จากความมั่นคงถึง ‘ทหารบ้านนาย’ ได้เวลาคุยเลิก-ไม่เลิก ‘เกณฑ์ทหาร’

ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร

กลายเป็นทอล์กออฟเดอะไทยแลนด์ขึ้นมาอีกครั้งอย่างครึกโครม สำหรับประเด็นการยกเลิกเกณฑ์ทหาร เมื่อมีภาพและข้อความเชิงดูแคลนพลทหารอย่างยากจะรับได้ จากสาวรายหนึ่งซึ่งอ้างเป็นลูกนายทหาร คล้ายเป็นเรื่องราววนลูปซ้ำไปมาครั้งแล้วครั้งเล่า เข้าทางกระแสพรรคอนาคตใหม่และสังคมไทยส่วนหนึ่ง ซึ่งมองว่าถึงเวลาทบทวนเรื่องนี้อย่างจริงจังกันเสียที พร้อมเน้นย้ำว่าไม่ได้ยกเลิกทหาร ล้างบางกองทัพ หากแต่ควรเป็นไปด้วยความสมัครใจเพียงเท่านั้น

ในฐานะนักรัฐศาสตร์ และผู้เคยผ่านด่านการเป็นรั้วของชาติในบทบาท ‘พลทหาร’ ด้วยความสมัครใจ ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความเห็นน่าสนใจในประเด็นร้อนแรงนี้

ความมั่นคง คือออกซิเจน มองไม่เห็น แต่ขาดไม่ได้?

ผศ.ดร.ฐิติวุฒิเริ่มต้นด้วยประเด็น ความมั่นคง โดยระบุว่า สิ่งหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกันคือเวลาพูดถึงความมั่นคง หลายคนที่พูดถึงความมั่นคง หรือคนที่ศึกษาการเมืองไทย มองว่าความมั่นคงเป็นเรื่องของทหาร ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะจริงๆ แล้วเป็นความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างรัฐและสังคม เรามักเปรียบความมั่นคงเป็นเหมือนออกซิเจน คือ ตอนมีอยู่ไม่รู้ว่าสำคัญ แต่เมื่อขาดไปจะรู้สึกว่าเรากำลังจะตาย นี่คือการเปรียบเปรยที่เห็นได้ชัดที่สุด วิธีคิดแบบนี้ ในเชิงนโยบายและกฎหมายต่างๆ สิ่งหนึ่งที่หน่วยงานความมั่นคงต้องตระหนัก คือ จะทำงานด้วยความประมาทไม่ได้ เพราะเมื่อไหร่ประมาท คือการเดินผ่านความวิบัติ ดังนั้นการจะยกเลิกหรือไม่ยกเลิกนั้น ถ้าเราเข้าใจปรัชญาตรงนี้ เราจะคุยกันเรื่องอื่นๆ ได้เข้าใจทุกฝ่าย

อีกเรื่องหนึ่งคือ การเปรียบเปรยกองทัพเหมือนถังดับเพลิงในบ้าน ถ้าไม่มีไฟไหม้ เกะกะมาก แต่ถ้าเมื่อไหร่ไฟไหม้ ถังดับเพลิงสำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นการจะยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ส่วนหนึ่งต้องทำความเข้าใจเรื่องความมั่นคง

Advertisement

โจทย์เรื่องการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ต้องทำความเข้าใจในความมั่นคงภายนอกประเทศ เรื่องสถานการณ์การเมืองโลก เพราะในหลายครั้งมีความจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรด้านกำลังคน การมองภาพการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบัน ถ้าเทียบกับ 10-20 ปีที่แล้ว ระดับความมั่นคงลดน้อยลง อาจไม่มีการสุ่มเสี่ยง ปะทะอะไรกัน แต่การแข่งขันของมหาอำนาจทำให้ประเทศแถวนี้เริ่มสะสมอาวุธมากขึ้น

“โจทย์ที่เป็นหนามยอกอกเราคือความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้และสถานการณ์ยาเสพติดทางภาคเหนือ ซึ่ง 2 สถานการณ์นี้เกี่ยวพันกัน เนื่องจากต้องดูแลชายแดน ต้องใช้กำลังคน เพราะฉะนั้นทั้งระดับของการเมืองภายในและภายนอกประเทศ ทำให้เห็นว่าทรัพยากรบุคคลมีความสำคัญแม้ว่าจะใช้เทคโนโลยีในปัจจุบัน แต่มันไม่เพียงพอ โดยเฉพาะสถานการณ์ชายแดน

เวลามองเรื่องความมั่นคงระหว่างประเทศ การปะทะ 1 สัปดาห์ สามารถพัฒนาไปสู่การปะทะกันได้ การบริหารทรัพยากรกำลังคนในกองทัพ คือโจทย์ใหญ่ถ้าจะยกเลิกการเกณฑ์หารหรือไม่

Advertisement

การดึงทรัพยากรทางสังคมมาใช้เรื่องการสร้างความมั่นคงร่วมกัน มันไม่ใช่หน้าที่ของกองทัพอย่างเดียว แต่คือความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและสังคม” ผศ.ดร.ฐิติวุฒิกล่าว

เสนอแนวทาง 3 ระยะ อย่า ‘เบียดเบียน’ พลทหาร

สำหรับการที่มีพรรคการเมืองรณรงค์เรื่องรณรงค์ยกเลิกเกณฑ์ทหาร นักรัฐศาสตร์ท่านนี้มองว่า

นี่คือจุดเริ่มต้น หรือการ ‘คิกออฟ’ เพื่อจะคุยกันเรื่องอื่นๆ ไม่ได้หมายความว่าโยนเรื่องนี้ปุ๊บแล้วจบเลยทีเดียว ในการปรับต้องเป็นขั้นเป็นตอน เพราะความมั่นคง ประมาทไม่ได้

ถ้าเราดูตัวเลขการเกณฑ์ทหารที่ผ่านมา บางหน่วยสมัครเต็ม แต่บางหน่วยก็ไม่ใช่อย่างนั้น จะสังเกตได้ว่าช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ คนสมัครทหารเยอะมาก ที่น่าสนใจคือค่าตอบแทนของทหารกองประจำการถูกปรับให้สูงขึ้น ส่วนตัวคิดว่ากองทัพเองก็ไม่มั่นใจว่ารับสมัครแล้วจะพอหรือไม่

ถ้าสมัครใจแล้ว ค่าตอบแทน งบประมาณสนับสนุนเพียงพอหรือไม่ ถ้าในกรณีรับสมัคร ส่วนตัวคิดว่าค่าตอบแทนไม่พอ เพราะการเข้ามาเกณฑ์ทหาร เสี่ยงกับความตาย โดยเฉพาะถ้าไปอยู่ชายแดน สวัสดิการมีอะไรให้เขา 1.เงินเดือน หรือ 2.สิทธิพิเศษ อย่างทหารอเมริกัน เป็นครบ 2 ปีให้เรียนมหาวิทยาลัยฟรี ต้องคุยกันอีกหลายเรื่อง

ผศ.ดร.ฐิติวุฒิย้ำว่า ควรมีเวลาคุยเรื่องนี้กันอย่างจริงจังเพราะทุกครั้งจะมีการพูดคุยก็ต่อเมื่อมีเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจให้สังคม เช่น พลทหารโดนซ้อม ถูกใช้งานในบ้านนายพล เราจะคุยแบบไฟไหม้ฟาง แต่รัฐกับสังคมไม่เคยคุยกันอย่างจริงจัง ทั้งที่ความมั่นคงของรัฐก็คือความมั่นคงของสังคม

ปัจจุบัน ถ้าใครปฏิเสธที่จะคุยเรื่องการเกณฑ์ทหาร เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะสังคมให้ความสนใจมาก เป็นโอกาสที่จะได้พูดคุยกัน

ถามว่าจะมีแนวทางอย่างไร คิดว่าจะให้เป็นหน้าที่ของกองทัพอย่างเดียวก็คงไม่ใช่ หน้าที่รัฐบาลอย่างเดียวก็ไม่ใช่ หน้าที่พรรคการเมืองอย่างเดียวก็ไม่ใช่อีก สังคมกับรัฐต้องคุยกัน ถ้ามองในแง่นโยบายปัจจุบัน การยกเลิกหรือไม่ยกเลิกเกณฑ์ทหาร การจะออกในแง่นโยบายหรือกฎหมาย อาจต้องมองเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

ระยะสั้น ปรับระบบการฝึก สร้างวัฒนธรรมที่ดี จะทำอย่างไรให้ครูฝึกเข้าใจในการฝึกแบบทหารอาชีพ ปัจจุบันให้ฝึก 10 สัปดาห์ ถามว่าเพียงพอหรือไม่ในการเปลี่ยนจากพลทหารเป็นนักรบ ส่วนตัวคิดว่าไม่พอ ดังนั้น ต้องเติมความรู้ให้ครูฝึกก่อน ปัญหาในปัจจุบันที่คนยังไม่เข้าใจมากนัก คือหลายครั้งปัญหาเกิดจากผู้ช่วยครูฝึก ซึ่งอาจเป็นทหารรุ่นพี่ หรือรุ่นราวคราวเดียวกัน วุฒิภาวะอาจยังไม่พอ มีการลงไม้ลงมือ ซึ่งไม่ใช่แล้ว ในระยะสั้น ต้องปรับให้สังคมพึงพอใจได้ ซึ่งจะนำไปสู่การคุยเรื่องอื่นๆ ได้

ส่วนการใช้พลทหาร นอกเหนือจากภารกิจด้านทหาร สังคมกำลังเคลือบแคลง กองทัพสามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงที เช่น ถ้าต้องการเอาพลทหารไปใช้ ต้องมีค่าตอบแทน เทียบเท่าค่าแรงขั้นต่ำต่อวัน นอกเหนือจากเงินเดือน ต้องมีค่าแรง และเป็นไปด้วยความสมัครใจ มีคนในกองทัพทำเรื่องแบบนี้ แต่มีจำนวนน้อยที่ทำตามแบบนี้ ส่วนใหญ่มีลักษณะอภิสิทธิ์ชนซึ่งแก้ไขได้

สมัยผมเป็นพลทหาร เจอประสบการณ์ทั้ง 2 แบบ ตอนนั้นอยู่กองร้อย นายทหารคนหนึ่งสร้างบ้าน จะปูกระเบื้องที่บ้าน เผอิญทหารที่กองร้อยผมเป็นช่างฝีมือปูกระเบื้อง นายทหารมาถามว่าใครอยากไปทำงานข้างนอกบ้าง คนที่ปูกระเบื้องเป็นเขาก็ต้องการคนไปเป็นลูกมือ ผมอยู่กองร้อยจนเบื่อแล้ว อยากไปเที่ยวบ้าง ก็ไปเป็นลูกมือให้เขา ปรากฏว่าตอนพักเที่ยง เขาเลี้ยงดูอาหารอย่างอลังการ เสร็จปุ๊บ ยังให้เงินกลับบ้านอีก จึงเป็นไปด้วยความสมัครใจและมีค่าตอบแทน ไม่ทำลายน้ำใจกัน แต่บางกรณีเอาทหารไปเลย ไปขุดหลุมทิ้งเศษอาหาร ค่าก๋วยเตี๋ยวสักชามก็ไม่ให้ นี่เป็นประสบการณ์ 2 แบบของผม

ผศ.ดร.ฐิติวุฒิยืนยันว่า ส่วนตัวไม่ได้ต่อต้านการพาพลทหารออกไปทำงานข้างนอก แต่ต้องไม่เบียดเบียนกัน และควรมีค่าตอบแทนที่เหมาะสม

“ผมเคยเจอทั้งวัฒนธรรมที่ดีและไม่ดี ในระยะสั้น กองทัพต้องสร้างวัฒนธรรมที่ดีในการปฏิบัติต่อพลทหารก่อน ผมเคยเป็นทหาร 6 เดือนด้วยการสมัครเป็นนาวิกโยธิน เป็นทหารหน่วยรบ แม้เป็นอยู่แค่ 6 เดือนก็จริง แต่ระยะเวลาการฝึกนาน 4 เดือน ตอนนั้นฉี่เป็นเลือดทุกวัน เพราะฝึกหนัก และอุณหภูมิที่ร้อน ครูฝึกเป็นหน่วยรบพิเศษ สาเหตุที่สมัครใจไปเพราะอยากเรียนรู้ด้านความมั่นคง ส่วนตัวคิดว่าระยะสั้นคือการสร้างวัฒนธรรมที่ดี คือสิ่งที่ทำได้ ส่วนระยะกลางต้องคุยกันเรื่องการปรับค่าตอบแทน เรื่องสวัสดิการ เป็นไปได้ไหมที่เราจะตอบแทนพลทหารเทียบเท่ากับทหารชั้นประทวน เพราะเป็นพลเมืองที่มารับใช้รัฐ เพราะฉะนั้น รัฐก็ต้องตอบแทนอย่างสมน้ำสมเนื้อ ปัจจุบันเรามีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาในเมื่อมาเป็นทหาร อย่างน้อย 1-2 ปี แล้วหลังจากนั้นให้เขาได้เรียนฟรีในสถาบันการศึกษาของรัฐโดยไม่ต้องกู้ยืมได้หรือไม่ เมื่อปรับระบบสวัสดิการมาดีแล้ว ค่อยคุยกันว่าถึงเวลาหรือยังที่จะยกเลิกการเกณฑ์ทหาร” ผศ.ดร.ฐิติวุฒิกล่าว

เลิกผูกขาด ‘ความรักชาติ’ ย้ำโจทย์ใหญ่ของทุกฝ่าย

มาถึงตรงนี้ ถามว่าในทางปฏิบัติจะสามารถยกเลิกการเกณฑ์ทหารได้ทันทีหรือไม่หากสังคมไทยเห็นพ้อง

ผศ.ดร.ฐิติวุฒิบอกว่า ถ้ามองในระยะสั้นว่าต้องยกเลิกการเกณฑ์ทหารตอนนี้ในทันที บางครั้งคนที่ทำงานด้านความมั่นคงอาจรู้สึกกระอักกระอ่วน ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจได้ การยกเลิกการเกณฑ์ทหารเป็นโจทย์ของทุกฝ่าย ทั้ง กองทัพ รัฐบาล และนักการเมืองด้วย โดยต้องมองปัจจัยเรื่องงบประมาณว่าเพียงพอหรือไม่ การบริหารจัดการในกองทัพสามารถนำงบประมาณมาใช้ได้เท่าเทียมหรือไม่เมื่อมองเนื้องานในปัจจุบัน

“เป็นหน้าที่ของคนอื่นในสังคมที่ต้องมาคุยกันด้วย คนที่จะเกณฑ์ทหารก็ต้องมาคุย คนที่อยู่ในกองทัพก็ต้องมาคุย คนที่ปลดประจำการไปแล้ว มีประสบการณ์ทั้งดีและไม่ดี ก็ต้องมาคุย พ่อแม่ก็ต้องมาคุย สถาบันการศึกษาของรัฐก็ต้องมาคุย สิ่งที่อยากเชียร์ให้เกิดการพูดคุยในปัจจุบันเพราะต้องการสร้างการรับผิดชอบร่วมในด้านความมั่นคง เพราะความมั่นคงไม่ใช่ภาระหน้าที่ของทหารในกองทัพอย่างเดียว นี่คือโจทย์ที่อยากเน้น

เราต้องอย่าผูกขาดความรักชาติ อย่าคิดว่าความมั่นคงต้องเป็นหน้าที่ของคนนั้นคนนี้ ถ้าทำงานคนเดียวโดยปราศจากการช่วยเหลือของประชาชน ก็ทำงานไม่ได้ ปราศจากภาษีประชาชนก็ทำงานไม่ได้ ประชาชนเอง ถ้าขาดทหาร ตำรวจ ที่แม้ได้เงินเดือนแต่ก็ต้องเสียสละ ก็อยู่ไม่ได้ ฉะนั้น อย่าผูกขาดความรับผิดชอบเรื่องความมั่นคง นี่จึงเป็นจังหวะที่ดีที่สุดที่ควรจะฟังและคุย และอาจคุยยาวนิดหนึ่ง ต่างจากเรื่องด้านเศรษฐกิจ สังคมซึ่งแต่ละเรื่องมีความซับซ้อนต่างกัน แต่ความมั่นคงมีความละเอียดอ่อน”

ถามว่า ถ้าใครออกมาสนับสนุนการยกเลิกเกณฑ์ทหาร ชังชาติไหม

“คิดว่าสังคมไทย ควรเปลี่ยนมุมมอง อย่ามองคนอื่นเป็นศัตรู ให้เน้นเนื้องาน ทุกคนในทางการเมืองสามารถแสดงออกว่าเชียร์หรือไม่เชียร์อะไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร อย่างผมเชียร์ให้คุยเรื่องนี้ ในแง่มุมสร้างสรรค์ พรรคการเมืองก็ทำหน้าที่เขาไป ทหารก็ทำหน้าที่ไป แต่ควรมีพื้นที่กลางที่แลกเปลี่ยน”

สงครามอนาคต สงครามการค้า ทำไมยังต้องเกณฑ์ทหาร?

อีกประเด็นที่สังคมตั้งคำถาม คือสิ่งที่มักกล่าวกันว่า สงครามในอนาคตเป็นสงครามการค้า ทว่าบางประเทศเสถียรภาพทางเศรษฐกิจสูง อย่างเกาหลีใต้ ก็บังคับเกณฑ์ทหาร ?

“ตรงนี้ถ้าอธิบายในมุมมองรัฐศาสตร์ คิดว่าต้องลองไปตั้งต้นความทรงจำของประเทศนั้นๆ ลักษณะอุดมการณ์ทางการเมืองของประเทศนั้นๆ รวมถึงโจทย์ด้านความมั่นคงที่ต้องเจอ เกาหลีมีความเป็นชาตินิยมสูง โดยอาจเป็นการต่อสู้กันระหว่างความต่างของอุดมการณ์ทางการเมือง ระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ด้วย เขาอาจมีประสบการณ์ด้านสงครามกลางเมือง แม้รวยและมั่นคง แต่เขาเองก็ไม่มั่นใจว่าเมื่อไหร่จะโดนเกาหลีเหนือบุก

หรือในอิสราเอลซึ่งเผชิญหน้ากับภาวะความมั่นคง โดนยิงจรวดถล่มทุกวัน ผู้หญิงขับรถถังได้ หรือในกรณีมาเลเซีย ลามไปถึงการเกณฑ์ผู้หญิงเป็นทหารด้วย ส่วนประเทศในฝั่งตะวันตก แถบสแกนดิเนเวีย บางประเทศมีการเกณฑ์ทหาร แต่เกณฑ์แค่ปีเดียว ระยะเวลาในการเกณฑ์ก็สำคัญ ในยุโรปมีประเด็นเรื่องผลกระทบจากความขัดแย้งในรัสเซีย จึงยังไม่มั่นใจว่ากำลังทหารที่ตัวเองมี เพียงพอหรือไม่

ประเทศที่จะบอกว่ามีหรือไม่มีการเกณฑ์ทหาร เอาจริงๆ มั่นใจหรือไม่ว่าจะไม่ต้องเผชิญกับอะไร เพราะปรัชญาความมั่นคง คือ ประมาทเมื่อไหร่ ฉิบหายเมื่อนั้น (หัวเราะ)” คือคำตอบของนักวิชาการท่านนี้

เพิ่มศักยภาพกำลังพลสำรอง หันมองงาน ‘วิจัย’ ของตัวเอง

ผศ.ดร.ฐิติวุฒิระบุว่า เวลาพูดกันเรื่องยกเลิกหรือไม่ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ประเด็นหนึ่งที่ลืมพูดคือ กำลังพลสำรอง เราฝึก รด.เยอะ แต่คำถามคือ ใช้งานได้ไหมในภาวะฉุกเฉิน

“หลายพรรค หลายคนบอกว่ายกเลิกเกณฑ์ทหาร ใช้กำลังพลสำรอง คำถามคือใช้ได้จริงไหม เราต้องเพิ่มศักยภาพกำลังพลสำรองให้ใช้งานได้จริง

เรื่องนี้มีประเด็นยิบย่อยเยอะมาก ต้องใช้เวลาคุย ซึ่งอาจไม่ทันใจบางคน แต่จะทำแบบทุบโต๊ะไม่ได้ ต้องรับฟังซึ่งกันและกัน

เมื่อมีการเสนอให้ยกเลิกเกณฑ์ทหาร มองว่าอย่าปฏิเสธเลยในทันทีโดยไม่รับฟัง สังคมเหมาะสมที่สุดแล้วที่จะคุยเรื่องเหล่านี้ ประเทศเราในปัจจุบันควรต้องปฏิรูปหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ ระบบราชการ ซึ่งพูดกันมานานแต่ยังไม่เป็นรูปธรรมสักที การเกณฑ์ทหารก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการนั่นแหละ

เราอย่ารำดาบมากไป ขี่ม้าเลียบเมืองมากไป ไม่เข้าเมืองสักที ปัจจุบันปัญหาเรื่องความมั่นคงมีความซับซ้อนมาก ไม่ใช่แค่ประเทศเพื่อนบ้านยกทัพมารบ แต่ผลิตยาเสพติดมาขายในบ้านเรา นี่คือปัญหาความมั่นคงใหม่

ผศ.ดร.ฐิติวุฒิบอกอีกว่า กองทัพมีสถาบันทางด้านคลังสมอง มีสถาบันวิจัย แต่พอถึงระดับนโยบาย ขึ้นอยู่กับนาย คือ ผู้บังคับบัญชา ว่าตระหนักความสำคัญของประเด็นที่ผ่านการวิจัยมากน้อยแค่ไหน บางที่กองทัพเองอาจเริ่มต้นดูงานวิจัยที่คนในกองทัพทำเองก่อนก็ได้ ถ้ายังไม่พร้อมที่จะฟังคนนอก

“สถาบันวิจัยต่างๆ ในกองทัพซึ่งมีเยอะมาก ทุกกองทัพมีของตัวเองหมด ขอให้เอามาใช้งานบ้าง ใช้งานคลังสมองของตัวเองก่อน มีงานวิจัยเยอะ รื้อออกมาสิ มาดูว่าตัวเองมีองค์ความรู้อะไร การเกณฑ์ทหาร ยกเลิกหรือไม่ยกเลิก อย่าเคลื่อนด้วยความรู้สึก ให้เคลื่อนด้วยองค์ความรู้ ทั้งฝ่ายกองทัพ สังคม พรรคการเมือง และรัฐบาล ไม่ใช่ว่าฝ่ายหนึ่งบอก ต้องยกเลิกเดี๋ยวนี้ ฝ่ายกองทัพก็บอก ไม่เอา ไม่ฟัง”

ทหารเกณฑ์ไทยใน ‘สังคมชายขอบ’

อาจารย์รัฐศาสตร์ปิดท้ายในประเด็นชวนคิดต่อ โดยให้สังคมไทยร่วมย้อนมาดูตัวเองด้วย

“สิ่งที่เรายังไม่พูดถึงคือสังคมเองก็มักทำให้พลทหารกลายเป็นคนในสังคมชายขอบ เช่น ในหนังและละคร พลทหารพูดเหน่อ พูดอีสาน ทำให้พลทหารดูเป็นคนต่ำต้อยของสังคม สังคมต้องตั้งคำถามตัวเองแล้ว

อย่างผมเองตอนปลดประจำการแล้วไปสมัครเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย มีสถาบันแห่งหนึ่ง แม้ไม่ได้แสดงท่าทีรังเกียจอย่างตรงไปตรงมา แต่พอบอกว่าเพิ่งปลดประจำการมา ก็มองหัวจรดเท้า แต่พอไปสมัครที่ธรรมศาสตร์ ลำปาง ได้พบคณบดีท่านหนึ่ง ก็สัมภาษณ์เกี่ยวกับวิทยานิพนธ์ การนำเสนองานวิชาการ แล้วรับเข้าทำงาน พอเข้าไป ผมไปบอกคณบดีท่านนั้นว่า ถูกปฏิเสธมา 2 ที่แล้ว เพราะเป็นทหารปลดประจำการ ท่านตอบว่า การที่คุณไปเป็นพลทหาร คุณกำลังค้นหาตัวเอง ผมประทับใจมาก ที่ไม่ได้ถูกมองว่าการเป็นพลทหารคือการไร้ทางเลือก หรือจนตรอก” อดีตทหารปลดประจำการย้อนเล่าอดีต เมื่อราว 20 ปีก่อน พร้อมปิดท้ายในมุมมองของโลกความจริงว่า

“จู่ๆ มาจับให้นั่งคุยไม่ได้หรอก แต่ต้องมีแผนอะไรบางอย่างออกมา เมื่อมีพรรคการเมืองคิกออฟแล้ว กองทัพจะทำอย่างไรต่อ อาจไปสำรวจงานวิจัยในกองทัพเองก่อนถ้ายังไม่อยากคุยตอนนี้ แล้วค่อยกลับมาคุย เวทีในการพูดคุยแน่นอนว่าคือ 1.รัฐสภา 2.วงวิชาการ 3.หน่วยงานภาครัฐ 4.ภาคประชาสังคม เริ่มต้นกรอบระยะเวลาในการคุย และสร้างพื้นที่ในการคุยหลายๆ พื้นที่”

ถ้าไม่คุยเรื่องนี้ จะน่าเสียดายมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image