบบไหน ดีไซน์แบบไหน ปุ๋ยหมักอย่างไร มีสารเคมีอะไรหรือไม่

ดินเหนียว ดินร่วน ทราย ถ่าน

มูลหมู มูลวัว มูลเป็ด มูลไส้เดือน ขุยมะพร้าว แกลบดำ ปุ๋ยใส่ใบไม้หมัก เรียงรายด้านหน้า ฐานการเรียนรู้ที่ 1 แสดงประเภทของดินและส่วนผสมของดินปลูก

พศินบอกว่า ดิน คือส่วนสำคัญที่สุดของการปลูก ใครมาที่นี่จะได้เรียนรู้ว่า ถ่าน สามารถปรุงกับดินได้

“ดินเหนียวผสมกับถ่าน มองดูเหมือนจะไม่เข้ากัน ถ้าเราทุบให้ละเอียดแน่นอนว่าอากาศจะเข้าไปในดินเหนียวได้ ส่วนดินทรายจะทำให้ดินเหนียวไม่เกาะกัน เมื่ออากาศเข้าไปได้ รากผักบุ้ง รากกวางตุ้ง ผักสลัด ผักเล็กผักน้อย ก็จะสามารถชอนไชเข้าไปได้ในดินเหนียวนี้”

พศินบอกว่า สิ่งที่หลายคนไม่รู้ คือ การทำเกษตรอินทรีย์มีมูลต้องห้าม

“บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามูลต้องห้ามคือมูลอะไร ไม่ใช่แค่เด็ก ผู้ใหญ่ก็ไม่รู้เช่นกัน บางคนยังคิดว่าสามารถใช้ได้ทุกมูล แต่ความจริงแล้ว มูลคน รวมทั้งสัตว์กินเนื้อทุกชนิด ไม่สามารถที่จะเอามาใช้กับพืชผักอินทรีย์ได้

“เมล็ดพันธุ์ที่คลุกยาก็เช่นกัน ไม่สามารถที่จะเอามาปลูกในพื้นที่อินทรีย์ได้ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ใช่อินทรีย์แท้

“เรื่องดินจึงสำคัญมาก ดินพวกนี้เวลาปรุงเสร็จ เราต้องการปลูกผักอะไรบ้าง ดินแต่ละชนิดเหมาะกับพืชแต่ละอย่าง แต่ดินเหนียวที่นี่เหมาะสำหรับปลูกข้าว ส้มโอ เพราะอุ้มน้ำได้ดี แต่คนเราจะกินแค่ 2 อย่างไม่ได้ พืชผักก็ต้องมีด้วย จึงต้องสาธิตให้ดูว่าเราสามารถทำเป็นดินร่วนซุยเพื่อสามารถปลูกพืชผักอื่นๆ ได้ ซึ่งทั้งหมดเป็นอินทรีย์”

พศินเน้นย้ำว่า มูลทุกอย่างต้องหมักก่อน ไม่สามารถเอาไปใส่ได้ทันที เพราะอย่างมูลหมู มีสิทธิที่จะมีเชื้อติดมาด้วย หรือเวลาที่ล้างคอกจะใช้คลอรีน หรือโซดาไฟล้างคอก เพื่อทำความสะอาดก่อนจะปล่อยหมูล็อตที่ 2 เข้ามา อาจะมีติดมูลสัตว์มาด้วย เป็นเหตุผลที่ว่าต้องหมักก่อนที่จะนำมาใส่แปลงอินทรีย์

นอกจากนี้ ผักอินทรีย์ไม่ใช่แค่ปุ๋ยหมัก เรื่องน้ำก็สำคัญ

“น้ำที่มาจากแม่น้ำท่าจีน หรือน้ำประปาจะต้องมีบ่อพักน้ำก่อนเพราะมีคลอรีน ซึ่งจะทำผักไม่สวยงาม ถ้ามีโอ่งมาพักน้ำไว้ก็จะช่วยได้”

เลี้ยวขวาข้ามแปลง ลงไปดูผักที่ปลูก เพื่อเรียนรู้การเตรียมดิน และตากหน้าดิน

พศินบอกว่า หน้าดินต้องแห้ง ต้องตากดิน เพราะไม่อย่างนั้นเมื่อนำมาปลูกผักจะไม่งาม โดยตากประมาณ 7-15 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ หากอยู่หน้าฝนอาจต้องใช้เวลานานกว่านั้น ต้องคอยกลับหน้าดินประมาณ 3-4 ครั้ง ก่อนจะปลูก โดยตัวปุ๋ยต้องใส่คู่กันไป

ถ้าเป็นผักบุ้งจะลงมูลหรือปุ๋ยหมักอยู่ที่ประมาณ 1 กิโลกรัม/ 1 ตร.ม.เท่านั้น ถ้าเป็นผักอย่างอื่นต้องเสริมปุ๋ยขึ้นไปอีก อย่างกวางตุ้ง 35 วัน ต้องเพิ่มธาตุอาหารหรือปุ๋ยหมัก เข้าไปอีก 1 กิโลกรัมด้วย วิธีการหว่านลงไป บางคนถามว่าใส่ครั้งเดียวแบบพวกเคมีได้หรือไม่ ตัวนี้มีความแตกต่าง ทำแบบเดียวกับเคมีไม่ได้ เราต้องค่อยๆ เสริมใส่ไปเรื่อยๆ

ส่วนผักสลัด ง่ายมาก 1.ต้องเพาะกล้า เพาะเมล็ด เหตุที่ต้องเพาะก่อนเพราะว่า ต้นนี้มีความอ่อนแอมาก

“บางคนอาจจะคิดว่าผักสลัดปลูกง่าย ปลูกวันไหนก็ได้ ความจริงแล้ว ผักเหล่านี้มีเวลาให้ปลูก ถ้าเป็นต้นขึ้นมาอยู่ประมาณ 20 วัน จากนั้นลงปลูก ต้องให้ห่างกัน 1 คืบ หรือ 25-30 ซม. เพื่อให้ต้นโตขึ้นมาเป็นพุ่ม ไม่เล็กหรือแคระแกร็น”

เกษตรกรเก็บผักสลัดน้ำ หรือ วอเตอร์เครส

พศินยังแนะอีกด้วยว่า ต้องปลูกสลัดลงดิน

“ผักไฮโดรโปนิกทุกวันนี้ที่เรากินกันอยู่เป็นอย่างไรบ้าง เป็นอินทรีย์หรือไม่ ตอนนี้ยังใช้เคมีกันอยู่ แต่ถ้าเราปลูกผักสลัดลงดินแบบนี้มั่นใจได้เลยว่าไม่มีเคมีแน่นอนเพราะดินที่ฟื้นขึ้นมาจากมูลสัตว์ใช้เวลาอย่างน้อยๆ 3 ปี จึงค่อยขายเป็นอินทรีย์ได้

“ถ้าเราใช้ปุ๋ยหมักบ่อยๆ ดินก็จะดีขึ้น แต่ถ้าเราใช้เคมี ดินจะเสื่อมไปเรื่อยๆ นี่คือผลดี เมื่อเราส่งถึงผู้บริโภค เชื่อได้เลยว่าคนที่กินจะไม่มีสารเคมีตกค้าง แม้แต่มูลที่เอามาใช้ยังมีการคัดว่ามูลไหนใช้ได้หรือไม่ได้”

“เรามีการคัดแยก ส่วนที่ปลูกได้จะปลูกเข้าไป การปลูกจะใช้ใบตอง เพราะลดถุงพลาสติก ส่วนที่เหลือจะทำเป็นปุ๋ยหมักทั้งหมด กากไม่ได้เอาไปทิ้งเปล่า วนกลับมาทำปุ๋ย บางคนอาจจะคิดอยู่ว่า พืชผักที่เราปลูกในแปลงอินทรีย์ ความจริงแล้วการปลูกพวกนี้จะไม่ปลูกอย่างเดียวทั้งหมด แต่จะจัดให้เป็นล็อกๆ ประมาณ 10 ตร.ม.ต่ออย่าง ผักบุ้ง 10 ตร.ม. ผักกาดขาว 10 ตร.ม. อีกด้านจะเป็นกวางตุ้งฮ่องเต้ เหตุที่ต้องปลูกเช่นนี้ เพราะเวลาเก็บเกี่ยวส่งเข้าที่โรงแรมจะใช้ครั้งเดียวไม่หมด หากเก็บครั้งเดียวเอาไปแช่ตู้เย็นทั้งหมด รสชาติจะเปลี่ยน แต่ถ้าเก็บจากแปลง ไปถึงสดๆ เสิร์ฟให้ผู้บริโภคกิน รสชาติจะมีความแตกต่าง

“ของเราส่งทุกวันไม่มีวันหยุด 5-10 กิโลกรัม ใช้เวลาเก็บ 2 ชม. เบ็ดเสร็จถึงสโตร์ และส่งไปที่ต่างๆ ในกรณีส่งไปร้านปฐมขายไม่หมด ตีกลับมาเราจะเอาไปเลี้ยงไส้เดือน ที่แข็งจะเอาไปหมักทำปุ๋ย

“เราใช้หยวกกล้วย บางทีใช้ผักตบชวา หั่นง่ายๆ เป็นแว่นก็ได้ ให้ละเอียด อีกส่วนคือ ‘กากน้ำตาล’ เป็นอาหารของจุลินทรีย์ มีหน้าที่ดึงธาตุอาหารออกจากหน่อกล้วย คลุกให้เข้ากันเป็นอันว่าเสร็จ เอาไปลงถังหมักทิ้งไว้ 5 วัน จะได้น้ำหมักมาฉีดพ่นใช้ในแปลง ให้กินทางใบ” พศินเน้นย้ำ

พศินเผยเทคนิคว่า การทำเกษตรอินทรีย์ ควรปลูกพืชที่ 1.ทำเป็นฮอร์โมนได้ 2.ไล่แมลงได้ เช่น สะเดา บอระเพ็ด ควบคู่กันไป เพื่อสะดวกต่อการขุดหมักใช้ไล่แมลงได้ทันที

ส่วนกากที่เหลือไม่จำเป็นต้องเอาไปทิ้ง สามารถหมักทำปุ๋ยต่อได้ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ 1-2 เดือน เผลอๆ กากเหล่านี้ย่อยสลายไปเอง

ส่วนเมล็ดพันธุ์ หากคลุกยาจะไม่สามารถใช้กับพื้นที่อินทรีย์ได้ ให้เก็บเอง

“อย่างผักชีฝรั่ง ใส่ในต้มยำราคา 100-200 บาท ใช้แค่ 1-2 ใบ หั่นเล็กๆ โยนลงไป เวลาเราไปซื้อเมล็ดพันธุ์ ซองเท่าฝ่ามือมี 20 เมล็ด ซอง 15-25 บาท ความจริงไม่ถูก เพราะเมล็ดผักชีฝรั่ง กระจุกเดียว มองตาเปล่าไม่รู้ แต่เมื่อเอานิ้วลากดูจะรู้ว่ามีมาก 1 เมล็ด 1 ต้น”

พศินบอกว่า เมล็ดพันธุ์เก็บวันนี้เอาไว้ข้ามปีก็ยังได้ ใส่ขวดที่มีฝาปิดแน่น

ทุกอย่างผึ่งแดดให้แห้ง ประเภทที่เป็นฝักออกสีน้ำตาลนิดๆ ต้องรีบเก็บ ถ้าปล่อยให้แห้งใบจะดึงน้ำหล่อเลี้ยงเมล็ดออกไปทำให้อัตราการงอกน้อยลง ให้คัดเอาลูกที่สวยที่สุดมาทำพันธุ์ เก็บเมล็ดสมบูรณ์ ถ้าเอาลูกที่ไม่สวย จะเล็กลงไปเรื่อยๆ

ส่วนข้อควรระวังคือ ห้ามใช้มือเด็ดขาด เพราะมือมีความชื้นเมล็ดมีสิทธิที่จะงอกได้ให้ใช้ช้อนตักใส่ปิดฝาให้แน่นใส่ไว้ในตู้เย็นทิ้งไว้ 5 ปีก็ยังเอามาปลูกได้

“ลูกแรกห้ามเก็บลูกที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ดีที่สุด ลูกที่ 5 6 7 ห้ามเก็บ เป็นสูตรเก็บ ถ้าอยากให้ลูกเสถียรต้องมีการปลูกถึง 5 ครั้ง วิธีนี้ใช้ได้กับทุกชนิด ส่วนการเพาะอยากให้เพาะกับถาดหลุม เพราะเวลาย้ายต้นกล้ารากจะไม่ขาด จะดูว่าต้นไหนพร้อมดูที่ใบจริงขึ้นอย่างน้อย 2 ใบก่อนจะนำลงไปปลูก”

ถ้ามาที่นี่จะได้เรียนรู้การย้ายต้นกล้าใส่เปลือกไข่เพื่อนำไปปลูกที่บ้าน โดยของทุกอย่างที่ให้กลับไปจะไม่เป็นขยะ ทั้งถาดหลุมทำมาจากกระดาษย่อยสลายได้ ไข่ก็ย่อยสลายได้ แถมยังทำปุ๋ยได้ และยังป้องกันหอยทากได้อีกด้วย

“เอาเปลือกไข่ตากให้แห้ง ตำและโรยรอบต้นไม้กันหอยทากได้ แต่ก่อนจะเอาลงเพาะไข่ให้แตกมาอย่างนั้นรากจะไม่เดิน ต้นกล้าที่เพาะใส่ไข่อยู่ได้ 7 วัน สาเหตุที่เพาะเพื่อให้ใบจริงขึ้นก่อน”

ถัดจากนั้นเรียนรู้การเลี้ยงไส้เดือน ที่นี่เป็นพันธุ์แอฟริกัน คัดจากการร่อนดินเพื่อเอามูลไส้เดือนมาเป็นปุ๋ย

เลี้ยงง่าย ไม่มีอะไรมาก ใช้เพียงปุ๋ยมะพร้าวและดิน ส่วนอาหารคือมะละกอ กล้วยสุก และพืชผักอินทรีย์ หั่นให้เป็นชิ้นเล็กๆ สามารถเอาสัตว์เป็นอาหารได้ ของที่ชอบที่สุดคือแตงโมเพราะเป็นน้ำ เขาจะกินง่าย เพราะไส้เดือนไม่มีฟัน

“เราเลี้ยงไส้เดือนเพื่อเอามูลมาเป็นปุ๋ย มีเชื้อไตรโคเดอร์มา เป็นเมือกอยู่ในตัว เมื่อถ่ายออกมาจากก้อนมูลกันเชื้อราในแปลงผักได้” พศินระบุ

คือสิ่งที่สามารถสัมผัสได้บนโต๊ะอาหารในห้องอาหารริมน้ำ อินจัน และแวนด้า คืออาหารที่ใช้วัตถุดิบอินทรีย์กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ หรือ 15 ตันต่อเดือน ส่งตรงจากเกษตรกรอินทรีย์ ในเครือข่ายสามพรานโมเดล มายังสวนสามพราน ดีต่อสุขภาพสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่ง

ตลาดสุขใจ ด้านหน้าสวนสามพราน แหล่งปล่อยผลผลิตของเกษตรกรอินทรีย์
“ปฐม ออร์แกนิก บ็อกซ์” พร้อมคิวอาร์โค้ด ส่องเส้นทางกว่าจะมาเป็นขนมกล่องนี้
ชาสมุนไพรออร์แกนิก จาก ดอกบัวหลวง ใบหม่อน เปปเปอร์มินต์ ตะไคร้ และใบเตย


QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image