800 ล้าน 540 วัน นับถอยหลัง ‘ทางเลียบเจ้าพระยา’ มาแน่ ?

กลับมาตอกย้ำความเป็นมหากาพย์ที่ไม่อยากจะเดาตอนจบกันอีกรอบ หลังเงียบไปพักใหญ่สำหรับโปรเจ็กต์ยักษ์อย่างโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “ทางเลียบเจ้าพระยา” ชูประเด็นการเข้าถึงแม่น้ำอย่างเท่าเทียม ทว่าถูกคัดค้านอย่างหนักจากแทบทุกภาคส่วน ทั้งเอกชนหรือแม้แต่ภาครัฐด้วยกันเอง ล่าสุด กทม.ออกแอ๊กชั่นเคลื่อนไหวเดินหน้า แม้จะยังมีเรื่องคาอยู่ที่ศาลปกครอง หลังภาคประชาชนหอบเอกสารแขนแทบหักราว 3,000 หน้าประกอบคำฟ้อง เรียกร้องยุติโครงการ เมื่อรัฐไม่หยุดและคนไม่ยอมรับ ความเคลื่อนไหวที่อุณหภูมิเริ่มไต่ระดับก็บังเกิด

800 ล้าน 5 เดือนจัดซื้อจัดจ้าง ก่อสร้าง 540 วัน

เริ่มต้นนับแต่ นิรันดร์ ประดิษฐกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะกรรมการวิสามัญการพัฒนาและการขับเคลื่อนโครงการของกรุงเทพมหานคร รวมถึงผู้เกี่ยวข้องลงสำรวจพื้นที่ เมื่อ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยส่งสัญญาณแจ่มชัดในการเดินหน้า “ทางเลียบเจ้าพระยา” ช่วงที่ 1 จากสะพานพระราม 7 ถึงกรมชลประทาน ระยะทาง 2.99 กม. ในฝั่งพระนคร และช่วงที่ 3 จากสะพานพระราม 7 ถึงคลองบางพลัด ระยะทาง 3.2 กม. ในฝั่งธนบุรี ขณะนี้อยู่ระหว่างขอจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล 10 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็น 800 ล้านบาท จากทั้งหมด 8,200 ล้านบาท ใช้เวลาจัดซื้อจัดจ้าง 5 เดือน ครั้นเซ็นสัญญาก่อสร้างแล้ว คาดว่า 540 วัน เป็นอันจบภูมิทัศน์จำลองของโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

ภูมิทัศน์จำลองของโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

ที่น่าสนใจไม่แพ้ข้อมูลเรื่องระยะเวลาและงบประมาณก็คือการยืนยันว่าโครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี ในขณะที่กลุ่มคัดค้านมีการ “บิดเบือน” ข้อมูลแล้วนำเสนอต่อสื่อ แต่ กทม.พร้อมชี้แจงได้ทุกประเด็น ทั้งยังเน้นย้ำการมุ่งเน้นพัฒนาเมือง ยกระดับคุณภาพชีวิต โดยรูปแบบการก่อสร้างไม่บดบังทัศนียภาพและวัฒนธรรมริมสองฝั่ง เนื่องจากทางเดินและทางจักรยานจะสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 2.25 เมตร ต่ำกว่าระดับเขื่อนป้องกันน้ำในปัจจุบัน มีระบบป้องกันรถจักรยานยนต์ และหาบเร่แผงลอย ส่วนขยะมูลฝอยก็มีตะแกรงใต้ตอม่อเพื่อกักเก็บ สำหรับเรือน้อยใหญ่ก็หายห่วง เพราะจะบริหารจัดการให้ไม่โดนผลกระทบอย่างแน่นอน

32 องค์กรออกแถลงการณ์จวก ‘ขัดรัฐธรรมนูญ’ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

แม้มีถ้อยความข้างต้นยืนยัน แต่หลังการประชุมคร่ำเคร่ง ในที่สุด 26 พฤศจิกายน หรือ 4 วัน หลังการลงพื้นที่ของ กทม. เพื่อเตรียมเดินหน้า อัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะผู้ประสานงานสมัชชาแม่น้ำออกแถลงการณ์ถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องคัดค้านโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา มีเนื้อหาระบุว่า ตามที่กรุงเทพมหานครประกาศเดินหน้าก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา จากสะพานพระราม 7 ถึง กรมชลประทานสามเสน ฝั่งพระนคร และจากสะพานพระราม 7 ถึงคลองบางพลัด ฝั่งธนบุรี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยระบุว่าไม่มีผู้คัดค้านโครงการนั้น สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะผู้ประสานงานสมัชชาแม่น้ำ อันประกอบด้วยองค์กรวิชาชีพฯ และเครือข่ายจำนวน 32 องค์กร ขอคัดค้านโครงการดังกล่าว เนื่องจากมีผลกระทบใหญ่หลวงต่อสาธารณะทางด้านสิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตริมน้ำ ศิลปวัฒนธรรม การคมนาคม วิศวกรรม สถาปัตยกรรมและผังเมือง เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อรัฐธรรมนูญ

Advertisement

ในขณะที่ “กลุ่มเพื่อนแม่น้ำ” หรือ “เอฟโออาร์” ซึ่งมีบทบาทคัดค้านโครงการดังกล่าวตลอดมา เคลื่อนไหวผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ระบุข้อมูลราวกับ “หนังคนละม้วน” โดยจี้จุดว่า โครงการนี้มีหลายฝ่ายทักท้วงทั้งในเชิงนโยบายที่มีธงไว้ ขาดทางเลือกของการพัฒนาแม่น้ำที่รอบด้าน ขาดการมีส่วนร่วมที่กว้างขวาง ขาดการเปิดเผยข้อมูล อันจะนำมาซึ่งผลกระทบต่อแม่น้ำในมิติต่างๆ ทั้งระบบนิเวศ วิถีชีวิต อัตลักษณ์ การไหลของแม่น้ำ อันจะนำไปสู่การทำลายแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างที่ไม่อาจนำกลับคืนมาได้ หากโครงการนี้เดินหน้า จะตอกย้ำให้สังคมได้เห็นว่ารัฐขาดธรรมาภิบาลเพียงใดต่อการดำเนินการโครงการที่กำลังจะส่งผลต่อวิถีผู้คนและธรรมชาติ

“หลังจากเงียบหายไปนานต่อความคืบหน้าโครงการทางเลียบเจ้าพระยา ล่าสุดสภากรุงเทพมหานครมีมติอนุมัติโครงการแล้ว และจากการเปิดเผยของสำนักโยธา กรุงเทพมหานคร ขณะนี้แบบพร้อมประมูล รอเพียงให้ทางคณะรัฐมนตรีเซ็นอนุมัติ โดยแบ่งโครงการออกเป็น 4 ช่วงย่อย จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ความยาวข้างละ 7 กม.

Advertisement

ลักษณะโครงการเป็นทางคอนกรีตกว้าง 10 เมตร สร้างลงบนตอม่อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 80 ซม ในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเป็นทางเดิน และทางจักรยาน หยุดเพื่อเดินต่ออย่างยั่งยืนไม่ดีกว่าหรือ ?”

คือข้อความจากกลุ่มเพื่อนแม่น้ำที่เผยแพร่ภาพจำลองของทางเลียบเจ้าพระยาและความหายนะที่จะบังเกิดในอนาคต

ภาพจากกลุ่มเพื่อนแม่น้ำ

เตรียมส่งเอกสารโต้แย้ง เล็งขอ ‘ศาลปกครอง’ คุ้มครองชั่วคราวอีกรอบ

อีกหนึ่งประเด็นที่ถูกตั้งคำถามอย่างมาก คือการเดินหน้าโครงการทั้งที่ศาลปกครองรับคำฟ้องจากสมัชชาแม่น้ำและภาคีเครือข่ายซึ่งยื่นหนังสือต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ยกเลิกโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงปลายปี 2561 และมีการยื่นคำชี้แจงเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2562 กระทั่งช่วงต้นเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน กลุ่มค้านทางเลียบมีการเปิดเผยถึงการรับคำฟ้องดังกล่าว

ภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการด้านผังเมือง ซึ่งมีบทบาทในการดำเนินการยื่นหนังสือต่อศาลปกครองกลาง เปิดเผยว่า เคยยื่นขอคุ้มครองชั่วคราว แต่ศาลยังไม่รับ อาจเพราะเห็นว่ายังไม่เริ่มการประมูล ดังนั้นหากมีการประมูลการก่อสร้างเมื่อใด ทางสมัชชาแม่น้ำและภาคีเครือข่ายจะยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวอีกครั้ง สำหรับความคืบหน้าหลังศาลรับคำฟ้อง ทางภาครัฐได้ทำเอกสารโต้แย้งมา โดยยืนยันทำงานครบถ้วน ถูกต้อง และประชาชนได้มีส่วนร่วม ทั้งยังแนบรายงานประกอบด้วย อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา รายงานที่ว่านี้ไม่เคยถูกเปิดเผย

“ในทางปฏิบัติ ไม่ได้ให้ประชาชนมีส่วนร่วมแบบที่ผู้เข้าร่วมควรได้รับข้อมูล ทั้งที่โครงการนี้มีหลายแผนงานที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพื้นที่แม่น้ำ มีความอ่อนไหวในมิติต่างๆ ทั้งสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมที่ประชาชนควรได้ศึกษาก่อน การดำเนินงานมีข้อบกพร่องทางกระบวนการ ไม่เพียงพอและไม่ครอบคลุม เขาอาจอ้างว่าทำครบ แต่ควรต้องทำอย่างเคารพสิทธิในข้อมูลข่าวสารของผู้เข้าร่วมด้วย ไม่ใช่ให้เราไปตามขอ หาเอาเอง และที่ผ่านมาเราเคยทำหนังสือขอ แต่เขาไม่ให้”

อีกหนึ่ง ประเด็นที่นักวิชาการท่านนี้ข้องใจคือ ความรีบเร่งของการดำเนินงาน

สมัชชาแม่น้ำและภาคีเครือข่ายยื่นหนังสือต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ยกเลิกโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงปลายปี 2561

“ปัจจุบันเรื่องการฟ้องให้ยกเลิกโครงการนี้ ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลปกครอง เหตุใด กทม.จึงเร่งรีบนัก ทั้งที่ยังมีผู้ค้านหลายราย และทราบมาว่าได้รับใบอนุญาตจากเจ้าท่า ทั้งๆ ที่เจ้าของที่ดินบางรายยังไม่ยินยอม ส่วนช่วงที่ผ่านโบราณสถาน กรมศิลปากรก็ทักท้วงให้มีการทำงานร่วมกัน ซึ่งก็ยังไม่แล้วเสร็จ แต่กลับจะมาเริ่มดำเนินการก่อน” ภารนีกล่าว

ถามว่าเมื่อสถานการณ์มาถึงตรงนี้แล้ว จะทำอย่างไรต่อไป ได้รับคำตอบว่า ทางสมัชชาแม่น้ำและภาคีเครือข่ายกำลังทำเอกสารโต้แย้งซึ่งจะส่งไปยังศาลปกครองกลางภายในช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ โดยมีนัดหมายพิจารณาเอกสารอีกครั้งกับทีมทนายความ และจะมีการรวมตัวแถลงข่าวในวันอังคารที่ 3 ธันวาคมนี้ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ส่วนหนึ่งของพื้นที่สร้างทางเลียบเจ้าพระยา (ภาพจากสำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.)

“ชีวิตและคุณค่าของเจ้าพระยามีความหมายมากกว่าการเป็นพื้นที่นันทนาการ ให้นักท่องเที่ยวมาเดินถ่ายรูป ขี่จักรยานริมน้ำ ความเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาและวิถีวัฒนธรรมริมน้ำ ก็เป็นคุณค่าที่สร้างความประทับใจต่อนักท่องเที่ยว และคุณค่ามรดกวัฒนธรรมก็ยังคงอยู่ คนขี่จักรยานก็ลัดเลาะตามเส้นทางในชุมชนได้ ไม่ต้องก่อสร้างอะไรในแม่น้ำ ซึ่งนอกจากจะทำลายแม่น้ำแล้ว ยังทำลายความโปร่งใส ความเป็นธรรมาภิบาลของประเทศชาติ ในกระบวนการทำงานวางแผนที่ใช้งบประมาณมากมายมหาศาล ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่ประชาชนธรรมดาๆ ลุกมาค้านการดำเนินการของรัฐ ที่จะสร้างปัญหาและผลกระทบมากมาย

และโครงการนี้ก็มิใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วนอะไร นอกจากตอบสนองกิจกรรมกีฬา ท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจริมน้ำ แต่แลกมาด้วยการทำสิ่งก่อสร้างในแม่น้ำทั้งสองฝั่ง ส่วนการบุกรุกนั้น แก้ไขจัดการด้วยกฎหมายก็ย่อมได้ โดยมิต้องก่อสร้าง” ภารนีกล่าว ก่อนยอมรับตรงๆ ถึงความไม่มั่นใจในชัยชนะของการต่อสู้ครั้งนี้

“เราไม่รู้ว่าเจ้าพระยาจะรอดพ้นวิกฤตนี้ไหม ทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่เราคนเดียว เราได้พยายามเต็มที่ที่สุดแล้ว และยังไม่หยุดความพยายาม ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ”


‘คำต่อคำ’ ถ้อยแถลงล่าสุดจากกรุงเทพมหานคร

โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานี้ กรุงเทพมหานครได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนนั้น เชื่อมั่นว่าจะสร้างประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ทั้งความสะดวกในการเดินทางด้วยการเชื่อมโยงเส้นทางสัญจรในชุมชนริมแม่น้ำ ให้สามารถเข้าถึงโครงข่ายระบบขนส่งมวลชน ทั้งทางบก ทางน้ำและทางราง ตลอดจนเป็นการพัฒนาภูมิทัศน์ และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กล่าวอีกนัยหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการเติมเต็มภาพความเป็นเมืองที่เจริญอย่างยั่งยืนให้แก่กรุงเทพฯ โดยมีความคืบหน้าเป็นไปตามกำหนด ทั้งในด้านการศึกษาแผนแม่บท การจัดทำแบบรายละเอียด

ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมเจ้าท่า ในการปรับปรุงรูปแบบก่อสร้างไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคสังคม โดยมีการลงพื้นที่ ทำความเข้าใจกับชุมชนในหลายช่องทาง ทั้งการพบปะกับชุมชนโดยตรง และการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ ทำให้สามารถสร้างความเข้าใจที่รอบด้านแก่ประชาชนและสังคม จนได้รับความร่วมมือดีขึ้นเป็นลำดับ

รวมทั้งยังได้มีการให้ความช่วยเหลือประชาชนในชุมชนที่มีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยาและยินยอมย้ายออกไป โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ช่วยเหลือจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่ให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบแล้ว โดยบางส่วนได้ย้ายไปที่อยู่อาศัยใหม่ที่แฟลต ขส.ทบ. รวมถึงปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ที่ อ.บางใหญ่ และ อ.บางกร่าง จ.นนทบุรี ซึ่งเมื่อประชาชนได้ย้ายไปที่อยู่อาศัยใหม่แล้ว จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

รูปแบบโครงการ ประกอบด้วยการก่อสร้างทางเดินทางจักรยานริมแม่น้ำเจ้าพระยาความกว้างประมาณ 6-10 ม. ปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อน ท่าเรือ ศาลาท่าน้ำ พื้นที่บริการสาธารณะ และเส้นทางการเข้าถึง ระบบไฟฟ้า ระบบระบายน้ำ และส่วนประกอบอื่นๆ โดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 4 ช่วง ได้แก่ โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ 1 จากสะพานพระราม 7 ถึงกรมชลประทาน ระยะทาง 2.99 กม. งบประมาณ 1,770 ล้านบาท โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ 2 จากกรมชลประทาน ถึงคลองรอบกรุง ระยะทาง 3.26 กม. งบประมาณ 2,470 ล้านบาท โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ 3 จากสะพานพระราม 7 ถึงคลองบางพลัด ระยะทาง 3.2 กม. งบประมาณ 2,061.5 ล้านบาท

โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ 4 จากคลองบางพลัด ถึงคลองบางยี่ขัน ระยะทาง 2.98 กม. งบประมาณ 2,061.5 ล้านบาท โดยรูปแบบของทางเดิน ทางจักรยาน จะอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 2.25 ม. ต่ำกว่าระดับเขื่อนป้องกันน้ำท่วมปัจจุบัน ประมาณ 1 เมตร ดังนั้นจะไม่บดบังทัศนียภาพสิ่งก่อสร้างริมน้ำ ไม่บดบังภูมิทัศน์และวัฒนธรรมริมสองฝั่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image