อ่อนแอก็แพ้ไป ‘การศึกษาไทย’ ใครไหวค่อยไฝว้ต่อ?

ร้อนแรงเป็นรองแค่การเมืองไทยเท่านั้น สำหรับแวดวงการศึกษาไทยในตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา บ้างก็เป็นสถานการณ์เกิดใหม่สดๆซิงๆ บ้างก็ยืดเยื้อเรื้อรังยังไม่มีแววจบ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในโรงเรียนดังอย่าง ‘กรุงเทพคริสเตียน’ ก่อเกิด ‘กลุ่ม Save BCC’ สวมชุดดำชุมนุมในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเพื่อทวงถามความเป็นธรรม กรณีคณะกรรมการสภาคริสตจักรในประเทศไทย สั่งปลด ศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียน ทั้งยังไล่ผู้จัดการโรงเรียนแล้วแต่งตั้งผู้บริหารโรงเรียนชุดใหม่จากปมการจัดซื้อที่ดินและกิจการของโรงเรียนบึงกาฬพิทักษ์ศึกษา หรือ โรงเรียนบึงกาฬคริสเตียน โดยมองว่าการตั้งคณะกรรมการสอบสวนและผลคำตัดสินไม่เป็นธรรม ผู้บริหารโรงเรียนและสภาคริสตจักรฯ ไม่เคยรับฟังใดๆ และการแต่งตั้งผู้บริหารเข้ามาใหม่อาจมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง กระทั่ง อรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน รับว่า ‘หนักใจ’ เพราะคนที่ถูกปลดออก ก็บอกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ขณะที่คณะกรรมการบริหารโรงเรียน ก็บอกว่าดำเนินการไปตามระบบขั้นตอน แต่ผลกระทบไปเกิดกับเด็กที่ถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น โดยจะเร่งหาทางออกให้เร็วที่สุด

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน
เขยิบไปยังระดับอุดมศึกษา อุณหภูมิร้อนก็เกิดขึ้นกลางฤดูหนาวของเมืองเชียงใหม่ เมื่อนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ รวมตัวถือป้ายผ้า พร้อมยื่นหนังสือเรียกร้องให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ เนื่องจากตัดงบประมาณการจัดงาน Media Arts and Design Festival 2019 หรือ MAD ซึ่งเดิมมีกำหนดจัดระหว่างวันที่ 18-22 พ.ย. นี้ด้วยงบ 150,000 บาท เหลือเพียง 5,000 บาท

งานนี้ รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเปิดหน้าชนในฐานะ ‘ผู้ปกครอง’ ของหลานสาว โดยเดินทางสู่เมืองนครพิงค์ด้วยตนเอง พบกับผู้ปกครองรายอื่นๆ ที่ต่างตั้งคำถามกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากงานดังกล่าวถือเป็นงานใหญ่และเป็นหน้าเป็นตาของคณะ จัดอย่างต่อเนื่องทุกปีเป็นเวลานานนับ 10 ปี

Advertisement

“หลังจากคณบดีคนปัจจุบันที่เพิ่งเข้ามาทำงานเพียง 10 เดือน ไปก้าวล่วงในระเบียบการจัดการงบประมาณ กล่าวคือ ใน มช.มี 6 หลักสูตรที่ถูกตั้งขึ้นในช่วงที่มีการผลักดันให้มหาวิทยาลัยมีหลักสูตรที่ดำเนินอยู่ได้ด้วยตัวเอง 100% ไม่ได้ใช้งบประมาณจากภาครัฐเลย ถือเป็นข้อยกเว้นที่ 6 หลักสูตรนี้จะต้องบริการจัดการเช่นนี้ แต่ล่าสุดกลับใช้ระเบียบการบริหารหลักสูตรทั่วไป ซึ่งเก็บค่าลงทะเบียนรายภาคการศึกษา 15,000 บาท ในขณะที่หลักสูตรพิเศษมีเกณฑ์อีกแบบหนึ่ง คือเก็บค่าใช้จ่ายรายภาคสูงกว่า อย่าง มีเดีย อาร์ต เก็บภาคการศึกษา 30,000 บาท หากเป็นเช่นนี้ ต้องตั้งคำถามว่า การดึงงบประมาณทั้งหมดไปบริหารจัดการเองนั้นเหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่ทำตามแผนของภาควิชา กระทั่งไม่สามารถจัดงานสำคัญได้” รศ.ดร.ยุกติจัดเต็ม พร้อมถามหา ‘ธรรมาภิบาล’

เท่านั้นไม่พอ คณาจารย์ภายในคณะ ยังพร้อมใจออกแถลงการณ์แจกแจงแก่สังคม ไขปมปัญหาโดยระบุว่าความวุ่นวายเกิดจากการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการจัดเก็บเงินงบประมาณเข้าส่วนกลางคณะวิจิตรศิลป์ภายหลังการเสนอขอจัดตั้งงบประมาณรายจ่ายเงินรายได้ประจำปีงบประมาณ 2563 ไปแล้ว จีงส่งผลกระทบต่อแผนบริหารการเรียนการสอนของนักศึกษาสาขาวิชาการถ่ายภาพและสาขาวิชาสื่อศิลปะ และการออกแบบสื่อ รวมถึงการบริหารงานภายในของภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ มีแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 การหักค่าธรรมเนียมการศึกษาเข้าส่วนกลางคณะในระดับปริญญาตรีจะหักเข้าส่วนกลาง 20% ของค่าธรรมเนียมการศึกษา ทั้งยังระบุให้ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ ทำการปรับลดงบประมาณ

Advertisement

คณาจารย์จึงเรียกร้องให้คณะฯ เร่งแก้ปัญหาทั้งยังสอบสอนคณบดี โดยหาบุคลากรมารักษาการแทนก่อน ทว่า คณะวิจิตรศิลป์ก็ออกแถลงการณ์ฉับไว เมินสอบ ‘คณบดี’ ทั้งที่ความจริงควรเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยในการตอบและตรวจสอบ ส่วนเรื่องการจัดงานทางคณะเตรียมไฟเขียวหลังโดนประท้วงหนักและส่อเค้าบานปลาย แต่ต้องเสนอโครงการเข้าไปใหม่ กระทั่งวันนี้ดูทรงยังจบไม่ง่าย

ในขณะประเด็นร้อนปมฉาวจากรั้วธรรมศาสตร์ ก็ยังต้องติดตามต่อไปในกรณีอดีตนักศึกษาหญิงออกมาเปิดโปงพฤติกรรมอาจารย์หนุ่มคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ตีสนิทสานสัมพันธ์ กระทั่งคบหาและมีสัมพันธ์ลึกซึ้ง ทั้งที่ผิดกฎระเบียบของมหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรง มีการร่วมลงชื่อในเว็บไซต์ change.org เพื่อส่งมอบยังกระทรวงอุดมศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา กระทั่งธรรมศาสตร์ออกหนังสือชี้แจงว่ามีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว แต่อาจารย์หนุ่มยังพาบิดามารดาบุกหาอดีตนักศึกษารายนั้นถึงบ้าน เกิดคลิปเผยแพร่ตามสื่ออย่างกว้างขวาง ล่าสุด เพจ เหตุเกิด ณ ตึกตู้ปลา ซึ่งเกาะติดและร่วมแฉมาตั้งแต่ต้น โพสต์ข้อความปริศนาระบุว่า

‘การช่วยเหลือให้ผู้กระทำความผิดลาออกโดยไม่ตั้งกรรมการสอบทางวินัยเพียงแต่สอบข้อเท็จจริงแม้มีความผิด และหลักฐานชัดเจน เป็นการกระทำที่เข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ วิ. อาญา มาตรา 157’

ชวนให้ชาวเน็ตตีความและคาดเดาตอนจบของชีวิตจริงยิ่งกว่าละครว่าสุดท้ายจะไปทางไหนแน่

ยังไม่นับประเด็นหยุมหยิมที่ใช่ว่าจะไม่สำคัญ อย่าง การลงโทษของครูที่ตีก้นเด็กจนช้ำเลือดช้ำหนองซึ่งไม่น่าเชื่อว่าในศักราชนี้ยังมีให้เห็นเป็นข่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า

‘อำนาจนิยม’ ปมทำวุ่น พิษรวมศูนย์ ห่วงยุบสังคมศาสตร์

หันมาในภาคการเมือง เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มีการจัดวงคุยลุยปมการศึกษาโดยคณะกรรมการเครือข่ายภาคประชาชน และ 30 องค์กรประชาธิปไตย ในประเด็น “รัฐธรรมนูญ กฎหมาย กับนโยบายการปฏิรูปการศึกษา” วิเคราะห์ปมปัญหาหลากหลายในแวดวง

วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ นักกิจกรรมเยาวชน และกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวตอนหนึ่ง ว่า การศึกษาไทยอยู่ในระบบอำนาจนิยม เรามักเห็นผู้ปฏิบัติการทางการศึกษา ใช้อำนาจต่อผู้เรียน ส่งต่อสู่สังคม องค์กร บริษัทต่างๆ ตัวอย่างของอำนาจนิยมยังส่งผลให้คนขาดมนุษยชน ขาดความเคารพ ความหลากหลาย ตอนนี้เราอยู่ในภาวะที่ทำเด็กให้เหมาะกับโรงเรียน ยังไม่เห็นโรงเรียนที่เหมาะกับเด็ก การศึกษาในระบบ ใช้อำนาจสร้างคนในระบบคนชั้นนำ มีค่านิยมชุดเดียวกัน ต้องเรียนให้เก่ง 4.0 จบแล้วได้ทำงานดีๆ เป็นเจ้าคนนายคน เป็นการศึกษาแบบที่ใครอ่อนแอก็แพ้ไป ใครไหวก็ไปต่อ

“คำสั่งควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 40 คน ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยใช้วิธีว่าโรงเรียนใดที่มีเด็กต่ำกว่า 40 คน จะไม่ส่งครู หรือผู้บริหารเข้าไป แทนที่จะทำให้โรงเรียนเหล่านี้อยู่ใกล้ชิดกับชุมชน เป็นการทำบอนไซโรงเรียนให้มีขนาดเล็กลง ยังมีการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ศูนย์กลางอย่าง สพฐ.และระดับอุดมศึกษา อยู่ภายในการดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีการเตรียมยุบสาขาที่ไม่เป็นความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะสายสังคม ถือเป็นการมองในระยะสั้น” วรภัทรกล่าว

ตามมาติดๆด้วย พิภพ ธงไชย เลขานุการมูลนิธิเด็ก ผู้ก่อตั้งโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ซึ่งเล่าย้อนอดีตว่าในช่วงยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ตนเคยเถียงกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในช่วงนั้น เกี่ยวกับการศึกษาทางเลือก ซึ่งไม่ใช่คำใหม่ โดยระบบการศึกษาไทยแบ่งเป็น การศึกษาหลัก และการศึกษาทางเลือก ระบบการศึกษาหลัก ในช่วงแรกรับมาจากอังกฤษ เกิดเป็นโรงเรียนชนชั้นนำ มหาวิทยาลัยชนชั้นนำ ควบคุมโดยราชการ ควบคุมเนื้อหาการเรียนทั้งหมด เพื่อควบคุมวิธีคิดของคนไทย ลงไปที่ระบบโรงเรียน สิ่งที่ใส่เข้าไปในหลักสูตร คือระบบอำนาจนิยม การศึกษาไม่ได้บริสุทธิ์ การศึกษาเป็นเครื่องมือทางการเมือง และไม่ใช่เฉพาะไทยเท่านั้นที่ใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือทางการเมือง รวมถึง อังกฤษ ญี่ปุ่น จีน ฯลฯ

“การศึกษาไทย มีปัญหามากถึงขั้นที่นายอานันท์ ปันยารชุน ในช่วงเป็นนายกฯ อึดอัดกับระบบการศึกษาไทย พยายามจะแก้ก็แก้ไม่ได้ การต่อสู้มีทิศทางมาเช่นนี้ เมื่อมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 เริ่มแรกให้นายบวรศักดิ์ยกร่าง ซึ่งเขียนได้ดี และมีจุดเปลี่ยน คือกระจายงบไปที่ตัวเด็กในรูปแบบคูปองการศึกษา ทำให้เด็กมีอิสระเลือกที่เรียนได้ เป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งน่ายินดีที่ อว.ให้เด็กเรียนข้ามสาขา ข้ามมหาวิทยาลัยได้ เพราะหากไม่เปลี่ยน คนจะเริ่มทิ้งมหาวิทยาลัย ใน 10 ปี มหาวิทยาลัยจะร้าง แต่รัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ไม่ได้ถูกนำมาใช้ มาถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่นายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธานยกร่างฯ ข้อดีคือกำหนดให้มีคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ขึ้น ซึ่งเดิมเชิญนายอานันทท์มาเป็นประธาน แต่นายกฯ ไม่เลือก ถือเป็นความผิดพลาดของนายกฯ สุดท้ายได้คนไม่มีชื่อด้านการปฏิรูปการศึกษา มาเป็นประธาน” พิภพกล่าว ก่อนย้ำว่า แม้ปัญหาจะเยอะสิ่ง แต่เชื่อว่าสามารถจัดการศึกษาให้เด็กฉลาดได้ ถ้าเปลี่ยนโครงสร้างการศึกษาใหม่ ไม่ใช่ให้เข้าระบบการศึกษาหลัก เพราะจะทำให้คนโง่ ส่วนคนเก่งที่เกิดขึ้นอย่าง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และอีกหลายๆ คน ถือเป็นกรณีพิเศษ การศึกษาต้องเชื่อมโยงกับการอ่าน ลดอำนาจ ศธ.ลง แต่ถ้าลดไม่ได้ ต้องสร้างการศึกษาทางเลือก การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ แต่ระบบการศึกษาปัจจุบันทำลายคนไทย

การศึกษาแย่แน่ ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญฯ ?

มาถึง ณัฏฐา มหัทธนา หรือ โบว์ ซึ่งนอกเหนือจากบทบาทการเคลื่อนไหวทางการเมือง เธอเป็นทั้งแม่และครู

“รัฐควรโฟกัสใน 3 ส่วน คือ การเข้าถึงทางการศึกษา ซึ่งหากโรงเรียนใกล้บ้านไม่มีคุณภาพ ผู้ปกครองก็พาไปเรียนโรงเรียนไกลๆ เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เกิดโรงเรียนอินเตอร์ หรือโรงเรียนนานาชาติ ที่ส่งเสริมความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยให้กว้างขึ้นอีก ส่วนที่สองคือเนื้อหา ที่ต้องตั้งโจทย์ให้ชัด และเฉพาะเจาะจง ปัจจุบันเนื้อหาการศึกษาไทยยังมีความเชยๆ ครูยังมีความเชยๆ ไม่มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับปัจจุบัน ขอเสนอให้ตั้งโจทย์ โดยสร้างพลเมืองโลก คือต้องพูดได้มากกว่า 2 ภาษา เพื่อให้ทำงานในประเทศอื่นๆ ได้ทั่วโลก มีทักษะการปรับตัว มีความเข้าใจความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม ฯลฯ และส่วนที่ 3 คุณภาพ สิ่งที่ต้องโฟกัสมากที่สุด คือคุณภาพครู ที่ขณะนี้เข้าขั้นวิกฤต ภาระงานมาก มีหนี้เยอะ ไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ดังนั้น ต้องเข้มงวดในการอบรมครูให้มากขึ้น

สิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือ การศึกษาภาคบังคับจาก 12 ปี เป็น 15 ปี ขณะที่เรียนฟรี 12 ปี ยังไม่ฟรีจริง ยังมีค่าใช้จ่ายพิเศษ ดังนั้น ควรปรับควรทำเป็นระบบสวัสดิการ โดยดิฉันสนับสนุนให้มีคูปองการศึกษา ให้เด็กได้เลือกเรียน ทำให้การศึกษาเป็นเหมือน 30 บาทรักษาทุกโรค และไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีเงิน เพราะถ้ากำหนดไว้ในกฎหมาย จะไปบีบให้ต้องลดงบส่วนอื่นที่ไม่จำเป็นลง เช่น งบทางการทหาร หรือโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ที่แฝงอยู่จำนวนมาก แต่ทั้งหมดนี้ ทางแก้ที่ตรงที่สุดคือ ทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นปัญหาจริงๆ ของบ้านเรา ไม่ใช่ 1-2 ปี ก็มีรัฐประหาร ข้าราชการก็เกียร์ว่าง การแก้ปัญหาต้องไปแก้ที่หมวดการเลือกตั้ง การเลือก ส.ว.เพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง เข้ามาแก้ปัญหาการศึกษา ดังนั้น การศึกษาแย่แน่ ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญ” ณัฏฐากล่าว

แนะสร้าง ‘ความเป็นมนุษย์’ ไม่ใช่แค่มีงานทำ

ในขณะที่ ทิพย์พาพร ตันติสุนทร ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายศึกษา บอกว่า การศึกษาของรัฐ คือเครื่องมือการกล่อมเกลาคนในสังคม ฉะนั้น เป็นระบบที่ควบคุมกำกับตั้งแต่เด็กไปถึงผู้ใหญ่ได้ เพราะมีอำนาจ และงบรองรับ ขึ้นอยู่กับระบบของแต่ละประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับการเมือง และเศรษฐกิจที่วางไว้ แต่สำหรับไทย ยังมองไม่ออก เพราะยังไม่มีการออกแบบทั้งระบบ ถ้ามองในระยะใกล้ เห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ซึ่งวางไว้ดีแล้ว แต่สิ่งที่อยากตั้งข้อสังเกตคือ เมื่อรัฐธรรมนูญดีแล้ว ทำไมปัญหาสังคมยังมี จึงต้องกลับมาที่เรื่องการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง ย้อนกลับไปถึงต้นน้ำตั้งแต่ประถม มัธยม และอุดมศึกษา ที่ต้องปลดล็อก การศึกษาต้องไม่ครอบงำ และชี้นำเด็ก อุดมศึกษาต้องไม่ครอบงำ และผลิตครูที่มีคุณภาพออกมาสอนเด็ก

ในช่วงท้าย รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา จับไมค์คอมเมนต์ว่า การศึกษาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสังคม และพลเมืองที่เข้มแข็ง แต่ต้องยอมรับว่าการศึกษาอยู่ภายใต้การครอบงำของรัฐ แต่ปัจจุบันมีการตื่นตัวมากขึ้น เริ่มจากกลุ่มต่างๆ ที่พยายามจัดการศึกษาด้วยตัวเอง ขณะที่ ศธ.เปิดมากขึ้น เพื่อให้การศึกษาสร้างความเป็นมนุษย์มากขึ้น ไม่ใช่แค่มีงานทำอย่างเดียว ที่สำคัญไม่ควรใช้การศึกษาเพื่อครอบงำคน แต่ทำอย่างไร ที่จะเปิดพื้นที่ให้เด็กเลือกเรียนได้อย่างพอใจ คิดว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หลายแห่ง หากเห็นคุณค่าสิ่งนี้ สามารถทำได้เลย โดยที่ไม่ต้องรอความเปลี่ยนแปลงของ ศธ.

การศึกษาเป็นตัวสะท้อนว่าคุณอยากได้คนแบบไหนในสังคมนี้ การศึกษา เป็นสิ่งที่ต้องเริ่มจากคนกลุ่มเล็ก เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image