สุวรรณภูมิในอาเซียน : เรือพระราชพิธี กรุงศรีอยุธยา ล่องไปทำพิธีกรรมบางปะอิน

พยุหยาตราทางชลมารคกระบวนใหญ่สุดของกรุงศรีอยุธยา ในพิธีกรรมเกี่ยวกับดินและน้ำเป็นประจำทุกปี เพื่อขอให้ไพร่บ้านพลเมืองอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร ภาพพิมพ์ "ทัศนียภาพกรุงศรีอยุธยา" (Veuë de Siam) โดยอองรี อาบราฮัม ชาเตอแรง (Henri Châtelain) นักเขียนแผนที่ชาวฮอลันดา รวมอยู่ในหนังสือ Atlas bistorique พิมพ์ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ในปี พ.ศ.2262 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ภาพนี้อาศัยต้นแบบจากริ้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งบาทหลวงชาวฝรั่งเศสเขียนไว้ในหนังสือ Voyage de Siam (จดหมายเหตุตาชาร์ด) พิมพ์ครั้งแรกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2229 ตรงกับปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช [ภาพจากห้องสมุดส่วนบุคคล ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช พิมพ์ในหนังสือ กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง สำนักพิมพ์มติชน 2549]

น้ำนองท่วมทุ่งข้าวรอบอยุธยาไม่ยอมลดตลอดเดือน 12 ครั้นถึงเดือนอ้าย [เดือน 1] พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาเสด็จพยุหยาตราทางชลมารคกระบวนใหญ่สุด เคลื่อนจากพระนครศรีอยุธยาลงไปทำพิธีกรรมให้น้ำลด เรียกพิธีไล่เรือ หรือไล่น้ำ ที่บางขดาน หรือบางกระดาน ปัจจุบันเรียกบางปะอิน [กร่อนกลายจากบางพระอินทร์]

บางปะอิน จึงเป็นพื้นที่เฮี้ยนและศักดิ์สิทธิ์มาแต่ดึกดำบรรพ์ตราบจนทุกวันนี้

ไล่น้ำที่บางกระดาน

พระราชพิธีไล่น้ำครั้งใหญ่มีในแผ่นดินพระเอกาทศรถ มากกว่า 400 ปีมาแล้ว ราว พ.ศ.2149 พบในพระราชพงศาวดาร [ฉบับพระราชหัตถเลขา] สรุปดังนี้

พระเอกาทศรถเสด็จลงประทับเรือพระที่นั่งชัยสุพรรณหงส์ และเชิญพระพุทธปฏิมากรประดิษฐานในเรือวรสุวรรณหงส์ แห่เป็นกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคประทับขนานบางกระดาน ดำรัสให้เลี้ยงท้าวพระยามนตรีมุขทั้งหลาย

Advertisement

เสร็จแล้วแยกเรือกระบวนแห่พระไว้ เสด็จโดยกระบวนพยุหยาตรากลับขึ้นไประทับขนานท่ามหาวาสุกรี คอยทอดพระเนตรกระบวนเรือแห่พระพุทธปฏิมากร ซึ่งออกกระบวนภายหลังกระบวนเสด็จ

พระราชพิธีไล่เรือ [ไล่น้ำ] พบในกฎมณเฑียรบาลที่ตราไว้เมื่อ 500 ปีมาแล้ว เรือน พ.ศ.2000 ระบุโดยสรุปว่า พระเจ้าแผ่นดิน, พระอัครมเหสี, ลูกเธอ, พระสนม ทรงและแต่งเครื่องอย่างโบราณ ส่วนทวาทศมาส [โคลงดั้น] พรรณนาว่าเสด็จลงประทับเรือพระที่นั่งล่องไปทำพระราชพิธีไล่ชล [ไล่เรือ, ไล่น้ำ] บริเวณดินสะดือที่บางขดาน มีโคลงดั้นว่า “ตกบางขดานดิน สะดือแม่”

บางกระดาน ทุ่งหลวง

ไล่น้ำทำพิธีที่เอกสารเก่าเรียกบางขดาน ก็คือบางกระดาน [เหมือน ขบวน ตรงกับ กระบวน] หมายถึงบริเวณทุ่งหลวงราบเรียบราวแผ่นกระดานกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ซึ่งมีสะดือดิน

Advertisement

ทุ่งหลวงราบเรียบราวแผ่นกระดานเป็นพื้นที่ธรรมชาติ เกิดจากโคลนเลนแม่น้ำพัดพามากับน้ำป่าจากทางเหนือหลากท่วมเนิ่นนาน แล้วตกตะกอนทับถมเป็นประจำต่อเนื่องนับพันๆ หมื่นๆ แสนๆ ปีมาแล้ว

[สมัยโบราณ ทุ่งหลวงโล่งโถงสุดลูกหูลูกตา (ยิ่งกว่าทุ่งกุลาในอีสาน) ไม่มีต้นไม้และบ้านเรือนสิ่งก่อสร้างหนาแน่นเหมือนปัจจุบัน]

พระเจ้าปราสาททองโปรดให้ขุดสระยาว 400 เมตร กว้าง 40 เมตร แล้วสร้างปราสาทลงกลางสระ แล้วให้นามว่าพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ [ต่อมาบูรณปฏิสังขรณ์สืบมาหลายรัชกาล] ชวนให้น่าสงสัยว่าสระนี้จะเกี่ยวข้องกับ “ดินสะดือ” คือตาน้ำผุดที่มีมาแต่ดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ แล้วเป็นที่ทำพิธีกรรมไล่น้ำสืบมาตั้งแต่สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา
พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ พระราชวังบางปะอิน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา พระที่นั่งองค์นี้สร้างใหม่ตามแบบปราสาทเดิมของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (ภาพเก่าจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
สะดือ ในความเข้าใจของคนดั้งเดิมเป็นช่องทางกำเนิดของคนและสิ่งต่างๆ เพราะเชื่อว่าคนเกิดจากสะดือของแม่ [ความเชื่อนี้ตรงกับคติดั้งเดิมของอินเดียว่าพระพรหมถือกำเนิดจากสะดือ (นาภี) พระนารายณ์ ดังภาพสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์บนทับหลังปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์]

ดั้งนั้นสะดือเป็นอวัยวะศักดิ์สิทธิ์ จึงเรียกเสาหลักเมืองว่า สะดือเมือง, เรียกส่วนที่ลึกสุดของน้ำว่าสะดือน้ำ หรือสะดือทะเล หรือสะดือสมุทร [พบในรำพันพิลาป ของ สุนทรภู่]

เมื่อเรียกสะดือดิน หรือดินสะดือ น่าจะหมายถึงตาน้ำผุด [คือ ซัม, ซำ] อันเป็นทางขึ้นลงของน้ำบาดาล ที่ชาวบ้านสมัยก่อนเรียกรูนาค เพราะเป็นทางขึ้นลงของนาคผู้พิทักษ์ดินและน้ำ

บริเวณที่ชวนให้คิดว่าเป็นดินสะดือ หรือตาน้ำผุดของบางกระดาน ก็คือปัจจุบันเป็นสระน้ำซึ่งมีพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ตั้งอยู่ในพระราชวังบางปะอิน [สระน้ำหรือตาน้ำในสระเทียบได้กับสระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ที่สุพรรณบุรี]

ถ้าจะให้น้ำลดก็ต้องทำพิธีไล่น้ำลงสะดือดินกลับสู่บาดาลอันเป็นแหล่งของน้ำ แล้ววิงวอนร้องขอต่อนาคให้ควบคุมน้ำคืนบาดาลตามความเข้าใจของคนสมัยกรุงศรีอยุธยา เหตุนั้นจึงต้องมีพิธีกรรมไล่น้ำที่บางขดาน บริเวณสะดือดิน

ที่ว่าจะให้น้ำลดต้องผลักดันน้ำไหลลงทะเลอ่าวไทย เป็นความรู้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่

น้ำท่วมข้าว ต้องไล่น้ำ

น้ำมากถ้ามีต่อเนื่องไม่ลดจนเนิ่นนานถึงสิ้นปีนักษัตรเก่า [กลางเดือน 12] กระทั่งขึ้นปีนักษัตรใหม่ [เดือนอ้าย หรือเดือน 1] ราวปลายพฤศจิกายน-ต้นธันวาคม ซึ่งเป็นเหตุให้รวงข้าวแก่แล้วร่วงจมน้ำ และทำให้เมล็ดข้าวหักละเอียดไม่เป็นตัว ไม่เป็นเมล็ดเต็มๆ เป็นเหตุชาวนาไพร่บ้านพลเมืองกระวนกระวายขวนขวายที่จะให้น้ำลด

พระเจ้าแผ่นดินต้องทรงเป็นพระราชธุระ แต่จะทำอย่างอื่นก็ไม่ได้ นอกจากกระทำเป็นพระราชพิธีเพื่อให้เป็นที่อุ่นใจของราษฎร นั่นคือไล่เรือหรือไล่น้ำให้น้ำลด โดยเสด็จทางชลมารคลงไปบางปะอิน ทรงทำพิธีกรรมด้วยกระบวนเรือครบถ้วนมหึมาจากพระนครศรีอยุธยา

ดินและน้ำสร้างความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหารบำรุงเลี้ยงผู้คนพลเมืองของราชอาณาจักร ดังนั้นพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาต้องมีพิธีกรรมกระทำบำเรอบำรุงประจำฤดูกาลทุกปีมิได้ขาด [เป็นนาฏกรรมแห่งรัฐ] เพื่อขอขมาและวิงวอนร้องขอต่อดินและน้ำมิให้เป็นอันตราย

 

แผนที่แสดงแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณบางกระดาน สถานประกอบพิธีกรรมไล่น้ำ ปัจจุบันเรียกบาง ปะอิน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา [โดย ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ ธันวาคม 2562]

บางกระดาน คือ บางปะอิน

บางกระดาน คือ บางปะอิน พื้นที่เฮี้ยนและศักดิ์สิทธิ์ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาเสด็จพยุหยาตราทางชลมารคไปทรงทำพิธีไล่น้ำ

เป็นผลการศึกษาและตรวจสอบของพระยาโบราณราชธานินทร์ฯ [อดีตสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ผู้เริ่มบูรณปฏิสังขรณ์อยุธยาเมืองเก่า และรับราชการในอยุธยาต่อเนื่องนาน 33 ปี]

[ข้อมูลหลักฐานชุดนี้ผมรู้จากคำแนะนำของ ปรีดี พิศภูมิวิถี จากคำอธิบายของพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ในคำกราบบังคมทูลเรื่อง “ระยะทางเสด็จพระราชดำเนินประพาส ทรงบวงสรวงอดีตมหาราช ณ พระราชวังกรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลที่ 6” [พิมพ์ในหนังสือ กรุงเก่าเล่าเรื่อง โดย รศ.วรรณศิริ เดชะคุปต์ และ ผศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี บรรณาธิการ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2554 หน้า 209-211]]

ถ้าจริงตามนี้น่าจะเข้าใจได้ว่าบางกระดานเป็นชื่อเก่าดั้งเดิมก่อนมีกรุงศรีอยุธยา ส่วนบางปะอินเป็นชื่อสมัยหลัง [ตั้งแต่เมื่อไร? ยังหาหลักฐานอธิบายตรงๆ มิได้]

บางปะอินเป็นพื้นที่เฮี้ยนและศักดิ์สิทธิ์ และมีผู้นำท้องถิ่นแข็งแรงตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา เนื่องเพราะเป็นที่ราบลุ่มชุ่มน้ำ มีลำน้ำผ่านหลายสาย เช่น แม่น้ำป่าสัก (สมัยโบราณ) รองรับการไหลลงมาจากทางเหนือของโคลนตมอุดมสมบูรณ์ในข้าวปลาอาหาร จึงมีชุมชนสองฝั่งลำน้ำหนาแน่นและมีกำลังคนแข็งแรง [สรุปจากหนังสือ สร้างบ้านแปงเมือง ของ ศรีศักร วัลลิโภดม สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2560 หน้า 253-258] พ้นชุมชนออกไปเป็นพื้นที่ราบรับน้ำหลาก เรียก ทุ่งหลวง


“บางพระอินทร์” เป็น บางปะอิน

(บน) วัดนิเวศธรรมประวัติและพระราชวังบางปะอิน สองฟากแม่น้ำเจ้าพระยา (ภาพโดย น.หนูหางยาว จาก https://pantip.com/topic/37178302)

บางปะอิน เป็นชื่อสมัยหลัง เรียกแทนชื่อเดิมว่าบางขดาน หรือบางกระดาน

ชื่อบางปะอินน่าจะกร่อนกลายจากพระนาม “พระอินทราชา” ซึ่งเป็นพระนามพระเจ้าทรงธรรมก่อนเสวยราชย์ [มีหลักฐานในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต พ.ศ.2182] แล้วทอนลงสั้นๆ ว่า “บางพระอินทร์” นานไปก็กร่อนเป็น “บางปะอิน”

นาม “พระอินทราชา” ได้รับยกย่องเรียกภูมิสถานยังตกค้างความนิยมไว้ในชื่อ “ประตูน้ำพระอินทราชา” ต.เชียงรากน้อย อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา

แม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ข้างหน้า บริเวณท้ายเกาะวัดนิเวศธรรมประวัติ (ภาพจาก https://www.facebook.com/วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร)

พระเจ้าทรงธรรม พระนามเดิม “อินทราชา”

พระอินทราชา คือพระนามเดิมของพระเจ้าทรงธรรม ที่ทรงเป็นโอรสองค์โตของสมเด็จพระเอกาทศรถ ที่ประสูติจาก “นางห้าม” หญิงท้องถิ่นบางปะอิน พระยาโบราณราชธานินทร์ฯ มีคำอธิบายจากคำบอกเล่าเก่าแก่ ดังต่อไปนี้

พระเอกาทศรถ เมื่อยังดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราช [ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวร] เสด็จลงเรือไปประพาสทางแม่น้ำข้างใต้พระนคร เรือพระที่นั่งถูกพายุฝนล่มลง ต้องเสด็จขึ้นอาศัยพักอยู่บนบ้านราษฎรที่บางปะอิน เป็นเหตุทรงได้หญิงชาวบ้านคนหนึ่งเป็นนางห้าม แต่มิได้ทรงรับไปเลี้ยงดูไว้ในพระราชวัง กระทั่งนางนั้นมีบุตรชาย ต่อมาพระเอกาทศรถทรงรับกุมารไปเลี้ยงดู แต่ไม่ได้ทรงรับโดยเปิดเผยว่าเป็นพระราชบุตร

กุมารที่เป็นพระราชบุตร [ของพระเอกาทศรถ] มีบุญญาธิการ ได้เป็นที่ พระอินทราชา ต่อมาได้ครองราชสมบัติ ทรงพระนาม พระเจ้าทรงธรรม

สถานที่เกี่ยวข้องกับพระราชประวัติของพระเจ้าทรงธรรมกับพระเจ้าปราสาททอง คลองบ้านเลน และสะพานข้ามคลองบ้านเลน ข้างวัดชุมพลนิกายาราม อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา


พระเจ้าปราสาททอง

โดยทั่วไปเคยเข้าใจว่าพระเจ้าปราสาททองเป็นกุมารราชบุตรเกิดจากหญิงชาวบางปะอิน

แต่พบหลักฐานในพงศาวดารฉบับวัน วลิต พ.ศ.2182 ว่าพระเจ้าปราสาททอง เป็นลูกของพี่ชายของหญิงชาวบางปะอิน หมายความว่าพระเจ้าทรงธรรมกับพระเจ้าปราสาททอง มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องเครือญาติในตระกูลบ้านเดียวกัน [ที่บางปะอิน] พระยาโบราณราชธานินทร์ฯ อธิบายเรื่องนี้ไว้ ดังนี้

“ส่วนประวัติของพระเจ้าปราสาททองนั้น จดหมายเหตุของพวกฝรั่งได้กล่าวชัดเจน ว่าพระองค์เป็นบุตรพระยาศรีธรรมาธิราชๆ เป็นพี่ของพระชนนีพระเจ้าทรงธรรม และสมเด็จพระเอกาทศรถทรงพระกรุณาเอาไปเลี้ยงไว้เป็นมหาดเล็ก รับราชการใกล้ชิดพระองค์มาแต่ยังเล็ก

ข้อนี้เองทำให้ตำราเกร็ดเอาพระเจ้าปราสาททองไปยกให้เป็นพระราชบุตรสมเด็จพระเอกาทศรถ และด้วยเหตุต่อมาเมื่อพระเจ้าปราสาททองได้ราชสมบัติแล้ว ได้ทรงสร้างพระราชวังบางปะอินไว้เป็นที่ประพาส และทรงสร้างวัดชุมพลนิกายารามซึ่งผู้เล่าหลงไปว่าสร้างลงในที่บ้านเดิมของพระชนนีพระเจ้าปราสาททอง

แต่ความจริงวัดชุมพลนิกายาราม พระเจ้าปราสาททองได้ทรงสร้างลงในบ้านเดิม ของพระอัยกาของพระองค์ ซึ่งพระยาศรีธรรมมาธิราชพระชนกของพระองค์และสมเด็จพระชนนีของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมผู้เป็นน้อง และซึ่งเป็นพระมาตุฉาของพระองค์ได้ประทับอยู่มาแต่เดิม”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image