‘สนทนาสัปตสนธิ 2’ นิทรรศการศิลปะ LGBTQ ใหญ่สุดในเอเชีย

ผลงานโดย Sunil Gupta

หมายเหตุ : ขอบคุณภาพทั้งหมดจาก ‘หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร’


ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งรวมวัฒนธรรม ชนชาติ และความเชื่ออันหลากหลาย ระดับการยอมรับความหลากหลายทางเพศก็แตกต่างกันไปตามแต่ละเมืองและเขตการบริหารพิเศษ

โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียแล้ว ชุมชน LGBTQ (Lesbian Gay Bisexual Transsexual and Queer) ในประเทศไทยถือว่าได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี

Advertisement

เพื่อให้เห็นถึงลักษณะพิเศษของภูมิภาคนี้ที่เป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงบริบททางสังคมที่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับ มูลนิธิซันไพรด์ จัดนิทรรศการ สนทนาสัปตสนธิ 2-ไต่ถาม : ความหลากหลายในอุษาคเนย์ (SPECTROSYNTHESIS II-Exposure of Tolerance : LGBTQ in Southeast Asia) เปิดให้เข้าชมแล้วตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

นิทรรศการดังกล่าวได้รวบรวมศิลปะร่วมสมัยที่ใหญ่ที่สุดจากกว่า 50 ศิลปิน สะท้อนประเด็นเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และใกล้เคียง โดยงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการเดินทางหมุนเวียนของมูลนิธิซันไพรด์ ซึ่งจะแวะที่กรุงเทพมหานคร เป็นจุดที่ 2 ต่อเนื่องมาจากนิทรรศการ SPECTROSYNTHESIS-Asian LGBTQ Issues and Art Now อันโด่งดัง ซึ่งเปิดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย (Museum of Contemporary Art) กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน เมื่อปี 2560

ผลงานโดย Jef Carnay

ทีมภัณฑารักษ์นำโดย ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที ได้คัดสรรศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานโดดเด่น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในประเด็นนี้ผ่านศิลปะร่วมสมัย โดยมุ่งเน้นให้เห็นว่าเส้นแบ่งต่างๆ กำลังเปลี่ยนไป กรอบเกณฑ์ต่างๆ กำลังเปิดกว้างมากขึ้น และคนก็กำลังตั้งคำถามกับค่านิยมและบรรทัดฐานต่างๆ ทางสังคม

Advertisement

ในนิทรรศการนี้ ผู้ชมจะได้พบกับผลงานของศิลปินจากทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงศิลปินเชื้อสายจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นสองวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อภูมิภาคนี้ผ่านการอพยพย้ายถิ่นฐาน

ฉัตรวิชัยกล่าวว่า ผลงานศิลปะที่จัดแสดงในนิทรรศการ สนทนาสัปตสนธิ 2 จะเน้นเรื่องการยอมรับความหลากหลายทางเพศ แต่บทสนทนาเรื่องนี้ไม่ได้จำกัดวงอยู่แค่ในกลุ่ม LGBTQ สิ่งที่ทำให้นิทรรศการนี้ทรงพลังและสำคัญมากคือ ศิลปินส่วนใหญ่มีประสบการณ์ส่วนตัว หรือไม่ก็รู้สึกร่วมไปกับประเด็นนี้ ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น นิทรรศการยังแสดงถึงอิสรภาพที่ศิลปะมอบให้ อิสรภาพที่จะแสดงออกถึงการต่อสู้ของแต่ละคนเพื่อการยอมรับทางเพศ เพื่อให้คนยอมรับว่าเป็นปกติ การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และการต่อสู้เพื่อให้คนที่ตำแหน่งและสถานะเท่าเทียมกันเคารพกัน

ด้าน แพทริค ซัน ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิซันไพรด์ กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้คุณฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที และทีมมาร่วมงานครั้งนี้ ทีมทำงานกันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อคัดสรรศิลปินและผลงานศิลปะชั้นยอดมาจัดแสดงในนิทรรศการ สนทนาสัปตสนธิ 2 หวังว่านิทรรศการนี้จะส่งเสริมให้เกิดการอภิปรายกันในวงกว้าง และสนับสนุนให้เกิดสังคมที่เท่าเทียมมากขึ้นสำหรับชุมชน LGBTQ และมิตรสหาย

ผลงานโดย Michael Shaowanasai

ทางด้านศิลปินจากหลายประเทศ มีจำนวนไม่น้อยที่ร่วมสร้างสรรค์ผลงานใหม่เพื่อนิทรรศการนี้โดยเฉพาะ อาทิ จักกาย ศิริบุตร ได้สร้างสรรค์ศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ 3 ชิ้น แต่ละชิ้นทำจากผ้าและยาว 2 เมตร เพื่อบันทึกความเจ็บปวดของวัยรุ่น ลวดลายเรขาคณิตใน Quilt Project (2562) ล้อมาจากสามเหลี่ยมสีชมพูที่พรรคนาซีเคยใช้เพื่อระบุตัวและสร้างความอับอายให้แก่ผู้รักเพศเดียวกัน ในบัดนี้ ชุมชนเกย์ได้นำมาเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความภาคภูมิใจ

บัลเบียร์ ครีชัน ศิลปินชาวอินเดีย ผู้เคยโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างเสียๆ หายๆ เพราะสร้างผลงานศิลปะเกี่ยวกับเกย์ จัดแสดงภาพวาด 2 ชิ้นที่แสดงถึงความแตกต่างระหว่างก่อนและหลังการยกเลิกมาตรา 377 ในกฎหมายอินเดียที่กำหนดบทลงโทษสำหรับชายที่มีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกัน

ผลงานโดย REN Hang
ผลงานโดย Yoppy Pieter

นอกเหนือจากนี้ยังมีไฮไลต์ประจำนิทรรศการมากมาย เช่น การจัดแสดง 6 ภาพถ่ายโดย “เยิ่น หาง” ศิลปินชาวจีนผู้ล่วงลับ, “ดิญ คิว เล” ศิลปินชาวเวียดนาม จัดแสดงผลงานศิลปะ 3 ชิ้น โดย 2 ใน 3 เป็นผลงานที่ใช้เทคนิคการทอภาพถ่ายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ได้แรงบันดาลใจมาจากเทคนิคการทอพรมจากเส้นใยแบบดั้งเดิม ส่วนผลงานชิ้นที่ 3 เป็นประติมากรรมสูง 5 เมตร เป็นภาพที่โดนยืดและบิดเบี้ยวจนกลายเป็นม้วนกระดาษขนาดใหญ่เกินจริง แขวนลงมาจากเพดาน สะท้อนถึงความรู้สึกภายในของศิลปิน, ผลงานรูปปั้น We The People (detail) (2011-2016) ของศิลปินชาวเวียดนาม “ตัน หว่อ” จำลองสัญลักษณ์แห่งอิสรภาพอย่างเทพีเสรีภาพ ขนาดเท่าของจริง แต่แยกชิ้นส่วนเป็นกว่า 300 ชิ้น กระจายไปตั้งหลายจุด

ร่วมเข้าใจ เข้าถึงชุมชน LGBTQ ผ่านนิทรรศการศิลปะ “สนทนาสัปตสนธิ 2-ไต่ถาม : ความหลากหลายในอุษาคเนย์” ได้ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2563 ที่ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 7-8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เวลา 10.00-21.00 น. (ยกเว้นวันจันทร์) สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bacc.or.th/ หรือเพจเฟซบุ๊ก Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image