โลกเปลี่ยน อาเซียนต้อง ‘อยู่เป็น’

เวียดนาม ประธานอาเซียนปีหน้า มีการพัฒนาและเติบโตอย่างรวดเร็วน่าจับตา

ท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจของไทย หันมาหันไป ชายตามองอาเซียน ก็มีประเด็นชวนติดตามมากมายโดยเฉพาะหลังจากไทยแลนด์นั่งประธานอาเซียน 2562 ก่อนส่งไม้ต่อให้เวียดนามในปีหน้า

ในห้วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลง แข่งขัน งัดข้อกันระหว่างประเทศมหาอำนาจ อาเซียนอยู่ตรงไหน และจะอยู่อย่างไรบนสถานการณ์ครั้งสำคัญนี้

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานคณะรัฐมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชีย หรือ APRC กล่าวปาฐกถาไปหมาดๆ ที่ห้องประชุมชั้น 4 อาคารศรีศรัทธา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในการประชุมวิชาการ อาเซียนพลัส : สันติภาพ ความมั่นคงและความคาดหวังในอนาคต การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับ

หัวข้อ “อาเซียนซัมมิทครั้งที่ 35 กับภูมิสถาปัตย์ทางการเมืองในภูมิภาค” มีผู้สนใจเข้าฟังล้นหลาม ถึงขนาดที่ผู้จัดต้องใช้วิธีการถ่ายทอดสดไปให้ผู้เข้าร่วมงานรับชมอีกห้องหนึ่งเพิ่มเติม

Advertisement

ก่อนไปถึงประเด็นอื่นใด ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ ปูพื้นฐานให้เข้าใจตรงกันก่อนว่า ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 นั้นแนวคิดของไทยในฐานะประธานอาเซียน คือ การร่วมมือในหลักการ 3 เอ็ม ได้แก่ 1.การไว้ใจซึ่งกันและกัน 2.ความเคารพซึ่งกันและกัน 3.การมีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยมีธีมคือความร่วมมือร่วมใจ ก้าวไกลยั่งยืน และความต้องการในการสร้างอาเซียนแบรนด์ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางของความร่วมมือโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“การก้าวไกล หมายถึงการเข้าสู่อนาคตอย่างมีพลวัต ใช้ประโยชน์จากวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีและการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 เราอยากจะก้าวหน้าสู่ดิจิทัลอาเซียน คืออาเซียนที่เชื่อมกันด้วยดิจิทัล เราต้องการเป็นหุ้นส่วนกับคู่เจรจาและประชาคมโลกโดยมีอาเซียนเป็นแกนกลาง เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ต่างๆ เป็นอาเซียนที่ไร้รอยต่อ สร้างความมั่นคง ยั่งยืนในทุกมิติ ตั้งแต่เศรษฐกิจไปจนถึงการดูแลผู้สูงวัย นอกจากนี้ ยังมุ่งมั่นที่จะร่วมกันรับมือกับภัยคุกคามความมั่นคง โดยเฉพาะอาชญากรรมข้ามชาติผ่านการเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนและการเสริมสร้างความมั่นคงทางไซเบอร์ เพื่อส่งเสริมพื้นที่ไซเบอร์ที่เปิดกว้าง ปลอดภัย และมีเสถียรภาพ

เราเปิดศูนย์อาเซียน 3 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษา และการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม รวมถึงศูนย์ฝึกอบรมอาชีพด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคมเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต”

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย

รวมกลุ่มเศรษฐกิจ

ยุทธศาสตร์การเมืองเรื่องลุ่มน้ำโขง

จากนั้น กล่าวถึงประเด็นของภูมิสถาปัตย์ซึ่งมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นมากมายเป็นดอกเห็ด โดยเฉพาะกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงทั้งด้านเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานราว 5-6 กรอบความร่วมมือ สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเท่านั้น เพราะการที่ประเทศต่างๆ เข้ามาร่วมไม่ใช่เพราะเศรษฐกิจ แต่เพราะเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมือง เช่น การที่ญี่ปุ่นซึ่งไม่ได้อยู่ในลุ่มน้ำโขงขอเข้าร่วมด้วย โดยไม่มีจีน นับเป็นการแข่งขันของมหาอำนาจที่จะเข้ามาดูแลว่า 5 ประเทศในลุ่มน้ำโขงจะไม่ตกเป็นเพื่อนสนิทของจีนเท่านั้น และการที่อาเซียนมีทุกศาสนา มีทุกระบอบการปกครอง มีเฉดสีของประชาธิปไตยที่ต่างสีสัน จึงกลายเป็นความพอดี ไม่ว่าประเทศใดมีการปกครองแบบไหนก็สามารถเข้ามาสนิทสนมกับประเทศอาเซียนได้ทั้งสิ้น

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ยังบอกว่า ภูมิทัศน์อีกหนึ่งประการที่เปลี่ยนแปลงไปคือการเกิดธนาคารเพื่อการลงทุนโครงการพื้นฐานเอเชีย ซึ่งหากเป็นสมัยก่อน ตะวันตกคงไม่ยอมให้เกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังเกิดความเปลี่ยนแปลงในสถานะของเงินหยวนซึ่งมีความเป็นสากลมากขึ้น หากพัฒนาต่อไปได้ นี่คือสิ่งอเมริกาสะพรึงกลัวที่สุด นอกจากนี้ ยังมีการประกาศเส้นทางใหม่ๆ อย่างเส้นทางสายไหมทางบก มีท่าเรือต่างๆ มากมายที่เชื่อมโยงกันทั้งทางบก และทางทะเล จีนร่วมมือกับปากีสถาน เชื่อมเมืองและเปิดพรมแดนให้ออกสู่ทะเลได้ ยิ่งประเทศมหาอำนาจแข่งกันเท่าไหร่ อาเซียนต้องเล่นเกมให้เป็น สำหรับประเด็นสงครามการค้าต่างๆ อาทิ อเมริกากับสหภาพยุโรป และญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ รวมถึงการแข่งขันในด้านเทคโนโลยี ต้องตั้งคำถามว่า อาเซียนอยู่ตรงไหน

“ห่วงโซ่อุปทานจะกระทบอาเซียน แต่โอกาสที่นักลงทุนจากต่างประเทศจะลงมาทุนอาเซียนนั้น ตอนนี้ไปลงทุนกันในเวียดนาม จนเวียดนามต้องชะลอการเชิญชวนต่างชาติมาลงทุน ในขณะที่พม่าและไทยเร่งเชิญชวนต่างชาติมาลงทุน การแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีกำลังจะกลายเป็นสงครามการแข่งขันเพราะความกลัวด้านความมั่นคง สี จิ้นผิง บอกว่าจีนจะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและทุ่มงบมหาศาลทำให้คนจีนโพ้นทะเลกลับจีน และนักเทคโนโลยีตะวันตกไปทำงานในจีน แล้วอาเซียนอยู่ตรงไหน นอกจากนี้ สงครามการเงินก็ยังอยู่ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ เวลานี้ มีการเสนอไอเดียแยกการค้าของจีนกับอเมริกาออกจากกันและแยกเทคโนโลยีของจีนกับอเมริกาออกจากกันด้วยซึ่งเป็นเรื่องน่าห่วง แน่นอนเราต้องไม่เห็นด้วย แต่ถ้าเกิดขึ้นจริง โอกาสของอาเซียนคืออะไร”

“พัฒนาคน”คือความท้าทาย

ห่วงการศึกษาไทยขัดยุค 4.0

ส่วนประเด็นความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์มองว่า ความท้าทายคือการพัฒนาคน อย่างไรก็ตาม การศึกษาไทยในขณะนี้ยังขัดกับยุค 4.0 ซึ่งมีความต้องการด้านทักษะ บัณฑิตที่จบการศึกษาเมื่อ 5 ปีก่อน รวมถึงผู้สูงอายุตกขบวนรถไฟเทคโนโลยี ในขณะที่ประเทศอื่นเน้นหลักสูตรระยะสั้น มีการฝึกทักษะ และเน้นการศึกษาตลอดชีวิต

“อาเซียนยกเว้นสิงคโปร์มีโครงสร้างศึกษา คือ ประถม มัธยม ปริญญาตรี โท เอก ซึ่งขัดแย้งกับยุค 4.0 ไทยหรืออาเซียนอาจสร้างนวัตกรรมสู้เขาไม่ได้ แต่เราต้องผลิตคนที่เป็นผู้ใช้เทคโนโลยีเป็น ซ่อมเป็น การพัฒนาคนต้องเน้นสหสาขา เวลาพูดถึงเมืองอัจฉริยะ ต้องมีวิชาสมาร์ทซิตี้ ซึ่งมีประเด็นการออกแบบเมือง กฎหมาย การเงิน และอื่นๆ รวมศาสตร์ 5-6 สาขา แต่มหาวิทยาลัยของไทยโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐ การร่วมมือกันระหว่างคณะวิชาต่างๆ นั้น พูดง่ายแต่เกิดไม่ง่าย จะทำอย่างไรให้เกิดปฏิสัมพันธ์ ยุค 4.0 ห้องเรียนต้องเปลี่ยน อาจารย์ต้องเป็นแค่โค้ชคอยแนะนำการแก้ปัญหา เดี๋ยวนี้การค้นข้อมูลจากกูเกิลง่ายมาก คนเป็นอาจารย์ต้องรู้ศาสตร์อื่นๆ รู้ถึงภาคปฏิบัติมากขึ้น และให้นักศึกษาทำงานกับเครื่องมือจริง ให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วม จึงจะได้บัณฑิตพันธุ์ใหม่ แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น อาเซียนต้องได้อาจารย์พันธุ์ใหม่ด้วย แต่อาจารย์คือคนที่เปลี่ยนผ่านยากที่สุดในโลก อย่างผมจบจาก ม.ฮาร์วาร์ด สอนหนังสือมาตลอด ถ้าวันดีคืนดีมีคนมาบอกว่าสิ่งที่สอนอยู่นั้นล้าหลัง ก็โกรธและไม่ยอมรับ แต่หากเป็นเช่นนี้อาเซียนก็พัฒนาคนไม่ได้”

สำหรับเหตุการณ์การประท้วงในฮ่องกง ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์กล่าวถึง โดยระบุว่า ปัญหาของฮ่องกงเป็นสิ่งที่เขย่าภูมิสถาปัตย์ในบริเวณนี้ว่าจะเข้าข้างใคร เป็นเรื่องที่อาเซียนต้องวางตัวให้ดี การกล่าวอะไรในสถานการณ์อ่อนไหวเป็นสิ่งสำคัญเพราะกระทบกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

“การที่ภูมิสถาปัตย์ทางเศรษฐกิจและการเมืองเปลี่ยนแปลงไปดังที่กล่าวมาแล้ว ต้องฝากข้อชวนคิดว่าอาเซียนได้เตรียมตัวถึงการเปลี่ยนแปลงนี้มากเพียงพอหรือไม่ อย่างไร ประเทศไทยควรจะทำอะไร ทั้งเรื่องสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี การเปิดการค้าเสรี รวมถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจ มีการพัฒนาคนสู่ยุค 4.0 หรือไม่ ดังเช่นสิงคโปร์ซึ่งมีการตื่นตัวในการแก้ปัญหาประเด็นเหล่านี้มาก่อน และมีการปรับตัวตลอดเวลา นอกจากนี้ อาเซียนได้ส่งเสริมพหุภาคีในโลกที่ทั้งซับซ้อนและเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดอย่างไร” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ปิดท้ายด้วยคำถามสำคัญที่เรียกเสียงปรบมือมากมายด้วยความคมคายและชี้ชวนให้ขบคิดกันต่อ

รวมองคาพยพ เปิด”ประเด็นใหม่”

ที่เคยถูกมองข้าม

ไม่ทิ้งคำถามไว้นานข้ามวัน อุศนา พีรานนท์ รองอธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ขึ้นเวทีต่อในเสวนา “อาเซียนได้อะไรบ้างจากการเป็นประธานของไทย” โดยบอกว่า เราคำนึงบริบทโลกและเตรียมความพร้อมสู่อนาคต การเป็นประธานอาเซียนไม่ควรจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นปีเดียวแล้วหายไป ทว่า ต้องมีความยั่งยืน สิ่งที่ขับเคลื่อนในปีนี้จะต้องอยู่ต่อไป แม้จะไม่ได้เป็นประธานแล้ว โดยมุ่งเน้นสิ่งที่จะคงอยู่เป็นรูปธรรม อาทิ ศูนย์อาเซียนต่างๆ ที่ตั้งขึ้นในปีนี้จะเป็นหนึ่งในผลลัพธ์ของการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทย ในขณะเดียวกันก็อยากให้มีความต่อเนื่อง คือการส่งต่อประเด็นจากประธานอาเซียนปีหนึ่งไปยังปีต่อๆ ไป

“เพราะฉะนั้นสิ่งที่สิงคโปร์ริเริ่มไว้ในปีที่แล้ว เราก็เอามาต่อยอดโดยเฉพาะเรื่องสมาร์ทซิตี้ ที่พูดถึงกันมาก หรือนวัตกรรมการป้องกันภัยจากการคุกคามทางไซเบอร์ทั้งหลาย เราก็ต่อยอด”

กล่าวโดยสรุป คือ ไทยมองไปถึงอนาคต ให้ความสำคัญกับประชาชน ต่อยอดจากสิ่งที่เคยทำ และให้เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรรม

“การเป็นประธานอาเซียนของเรา ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบที่ผ่านมาตลอดทั้งปีมีการประชุม 300 กว่าครั้ง ในทุกระดับ ทุกวันโดยเฉลี่ยมีการประชุมเรื่องอาเซียน 1 ครั้งในไทย เป็นภารกิจใหญ่มาก สิ่งที่เราทำในปีนี้ที่ต่างจาก 10 ปีที่แล้วที่เป็นประธาน อาจเห็นได้ชัดว่าเป็นการรวมองคาพยพของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐซึ่งมีการหารืออย่างใกล้ชิด ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอื่นๆ ในอดีตที่ไม่ค่อยได้มีบทบาท มาช่วยกันว่างานของแต่ละกระทรวง มีส่วนที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้อาเซียนได้อย่างไร จึงได้เห็นผลงานที่ออกมาค่อนข้างครอบคลุมทุกด้าน ได้เห็นผู้นำอาเซียนพูดถึงปัญหาขยะทะเล มีความร่วมมือกัน มีการพูดถึงการพัฒนาทุนมนุษย์ นี่เป็นประเด็นใหม่ๆ ในอาเซียนซึ่งไม่ค่อยได้รับความสนใจมาก่อนในอดีต” รองอธิบดีกรมอาเซียนกล่าว

จากซ้าย อรินทร์ จิรา ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน และ ผศ.สาธิน สุนทรพันธุ์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง

กึ๊กๆกั๊กๆ ก็ยังคืบหน้า

แนะ ‘อาเซียน’ นั่งคุย 2 ‘ซุปเปอร์เพาเวอร์’

จากภาครัฐ มาถึงภาคเอกชน อย่าง อรินทร์ จิรา ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ที่มองว่า อาเซียนซึ่งมีประชากรรวม 650 ล้านคน นับเป็นภูมิภาคที่เจริญเติบโตมากที่สุดในโลก และเร็วที่สุดในโลก ใครก็อยากมาทำการค้าด้วย ในช่วงเวลาที่เกิดสงครามการค้าระหว่าง 2 มหาอำนาจ อาเซียนควรพูดอะไรให้ “โลก” รู้ว่าเราคิดอย่างไร

“อยากให้ชาวโลกรู้ว่าเราคิดอย่างไรเกี่ยวกับสงครามการค้า เพราะทำให้เศรษฐกิจไม่ดี เราไม่มีทางบังคับ 2 ผู้ยิ่งใหญ่ที่เป็นซุปเปอร์เพาเวอร์ แต่อย่าลืมว่าช้างทะเลาะกัน หญ้ายังตาย ผมอยากให้โลกมีสันติภาพในเรื่องเศรษฐกิจ อย่าคิดว่าการย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีนมาจะเป็นเรื่องที่ทำได้ตลอดเวลา สิ่งที่เราต้องทำคือ เวลานี้ทุกประเทศในอาเซียน ต่างคนต่างป้องกันตัวเอง อย่างไทยต้องมาดูว่าส่งออกน้อย จะทำอย่างไรดี ส่วนตัวมองว่าต้องไปคุยกับซุปเปอร์เพาเวอร์ 2 ประเทศ ถ้าอาเซียน 10 ประเทศไปนั่งคุยกับพี่จีน พี่อเมริกา เขาจะฟังหรือไม่ก็แล้วแต่เขา ทำไมผู้นำอาเซียนไม่ประชุมกัน แล้วออกมาบอกว่าอยากให้ชาวโลกรู้อะไร”

ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ย้ำว่า อาเซียนต้องพูดคุยกันให้รู้เรื่อง สิ่งที่อาเซียนไม่ได้ระหว่างไทยเป็นประธานก็คือ ความชัดเจนที่ทำให้โลกรู้ ให้ซุปเปอร์เพาเวอร์รู้ ว่าเวลานี้เศรษฐกิจแย่ เราอยากจะมีสันติภาพทางการค้า เรื่องนี้สำคัญ และตนจะพูดต่อไปเรื่อยๆจนกว่าจะได้ยินอาเซียน 10 ประเทศจะพูด ออกแถลงการณ์ ไม่ใช่ยืมมือคนอื่นพูด

“สิ่งที่สำคัญคือปีหน้า มาเลเซีย เป็นประธานเอเปค 21 ประเทศ เขาจะมีอะไรพูดเยอะ เพราะมหาธีร์ กล้าพูด กล้าชน เป็นผู้นำคนเดียวใน 10 ประเทศที่กล้า ผมนับถือเขา ตอนไอเอ็มเอฟเข้ามา ประเทศไทยกราบไอเอ็มเอฟ มหาธีร์บอก ไม่ต้องยุ่ง เดี๋ยวจัดการเอง” อรินทร์กล่าวอย่างออกรสบนเวที

ปิดท้ายที่ ผศ.สาธิน สุนทรพันธุ์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง ซึ่งมองในแง่ดีว่า อาเซียนดีขึ้นเรื่อยๆ มีความร่วมมือต่างๆ มีความพยายามหลายอย่างที่จะมอบความเข้าใจเรื่องอาเซียน มีวิชาเรียนสำหรับเด็ก มีเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน แต่บางครั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนระดับอาจารย์และนักศึกษา ซึ่งอาจจะค่อนข้างจำกัดพอสมควร

“ส่วนของภาครัฐในหน่วยงานต่างๆ ต้องพยายามสร้างการตระหนักรับรู้ ถ้ามองในแง่ดี คือปัจจุบันมีมากขึ้นกว่าสมัยก่อน อย่างที่เราเห็นภาพการพูดคุย การประชุม มีผลออกมา บางทีการที่เราคุยกันกึ๊กๆ กั๊กๆ ดูไม่ค่อยชัดเจน แต่ผมมองว่า ยังมีความคืบหน้า 52 ปีอาเซียนถือว่าสร้างความร่วมมือต่างๆ ได้ดี” คณบดีคณะรัฐศาสตร์สรุป

ต่างแนวคิด หลากมุมมองเข้มข้นที่ล้วนมีประโยชน์ในการโฟกัสถึงอนาคตของอาเซียนในวันพรุ่งนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image